วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > น้ำตกตาดเยือง ปราสาทวัดพู มนต์เสน่ห์แห่งลาวใต้

น้ำตกตาดเยือง ปราสาทวัดพู มนต์เสน่ห์แห่งลาวใต้

ความพยายามที่จะเป็น Battery of Asean ของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว (สปป.ลาว) ด้วยปัจจัยหลักของความสมบูรณ์ด้านทรัพยากรธรรมชาติ และความต้องการที่จะผลักดันประเทศให้หลุดพ้นจากการเป็นประเทศยากจนและด้อยพัฒนา ภายในปี 2563 จึงไม่น่าแปลกใจที่ในระยะไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราจะได้เห็นและรับรู้ข่าวสารจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน เกี่ยวกับนโยบายการสร้างเขื่อนเพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง เพราะนั่นเป็นเป้าหมายสำคัญที่ สปป.ลาว วางเอาไว้ว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มขึ้นให้ได้ถึง 12,500 เมกะวัตต์

นอกจากความพรั่งพร้อมด้านทรัพยากรทางธรรมชาติที่เป็นตัวแปรสำคัญของการผลิตพลังงานไฟฟ้าแล้ว ความงดงามที่ธรรมชาติรังสรรค์ขึ้น รวมไปถึงสถานที่สำคัญที่เต็มไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าจะเป็นแม่เหล็กชั้นดีที่จะสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติให้เข้ามาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของ สปป.ลาวได้ไม่ยาก

อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ดูเหมือนจะกลายเป็นฟันเฟืองตัวสำคัญที่จะขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้าได้ แม้ว่าการเคลื่อนไปข้างหน้าของระบบเศรษฐกิจจะดำเนินไปอย่างล่าช้าไปสักหน่อยเมื่อเทียบกับประเทศไทย แต่ผลสรุปดูจะเป็นที่น่าพอใจอยู่ไม่น้อย

และหากอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวของ สปป.ลาว ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐในการที่จะปลุกเร้าศักยภาพที่มีอยู่ให้มีความพร้อมทั้งด้านการบริการและระบบการจัดการที่ดี เชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะหนุนนำและส่งเสริมให้ฟันเฟืองชิ้นนี้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

น้ำตกตาดเยือง จุดท่องเที่ยวธรรมชาติที่สำคัญของเมืองปากซอง แขวงจำปาสัก อีกหนึ่งสถานที่ที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เดินทางเข้ามาสัมผัสความงาม จำนวนนักท่องเที่ยวที่เริ่มหนาตาประหนึ่งว่าเสียงขับขานแห่งสายธารกำลังเรียกร้องเชิญชวน

สายน้ำทิ้งตัวตามความสูงชันของหน้าผา ไหลลงมาตามแรงโน้มถ่วงของโลก มวลน้ำรวมตัวกับความเร็วของกระแสแห่งธารก่อให้เกิดฟองน้ำสีขาวสะอาดตา สายลมที่พัดผ่านมาตามช่องเขานำพาเอาละอองน้ำปลิวมากระทบสรรพสิ่งที่อยู่ใกล้เคียง ไม่เว้นแม้แต่นักท่องเที่ยวที่เดินทางฝ่าด่านทดสอบของธรรมชาติลงไปสัมผัสกับความเย็นฉ่ำที่งดงามของน้ำตกสายนี้

ยามเมื่อดวงอาทิตย์เคลื่อนตัวสูงขึ้น และทอแสงส่องลงมาทำมุมกับละอองน้ำที่กระจายตัวอยู่ในอากาศ องศาของแสงที่ตกกระทบลงบนความพอดีที่ลงตัวปรากฏสายรุ้งขนาดเล็กชวนให้ผู้พบเห็นตื่นตาตื่นใจเสพความสวยงามตรงหน้าจนอิ่มเข้าไปถึงใจ

เบื้องหลังกระแสธารแม้จะเป็นผาหินที่แข็งแกร่ง หากแต่พืชพรรณสีเขียวที่อาศัยความชื้นขึ้นปกคลุมโขดหินที่ตั้งตระหง่านอย่างมั่นคง เหมือนมีใครสักคนนำผ้าแพรสีเขียวมาห่อหุ้ม ช่วยให้บรรยากาศโดยรอบชวนมองมากขึ้น

จึงไม่แปลกใจที่นักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศต่างเดินทางมาเพื่อที่จะสัมผัสพร้อมทั้งเก็บเกี่ยวบรรยากาศที่มากไปด้วยอรรถรส และเสพสุนทรีที่รังสรรค์ขึ้นจากธรรมชาติ แม้การเดินทางมายังน้ำตกตาดเยืองจะไม่ยากลำบาก หากแต่การเดินไต่ระดับลงไปเพื่อสัมผัสกับน้ำตกเบื้องล่าง นักท่องเที่ยวต้องเดินด้วยความระมัดระวังเมื่อบันไดที่ทอดตัวลงไปด้านล่างนั้นมีทั้งบันไดที่เป็นไม้ และโขดหินที่มีตะไคร่ขึ้นประปราย

ขณะที่แหล่งท่องเที่ยวของเมืองไทยเองก็มีน้ำตกที่งดงามหลายแห่ง และยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวอันเลื่องชื่อ แต่ที่น่าสังเกตคือ พื้นที่บริเวณโดยรอบของน้ำตกตาดเยือง แม้จะมีร้านรวงที่ตั้งขึ้นเพื่อขายสินค้าที่ระลึก หากแต่ถูกจัดอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมและเส้นทางที่ทอดตัวลงไปยังน้ำตก ไม่มีร้านค้าที่ไปรบกวนทัศนียภาพอันงดงามของแหล่งท่องเที่ยว

บางทีดูเหมือนว่าการจัดการที่ยังไม่เต็มรูปแบบดูจะส่งผลดีกับแหล่งท่องเที่ยวทางธรรมชาติ มากกว่าการที่มีสิ่งอำนวยความสะดวก หรือร้านรวงที่อุดมไปด้วยความทันสมัยพร้อมสรรพเสียอีก

นอกจากน้ำตกตาดเยืองที่สามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวจากกลุ่มประเทศ Asean ได้แล้ว นักท่องเที่ยวชาวยุโรปจำนวนมากเลือกที่จะมาสัมผัสมนต์เสน่ห์ของลาวใต้

สปป.ลาว มีสถานที่ท่องเที่ยวที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกอยู่สองแห่ง นั่นคือ เมืองหลวงพระบางที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกทั้งเมือง แน่นอนว่าด้วยการเดินทางที่ค่อนข้างสะดวกจึงเป็นตัวเลือกอันดับต้นๆ สำหรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทั้งนี้แหล่งท่องเที่ยวที่ถูกบรรจุในทะเบียนมรดกโลกอันดับที่สองของ สปป.ลาว คือ ปราสาทหินวัดพู ที่ตั้งอยู่ห่างจากตัวเมืองจำปาสักประมาณ 10 กิโลเมตร

ปราสาทหินวัดพูได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกจากการประชุมคณะกรรมการมรดกโลกสมัยสามัญครั้งที่ 25 เมื่อปี 2544 ที่กรุงเฮลซิงกิ ประเทศฟินแลนด์ ด้วยข้อกำหนดและหลักเกณฑ์ในการพิจารณาให้เป็นแหล่งมรดกโลกดังนี้ คือ การเป็นสถานที่ที่ยืนยันถึงหลักฐานของวัฒนธรรมหรืออารยธรรมที่ปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบันว่าสาบสูญไปแล้ว รวมไปถึงหลักเกณฑ์ของการเป็นตัวอย่างอันโดดเด่นประเภทของสิ่งก่อสร้างอันเป็นตัวแทนของการพัฒนาด้านวัฒนธรรม สังคม ศิลปกรรม วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี อุตสาหกรรมในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ และหลักเกณฑ์ที่ว่า การมีความคิดหรือความเชื่อที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุการณ์ หรือมีความโดดเด่นยิ่งในประวัติศาสตร์

ทางเดินที่ปูด้วยแผ่นหินที่ทอดยาวนับร้อยเมตรอุดมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ ที่ครั้งหนึ่งปราสาทหินวัดพูเคยเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์และแหล่งอารยธรรมโบราณถึง 3 สมัย ทั้งอาณาจักรเจนละในช่วงศตวรรษที่ 6-8 อาณาจักรขอมสมัยก่อนเมืองพระนคร และอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งต่อมาคือ สปป.ลาวในปัจจุบัน

ต้นจำปาที่ขึ้นอยู่ริมทางเดินที่เป็นบันไดชันสองข้างทางส่งกลิ่นหอมอบอวลท่ามกลางบรรยากาศเงียบสงบ มีเพียงร้านขายน้ำดื่มที่ดูแลโดยคนท้องถิ่น และผู้เฒ่าผู้แก่ ที่ตั้งโต๊ะจำหน่ายดอกไม้ ธูปเทียน และบายศรีที่ทำขึ้นแบบง่ายๆ สำหรับบูชาพระพุทธรูปองค์ใหญ่

บรรยากาศเงียบสงบหากแต่ยังสามารถมองเห็นวิถีชีวิตที่เต็มไปด้วยความเชื่อที่ถูกส่งต่อกันมาจากรุ่นสู่รุ่น วัฒนธรรมประเพณี ขนบต่างๆ ที่ยังคงปรากฏให้เห็นตามหลักฐานในสถานที่เหล่านั้น

น่าแปลกที่สถานที่ท่องเที่ยวในลาวใต้แม้จะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอันทันสมัยเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมากมายนัก หากแต่กลับได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติอย่างต่อเนื่อง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันสถานการณ์การท่องเที่ยวของ สปป.ลาวจะดีขึ้น หากแต่ทางการลาวเองยังคงพยายามเร่งหาวิธีในดึงดูดนักท่องเที่ยวจีนให้มากขึ้น เมื่อพบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางท่องเที่ยวในต่างประเทศและเม็ดเงินที่ชาวจีนใช้ในการท่องเที่ยวนั้นเป็นจำนวนมาก

ซึ่งมีสถิติจากส่วนท่องเที่ยวของกระทรวงฯ พบว่านักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาเที่ยว สปป. ลาวมากเป็นอันดับ 3 ในบรรดานักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาเยือนลาวในปี 2559 โดยมีจำนวนนักท่องเที่ยวจีนมากถึง 399,556 คน ในช่วงเดือนมกราคม-กันยายน เมื่อปีที่ผ่านมา ซึ่งหากเปรียบเทียบกับตัวเลขนักท่องเที่ยวจีนในช่วงปี 2554 ที่มีอยู่เพียง 150,791 คน ถือว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่มา สปป.ลาว เพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง

โดยนายโพแสงคำ วงดารา รัฐมนตรีกระทรวงสารสนเทศวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวกล่าวว่า “ลาวควรตั้งเป้าไปที่นักท่องเที่ยวชาวจีน เพราะเป็นลูกค้าระดับไฮ-เอนด์ และใช้จ่ายเงินสูงมาก” ขณะที่ผู้ประกอบการท่องเที่ยวใน สปป.ลาว เห็นว่าลาวจำเป็นต้องพัฒนาตลาดท่องเที่ยวเพื่อให้เหมาะสมกับดีมานด์ของนักท่องเที่ยวจีน รวมไปถึงปัจจัยที่จะสนับสนุนการท่องเที่ยวให้เฟื่องฟู คือเรื่องการคมนาคม การบริการและสถานที่ท่องเที่ยวควรถูกยกระดับ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องเข้าถึงปัญหาต่างๆ ที่สร้างความยุ่งยากให้แก่นักท่องเที่ยว

คงต้องรอดูว่าในอนาคตอันใกล้นอกจากความพยายามในการจะเป็น Battery of Asean ของ สปป.ลาวแล้ว ความพยายามปลุกปั้นอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวให้เฟื่องฟูขึ้นจะดำเนินไปในรูปแบบใด มนต์เสน่ห์แห่งลาวใต้จะยังเรียกขานเชิญชวนนักท่องเที่ยวให้ไปค้นหาได้มากน้อยเพียงใดยังคงเป็นเรื่องที่น่าติดตาม

 

 

ใส่ความเห็น