วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > หอการค้าเปิดแผนหนุนภาครัฐ ท่องเที่ยวคือกุญแจสำคัญ

หอการค้าเปิดแผนหนุนภาครัฐ ท่องเที่ยวคือกุญแจสำคัญ

ดูเหมือนว่า “ไตรมาสสุดท้ายของปี” จะเป็นตัวเร่งเร้าสำคัญที่ทำให้หลายฝ่ายต้องระดมสรรพสมองเพื่อขบคิดและสรรหานโยบายรังสรรค์แผนการสำหรับการพัฒนา โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญ คือ กระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

และ “การท่องเที่ยว” กลายเป็นเครื่องจักรตัวสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ เมื่อมีการคาดการณ์รายได้รวมจากการท่องเที่ยวปี 2560 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท โดยประมาณ ตัวเลขรายได้ของการท่องเที่ยว ที่แม้จะเป็นเพียงประมาณการรายได้ทั้งปี หากแต่ด้วยตัวเลขที่สูงเช่นนี้จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายภาคส่วนยังมุ่งเน้นที่จะสร้างสรรค์แคมเปญที่มีความเกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยวอยู่เนืองๆ

โดยเฉพาะการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่ประเดิมแคมเปญใหม่ในช่วงสิ้นปีภายใต้กรอบโครงความคิดที่ไม่แตกต่างไปจากเดิมมากนัก เมื่อการมุ่งเน้นที่จะขายวัฒนธรรมท้องถิ่นดูจะเป็นจุดขายหลักที่น่าสนใจสำหรับนักท่องเที่ยว ด้วยการเปิดปีท่องเที่ยววิถีไทยอย่างเป็นทางการในชื่องาน “ปีท่องเที่ยววิถีไทย เก๋ไก๋อย่างยั่งยืน” หรือ Amazing Thailand Tourism Year 2018 ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2560 ถึง 1 มกราคม 2562

นอกจากนี้ฟากฝั่งของหอการค้าไทยเอง ที่มีการประชุมสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในช่วงวันที่ 17-19 พฤศจิกายน 2560 นั้น ประเด็นสำคัญของการสัมมนาในครั้งนี้ดูจะมุ่งเน้นไปให้ถึงผลลัพธ์ของการเติบโตของตัวเลขจีดีพีโดยรวมของประเทศ ภายใต้หัวข้อ “Executing Trade & Service 4.0: เติบโตทั่วถึง แบบไทยเท่” (Thaitay with inclusive Growth)

“Thailand 4.0” วาทกรรมที่กลายเป็นหัวใจสำคัญของนโยบายในการบริหารงาน เมื่อหัวเรือของหอการค้าไทยอย่าง กลินท์ สารสิน ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองเห็นประเด็นว่า การพัฒนาและการยกระดับประเทศไปสู่ Thailand 4.0 เป็นเรื่องจำเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี

รวมไปถึงการเชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ภาค กลุ่มจังหวัด และจังหวัด จึงจำเป็นต้องให้ภาคส่วนต่างๆ เข้ามามีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อการเติบโตไปพร้อมๆ กัน

อย่างไรก็ตาม การเพิ่มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ เป็นเสมือนตัวกำหนดหัวข้อในการสัมมนาครั้งนี้ ซึ่งหัวข้อหลักสำคัญที่หอการค้าไทยกำหนดเป็นแนวทางการดำเนินงานเพื่อให้สอดรับกับ Trade & Services 4.0 ประกอบด้วย 3 เรื่องหลัก ที่มีเป้าประสงค์ให้เป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ประกอบการที่เข้าร่วมการสัมมนา

1. เรื่อง Executing Trade and Investment with Inclusive Growth โดยมุ่งเน้นให้ความสำคัญด้านการลงทุน ทั้งในแง่มุมของการลงทุนจากภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC ซึ่งพื้นที่ดังกล่าวแม้จะได้รับความสนใจจากนักลงทุนชาวญี่ปุ่น ยังมีนักลงทุนจากประเทศอเมริกาและประเทศอื่นๆ ให้ความสนใจ และเห็นทิศทางที่จะหวนกลับมาลงทุนเพิ่มเติม

หากกระแสความสนใจในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ EEC เป็นจริง และสอดคล้องกับความคาดหวังของภาครัฐ ดูจะเป็นเรื่องดี กระนั้นหน้าที่ต่อไปของภาครัฐ คือ ต้องเตรียมรับมือในเรื่องการปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อสร้างให้เกิดความพร้อมที่จะรับมือกับกระแสการตบเท้าเข้ามาลงทุนในพื้นที่ดังกล่าว

ขณะที่หอการค้าไทยยังมีความพยายามที่จะผลักดันการค้ากับประเทศเพื่อนบ้าน โดยจะมีการนำระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามารองรับ เมื่อปัจจุบันการค้าได้เข้าสู่รูปแบบของ E-Business ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับตัวให้ทัน และพร้อมรับความเปลี่ยนแปลง

นอกจากนี้ยังมีการหารือกันในเรื่องการอำนวยความสะดวกทางการค้า และความยากง่ายในการดำเนินธุรกิจ (Ease of Doing Business) สำหรับผู้ประกอบธุรกิจในทุกระดับให้สามารถแข่งขันได้บนเวทีโลก จากความพยายามของทุกภาคส่วนที่ผ่านมา จะพบว่า อันดับ Doing Business ของไทยดีขึ้นแบบก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ (จากอันดับที่ 46 มาอยู่ที่ 26)

อีกทั้งยังมีการหารือเรื่องการลดต้นทุนค่าขนส่งสำหรับผู้ประกอบการที่ดำเนินธุรกิจในรูปแบบ online และเพิ่มช่องทางการค้าและส่งเสริมผู้ประกอบการเข้าสู่ตลาดโลก ด้วยการพัฒนา Platform Market Place นับเป็นโอกาสที่ดีสำหรับสินค้าที่มีศักยภาพในระดับท้องถิ่นที่จะเข้าสู่ตลาด นอกจากนี้ยังเป็นการผลักดันผู้ประกอบการไทยเข้าสู่ Platform ในระดับสากล

2. เรื่อง Executing Agriculture and Food Processing with Inclusive Growth เมื่อการเกษตรและสินค้าเกษตรยังคงเป็นกลุ่มที่มีความสำคัญของประเทศ ในแต่ละปีอุตสาหกรรมอาหารสามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้ไม่น้อยกว่า 1 ล้านล้านบาทต่อปี นอกจากนี้ยังเป็นอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับคนเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะเกษตรกร ที่มีรายได้สวนทางกับการเติบโตของอุตสาหกรรม จึงเป็นสิ่งที่ทุกภาคส่วนต้องพิจารณาและให้ความสำคัญในการปรับปรุงหรือปฏิรูปโครงสร้างเพื่อให้เกษตรกรอยู่ได้

อีกเป้าหมายหนึ่งของการปฏิรูปโครงสร้างการเกษตร คือ เพื่อการก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง โดยมีการหารือร่วมกันในเรื่องการส่งเสริมธุรกิจเกษตรและอาหารให้มีความพร้อมในการแข่งขันภายใต้ปัจจัยแวดล้อมที่มีความเสี่ยง โดยกลไกที่มีความเกี่ยวข้องเข้ามาร่วมขับเคลื่อน รวมไปถึงการสร้างและขยายผลมาตรฐานของสินค้า ความปลอดภัยของอาหาร การสร้างมูลค่าเพิ่มจากวัตถุดิบทางการเกษตรที่มีความหลากหลาย การสร้างเครื่องมือให้เข้าถึงลูกค้าหรือผู้บริโภคได้กว้างขึ้น และการนำเสนอ Success Case ธุรกิจแปรรูปเกษตรและอาหารเพื่อสร้างแรงบันดาลใจ

และ 3. เรื่อง Executing Tourism and Services with Inclusive Growth สำหรับภาคบริหารและการท่องเที่ยว ที่กลายเป็นหัวใจหลักในการสร้างรายได้ให้กับประเทศไทยมาอย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันภาคบริการมีสัดส่วนประมาณ 50 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีไทย และมีการจ้างงาน 40 เปอร์เซ็นต์ของกำลังแรงงานทั้งประเทศ

โดยหอการค้าไทยคาดการณ์รายได้การท่องเที่ยวในปี 2560 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้านบาท และมีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประมาณ 35 ล้านคน ซึ่งสร้างรายได้ให้กับประเทศ 1.8 ล้านล้านบาท นอกจากนี้การท่องเที่ยวยังมีอัตราการเติบโตอย่างต่อเนื่องในอัตราเฉลี่ย 10 เปอร์เซ็นต์ต่อปี และปีหน้าที่รัฐบาลกำหนดให้เป็นปีแห่งการท่องเที่ยวไทยนั้น ทำให้มีการคาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มจำนวนมากขึ้น

หากจะพิจารณาจากการขับเคลื่อนทั้งจากของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย ที่มีแคมเปญกระตุ้นการท่องเที่ยวออกมาอย่างต่อเนื่อง และหอการค้าไทย ที่จัดสัมมนาและให้ความสำคัญกับหัวข้อของการท่องเที่ยวและบริการนั้น ดูจะสอดรับและประสานกันได้อย่างลงตัว

นั่นเป็นเพราะการท่องเที่ยวเป็นตัวแปรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ จึงไม่น่าแปลกใจที่หลายฝ่ายให้ความสำคัญกับหัวใจสำคัญของตัวแปรทางเศรษฐกิจ “จำนวน ไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด สิ่งสำคัญคือ ทำอย่างไรให้ประเทศไทยเป็น Value Destination ทำอย่างไรให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายมากขึ้น พักนานขึ้น และนำพารายได้เข้าไปถึงชุมชนมากกว่าสถานบันเทิง เพราะสิ่งเหล่านี้จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้เพิ่มขึ้นอย่างมหาศาล” กลินท์กล่าว

การให้ความสำคัญกับการท่องเที่ยวนั้นเป็นเพราะการท่องเที่ยวเป็นส่วนสำคัญในการช่วยสร้างรายได้ให้กับภาคส่วนต่างๆ ที่เกี่ยวข้องใน Value Chain ไม่ว่าจะเป็นร้านอาหาร โรงแรม ร้านค้า เกษตรกร และผู้ประกอบการอื่น ดังนั้นการท่องเที่ยวจึงเป็นหัวจักรสำคัญในการกระจายรายได้ไปยังธุรกิจต่างๆ ทั่วทุกภูมิภาคทั่วประเทศ

“การขับเคลื่อนของหอการค้าในการสร้างความพร้อมในการเข้าสู่ยุค Services 4.0 โดยอาศัยกลไกของความคิดสร้างสรรค์ วัฒนธรรม และดิจิทัลเทคโนโลยี ภายใต้แนวทางประชารัฐ และน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาเป็นกรอบในการขับเคลื่อนสู่ความยั่งยืน เราเชื่อว่า การขับเคลื่อนตามแนวทางนี้จะช่วยสร้างการเติบโตให้กับประเทศได้เป็นอย่างดี” กลินท์เสริม

อย่างไรก็ตาม ใจความสำคัญของการจะนำพารายได้ด้านการท่องเที่ยวให้เข้าไปสู่ชุมชนได้นั้น จำเป็นอย่างยิ่งที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องให้ความสำคัญในระดับที่ลึกกว่าการสร้างรายได้โดยรวม โดยก่อนหน้านี้หอการค้าไทยมีโครงการ 1 หอการค้า 1 การท่องเที่ยวชุมชน แนวทางของโครงการดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อสร้างและกระจายรายได้ให้ถึงชุมชนต่างๆ

กระนั้นหากเกิดการผลักดันอย่างจริงจังจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะเป็นแรงจูงใจอย่างดีให้แก่ประชาชนในชุมชน ให้เกิดความต้องการที่จะต่อยอดความคิดสร้างสรรค์และสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ เพิ่มมูลค่าให้กับสินค้าและบริการ นี่จะเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับการท่องเที่ยวชุมชนได้อย่างแท้จริง

แม้ว่าการสัมมนาหอการค้าทั่วประเทศในครั้งนี้จะไม่ได้มีเพียงหัวข้อการท่องเที่ยวเพียงอย่างเดียว หากแต่ทุกหัวข้อเป็นหนทางในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ และอาจจะนำมาซึ่งตัวเลขจีดีพีที่สูงขึ้นตามความคาดหวังของหลายฝ่าย นั่นหมายถึงภาพสะท้อนของสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่อาจจะดีขึ้นตามลำดับ

ใส่ความเห็น