วันเสาร์, ธันวาคม 21, 2024
Home > Cover Story > “เมืองทองธานี” ภารกิจสร้างเมือง ส่งต่อจากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก

“เมืองทองธานี” ภารกิจสร้างเมือง ส่งต่อจากรุ่นพ่อ สู่รุ่นลูก

ถ้าพูดถึง “เมืองทองธานี” น้อยคนนักจะไม่รู้จัก ไม่ว่าจะเป็นในภาพการเป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้าขนาดใหญ่ที่จัดงานระดับประเทศมาอย่างมากมาย หรือในบริบทของความเป็น “เมือง” ที่สร้างโดยภาคเอกชนที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ภายใต้การปลุกปั้นของ “อนันต์ กาญจนพาสน์” นักธุรกิจชั้นนำของวงการอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทย

“อนันต์ กาญจนพาสน์” เป็นทายาทของ อึ้ง จือ เม้ง (NG CHUE MENG) หรือ มงคล กาญจนพาสน์ ชาวจีนที่เข้ามาทำธุรกิจในเมืองไทยโดยเริ่มด้วยการเป็นเอเยนต์ค้าขายนาฬิกาและอสังหาริมทรัพย์ รวมถึงทำธุรกิจที่ฮ่องกงควบคู่กันไป

ราวๆ ปลายปี พ.ศ. 2532 อนันต์กลับเข้ามารุกธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในประเทศไทยอย่างเต็มตัว ด้วยการประกาศสร้างโครงการเมืองแห่งอนาคตที่ประกอบด้วยที่อยู่อาศัย สาธารณูปโภค ค้าปลีก และระบบขนส่ง ในชื่อ “เมืองทองธานี” บนพื้นที่ขนาดใหญ่กว่า 4,700 ไร่ บริเวณถนนแจ้งวัฒนะ ด้วยเม็ดเงินลงทุนมหาศาลอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนในวงการอสังหาฯ ของไทย ภายใต้การดำเนินงานของบริษัทบางกอกแลนด์

ในขณะที่น้องชายอย่าง “คีรี กาญจนพาสน์” ปักหมุดพัฒนาโครงการธนาซิตี้ บนที่ดินกว่า 1,500 ไร่ ริมถนนบางนา-ตราด ในนามของบริษัทธนายง

ปี 2533 เป็นปีแห่งการปูพรมตอกเสาเข็มให้กับเมืองทองธานี เพื่อสร้างคอนโดมิเนียมหลายสิบตึก โครงการบ้านเดี่ยว อาคารสำนักงาน นับหมื่นยูนิต รองรับประชาชนไม่ต่ำกว่า 1 แสนคน ตามที่อนันต์ตั้งเป้าไว้ในขณะนั้น

ปี 2538 รัฐบาลมีมติให้บางกอกแลนด์สร้างศูนย์กีฬาเพื่อรองรับการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 ในขณะที่เค้าลางแห่งวิกฤตเศรษฐกิจก็เริ่มตั้งเค้าขึ้นเช่นกัน โครงการที่อยู่อาศัยที่สร้างไว้ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้า แต่บางกอกแลนด์ยังคงลงทุนสร้างศูนย์กีฬาตามมติของรัฐบาลด้วยงบถึง 3,000 ล้านบาท เพราะนั่นคือช่องทางที่จะทำให้คนได้รู้จักเมืองทองธานีมากขึ้น

ปี 2539 บางกอกแลนด์ชะลอการก่อสร้างเกือบทุกโครงการ ก่อนที่จะโดนพิษจากวิกฤตต้มยำกุ้งกระหน่ำในปี 2540 จนทำให้บางกอกแลนด์มีหนี้ก้อนโตกว่า 52,000 ล้านบาท

จากวิกฤตที่เกิดขึ้นทำให้หลายคนมองภาพของคอนโดมิเนียมสูงที่ผุดขึ้นนับสิบๆ ตึก แทนที่จะเป็นเมืองใหม่ อาจกลับกลายเป็นเมืองร้างเสียแทน แต่นั่นคงไม่ใช่สิ่งที่อนันต์คิด

ปี 2541 หลังจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ครั้งที่ 13 จบลง อนันต์ได้เปลี่ยนศูนย์กีฬาขนาดใหญ่ให้เป็นศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า ในชื่อ “อิมแพ็ค อารีน่า” พร้อมทั้งตั้งบริษัท อิมแพ็ค เอ็กซิบิชั่น แมเนจเม้นท์ จำกัด ขึ้นมาบริหารจัดการ หลังจากนั้นข่าวคราวของอนันต์ห่างหายไปจากสังคมนานถึง 12 ปี

ปี 2553 อนันต์กลับมาสู่วงการ ด้วยการประกาศความพร้อมที่จะกลับมาผงาดความยิ่งใหญ่ของบางกอกแลนด์อีกครั้งแบบ New-Bland ด้วยการรุกขยาย 3 ธุรกิจ ได้แก่ ธุรกิจอสังหาฯ ธุรกิจศูนย์ประชุมและแสดงสินค้า และธุรกิจขนส่งมวลชน พร้อมเปิดตัว 2 ทายาทที่จะเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจ ซึ่งได้แก่ ปีเตอร์ และ พอลล์ กาญจนพาสน์

อนันต์กล่าวในการแถลงข่าวครั้งนั้นว่า “ขณะนี้บริษัทมีความพร้อมทุกด้าน ทั้งที่ดิน เงินทุน และไม่มีหนี้เอ็นพีแอล เนื่องจากสามารถใช้หนี้สินที่มีอยู่เกือบหมดแล้ว เหลือแค่ 130 ล้านบาทเท่านั้นที่จะต้องจ่ายหนี้ให้กับแบงก์กรุงเทพ หลังจากนั้นก็เป็นอิสระพร้อมลุยธุรกิจต่อ”

หลังจากนั้นบางกอกแลนด์ยังคงมีความเคลื่อนไหวออกมาเป็นระยะ ทั้งการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยและอาคารสำนักงานใหม่ๆ ต่อจิ๊กซอว์ค้าปลีกด้วยคอมมูนิตี้มอลล์ขนาดใหญ่ และพัฒนาศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองอย่างต่อเนื่อง

อนันต์ใช้เวลาร่วม 30 ปีในการก่อร่างสร้างเมืองทองธานีให้เป็นเมืองที่ครบสมบูรณ์ตามที่เขาตั้งใจ กระทั่งเมษายน 2563 มีข่าวแจ้งจากบางกอกแลนด์ว่า “อนันต์ กาญจนพาสน์” ประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารของบางกอกแลนด์ ได้ถึงแก่กรรมด้วยโรคชรา ในวัย 80 ปี

แต่ถึงกระนั้นภารกิจในการสร้างเมืองทองธานียังคงไม่สมบูรณ์ และผู้ที่เข้ามาสานต่อภารกิจนี้คือบุตรชายทั้งสองของอนันต์ โดยปีเตอร์ กาญจนพาสน์ เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริษัท ขณะที่พอลล์ กาญจนพาสน์ ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บางกอกแลนด์ จำกัด (มหาชน)

ภารกิจสร้างเมืองภายใต้การนำของทายาทอนันต์ยังคงดำเนินต่อไป แม้จะเจอโจทย์ยากจากสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบันที่ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีแผนเปิดตัวโรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารเลอโนท โรงเรียนสอนศิลปะการทำอาหารที่มีชื่อเสียงที่สุดแห่งหนึ่ง ซึ่งมีกำหนดเปิดให้บริการในไตรมาส 3 ของปีการเงิน 2565 และยังเตรียมเปิดตัวโครงการ “โมริ (Mori)” คอนโดมิเนียมแห่งใหม่ใจกลางเมืองทองธานีตามมา

และล่าสุดทายาทกาญจนพาสน์ต่อจิ๊กซอว์ชิ้นสำคัญของความเป็นเมืองให้กับเมืองทองธานี โดยการเซ็นสัญญากับบริษัท นอร์ทเทิร์น บางกอกโมโนเรล จำกัด (NBM) ในเครือบีทีเอส กรุ๊ป เพื่อสร้างส่วนต่อขยายรถไฟฟ้าสายสีชมพูเข้าเมืองทองธานี จำนวน 2 สถานี ได้แก่ สถานีอิมแพ็ค เมืองทองธานี (ชาเลนเจอร์อาคาร 1) และสถานีทะเลสาบ เมืองทองธานี โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในปี 2568

ซึ่งนี่ไม่ได้เป็นเพียงภารกิจในการสร้างเมืองทองธานีให้เป็นเมืองที่ครบสมบูรณ์ตามที่ตั้งเป้าไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการสานฝันของผู้เป็นพ่ออย่าง “อนันต์ กาญจนพาสน์” อีกด้วย.

ใส่ความเห็น