วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > อนาคตรถกระบะแคป บนมาตรการที่คลุมเครือ

อนาคตรถกระบะแคป บนมาตรการที่คลุมเครือ

ข่าวว่าด้วยมาตรการของรัฐในการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลสงกรานต์ตามคำสั่งมาตรา 44 ที่ 14-15/2560 ของหัวหน้า คสช.ไม่เพียงแต่จะสร้างกระแสวิพากษ์วิจารณ์อย่างกว้างขวางโดยเฉพาะในสื่อออนไลน์และโลกโซเชียลมีเดีย จนทำให้รัฐบาลต้องออกคำสั่งชะลอการบังคับใช้อย่างเข้มงวดออกไปก่อน

หากแต่ในอีกด้านหนึ่ง กรณีดังกล่าวอาจเป็นระเบิดเวลาที่พร้อมจะสั่นคลอนความเป็นไปและยอดการจำหน่ายรถยนต์กระบะ ซึ่งถือเป็นรถยนต์ยอดนิยมของสังคมไทยในอนาคตอีกด้วย

ด้วยคุณลักษณะของความเป็นรถยนต์อเนกประสงค์ที่สามารถเติมเต็มวิถีชีวิตแบบสังคมเกษตรกรรมกึ่งสังคมเมือง รถยนต์กระบะกลายเป็นยานพาหนะที่พร้อมจะตอบโจทย์ความต้องการของสังคมได้อย่างลงตัวไม่ว่าจะเป็นในมิติของการขนส่งสิ่งของ หรือเคลื่อนย้ายผู้คน ที่ทำให้รถยนต์กระบะกลายเป็นทางเลือกแรกๆ ที่ได้รับการนึกถึง และส่งผลให้ยอดการจำหน่ายรถยนต์ในกลุ่มนี้มีสัดส่วนมากถึงกว่าร้อยละ 43-50 ของยอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทรวมกันในแต่ละปี

จากตัวเลขยอดจำหน่ายรถยนต์รวมในปี 2559 ที่ผ่านมา พบว่ามียอดจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทรวม 770,000 คัน โดยในจำนวนนี้เป็นรถยนต์กระบะขนาด 1 ตัน รวม 335,000 คันหรือคิดเป็นร้อยละ 43.5 ของยอดจำหน่ายรถยนต์รวมตลอดทั้งปี

ขณะที่ตัวเลขยอดการจำหน่ายรถยนต์ในเดือนมกราคมและกุมภาพันธ์ 2560 ที่ผ่านมา พบว่ายอดการจำหน่ายรถยนต์ทุกประเภทรวมอยู่ที่จำนวน 125,689 คัน โดยเป็นรถยนต์กระบะรวม 65,092 คัน หรือคิดเป็นร้อยละ 51.8 ซึ่งเป็นภาพสะท้อนความนิยมและนัยสำคัญของรถยนต์กระบะในอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยได้เป็นอย่างดี

ประเด็นที่น่าสนใจประการหนึ่งของการประกาศใช้มาตรการคุมเข้มด้านจราจรที่ออกมาในช่วงต้นเดือนเมษายน เพื่อรองรับกับเทศกาลสงกรานต์อยู่ที่การประกาศมาตรการที่ว่านี้ อยู่ในช่วงเวลาคาบเกี่ยวและต่อเนื่องกับกระแสข่าวเชิงลบว่าด้วยการจัดซื้อยุทโธปกรณ์ และข่าวเกี่ยวกับบ่อนกาสิโนบริเวณชายแดนไทย-กัมพูชา ที่ทำให้ความสนใจในข่าวทั้งสองนี้ถูกบดบังลงไปโดยปริยาย

ขณะเดียวกันในอีกด้านหนึ่งข่าวมาตรการคุมเข้มจราจรที่ว่านี้ยังอยู่ในช่วงเวลาที่สังคมไทยและค่ายรถยนต์ทุกค่ายกำลังอยู่ในช่วงของมหกรรมงานบางกอก อินเตอร์เนชั่นแนล มอเตอร์โชว์ ครั้งที่ 38 และกำลังเร่งส่งเสริมการขายกันอย่างหนักหน่วง โดยผู้จัดงานตั้งเป้าที่จะมียอดการจองรถยนต์ในงานนี้รวม 35,000 คันและหวังที่จะกระตุ้นอุตสาหกรรมยานยนต์ไทยด้วยปริมาณเม็ดเงินที่จะสะพัดในงานกว่า 4 หมื่นล้านบาท

กระนั้นก็ดี บทสรุปตัวเลขยอดการจองในช่วงครึ่งแรกของการจัดงาน (ระหว่างวันที่ 27 มีนาคม-3 เมษายน) ปรากฏว่า ยอดจองรถยนต์ในงานอยู่ที่ระดับ 9,294 คัน โดยยังไม่นับรวมยอดการจองรถยนต์ในกลุ่มค่ายยุโรป ที่จะส่งยอดสรุปมาในช่วงท้ายงาน

ตัวเลขยอดการจองในระดับดังกล่าวในด้านหนึ่งเป็นผลจากความสนใจในกลุ่มรถยนต์นั่งขนาดเล็กที่ตอบสนองความต้องการของคนรุ่นใหม่ในเขตเมือง ขณะที่รถยนต์เพื่อการพาณิชย์และรถยนต์กระบะก็ยังได้รับความนิยมต่อเนื่องจากสภาพเศรษฐกิจและการเติบโตของสินค้าทางการเกษตรที่เริ่มมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ต้องมาสะดุดเพราะความคลุมเครือของมาตรการที่พร้อมจะส่งผลต่อผู้ใช้และผู้ที่สนใจและกำลังจะจองซื้อรถยนต์กระบะทันที

ขณะที่รถยนต์ในกลุ่มรถยนต์อเนกประสงค์ในแบบเอสยูวีและพีพีวี ได้รับความนิยมมากขึ้นเป็นลำดับ

กลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดจากมาตรการจราจรล่าสุด ดูเหมือนจะตกหนักอยู่ที่รถยนต์กระบะตอนครึ่ง หรือที่เรียกขานกันโดยทั่วไปว่ารถยนต์กระบะแคป ที่มีพื้นที่ต่อเชื่อมขึ้นมาใช้งานในห้องโดยสารด้านหลังเบาะคู่หน้า ซึ่งเดิมเป็นพื้นที่อรรถประโยชน์ โดยเฉพาะการเพิ่มพื้นที่ให้ผู้ขับขี่สามารถเอนกายสู่พื้นที่ว่างด้านหลังได้ ก่อนที่จะถูกนำมาใช้ประโยชน์ในฐานะพื้นที่โดยสารเพิ่มเติมมาอย่างยาวนานและทำให้รถยนต์กระบะในกลุ่มนี้ ได้รับความนิยมอย่างต่อเนื่อง

ประเด็นปัญหาในการบังคับใช้กฎหมายจราจร ตาม พ.ร.บ.รถยนต์ปี 2522 โดยเฉพาะในส่วนของรถยนต์กระบะตอนครึ่ง หรือกระบะแคป ในด้านหนึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากพฤติกรรมการใช้รถยนต์กระบะแคป รวมถึงความเข้าใจที่คลาดเคลื่อนจากการประชาสัมพันธ์ของผู้ผลิตรถยนต์ และนำไปสู่คำถามถึงอนาคตว่า กระบะตอนครึ่ง จะมีที่อยู่ที่ยืนในตลาดรถยนต์อย่างไรต่อไป

โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มผู้บริโภคที่สนใจและอาจทำการจองซื้อไปแล้ว รอเพียงการรอรับการส่งมอบรถยนต์ มาตรการจราจรที่ออกมาล่าสุดนี้กำลังบั่นทอนความมั่นใจของผู้บริโภคไม่น้อย ขณะที่ในส่วนของผู้ผลิตก็คงต้องปรับเปลี่ยนกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องและรองรับกับกฎหมายที่จะบังคับใช้ในอนาคตด้วย

ประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับความคลุมเครือของมาตรการที่ต้องเรียกว่าส่งผลกระทบเชิงลบในทางปฏิบัติและการบังคับใช้ เมื่อผู้นำรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องออกมาผ่อนปรนและอนุโลมการบังคับใช้ในเรื่องนี้ออกไปหลังช่วงเทศกาลสงกรานต์ แต่ไม่ได้กำหนดช่วงเวลาว่าจะนำกลับมาบังคับใช้ใหม่เมื่อใด นับเป็นตัวอย่างของความล้มเหลวในการออกกฎหมายและการบังคับใช้กฎหมายของไทยได้เป็นอย่างดี

ข้อสังเกตจากธวัชชัย ไทยเขียว รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ซึ่งได้โพสต์ข้อความลงใน Facebook ส่วนตัวเมื่อวันที่ 6 เมษายนที่ผ่านมา ถือเป็นการบ่งชี้ให้เห็นถึงความละเอียดอ่อนของกฎหมายที่ย่อมไม่ได้เกิดขึ้นจากการลุแก่อำนาจ หรือเหตุผลว่าด้วยความปรารถนาดีได้เพียงลำพัง

รองปลัดกระทรวงยุติธรรม ระบุว่า การตรวจสอบผลกระทบในการออกกฎหมายต้องให้มีการวิเคราะห์ผลกระทบของกฎหมาย (Regulatory Impact Analysis/RIA) โดยใช้ตัวแบบขององค์การเพื่อความร่วมมือและพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organization for Economic Co-Operation and Development/OECD) ซึ่งต้องมีการตรวจสอบผลกระทบ มีรายการดังต่อไปนี้ 1. มีการระบุปัญหาที่แท้จริงแล้วหรือไม่? 2 .การเข้าแทรกแซงของภาครัฐเหมาะสมหรือไม่? 3. การออกกฎหมายเป็นวิธีการที่ดีที่สุดในการแทรกแซงของภาครัฐหรือไม่? 4. มีอำนาจในการออกกฎหมายนั้นหรือไม่? 5. หน่วยงานของภาครัฐระดับใดที่ควรกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจดำเนินการ? 6. ประโยชน์ที่จะได้รับจากการออกกฎหมายนั้นเหมาะสมกับต้นทุนในการออกกฎหมายและบังคับให้เป็นไปตามกฎหมายหรือไม่?

7. ผลกระทบที่เกิดจากกฎหมายนั้นที่มีต่อสังคมมีความโปร่งใสหรือไม่? 8. เนื้อหาสาระของกฎหมายมีความชัดเจน สอดคล้องกับกฎหมายอื่น เข้าใจง่าย และเข้าถึงได้โดยผู้ใช้กฎหมายและประชาชนหรือไม่? 9. กลุ่มผู้มีส่วนได้เสียต่างๆ มีโอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับกฎหมายนั้นหรือไม่? 10. มีมาตรการที่จะทำให้การบังคับใช้และการปฏิบัติตามกฎหมายนั้นประสบความสำเร็จ

หากสิ่งที่รองปลัดกระทรวงยุติธรรมได้โพสต์ให้ความรู้แก่สาธารณะในครั้งนี้จะสามารถสื่อสะท้อนหลักการพื้นฐานสำคัญในการออกกฎหมายของไทยในอนาคต บางที นี่อาจจะเป็นการกระตุ้นเตือนและเป็นความปรารถนาดีไปสู่ผู้มีอำนาจในการออกกฎหมายหรือคำสั่งให้ต้องย้อนพิจารณาด้วยสติปัญญา

เป็นความปรารถนาดีที่ไม่ต้องการเห็นประเทศชาติบ้านเมืองต้องสูญเสียเวลาไปกับความไร้ความสามารถในการนำพาและพัฒนาประเทศ ที่ขาดความชัดเจนและเป็นไปได้ในทางปฏิบัติอย่างที่ผ่านมา

ใส่ความเห็น