วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ฟุตบอลฟีเวอร์ “บูม” ไม่หยุด “สาธิต-อินเตอร์” ผุดคอมเพล็กซ์

ฟุตบอลฟีเวอร์ “บูม” ไม่หยุด “สาธิต-อินเตอร์” ผุดคอมเพล็กซ์

ภาพการแข่งขัน “ศึกฟุตบอลจตุรมิตรสามัคคี ครั้งที่ 28” ของ 4 โรงเรียนดัง สวนกุหลาบ กรุงเทพคริสเตียน อัสสัมชัญ และเทพศิรินทร์ ที่เหล่ากองเชียร์แห่เข้าชมล้นอัฒจันทร์สนามศุภชลาศัย สะท้อนกระแสฟุตบอลฟีเวอร์ที่ยังร้อนแรงไม่หยุดในกลุ่มเด็กวัยรุ่นอายุไม่เกิน 18 ปี รวมถึงเหล่าแข้งจิ๋วตั้งแต่อายุ 6 ขวบที่บรรดาผู้ปกครองต่างพุ่งเป้าปลุกปั้นลูก เพื่อหวังเป็นซูเปอร์สตาร์ในอนาคต เมื่อ “นักฟุตบอล” กลายเป็นกีฬาอาชีพที่สามารถสร้างรายได้สูงถึงหลักแสนบาทต่อเดือน

ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นชัดเจน จากเดิมมีเพียงโรงเรียนระดับมัธยมศึกษาชื่อดังที่เปิดโควตานักกีฬาฟุตบอล คัดเลือกเด็กจบประถมศึกษาปีที่ 6 เข้าศึกษาระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1 โดยเด็กที่ได้รับคัดเลือกจะได้รับทุนเรียนฟรีและอยู่ประจำ “กิน-นอน” ไม่ต่างจากอะคาเดมีระดับประเทศ

ปัจจุบันพบว่า โรงเรียนมัธยมศึกษาแทบทุกแห่งหันมาเปิดโควตานักกีฬาฟุตบอล เพื่อสร้างทีมนักเตะตั้งแต่อายุ 12-18 ปี ไม่เว้นแม้กระทั่งโรงเรียนเอกชนและโรงเรียนนานาชาติชื่อดัง เป็นจุดขายดึงดูดผู้ปกครอง นอกเหนือจากความโดดเด่นด้านการเรียนการสอน

จิรวรรณ ชัยรุ่งเรือง รองผู้จัดการโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรี เปิดเผยว่า มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีได้ขยายการเรียนการสอนเปิดโรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรีเมื่อเดือนเมษายน 2560 เพื่อเป็นต้นแบบของโรงเรียนยุคใหม่ ภายใต้หลักสูตรสาธิตตามแบบกระทรวงศึกษาธิการ เพิ่มเติมภาษาที่สองและสาม คือ ภาษาอังกฤษและภาษาจีน โดยเปิดรับนักเรียนตั้งแต่ระดับเตรียมอนุบาล (อายุ 2 ปี) มัธยมศึกษาตอนปลาย ภาคเรียนที่ 1 ประจำปีการศึกษา 2560 เป็นปีแรก จากห้องเรียนรวมทั้งหมด 120 ห้อง รับนักเรียนได้ 5,000 คน ตามกำหนดของกระทรวงศึกษาธิการ

ที่สำคัญ โรงเรียนสาธิตกรุงเทพธนบุรีมีจุดแตกต่างจากโรงเรียนสาธิตอื่น คือ การต่อยอดโครงการสร้างนักกีฬาร่วมกับมหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรี ซึ่งปัจจุบันสนับสนุนนักกีฬาดาวรุ่งมุ่งสู่ทีมชาติหลายชนิดกีฬาอย่างต่อเนื่อง ทั้งฟุตบอล บาสเกตบอล วอลเลย์บอล ตะกร้อ มวยไทยและมวยสากล แบดมินตัน กรีฑา ยูโด เทควันโด รักบี้ฟุตบอล ว่ายน้ำ ยิงปืน

หากนักเรียนมีความโดดเด่นด้านกีฬาและศึกษาจบ ม.6 สามารถเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีจนถึงปริญญาเอก ถ้าเป็นนักกีฬาทีมชาติจะได้รับทุนการศึกษาเรียนฟรี หรือถ้าเป็นนักกีฬาจากต่างจังหวัดจะมีที่พัก รวมทั้งอาหาร 3 มื้อ ซึ่งที่ผ่านมามีนักกีฬาทุนสร้างชื่อเสียงให้มหาวิทยาลัยจำนวนมาก

เช่น น้องเมย์ รัชนก อินทนนท์ นักกีฬาแบดมินตันระดับโลก ชัยชนะ ทะคำ นักกีฬาเรือพายทีมชาติ ตรีพงศ์ ระวังภัย นักกีฬาเซปักตะกร้อทีมชาติ นายสุพรรณ ทองสงค์ นักฟุตบอลทีมชาติ

ล่าสุด มหาวิทยาลัยกรุงเทพธนบุรีทุ่มเงินลงทุนผุด “สปอร์ตคอมเพล็กซ์” โดยเริ่มเปิดให้บริการแล้วบางส่วน ก่อสร้างสนามฟุตบอลหลักและสนามฟุตบอลฝึกซ้อม รวมทั้งจับมือกับสมาคมกีฬาฟุตบอลแห่งประเทศไทยฯ โรงพยาบาลตำรวจ และบริษัท เอคโคโน เมธอด ซอคเกอร์ เซอร์วิส (Ekkono Method Soccer Services) เปิดศูนย์ฝึกฟุตบอลเยาวชนแห่งชาติ เนื้อที่ 22 ไร่ เพื่อผลิตนักเตะเยาวชนก้าวสู่ระดับชาติ ตามสไตล์ “Thailand’s Way” สู่เป้าหมายฟุตบอลโลก 2026

ในอนาคต เมื่อศูนย์ฝึกแห่งนี้แล้วเสร็จภายในปี 2561 นักกีฬาทีมชาติทุกรุ่นอายุจะมาเก็บตัวในศูนย์ฝึก และภายในสปอร์ตคอมเพล็กซ์ยังมีหอพักรวม 40-120 ห้อง ห้องฟิตเนส ห้องสปา คอร์ทแบดมินตัน เวทีมวยระดับมาตรฐาน และสนามกีฬาในร่มอีกหลายชนิด ซึ่งสมาคมมวยและสมาคมแบดมินตันได้เข้าร่วมอยู่ในสปอร์ตคอมเพล็กซ์ด้วย

กระแสกีฬาฟุตบอลยังถูกหยิบมาเป็นจุดขายในกลุ่มโรงเรียนนานาชาติ อย่างโรงเรียนนานาชาตินิสต์ ย่านสุขุมวิท 15 มีการจับมือกับมูลนิธิเชลซี เปิดศูนย์พัฒนาเชลซี เอฟซี นานาชาติ กรุงเทพฯ ตั้งแต่ 3 ปีก่อน เปิดสอนทักษะและเทคนิคการเล่นฟุตบอล 4 รุ่นอายุ คือ รุ่นอายุ 4-5 ปี รุ่น 6-9 ปี รุ่น 10-14 ปี และนักฟุตบอลหญิง รุ่นอายุ 10-14 ปี อัตราค่าเรียนครั้งละ 420-480 บาท โดยส่งตรงโค้ชชาวต่างชาติจากสโมสรเชลซี ทีมฟุตบอลชั้นนำระดับโลกจากประเทศอังกฤษ

Akira Chaiya Adminstration Executive ศูนย์พัฒนาเชลซี เอฟซี นานาชาติ กล่าวกับ “ผู้จัดการ 360” ว่า มูลนิธิเชลซีเริ่มเข้ามาเปิดศูนย์ในย่านเอเชียหลายประเทศ เช่น ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อินโดนีเซีย ไทย และกำลังขยายไปประเทศอื่นๆ ซึ่งการเข้ามาของเชลซีต่างจากสโมสรอื่น เพราะส่งโค้ชจากเชลซี ประเทศอังกฤษ ขณะที่สโมสรอื่นมักมาในรูปแบบแฟรนไชส์ จึงเป็นจุดดึงดูดให้ผู้ปกครองส่งเด็กมาเข้าเรียนโรงเรียนนานาชาตินิสต์ และล่าสุดได้ขยายสาขาย่อยอีก 2 แห่งที่โรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ แคมปัส 2 ย่านสุขุมวิท 77 และโรงเรียนนานาชาติ เดอะรีเจนท์

ทุกๆ ปี เชลซี เอฟซี นานาชาติ จะจัดรายการแข่งขัน Youth Development League โดยเปิดรับสมัครทีมต่างๆ ตั้งแต่รุ่นอายุ 9-15 ปี ซึ่งไม่ใช่แค่สโมสรจะสามารถสร้างฐานแฟนบอล แต่โรงเรียนนานาชาติยังโปรโมตจุดเด่นของโรงเรียนในด้านกีฬา อย่างโรงเรียนนานาชาติบางกอกเพรพ แคมปัส 2 ยังลงทุนสร้างสปอร์ตคอมเพล็กซ์ สนามกีฬากลางแจ้งขนาดมาตรฐาน สระว่ายน้ำขนาด 50 เมตร สนามเทนนิส และสนามบาสเกตบอล

นอกจากนี้ มีโรงเรียนนานาชาติหลายแห่งเริ่มหันมาให้ทุนนักฟุตบอล เช่น โรงเรียนนานาชาติแอสคอต ย่านรามคำแหง เริ่มเปิดโควตานักฟุตบอลรุ่นอายุ 1-12 ปี เมื่อผ่านการทดสอบด้านกีฬาและทักษะภาษาอังกฤษจะได้รับทุนเรียนฟรีทันที

แน่นอนว่า ธุรกิจการศึกษากำลังพลิกโฉมอีกครั้ง ไม่ใช่แค่แบรนด์ ชื่อเสียง หลักสูตร หรือห้องเรียนสมบูรณ์แบบ แต่กีฬา โดยเฉพาะ “ฟุตบอล” กลายเป็นจุดขายใหม่ที่บรรดาโรงเรียนชื่อดังมองข้ามไปไม่ได้จริงๆ

ใส่ความเห็น