วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > RSU 5.0 นวัตกรรม ม.รังสิต บนความพยายามของการศึกษาไทย

RSU 5.0 นวัตกรรม ม.รังสิต บนความพยายามของการศึกษาไทย

ความเคลื่อนไหวของมหาวิทยาลัยรังสิตเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา กับการเปิดเผยทิศทางและภาพรวมของแผนการที่กำลังดำเนินไปอย่างมีกรอบโครง ที่ถูกกำหนดเอาไว้ในอนาคต ภาพชัดที่ฉายขึ้นมานั้นดูจะอุดมไปด้วยความคาดหวังที่มุ่งจะสร้างนวัตกรรมทางการศึกษารูปแบบใหม่ โดยมีหมุดหมายเพื่อสร้างให้เกิดแรงขับเคลื่อนของมหาวิทยาลัยรังสิต ให้ก้าวไปข้างหน้าได้อย่างมั่นคงท่ามกลางกระแสสังคมที่มีการเปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

แผนการลงทุนในธุรกิจของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยรังสิตที่จะผุดโรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล บนพื้นที่ 11 ไร่ ย่านธุรกิจบนถนนเพชรบุรีตัดใหม่ และด้วยงบประมาณสูงนับหมื่นล้านบาท อาจจะเป็นคำตอบที่สามารถไขข้อข้องใจในคำถามที่อยู่ในใจของใครหลายคนได้เป็นอย่างดี ที่ว่าศักยภาพด้านการแพทย์ของไทยนั้นก้าวหน้าไปมากน้อยเพียงใด

ทว่า ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต กลับบอกว่า “จุดประสงค์ของเราไม่ได้ต้องการสร้างโรงพยาบาลเพื่อทำธุรกิจ แต่อยากจะสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นเครื่องแสดงศักยภาพของประเทศ” ก่อนจะอธิบายเพิ่มเติมถึงความเป็นมาของโครงการนี้ว่า มีแนวความคิดในการสร้างโรงพยาบาลที่ไม่เหมือนโรงพยาบาล เปลี่ยนความเจ็บป่วย สิ้นหวัง และสลดหดหู่ มาเป็นการอยู่กับธรรมชาติ สถานที่สวยงาม โดยกำหนดให้มีพื้นที่สีเขียวร้อยละ 35 เป็นสถานบริการด้านสุขภาพที่คนมาแล้วมีความสุข เป็น The Most Humanized Medical Care เน้นความเป็นมนุษย์ เอาใจใส่ และเอื้ออาทร

นอกจากนี้แนวความคิดที่สองคือ การสร้างโรงพยาบาลที่มีศูนย์การแพทย์ขั้นสูงครบวงจร เป็นคอนเซ็ปต์ใหม่ในการรักษาพยาบาลในอนาคต และแนวความคิดที่สาม คือการเป็นโรงพยาบาลที่มีองค์ความรู้ทั้งการแพทย์แผนตะวันตก และการแพทย์แผนตะวันออก โดยเฉพาะ Oriental Medicine ที่ประกอบไปด้วยแพทย์แผนไทย แผนจีน และแผนอินเดีย

กลยุทธ์ของผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยรังสิตที่นอกจากความต้องการจะปรับรูปแบบของโรงพยาบาลให้ห่างไกลจากความหดหู่และความสิ้นหวังของผู้เข้ามารักษาพยาบาลแล้ว พื้นที่ตั้งของโครงการยังสามารถตอบสนองและง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ป่วยชาวต่างชาติที่มองเห็นศักยภาพด้านการแพทย์ของไทย ที่ความต้องการในการเดินทางเข้ามารักษาพยาบาลในประเทศไทยของชาวต่างชาติมีมากขึ้นทุกปี

ทั้งนี้ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็น Medical Hub ที่มีเป้าหมายเพื่อยกระดับคุณภาพบริการด้านสาธารณสุขและสุขภาพของประชาชน รวมไปถึงการเป็นศูนย์กลางสุขภาพในระดับสากล

โดยยุทธศาสตร์ของภาครัฐล่าสุดที่กำลังดำเนินการอยู่นั้น คือยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางสุขภาพนานาชาติระยะ 10 ปี (พ.ศ. 2559-2568) จากการพัฒนาและส่งเสริมนโยบาย Medical Hub มาอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศไทยมีชาวต่างชาติเดินทางเข้ามารับบริการทางการแพทย์กว่า 1.2 ล้านครั้ง สร้างรายได้เข้าประเทศกว่า 1 พันล้านบาท

นอกเหนือไปจากนโยบายของมหาวิทยาลัยรังสิต ในการสร้างโรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล ที่สอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของรัฐบาลแล้ว ประเด็นที่สำคัญและน่าจับตามองอีกด้านหนึ่งคือการให้การศึกษาแก่นักศึกษาคณะแพทยศาสตร์ ที่ ดร.อาทิตย์ให้ความเห็นว่า “การให้การศึกษาไม่ใช่เพียงแค่ให้คนจบแพทย์ คนจบทันตแพทย์ จบสาขาต่างๆ แล้วไปทำงานที่อื่น แต่เราอยากจะสร้างสิ่งที่เรียกว่า ดีที่สุด สมบูรณ์แบบที่สุด นี่คือที่มาของโรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล”

ดูเหมือนว่านอกจากความพยายามที่จะสร้างศูนย์การแพทย์ที่ครบวงจร ที่ผสมผสานการแพทย์แผนตะวันตก และแผนตะวันออก เพื่อรองรับความต้องการการรักษาพยาบาลในรูปแบบต่างๆ ของมหาวิทยาลัยรังสิตแล้ว โรงพยาบาลอาร์เอสยู อินเตอร์เนชั่นแนล น่าจะเป็นสถานที่ที่จะสามารถรองรับนักศึกษาแพทย์ที่พร้อมจะเติบโตอย่างมีคุณภาพและก้าวเข้าสู่การเป็นบุคลากรการทางแพทย์ที่มีความเชี่ยวชาญได้เป็นอย่างดี

กรอบโครงทางความคิดของอธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ดูจะสะท้อนแนวทางของการพัฒนาการศึกษารูปแบบใหม่ที่อุดมไปด้วยนวัตกรรม ตามแนวคิดของไทยแลนด์ 4.0 ที่ภาครัฐกำลังโหมให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเศรษฐกิจ ทั้งระบบ แต่อีกนัยหนึ่งภาพสะท้อนถึงแนวคิดและแผนนโยบายของมหาวิทยาลัยรังสิต ในบางมิติกลับให้ความรู้สึกว่า บางทีรูปแบบการเรียนการสอนของมหาวิทยาลัยรังสิตที่กำลังดำเนินไปอยู่ในขณะนี้อาจจะกำลังก้าวกระโดดหนีความเป็น 4.0 ไปแล้ว

วาทกรรมที่กำลังสร้างความสงสัยเคลือบแคลงใจแก่ผู้ที่ติดตามสถานการณ์ความเป็นไปของเหตุบ้านการเมือง กับการรับรู้แนวทางนโยบายของภาครัฐที่ต้องการสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสังคมและเศรษฐกิจ ในการผลักดันประเทศไทยให้ก้าวเข้าสู่การเป็น “ไทยแลนด์ 4.0”

ไทยแลนด์ 4.0 จะเป็นยุคที่ประเทศไทยต้องมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง ไม่ต้องพึ่งพาต่างชาติ แน่นอนว่านับเป็นโจทย์ที่มีความท้าทายอยู่ไม่น้อย แม้ว่าประเทศไทยจะมีทรัพยากรที่สำคัญอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะผลิตผลทางการเกษตร หากแต่สิ่งที่จะสามารถทำให้นวัตกรรมอย่างภาครัฐต้องการน่าจะเป็นเรื่องของกระบวนการความคิด ที่จะต้องถูกบ่มเพาะตั้งแต่วัยเยาว์ และนั่นก็สะท้อนกลับมาสู่เรื่องของรูปแบบการเรียนการสอนของไทยที่ดูจะเป็นปัญหาอยู่ไม่มากก็น้อย

รูปแบบของการท่องจำ การร่ำเรียนตามตำรา หรือรูปแบบวิธีการสอน ที่ส่งผลเป็นลูกโซ่มาอย่างยาวนาน กระทั่งปัจจุบันที่ภาครัฐมีเป้าหมายให้ประเทศไทยมีนวัตกรรมเป็นของตนเอง แม้ว่าสาเหตุของบางปัญหาจะมีต้นเหตุมาจากระบบการศึกษาของบ้านเรา ซึ่งนั่นทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องตอบคำถามของสังคมที่ว่า รูปแบบการเรียนการสอนของการศึกษาไทยพร้อมที่จะปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงเพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ หรือหนุนนำส่งเสริมแนวความคิดเรื่องการสร้างนวัตกรรมหรือยัง

ขณะที่หลายภาคส่วนที่ได้รับนโยบายการพัฒนาเพื่อให้พร้อมก้าวเข้าสู่ยุคไทยแลนด์ 4.0 อย่างที่รัฐบาลกำลังผลักดันอย่างเต็มกำลัง โปรเจ็กต์ โครงการต่างๆ เกี่ยวกับการศึกษาผุดขึ้นอย่างรวดเร็ว จนนักวิชาการการศึกษาหลายฝ่ายต่างแสดงความเห็นที่เป็นกังวลว่า การศึกษา 4.0 จะสามารถเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่

ในเมื่อทุกวันนี้รูปแบบการเรียนเพื่อสอบเอาคะแนนสูง และมุ่งหวังที่จะเข้าโรงเรียนที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศ ยังคงมีอยู่ ซึ่งนั่นทำให้นักเรียนยังถูกจำกัดอยู่ในกรอบโครงความคิดแบบเดิมๆ และทำให้ยากที่จะคิดนอกกรอบได้

ดูเหมือนว่าการปรับกระบวนทัพของการศึกษาไทยจะไม่ใช่เรื่องง่ายอีกต่อไปแล้ว เพราะการเปลี่ยนแปลงจะเป็นไปได้จริง จำเป็นที่จะต้องสร้างความเข้าใจใหม่ตั้งแต่โรงเรียน ผู้สอน นักเรียน รวมไปถึงผู้ปกครอง ที่ต้องเรียนรู้ไปด้วยกันเสียใหม่ว่า เป้าหมายการศึกษาของชาติไทย คือต้องการสร้างเด็ก สร้างนวัตกรรม เลิกการยืนบรรยาย แต่ต้องเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือทำปฏิบัติจริง สร้างความเชื่อมั่นให้แก่เด็กนักเรียน ให้เห็นความสำเร็จอยู่ที่ผลงาน

ถ้อยคำของ รศ.ดร.วรากรณ์ สามโกเศศ ได้เคยพูดเอาไว้ในงานเสวนา “การศึกษา 4.0 เป็นยิ่งกว่าการศึกษา” อย่างน่าสนใจว่า “การศึกษาต้องไม่ใช่เพียงการผลิตทรัพยากรบุคคลเพื่อเป็นวัตถุดิบทางเศรษฐกิจเท่านั้น แต่ต้องเป็นเครื่องมือในการปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อสร้างคนมีคุณภาพ เป็นพลเมืองที่ดี ไม่ใช่มองเพียงด้านเศรษฐกิจ และความกินดีอยู่ดีเท่านั้น รวมไปถึงต้องจุดประกายความตื่นตัวในการดำรงชีวิตและเป็นเครื่องมือในการผลักให้เกิดสมดุลในการเปลี่ยนแปลงทางสังคมเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดความเหลื่อมล้ำของประเทศ”

หากการหลุดพ้นจากกับดับความล้าหลังคือการศึกษาที่ดี คำถามที่น่าขบคิดคือ อีกนานแค่ไหนที่เราจะได้เห็นการศึกษาไทยที่พัฒนาอย่างยั่งยืนที่สอดคล้องต่อการพัฒนาประเทศ และสร้างคนให้มีคุณภาพได้อย่างแท้จริง

ใส่ความเห็น