วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เรื่องเล่าจากหนามเตย มูลค่าเพิ่มที่ไม่สิ้นสุดของสื่อภาพ

เรื่องเล่าจากหนามเตย มูลค่าเพิ่มที่ไม่สิ้นสุดของสื่อภาพ

 
หากใครเคยมีโอกาสได้ดูภาพยนตร์เรื่อง “The Secret Life of Walter Mitty” ที่เข้าฉายในบ้านเราเมื่อปี 2556 หนังนอกกระแสที่ต้องยอมรับว่าหากใครได้ดูก็ต้องอมยิ้มไปตามๆ กัน อีกทั้งยังได้รับเสียงวิจารณ์ในทางบวกจากบรรดาช่างภาพมืออาชีพและช่างภาพสมัครเล่นที่ให้คะแนนภาพสวยเต็มสิบ
 
The Secret Life of Walter Mitty หนังที่เล่าเรื่องราวของ วอลเตอร์ มิตตี้ ชายหนุ่มช่างฝันที่ทำงานเป็นผู้ลำดับภาพนิ่งให้กับนิตยสารแห่งหนึ่ง ภายใต้สถานการณ์ที่โลกของสื่อสิ่งพิมพ์กำลังเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นสื่อดิจิตอล ซึ่งแผนกฟิล์มของเขากำลังจะถูกยุบ วอลเตอร์ใช้ชีวิตด้วยความจำเจและผ่อนคลายตัวเองด้วยการสร้างจินตนาการสุดบรรเจิด จุดเปลี่ยนชีวิตของเขาอยู่ที่การที่เขาต้องเดินทางผจญภัยเพื่อตามหาช่างภาพประจำนิตยสารเพื่อนำฟิล์มหมายเลข 25 กลับมาตีพิมพ์ในนิตยสารฉบับสุดท้าย
 
ที่กล่าวถึงหนังเรื่องนี้ไม่ได้หมายความว่าผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับฟิล์มจะตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกันกับวอลเตอร์ มิตตี้ เสมอไป บางสถานการณ์อาจตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิง เพียงแค่ปัดฝุ่นสกัดเอาราที่อาจจะเกาะติดผิวฟิล์มออกไป และผูกเรียงร้อยเรื่องราวใหม่ให้กับแผ่นฟิล์มเหล่านี้ก็ไม่ต่างอะไรกับการทำทองให้เป็นทอง ทำสิ่งที่มีค่าให้มีมูลค่าและมากไปด้วยคุณค่าให้เป็นประโยชน์ในการสืบค้น
 
การแข่งขันในเรื่องความเร็วของการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญที่ผลักดันให้เทคโนโลยีด้านการถ่ายภาพถูกนำมาพัฒนาอย่างรวดเร็วในช่วงไม่กี่สิบปีให้หลัง หมดยุคที่ต้องมานั่งถอดฟิล์ม ตัดฟิล์ม จับเวลาเขย่าแท็งก์ล้างฟิล์ม กระทั่งกระบวนการอัดภาพลงกระดาษในห้องมืดแล้ว แม้จะยังมีความคลาสสิก แต่ด้วยขั้นตอนที่ยุ่งยาก ใช้เวลานาน และต้นทุนสูง ฟิล์มที่ใช้บันทึกภาพจึงถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีที่เรียกว่าดิจิตอล กล้องฟิล์มถูกพัฒนาจนกลายเป็นกล้องดิจิตอล และยังพัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่สิ้นสุด
 
การพัฒนาด้านนี้เองที่ทำให้ Color Lab หลายแห่งต้องปิดตัวลง เมื่อความต้องการที่จะใช้บริการล้างอัดภาพเฉกเช่นสมัยก่อนนั้นลดลงอย่างน่าใจหาย จากที่เราสามารถทบทวนเรื่องราวเก่าๆ หรือภาพประทับใจได้จากภาพถ่ายที่ปรินต์ออกมาเป็นอัลบั้ม ปัจจุบันเราต้องอาศัยอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์สำหรับเก็บรวบรวมภาพถ่าย แม้ Color Lab หลายร้านจะปิดตัวลง แต่ยังมีอีกมากที่ยังพยายามอยู่ให้ได้ภายใต้สถานการณ์นี้ โดยการแตกไลน์ทางธุรกิจเพื่อหวังเพิ่มรายได้ ทั้งรับถ่ายภาพนอกสถานที่ หรือหันมาขายอุปกรณ์ถ่ายภาพดิจิตอล
 
ยุคสมัยที่เปลี่ยนไป ชีวิตประจำวันของคนเราถูกแทรกแซงด้วยเทคโนโลยีล้ำสมัย แต่สิ่งเก่าเดิมๆ ก็ยังคงเต็มไปด้วยคุณค่า ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับว่าเราเลือกที่จะเปิดกรุสมบัติออกมาดูหรือล็อกปิดตายเอาไว้อย่างนั้น และปล่อยให้ฝุ่นราจับตัวหนารอวันย่อยสลาย 
 
น้อยคนนักที่จะได้อยู่ในห้องที่เต็มไปด้วยฟิล์มภาพถ่ายเก่าๆ อย่างวอลเตอร์ มิตตี้ พร้อมกับหน้าที่ที่เต็มไปด้วยเสน่ห์ซึ่งสามารถปลดปล่อยจินตนาการของตัวเองให้โลดแล่นไปพร้อมกับภาพถ่ายเก่าเก็บเหล่านั้นได้ตลอดเวลา 
 
แสงแดดที่ส่องลอดหน้าต่างทะลุผ่านมูลี่หลังโต๊ะทำงานเข้ามา เผยให้เห็นฝุ่นผงที่ลอยคละคลุ้งอยู่ในอากาศ แสงที่ทอดตัวเป็นลำเผยให้เห็นเรื่องราวที่ถูกฉาบไว้บนผิวของฟิล์มภาพถ่ายทั้งขาวดำ สี  และสไลด์ ทั้งขนาด 135 mm และ 120 mm มูลค่าที่แฝงตัวอยู่อย่างรอคอยกระบวนการเผยแพร่ออกสู่สาธารณะในรูปแบบสื่อดิจิตอลอีกครั้ง
 
ตู้ไฟที่นิยมใช้กันยามที่ต้องนั่งส่องภาพจากฟิล์มหมดอายุตามกาลเวลา อุปกรณ์เสริมอย่างลูป (Loupe) ที่ใช้ส่องขยายฟิล์มเพื่อขยายให้เห็นรายละเอียดของภาพถ่ายในแผ่นฟิล์มถูกนำกลับมาใช้งานอีกครั้ง และธรรมชาติของของเก่าเมื่อยังมีความต้องการ นั่นหมายความว่า ต้องมาพร้อมกับราคาที่สูงขึ้น ที่หากเทียบกับมูลค่าที่จะได้รับจากภาพถ่ายแล้วก็ถือว่าคุ้มที่จะลงทุน
 
เครื่องสแกนฟิล์มคุณภาพสูงมีน้อยเต็มทีในตลาด เพราะฟิล์มเริ่มเสื่อมความนิยมลงไป กระนั้นมันก็ยังเป็นอุปกรณ์สำคัญที่จะขาดเสียไม่ได้ เพราะเป็นตัวแปรสำคัญที่จะทำให้ฟิล์มเนกาทีฟ ฟิล์มขาวดำ หรือฟิล์มสไลด์ กลับมาสู่การเป็นภาพถ่ายดิจิตอลอีกครั้ง
 
ในระยะหลังๆ แม้จะเริ่มมีกลุ่มคนที่นิยมของใช้แนววินเทจ หรือพวกอนุรักษ์ที่นิยมชมชอบของเก่าหันมาให้ความสนใจอุปกรณ์ถ่ายภาพแบบฟิล์มมากขึ้น และความต้องการร้าน Color Lab เริ่มกลับมาอีกครั้ง ส่งผลให้ธุรกิจนี้กำลังก่อตัวอีกครั้ง แม้อาจจะไม่ใช่ในลักษณะที่ให้บริการเต็มรูปแบบก็ตาม หวังเพียงแค่ความชื่นชอบหรือค่านิยมเหล่านี้คงไม่จางหายไปเหมือนแฟชั่นที่วันหนึ่งหมุนมา แล้วอีกวันก็หมุนจากไป
 
แม้ฟิล์มภาพถ่ายจะมีคุณค่าในตัวเอง แต่ภาพถ่ายจากฟิล์มนับร้อยนับพันภาพหากปราศจากซึ่งเรื่องราวที่ใช้ประกอบแล้ว อรรถรสของภาพคงขาดหายไปไม่น้อย การนำภาพเหล่านั้นมาร้อยเรียงให้เป็นเรื่องราวไม่ต่างอะไรกับการต่อจิ๊กซอว์ที่นำชิ้นส่วนสำคัญชิ้นเล็กมาประกอบกันจนเป็นภาพใหญ่ บอกเล่าเรื่องจากจุลภาคจนกลายเป็นเรื่องราวมหภาค นับเป็นการสร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าให้กับภาพ
 
สำนักข่าวต่างประเทศหลายแห่งเริ่มหันมาให้ความสนใจภาพถ่ายจากฟิล์มเก่าเหล่านี้ เมื่อเห็นประโยชน์และนำกลับมาใช้งานที่พ่วงท้ายมาด้วย Archive ที่เกี่ยวข้องกับภาพ นับเป็นการสร้างเสน่ห์ให้จับต้องได้อีกครั้ง และที่สำคัญกว่านั้น คือมูลค่าของภาพถ่ายที่จะตามมา ทั้งที่อาจจะมาในรูปแบบของเม็ดเงิน หรือคุณค่าทางใจ ฉะนั้นในจุดนี้ผู้ที่ได้เปรียบ คือผู้ที่ยังคงรักษาหีบที่เต็มไปด้วยสมบัติเหล่านี้ไว้ได้มากที่สุด เพราะนั่นย่อมหมายความว่าคุณมีสมบัติอยู่ในมือ ที่เพียงแค่รอการจับมาร้อยเรียงเข้าด้วยกันเท่านั้น
 
แม้โลกของสื่อจะพัฒนาไปสู่ยุคดิจิตอลอย่างรวดเร็ว อุปกรณ์และเทคโนโลยีจะทันสมัยจนใครหลายคนวิ่งตามอัพเดตจนเหนื่อย จากฟิล์มบันทึกภาพสู่แผ่นเมมโมรี่การ์ด กระบวนการห้องมืดที่เต็มไปด้วยวิชาเคมีและฟิสิกส์แบบง่ายๆ ไปสู่วิศวกรรมไฮเทค กระดาษบันทึกภาพสู่ Gadget ล้ำสมัย แต่เชื่อเหลือเกินว่าอาจมีใครหลายคนโหยหาเสน่ห์แบบ Manual จนต้องรื้อวิชาในห้องมืดและสร้างเอาไว้ในมุมเล็กๆ ของบ้าน หรืออาจประดับข้างฝาบ้านด้วยภาพแห่งประวัติศาสตร์ก็เป็นได้