วันเสาร์, พฤศจิกายน 23, 2024
Home > Cover Story > เมียนมาเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับงานการบริการ-ท่องเที่ยวบูม

เมียนมาเร่งพัฒนาฝีมือแรงงาน รองรับงานการบริการ-ท่องเที่ยวบูม

สถานการณ์การท่องเที่ยวเมียนมาตั้งแต่ปี 2012-2015 ที่จำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มสูงขึ้น น่าจะเป็นอานิสงส์จากการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองภายในและการเปิดประเทศ ที่เคยซ่อนเร้นความงดงามของวิถีชีวิต วัฒนธรรม และความสมบูรณ์ของทรัพยากรทางธรรมชาติเอาไว้จากสายตาคนภายนอก

จากสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศเมียนมาในปี 2012 จำนวน 1,058,995 คน และเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัวในปี 2013 ที่จำนวน 2,044,307 คน ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในปี 2014 และ 2015 ที่จำนวน 3,081,412 คน และ 4,681,020 คนตามลำดับ

ทั้งนี้ภาคการท่องเที่ยวเมียนมาดูจะมีภาษีดีสุด เมื่อจำนวนอาคันตุกะที่เพิ่มมากขึ้นทุกปี และยังสร้างรายได้ให้ประเทศ โดยปี 2011 เมียนมามีรายได้จากการท่องเที่ยวจำนวน 319 ล้านดอลลาร์ ปี 2012 มีรายได้ 534 ล้านดอลลาร์ ปี 2013 มีรายได้ 926 ล้านดอลลาร์ ปี 2014 มีรายได้ 1,789 ล้านดอลลาร์ และปี 2015 มีรายได้ 2,122 ล้านดอลลาร์

อัตราการเพิ่มจำนวนของนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง น่าจะเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลให้รัฐบาลเมียนมามองเห็นโอกาสที่จะสร้างงานให้ประชาชนของตนเอง เพราะ 1 ใน 12 นโยบายหลักด้านเศรษฐกิจที่รัฐบาลเมียนมาประกาศออกมาเมื่อปีที่แล้ว และกลายเป็นประเด็นที่น่าจับตามองคือ “สร้างโอกาสงานให้ประชาชน พร้อมดึงแรงงานคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศ”

นโยบายดังกล่าวน่าจะเป็นส่วนประกอบสำคัญที่ทำให้นักลงทุนเริ่มมองเห็นศักยภาพของเมียนมาในการที่จะเข้ามาลงทุนทำธุรกิจ เพราะนอกเหนือไปจากโอกาสที่จะสร้างผลตอบแทนด้านรายได้แล้ว นโยบายบางประการของภาครัฐเมียนมาเองดูจะหนุนนำและส่งเสริมให้นักลงทุนจากต่างชาติเข้ามาลงทุนมากขึ้น

ซึ่งนโยบายหลักด้านเศรษฐกิจ 12 ข้อนั้นคือ 1. การสร้างความโปร่งใสในระบบการเงินสาธารณะ 2. การแปรรูปกิจการของรัฐ 3. การยกระดับคุณภาพทางการศึกษาและอาชีวศึกษา 4. การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน 5. การสร้างโอกาสงานให้ประชาชน พร้อมดึงแรงงานคุณภาพกลับมาพัฒนาประเทศ 6. การพัฒนาภาคเกษตรและอุตสาหกรรมแปรรูปเพื่อการส่งออก 7. การพัฒนาภาคเอกชนโดยเปิดเสรีการทำธุรกิจและส่งเสริมการลงทุนจากต่างชาติ 8. การสนับสนุนเศรษฐกิจภาคครัวเรือน เกษตรกรเข้าถึงระบบการเงิน 9. การสร้างเมืองอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และยกระดับการบริการของรัฐ เพิ่มพื้นที่สาธารณะและรักษามรดกทางวัฒนธรรม 10. การปรับระบบภาษีที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล 11. การสนับสนุนทรัพย์สินทางปัญญา 12. การพัฒนาเปลี่ยนแปลงเศรษฐกิจให้สอดรับกับสถานการณ์เศรษฐกิจประชาคมอาเซียน

หากพิจารณาถึงนโยบายด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลเมียนมาแล้ว จะเห็นได้ว่าเป็นความต้องการให้เกิดการพัฒนาในทุกๆ มิติ และการสร้างให้เกิดการขับเคลื่อนของฟันเฟืองทางเศรษฐกิจทุกตัวนั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้แรงงานจำนวนมาก ซึ่งสอดคล้องกับสถานการณ์แรงงานเมียนมาในปัจจุบันที่เริ่มเดินทางกลับเข้าประเทศของตัวเอง ภายหลังจากที่ประเทศไทยมีการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.ก.การบริหารจัดการการทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.2560 แบบฟ้าผ่า

ส่งผลให้แรงงานจากหลายประเทศบางส่วนต้องเดินทางกลับภูมิลำเนาของตนเอง ก่อนจะตัดสินใจว่าจะเดินทางกลับมาค้าแรงงานในประเทศไทยต่ออีกหรือไม่

แม้ว่าสถานการณ์ด้านแรงงานดังกล่าวจะเป็นผลมาจากความต้องการของไทยในการที่จะแก้ปัญหาเรื่องการค้ามนุษย์ ที่เคยเป็นปัญหาเรื้อรังมาอย่างยาวนาน โดยประเทศไทยเคยถูกจัดให้อยู่ในอันดับ “เทียร์ 3” ก่อนจะถูกปรับความน่าเชื่อถือและจัดให้อยู่ในอันดับ “เทียร์ 2 เฝ้าระวังเป็นพิเศษ” ทำให้ไทยต้องออก พ.ร.ก.แรงงานต่างด้าวฉบับใหม่ขึ้นมาอย่างปัจจุบันทันด่วน ซึ่งลงประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 22 มิถุนายน 2560

ความจำเป็นที่ต้องสร้างให้เกิดการจ้างงานที่ถูกต้องตามกฎหมายและถูกต้องตามหลักกฎหมายว่าด้วยการปกป้องเหยี่อการค้ามนุษย์ (Trafficking Victims Protection Act of 2000 หรือ TVPA) แม้ว่าจะเป็นการทำให้สถานการณ์ด้านแรงงานของไทยอยู่ในภาวะ “สุญญากาศ” ซึ่งส่งผลให้ภาคอุตสาหกรรมของไทยบางส่วนต้องหยุดชะงักและชะลอตัวลง เมื่อแรงงานต่างด้าวเป็นส่วนสำคัญในการเติมเต็มงานบางตำแหน่งที่ไม่เป็นที่นิยมของแรงงานไทย

อย่างไรก็ตาม ผลดีก็น่าจะส่งผลต่อตัวแรงงานและตัวผู้ว่าจ้าง หากทำตามหลักเกณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย แม้ว่าบางขั้นตอนจะใช้ระยะเวลานานในการดำเนินการเพื่อขอแรงงานต่างด้าวเข้ามาทำงานในประเทศ

ทั้งนี้ การเดินทางกลับประเทศของแรงงานที่เข้ามาค้าแรงงานในไทย ทั้งแรงงานจากประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมา ประเด็นที่น่าสนใจคงอยู่ที่ว่า จำนวนแรงงานที่เดินทางกลับภูมิลำเนานั้นจะยังต้องการเดินทางกลับเข้ามาค้าแรงงานในประเทศไทยอีกหรือไม่

เมื่อมีความเป็นไปได้ว่าแรงงานบางส่วนอาจไม่ต้องการเดินทางกลับเข้ามาทำงานในประเทศไทยอีก โดยเฉพาะอย่างยิ่งแรงงานจากเมียนมา เมื่อรัฐบาลเมียนมามีนโยบายที่น่าจะส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจและยังมีความต้องการแรงงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งภาคธุรกิจการท่องเที่ยว

หลังจากมีการคาดการณ์ของสภาการเดินทางและท่องเที่ยวโลก (WTTC) ที่เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของเมียนมาจะรั้งอันดับ 2 จาก 184 ประเทศ ในด้านการเติบโตในระยะยาว โดยในปี 2559 ผลสำรวจพบว่า เมียนมาอยู่ในอันดับที่ 15 จากทั่วโลก

และด้วยการคาดการณ์นี้เองที่ทำให้กลุ่มทุนโรงแรมอย่างแอคคอร์ โฮเทล มีแผนขยายธุรกิจในประเทศเมียนมา ทั้งนี้ยังมีการลงนามข้อตกลงร่วมระหว่างแอคคอร์ โฮเทล กับบริษัท แอลพี โฮลดิ้ง จำกัด และมีเป้าหมายในการพัฒนาโรงแรมขึ้นใหม่ 3 แห่ง โดยให้ความสำคัญในสองเมืองใหญ่ของเมียนมา เช่น ย่างกุ้ง และมัณฑะเลย์

ซึ่งภายในไตรมาส 3 ของปีนี้จะพัฒนาโรงแรมเมอร์เคียว มัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท, พูลแมน ย่างกุ้ง เซ็นเตอร์พอยต์ และในปี 2563 มัณฑะเลย์ ฮิลล์ รีสอร์ท เอ็ม แกลลอรี่ บาย โซฟิเทล

ขณะที่ดักลาส มาร์เทล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ออนิกส์ ฮอสพิทาลิตี้ กรุ๊ป เปิดเผยว่ามีการสำรวจความเป็นไปได้ในการเข้ามาบริหารโรงแรมย่านอาเซียน และพบว่า ประเทศเมียนมานั้นมีอัตราการเติบโตด้านการท่องเที่ยวสูง นอกจากนี้ยังมีโอกาสที่จะขยายโรงแรมใหม่ แม้ว่าธุรกิจการท่องเที่ยวในเมียนมานั้นอาจจะต้องใช้เวลาอีก 2-3 ปี ถึงจะเติบโตได้เต็มที่ แต่ปัจจุบันเมียนมาก็ยังเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อย

แนวโน้มการเติบโตของธุรกิจการท่องเที่ยวในเมียนมาน่าจะเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้ราคาที่ดินขยับราคาสูงขึ้น นั่นทำให้กลุ่มไมเนอร์ โฮเทล เลือกที่จะมองพื้นที่ใน สปป.ลาวมากกว่า และเตรียมพัฒนาขยายธุรกิจโรงแรมในหลวงพระบางเป็นแห่งแรก

การปิดประเทศมานานส่งผลให้เมียนมาเป็นประเทศที่มีความโดดเด่นในเรื่องมีธรรมชาติที่ค่อนข้างอุดมสมบูรณ์ แหล่งท่องเที่ยวที่หลากหลาย ไม่ว่าจะทางธรรมชาติและด้านวัฒนธรรม รัฐบาลเมียนมาได้กำหนดเป้าหมายให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันให้เศรษฐกิจขยายตัวให้ได้ร้อยละ 7 ต่อปี จะเห็นได้ว่าเป้าประสงค์ดังกล่าวส่งผลให้เกิดการพัฒนาบุคลากร สถานที่ท่องเที่ยว ระบบคมนาคมขนส่ง

ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวและจำนวนนักท่องเที่ยวที่มากขึ้นทุกปี น่าจะทำให้รัฐบาลเมียนมาให้ความสนใจในการพัฒนาบุคลากรเพื่อที่จะรองรับการเติบโตของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่น่าจะเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญของระบบเศรษฐกิจเมียนมาในเวลานี้

ซึ่งหากความพยายามของรัฐบาลเมียนมาประสบผลสำเร็จ การจ้างงานที่เกิดขึ้นในเมียนมาน่าจะเป็นแม่เหล็กดึงดูดตัวสำคัญที่ทำให้แรงงานเมียนมาไม่ต้องการที่จะเดินทางออกมาค้าแรงงานยังนอกประเทศดังเช่นที่เคยเป็นมาอีก

เมื่อถึงเวลานั้นประเทศไทยคงต้องงัดกลยุทธ์หรือสร้างแรงจูงใจให้กับคนรุ่นใหม่ หรือคนว่างงานให้หันกลับมามองตำแหน่งงานที่เคยถูกแรงงานต่างด้าวยึดครอง เมื่อตำแหน่งงานดังกล่าวไม่ถูกจริตแรงงานไทยนัก

นโยบายของรัฐบาลเมียนมาในการพัฒนาประเทศเพื่อให้ก้าวขึ้นมายืนบนแถวหน้าของประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนได้นั้น ดูมีความน่าสนใจอยู่ไม่น้อย เมื่อหลายๆ โครงการที่กำลังเกิดขึ้นในเมียนมาได้รับการสนับสนุนทั้งด้านเงินทุนและเทคโนโลยีจากประเทศมหาอำนาจในเอเชีย หากไม่ติดขัดในเรื่องการดำเนินการด้านการเมืองที่ดูจะล่าช้าไปในบางครั้ง เราอาจจะได้เห็นเมียนมาสยายปีกอย่างงดงามในภูมิภาคแห่งนี้ก็เป็นได้

ใส่ความเห็น