แม้ว่าข่าวการเปิดตัว RSU International Hospital ในฐานะที่เป็น Smart Hospital และจังหวะก้าวครั้งใหม่ของอาทิตย์ อุไรรัตน์ จะได้รับการตอบสนองจากแวดวงธุรกิจและสื่อสารมวลชนด้วยท่วงทำนองที่เฉยชาและเงียบงันกว่าที่หลายฝ่ายคาดการณ์ไว้ หากแต่ข้อเท็จจริงที่ยากปฏิเสธจากกรณีที่ว่านี้ก็คือ ความเคลื่อนไหวนี้เป็นภาพสะท้อนความมั่นใจและวิสัยทัศน์ที่น่าจับตามองของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ที่น่าสนใจอย่างยิ่ง
ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปี นับตั้งแต่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี 2540 ซึ่งทำให้โรงพยาบาลพญาไท ธุรกิจครอบครัวของตระกูลอุไรรัตน์ ในนามของ บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา ต้องตกอยู่ในภาวะยากลำบากและในที่สุดต้องหลุดพ้นออกไปจากมือของตระกูลอุไรรัตน์ไปสู่ผู้ถือหุ้นรายใหม่ ที่ถือเป็นหนึ่งในตำนานมหากาพย์บทเรียนธุรกิจครั้งสำคัญของธุรกิจการเมืองไทยเลยทีเดียว
การล่มสลายของโรงพยาบาลพญาไท ในจุดเริ่มต้นก็เป็นไปในลักษณะที่ไม่แตกต่างจากความล่มสลายของธุรกิจหลากหลายทั้งน้อยใหญ่ที่เกิดขึ้นในห้วงของวิกฤต ที่ต่างอาศัยเงินกู้ยืมจากตลาดทุนและตลาดเงินอย่างเฟื่องฟูในยุคเศรษฐกิจรุ่งเรือง แต่เมื่อเกิดวิกฤตมูลค่าของหนี้สินทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยกลับทำให้มูลค่าหนี้เพิ่มขึ้นมากกว่า 200-250% จากเหตุของการลดค่าเงินบาท และทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจต่างต้องเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการฟื้นฟูของศาลล้มละลายกลางในที่สุด
แต่ปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในกรณีของโรงพยาบาลพญาไท เป็นไปมากกว่านั้น เนื่องเพราะท่ามกลางกระบวนการฟื้นฟูปรากฏตัวผู้แสดงทั้ง PWC (PricewaterhouseCoopers) ในฐานะผู้จัดทำแผนฟื้นฟูกิจการและปรับโครงสร้างทางการเงิน ตามคำแนะนำของไกรวิน ศรีไกรวิน หนึ่งในอดีตเจ้าหน้าที่ บล.ธนชาติ ซึ่งเข้ามาทำหน้าที่ที่ปรึกษาทางการเงินอีกรายในโรงพยาบาลพญาไท ในช่วงปี 2542 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่อาทิตย์ อุไรรัตน์ ต้องทิ้งโรงพยาบาลพญาไทเพื่อไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
อาทิตย์ อุไรรัตน์ เคยย้อนรำลึกความทรงจำของเหตุการณ์ในห้วงยามนั้นไว้อย่างน่าสนใจว่า การเข้ารับตำแหน่งรัฐมนตรี ทำให้ต้องใช้เวลาทำงานในกระทรวงจนไม่มีเวลาดูแลความเป็นไปของโรงพยาบาลพญาไทในห้วงเวลาวิกฤตของกระบวนการทำแผนฟื้นฟูนี้มากพอ ยังไม่นับรวมประเด็นที่ว่า “เขาไว้วางใจ PWC มากจนเกินไป”
“เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับ รพ.พญาไทนั้น ยอมรับว่าเกิดจากความไร้เดียงสาในการทำธุรกิจของผมและไปเชื่อในชื่อเสียงของไพร์วอเตอร์ เฮ้าส์ฯ มากเกินไป”
โดยระหว่างการทำแผนฟื้นฟู PWC ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงินของโรงพยาบาลพญาไท อ้างว่าเจ้าหนี้ต่างประเทศของโรงพยาบาล ต้องการให้ PWC เป็นที่ปรึกษาทางการเงินให้แก่ทางกลุ่มเจ้าหนี้ด้วย ซึ่งอาทิตย์ อุไรรัตน์ ไม่ปฏิเสธคำขอนี้ เนื่องจากเห็นว่าการยอมให้ PWC เป็นที่ปรึกษาทางการเงินไปพร้อมกันทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ น่าจะเป็นผลดีกับทางโรงพยาบาลพญาไทในแง่การลดต้นทุนการจ้าง เพราะเจ้าหนี้และลูกหนี้จะได้ไม่ต้องมาต่อสู้กันมากนัก
กระบวนการปรับโครงสร้างหนี้โรงพยาบาลพญาไท สิ้นสุดลงเมื่อปี 2544 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกับที่รัฐบาลชวน หลีกภัย หมดวาระ และอาทิตย์ อุไรรัตน์ ประกาศยุติบทบาททางการเมืองและตั้งใจจะกลับมาบริหารกิจการโรงพยาบาลพญาไทอีกครั้ง แต่ความตั้งใจนี้เป็นความเคลื่อนไหวที่ช้าเกินกาลไปเสียแล้ว เมื่อ PWC ได้ยื่นขอเข้ามาทำหน้าที่เป็นผู้บริหารแผนฟื้นฟูกิจการเองเสียก่อน โดยใช้ทุนราว 1-2 ล้านบาท ตั้ง Price Water House Coppers Restructuring Company บริษัทลูกเข้าทำหน้าที่ดังกล่าว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกลุ่มอุไรรัตน์ที่ต้องการให้ PWC ทำตามกฎหมายโดยคืนกิจการให้แก่ผู้บริหารเดิม
ท่ามกลางความพยายามของกลุ่มผู้บริหารแผนจาก PWC ที่กีดกันไม่ให้กลุ่มอุไรรัตน์เข้ามารับรู้เรื่องราวภายในกิจการโรงพยาบาลพญาไท การต่อสู้เพื่อชิงอำนาจการบริหารกิจการโรงพยาบาลพญาไทระหว่าง 2 กลุ่มนี้ ได้ขยายวงกว้างจนถึงปี 2546 ที่ PWC สั่งปลดประสิทธิ์ อุไรรัตน์ บิดา ดร. อาทิตย์ ออกจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทประสิทธิ์พัฒนา หลังประสิทธิ์ได้ส่งจดหมายลาออกไปยังผู้อำนวยการโรงพยาบาลพญาไท 1, 2 และ 3
จุดสูงสุดของความขัดแย้งเกิดขึ้นหลังวันที่ 30 กันยายน 2546 เมื่อ PWC ยื่นขอศาลล้มละลายพิจารณาอนุมัติการออกจากแผนปรับโครงสร้างหนี้ของบริษัทประสิทธิ์พัฒนา จากมูลหนี้ 1.35 หมื่นล้านบาท โดยแบ่งเป็นคงหนี้เดิมไว้ 4.8 พันล้านบาท โดยพักดอกเบี้ยจำนวน 1.1 พันล้านบาท นอกจากนี้ยังได้กู้ยืมเงินจากธนาคารกรุงไทยเพื่อรีไฟแนนซ์หนี้อีกราว 4 พันล้านบาท โดย บล.ฟินันซ่าเป็นผู้จัดหาเงินกู้เพื่อการรีไฟแนนซ์ครั้งนี้
เจ้าหนี้ได้ hair cut หนี้ลงอีก 6 พันล้านบาท พร้อมแปลงหนี้เป็นทุน 520 ล้านบาท ในราคาหุ้นละ 1.50 บาท ซึ่งทำให้เจ้าหนี้กลายเป็นผู้ถือหุ้นข้างมาก 80% ส่วนหุ้นของกลุ่มอุไรรัตน์ลดลงเหลือเพียง 3-4% จากเดิมที่เคยถืออยู่ 17.5% ส่วนหนี้ที่เหลือเป็นการตีทรัพย์ชำระหนี้ในหลายรายการ
นอกจากนี้ ภายหลังออกจากแผนฟื้นฟูฯ แล้ว เจ้าหนี้ได้พยายามหาพันธมิตรใหม่เข้ามาบริหารกิจการโดยเชิญกลุ่มวิชัย ทองแตง ผู้บริหารในเครือโรงพยาบาลเปาโล มาเป็นตัวแทนของผู้ถือหุ้นในกลุ่มธนาคารต่างประเทศ โดยตั้งเงื่อนไขว่าหากบริหารประสบความสำเร็จและสร้างผลการดำเนินงานเป็นที่พอใจก็จะยอมขายหุ้นให้บางส่วน
ชื่อ วิชัย ทองแตง ทนายคนดังแห่งยุคสมัย เข้ามามีส่วนเกี่ยวข้องในฐานะผู้ถือครองหุ้น บมจ.ประสิทธิ์พัฒนา ในช่วงตุลาคม 2548 ด้วยการเข้าซื้อหุ้นประสิทธิ์พัฒนาจาก WestLB AG สาขาสิงคโปร์ ทำให้ถือครองหุ้นในสัดส่วนกว่า 25% จนนำไปสู่การตั้งโต๊ะเพื่อทำ tender offer จากนักลงทุนรายย่อยในราคาหุ้นละ 0.357 บาท โดยมี บล.ซีมิโก้เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
วิชัย ทองแตง เริ่มต้นลงทุนในธุรกิจโรงพยาบาลครั้งแรกเมื่อปี 2542 จากการซื้อโรงพยาบาลศิครินทร์ ซึ่งเป็นโรงพยาบาลที่รับผู้ป่วยประกันสังคมของกลุ่มจุลดิศที่กำลังขาดสภาพคล่องทางการเงิน โดยเข้าไปนั่งเป็นประธานเพื่อบริหารโรงพยาบาลจนกิจการเริ่มดีขึ้น และเขาก็ขายหุ้นคืนให้แก่เจ้าของเดิมในปี 2545
ในปี 2543 เขายังได้เข้าซื้อหุ้นโรงพยาบาลเปาโล 70% ก่อนรุกต่อไปยังโรงพยาบาลวชิรปราการ และโรงพยาบาลอุดรปัญญาเวช ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนชื่อมาเป็นโรงพยาบาลเปาโล เมโมเรียล ประชาเวช ก่อนจะมาทำข้อตกลงซื้อหุ้นโรงพยาบาลพญาไทจากเจ้าหนี้ต่างประเทศ 20% หลังกิจการนี้ออกจากแผนฟื้นฟูแล้ว
ความผูกพันและต้นทุนความเป็นไปของโรงพยาบาลพญาไทในมิติของครอบครัวอุไรรัตน์ มีนัยความหมายมากกว่าประเด็นทางด้านเงินทุน เพราะจุดเริ่มต้นของโรงพยาบาลแห่งนี้นอกจากจะเกิดขึ้นจากการร่วมลงขันตามกำลังทรัพย์ของบรรดากัลยานมิตรของประสิทธิ์ อุไรรัตน์ แล้วเงินลงทุนบางส่วนยังมาจากการขายที่ดินสวนยางที่เป็นมรดกจากปู่ของอาทิตย์ จำนวน 90 ไร่ ประกอบส่วนกับเงินที่มาจากการกู้ยืมธนาคารกรุงไทย แต่ที่สำคัญคือความผูกพันทั้งหมดของคนในตระกูลที่มีต่อคำว่า “ประสิทธิ์พัฒนา” ที่ทำให้การต่อสู้ดิ้นรนในกรณีโรงพยาบาลพญาไท เป็นมากกว่าเรื่องราวทางธุรกิจ หากแต่ดำเนินไปไม่ต่างจากการกอบกู้ศักดิ์ศรีแบบ “In the name of the Father” เลยทีเดียว
“ตระกูลอุไรรัตน์นำพาชีวิตทั้งชีวิตมาฝังอยู่ในนี้ ชื่อบริษัทก็ชื่อพ่อชื่อแม่ผม ถามว่า เสียดายไหม คงไม่ได้เสียดายในทรัพย์สมบัติมากไปกว่าความถูกต้อง นี่มันโจรนะ มันปล้นกันชัดๆ” อาทิตย์ อุไรรัตน์ เคยบรรยายความรู้สึกต่อความเป็นไปของโรงพยาบาลพญาไทให้ “ผู้จัดการ” ฟังเมื่อ 12 ปีที่ผ่านมา
แต่ชีวิตยังคงต้องก้าวเดินและบริบทใหม่ที่เกิดขึ้นในนามของ RSU International Hospital กำลังจะเป็นประหนึ่งประจักษ์พยานที่พิสูจน์ศักยภาพและความสามารถในการบริหารจัดการไม่เฉพาะในมิติของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ในฐานะหัวเรือใหญ่ของมหาวิทยาลัยรังสิตเท่านั้น หากยังเป็นเครื่องบ่งชี้ถึงเครดิตความน่าเชื่อถือที่สังคมภายนอกกำหนดวางไว้ให้กับอดีต “วีรบุรุษประชาธิปไตย” ว่ามีลักษณาการอย่างไร
เพราะเงินลงทุนในโครงการเฟสแรกที่มีมูลค่าประมาณ 9,000 ล้านบาท จะเป็นเงินทุนประมาณ 3,000 ล้านบาท และเงินกู้อีก 6,000 ล้านบาท ขณะที่โครงการเฟสสองจะใช้เงินอีกประมาณ 4-5 พันล้านบาท ที่คาดหมายว่าจะเป็นสองเฟสที่สมบูรณ์แบบที่สุด เพราะจะมีทั้งแพทย์แผนตะวันตก ตะวันออก มีทั้งจีน อินเดีย ไทย บูรณาการ และแพทย์แผนอนาคตด้วย
หากความตั้งใจของอาทิตย์ อุไรรัตน์ ในการสร้าง RSU International Hospital อยู่ที่การสร้างสถานพยาบาลที่ “ทำให้ผู้คนที่เข้าไปแล้วรู้สึกสบาย ไม่ใช่เข้าไปแล้วทุกข์ หรือเจ็บหนักกลับมา” บางทีย่างก้าวและความเป็นไปของสถานพยาบาลแห่งใหม่ที่เป็นประหนึ่งการสานฝันภารกิจที่ยังไม่สำเร็จเมื่อครั้งอดีต อาจเป็นเครื่องพิสูจน์บทเรียนที่สำคัญยิ่งสำหรับอาทิตย์ อุไรรัตน์ ในห้วงเวลานับจากนี้