วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > สัปดาห์หนังสือ: เมื่อเนื้อหาคือราชา แต่ช่องทางคือราชินี

สัปดาห์หนังสือ: เมื่อเนื้อหาคือราชา แต่ช่องทางคือราชินี

บนเส้นทางแห่งการเปลี่ยนผ่านของเทคโนโลยี ส่งผลให้กรอบโครงของการใช้ชีวิตผู้คนในสังคมเปลี่ยนไปจากเดิม สังคมก้มหน้ากลายเป็นภาพชินตาที่ปรากฏอยู่ให้เห็นในแทบจะทุกสถานที่ แสงสว่างที่อุปกรณ์สื่อสารสะท้อนขึ้นบนหน้าบ่งบอกว่าผู้ใช้กำลังก้าวเข้าสู่โลกออนไลน์ รวมไปถึงวิถีชีวิตของผู้คนที่ดำเนินไปด้วยความเร่งรีบ ตามความเร็วของสัญญาณเครือข่ายโทรศัพท์ เสมือนประหนึ่งว่าการใช้ชีวิตในห้วงยามนั้นอยู่ในชั่วโมงเร่งด่วนตลอดเวลา

ภาพเหล่านี้เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่บ่งบอกถึงการเปลี่ยนแปลงและพัฒนาการทางเทคโนโลยีที่วิวัฒนาการขึ้นแบบก้าวกระโดด และเป็นอีกผลกระทบหนึ่งในหลายๆ มิติที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะในอีกแง่มุมที่สำคัญที่ความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีกลายเป็นตัวชี้วัดสถานการณ์ความเป็นไปของอุตสาหกรรมสื่อสิ่งพิมพ์ คล้ายกับจะบอกว่า นี่คือเวลาที่สื่อสิ่งพิมพ์ต้องปรับตัวเพื่อความอยู่รอด

การเข้ามาของสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการกระจายตัวของเม็ดเงินโฆษณา จากเดิมที่เคยกระจุกตัวอยู่ในสื่อสิ่งพิมพ์ เมื่อเม็ดเงินโฆษณาถูกลดทอนลง นั่นหมายถึงความอยู่รอดของหลายสำนักที่การปิดตัวดูจะเป็นทางออกทางเดียวที่เหลืออยู่

ในช่วงเวลา 1-2 ปีที่ผ่านมา นับเป็นห้วงเวลาแห่งการล้มหายตายจากของสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารบางฉบับที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการสื่อสิ่งพิมพ์มานานกว่า 60 ปี ปิดตัวลงสร้างความรู้สึกสะเทือนใจที่ไม่ใช่เฉพาะผู้อยู่เบื้องหลังและคนทำหนังสือเท่านั้น เพราะการปิดตัวลงหมายถึงการปิดพื้นที่ของผลงานที่มีความน่าสนใจของนักเขียนหรือคอลัมนิสต์ที่ส่งต่องานเขียนที่กลั่นกรองจากสมองและสองมือถึงนักอ่านที่รอคอย

แม้ว่าการปิดตัวของสื่อบางฉบับจะมีสาเหตุหลักมาจากเม็ดเงินโฆษณาที่ลดลงแล้ว อีกสาเหตุสำคัญประการหนึ่งคือ “การอ่านน้อยลง” ของผู้คนในสังคมที่วันนี้กลายเป็นปัญหาที่หลายฝ่ายกำลังกังวล และพยายามที่จะหาหนทางในการแก้ไข

กระนั้น ไตรลุจน์ นวะมะรัตน นายกสมาคมมีเดียเอเยนซี่และธุรกิจสื่อแห่งประเทศไทย คาดการณ์ว่า งบโฆษณาของปี 2560 น่าจะเติบโตเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ จากปี 2559 ที่มีงบประมาณ 133,666 ล้านบาท แต่นั่นถือว่ายังต่ำกว่างบประมาณโฆษณาในปี 2558 ที่มีงบประมาณอยู่ที่ 136,770 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบจากการมาถึงของสื่อดิจิตอลคงจะหนีไม่พ้นนักข่าว ที่หากไม่ปรับตัวให้เข้ากับสถานการณ์ที่กำลังดำเนินไปอยู่ในเวลานี้ มีความเป็นไปได้สูงมากที่จะตกงาน นอกจากนี้ผู้คนที่แวดล้อมอยู่ในวังวนของอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์ต่างได้รับผลกระทบไม่ต่างจากระลอกคลื่นของน้ำที่ขยายวงกว้าง

แม้ว่าเทคโนโลยีที่พัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วจะส่งผลให้เกิดสื่อช่องทางใหม่ๆ ให้ผู้คนได้เลือกรับสาร หากแต่ประเด็นสำคัญที่เปรียบเสมือนราชา คือ “เนื้อหา” หรือ “คอนเทนต์” เพราะแม้ว่าเวทีนี้จะมีผู้เข้าแข่งขันในสนามของสื่อออนไลน์จะมีมากมาย ทั้งเจ้าตลาดเดิม ที่เรียกตัวเองว่า สื่อยักษ์ใหญ่ หรือเจ้าของ Facebook Page ที่มี Fanpageติดตามอยู่จำนวนมาก รวมไปถึงบล็อกเกอร์ที่มักนำเสนอเรื่องราวที่เน้นความบันเทิงเป็นหลัก

ห้วงเวลาแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ นับว่าเป็นความท้าทายไม่น้อยสำหรับอาชีพสื่อ เพราะนอกจากสื่อต้องเผชิญหน้ากับนวัตกรรมและเทคโนโลยีที่เป็นโจทย์สำคัญในการพัฒนาประเทศ ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่จะทำให้ประเทศไทย ก้าวเข้าสู่การเป็นไทยแลนด์ 4.0 ยังจะต้องคัดสรรเนื้อหาที่สามารถดึงดูดใจผู้อ่านได้แล้ว ยังต้องเลือกใช้ช่องทางอย่างชาญฉลาด เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายให้ได้มากที่สุด

กระนั้นแม้ว่าสัปดาห์นี้จะมีงานสัปดาห์หนังสือฯ ที่อาจจะเป็นตัวชี้วัดว่าคนไทยยังให้ความนิยมให้สื่อหรือหนังสือเล่มมากขึ้นหรือน้อยลงไปจากเดิมหรือไม่ แม้ว่าที่ผ่านมาจะมีเม็ดเงินสะพัดกว่า 600 ล้านบาท รวมไปถึงยอดผู้เข้าชมงานในแต่ละปีประมาณ 2 ล้านคน แต่หากเปรียบเทียบเป็นเปอร์เซ็นต์กับจำนวนประชากรแล้ว ยังเป็นตัวเลขที่ดูจะน้อยนิด เพราะด้วยทัศนะของคนในสังคมส่วนใหญ่ยังให้ความสำคัญกับเนื้อหาที่มีให้อ่านฟรีบนโลกออนไลน์

จรัญ หอมเทียนทอง นายกสมาคมผู้จัดพิมพ์และผู้จำหน่ายหนังสือแห่งประเทศไทย กล่าวอย่างน่าคิดเมื่อวันเปิดงานสัปดาห์หนังสือฯ ว่า “การอ่านเป็นหน้าตา และเป็นตัวชี้นำความเจริญของประเทศชาติ ธุรกิจหนังสือเป็นธุรกิจเดียวที่ไม่ได้รับการเหลียวแลและสนับสนุนจากทุกรัฐบาล ที่ผ่านมาคนทำหนังสือ บุคลากรด้านหนังสือ ก็ต้องร่วมด้วยช่วยกัน ผมอยากให้คนไทยทุกคนรักการอ่าน เพราะมันเป็นเสมือนอาหารสมอง หนังสือเป็นเหมือนเพื่อนของทุกๆ คน เพราะหนังสือบ่งบอกความเป็นตัวตนของคนที่เลือกซื้ออ่านได้เป็นอย่างดี อ่านอะไรก็จะได้อย่างนั้น ถึงแม้ธุรกิจหนังสือพิมพ์ นิตยสารจะได้รับผลกระทบมาก แต่สำหรับพ็อกเกตบุ๊กหรือหนังสือเล่ม ยังเป็นที่ต้องการของตลาดอยู่ เพราะฉะนั้นเรายังมีความหวังที่จะทำให้คนไทยรักการอ่านหนังสือเพิ่มมากขึ้น งานสัปดาห์หนังสือฯ ไม่ได้มีแต่หนังสือมาลดราคา แต่มีปัญญาให้ทุกคนมานำกลับไป”

กาลเวลาที่นำพาเอาเทคโนโลยีอันทันสมัยมาให้เราได้เรียนรู้ที่จะใช้กันอย่างสนุกสนาน ได้ดึงเอาห้วงเวลาของลมหายใจที่อาจจะเรียกได้ว่า เป็นห้วงเวลาสุดท้ายของสื่อสิ่งพิมพ์ หรือหนังสือ ให้เดินทางเข้าสู่วิกฤตที่ส่งผลต่อคนมากมายที่อยู่รายล้อม

คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า งานสัปดาห์หนังสือฯ ที่จัดขึ้นแต่ละปี พร้อมกับความพยายามที่จะผลักดันและเร่งเร้าให้คนไทยรักการอ่านมากขึ้น จะเห็นผลที่ดีขึ้นมากน้อยเพียงใด คนไทยที่มีปัญหากับการอ่านเพียง 8 บรรทัดจะลดน้อยลงบ้างหรือไม่ ยังต้องเป็นเรื่องที่หลายฝ่ายต้องขบคิดและติดตาม

ใส่ความเห็น