หลังจากดีเดย์ประกาศสงครามเพย์ทีวีพร้อมกัน 3 ค่ายเมื่อ 3 ปีก่อน ไม่ว่าจะเป็นกล่องดาวเทียม GMM Z ของค่ายจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่, กล่อง Sun Box จากค่ายอาร์เอส หรือการปรับกระบวนทัพครั้งใหญ่ของ “เคเบิลไทยโฮลดิ้ง” ดึงขาใหญ่อย่าง “วิชัย ทองแตง” และ “ยิ่งลักษณ์ วัชรพล” เข้ามาเสริมทัพความแข็งแกร่งแปลงร่างเป็น “ซีทีเอช” แต่สุดท้ายได้รับบาดเจ็บถ้วนหน้า จนต้องพลิกสถานการณ์เพื่ออยู่รอดและคืนชีพอีกครั้ง
การประกาศความร่วมมือระหว่างบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) และบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) โดยรวมบริษัท ซีทีเอช แอล ซี โอ จำกัด กับบริษัท จีเอ็มเอ็ม บี จำกัด บริษัทลูกของจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ที่ดำเนินธุรกิจเพย์ทีวีในปัจจุบันผ่านวิธีแลกหุ้นระหว่างกัน คือ ซีทีเอช แอล ซี โอ จะเข้าถือหุ้น 100% ของจีเอ็มเอ็ม บี ขณะที่บริษัท แซท เทรดดิ้ง จำกัด จะเข้าถือหุ้น 10%ในบริษัท ซีทีเอช เป็นภาพสะท้อนกลยุทธ์การพลิก “วิกฤต” และเปิด “เกมรุก” ครั้งใหญ่
ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรม ประธานกรรมการบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยก “จีเอ็มเอ็ม บี” ให้ซีทีเอชแลกกับการถือหุ้น 10% ในซีทีเอช ผ่านบริษัท แซท เทรดดิ้ง ด้านหนึ่งสามารถตัดตัวเลขขาดทุนของGMM Z จำนวน 1,083 ล้านบาท และคาดว่าจะทำให้ผลประกอบการของบริษัทแม่ดูดีขึ้น เพราะครึ่งปีแรกอ่วมตัวเลขขาดทุนถึง 2,000 ล้านบาท ซึ่งมาจาก GMM Z กว่าครึ่งหนึ่ง
อีกด้านหนึ่ง ความร่วมมือในธุรกิจเพย์ทีวีของทั้ง 2 บริษัท จะช่วยลดความซ้ำซ้อนด้านต้นทุนการซื้อลิขสิทธิ์รายการจากต่างประเทศ ซึ่งถือเป็นต้นทุนหลักและมูลค่าสูง เพื่อสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งรายใหญ่ ตามแนวคิด “Content is the king” ที่ไพบูลย์วางไว้ตั้งแต่ก้าวแรกของการรุกสู่ธุรกิจเพย์ทีวี โดยเฉพาะการต่อสู้กับเจ้าตลาดอย่าง “ทรูวิชั่นส์” รวมถึงการสร้างความแตกต่างจากกลุ่มทีวีดาวเทียมและทีวีดิจิตอล ซึ่งเป็นบริการดูฟรีไม่ต้องเสียรายเดือน
ขณะเดียวกัน ไพบูลย์นำบทเรียนของ GMM Z จากเดิมที่เคยหมายมั่นปั้นมือจะให้เป็นแพลตฟอร์มธุรกิจใหม่สร้างรายได้หลัก แต่ทุกอย่างพลาดเป้า เมื่อคู่แข่งมีคอนเทนต์ที่เหนือว่า จนต้องเปลี่ยนธงรบบุกตลาดทีวีดิจิตอลแทน
ส่วน “ซีทีเอช” ยิ่งสาหัส เพราะช่วงเวลาไม่ถึง 3 ปี ประสบปัญหาขาดทุนมากกว่า 4,000 ล้านบาท โดยเฉพาะการทุ่มทุนซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดการแข่งขันฟุตบอลพรีเมียร์ลีกอังกฤษ 3 ฤดูกาลล่าสุด ปี 2013-2016 สูงถึง 10,000 ล้านบาท แต่สามารถสร้างรายได้ในปีแรกเข้ามาเพียง 730.70 ล้านบาท แถมมีค่าใช้จ่ายเพิ่มอีก 4,420.07 ล้านบาท เจอปัญหายอดสมาชิกต่ำกว่าเป้าหมาย การติดตั้งล่าช้า บุคลากรไม่เพียงพอ เบ็ดเสร็จแบกหนี้มากกว่า 12,000 ล้านบาท
ความร่วมมือระหว่างซีทีเอชและแกรมมี่จึงเป็นแพลตฟอร์มใหม่ของ 2 ยักษ์ โดยให้ซีทีเอชเป็นบริษัทแม่ในการดำเนินธุรกิจเพย์ทีวี ทั้งซีทีเอชและ GMM Z ส่วนจีเอ็มเอ็ม บี ยังคงจำหน่ายกล่อง GMM Z อาศัยเครือข่ายการตลาดและช่องทางจัดจำหน่ายที่เข้าถึงทุกชุมชน ทุกพื้นที่ ผ่านคอนวีเนียนสโตร์ ร้านติดตั้งจานดาวเทียม ห้างดิสเคาต์สโตร์ ซึ่งแกรมมี่กระจายไว้ทั่วหมดแล้ว
ที่สำคัญ ฐานลูกค้าจะเพิ่มขึ้นทันที โดยซีทีเอชตั้งเป้าขยายฐานภายในสิ้นปี 2557 อยู่ที่ 5 ล้านกล่อง แบ่งเป็นลูกค้าแกรมมี่ในปัจจุบันที่มีสมาชิกรายเดือนอยู่ประมาณ 3 แสนราย และเป็นลูกค้าที่เติมเงินกว่า 1.5 ล้านราย ส่วนลูกค้าของซีทีเอชในปัจจุบันมีอยู่กว่า 5 แสนกล่อง ซึ่งซีทีเอชต้องการเปลี่ยนกลุ่มลูกค้าเติมเงินให้มาเป็นสมาชิกรายเดือน และคาดว่าจะสามารถขายกล่องเพิ่มได้อีก 3 ล้านกล่อง
สำหรับตัวคอนเทนต์ถือเป็นการเติมเต็ม ฝั่งซีทีเอชมีฟุตบอลอังกฤษพรีเมียร์ลีก ส่วนจีเอ็มเอ็มแซท มีคอนเทนต์ด้านเอ็นเตอร์เทนเมนต์และกีฬาหลากหลายประเภท เฉพาะฟุตบอลถือว่าครอบคลุมรายการฟุตบอลดังจากทั่วโลกแล้ว เช่น ฟุตบอลยูโร 2016 รอบ Qualifying ในปี 2015 และฟุตบอล Euro รอบ 24 ทีมในปี 2016 จนกระทั่งประกาศตัวเป็นทั้ง “King of Content” และ “King of Sport” เหนือทรูวิชั่นส์
รวมถึงโครงข่ายจะขยายครอบคลุมทุกจังหวัด ทุกพื้นที่ทั่วประเทศ ทั้งซีทีเอช ซึ่งใช้ระบบโครงข่ายจากดาวเทียมไทยคม 6 และจีเอ็มเอ็ม แซท สามารถส่งสัญญาณการออกอากาศได้ครอบคลุมทั้งระบบ KU-Band และ C-Band พร้อมทั้งระบบ Web Base IPTV รองรับการรับชมคอนเทนต์ทุกจอ ไม่ว่าจะเป็นสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต
ล่าสุด ซีทีเอชจับมือกับบริษัท พีเอสไอโฮลดิ้ง จำกัด หลังจากร่วมกันจัดทำแพ็กเกจขายคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกกับกล่องพีเอสไอ รุ่น O2 HD เมื่อต้นปีที่ผ่านมา โดยออกแพ็กเกจใหม่แบบเหมาจ่ายนาน 12 เดือน ซึ่ง 3 แพ็กเกจแรกทำร่วมกับกล่อง O2 HD คือ 1. แพ็กเกจกล่อง PSI+ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 4,999 บาท 2. แพ็กเกจสุดคุ้ม+ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก 3,999 บาท และ3. แพ็กเกจเอ็นเตอร์เทนเมนต์ 1,500 บาท ส่วนแพ็กเกจ PSI Plug-in ราคา 2,499 บาท เฉลี่ยเดือนละ 208.25 บาทต่อเดือน เป็นการขายคอนเทนต์พรีเมียร์ลีกพ่วงกับอุปกรณ์ปลั๊กอินที่ใช้กับกล่อง PSI รุ่นเก่าที่มีอยู่แล้วในครัวเรือนกว่า 1 ล้านกล่อง ซึ่งถือเป็นแพ็กเกจชมพรีเมียร์ลีกครบทุกแมตช์ในราคาที่ต่ำสุด
ส่วนแพ็กเกจ CTH-GMM Z มี 5 แพ็กเกจ ได้แก่ กล่อง GMM Z เอชดี ไลท์+CTHZ Premier League Plus HD 365 วัน ราคา 5,999 บาท 2. กล่อง GMM Z เอชดี ไลท์+CTHZ Premier League Plus HD 120 วัน 3,299 บาท 3. กล่อง GMM Z เอชดีไลท์+ฟุตบอลพรีเมียร์ลีก BPL 270 วัน 4,999 บาท 4. กล่อง GMM Z เอชดี ไลท์+ Platinum HD 180 วัน 2,999 บาท และ 5. กล่อง GMM Z เอชดี ไลท์+แพ็กเกจ Gold 180 วัน 2,499 บาท
ทั้งนี้ เป้าหมาย 3 ล้านกล่องจะมาจากกล่อง PSI จำนวน 1.2 ล้านกล่อง กล่อง GMM Z จำนวน 6 แสน-1 ล้านกล่อง กล่อง CTH และกล่องของพันธมิตรอื่นๆ อีก 1 ล้านกล่อง
ซีทีเอชยังพยายามสร้างเครือข่ายพันธมิตรธุรกิจเพย์ทีวี ที่ปัจจุบันได้รับใบอนุญาตจากคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) กว่า 10 ราย เพื่อขยายฐานเจาะลูกค้าให้ได้มากที่สุด ดึงบริษัท สนุก ออนไลน์ จำกัด ออกแคมเปญสนุกกับฟุตบอลอังกฤษ ซึ่งถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่เปิดให้บริการรับชมพรีเมียร์ลีกอังกฤษผ่านเว็บไซต์สนุกดอทคอม เพื่อแชร์คอนเทนต์สร้างแบรนด์ในวงกว้างมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ เด็กวัยรุ่น นักเรียน นักศึกษา เป้าหมายไม่ต่ำกว่า 3 แสนราย
ซีทีเอชเวอร์ชั่นใหม่จึงถือเป็นโจทย์หินสำหรับเจ้าตลาด “ทรูวิชั่นส์” เพราะล่าสุดยังไม่มีคอนเทนต์กีฬาดังๆ ขณะที่ “อาร์เอส” เจ้าของกล่อง Sun Box กำลังซุ่มคิดค้นแพ็กเกจรับฟุตบอลลาลีกาฤดูกาลใหม่ ที่จะเริ่มในเดือนสิงหาคมนี้
เหนือสิ่งอื่นใด การจับมือของเบอร์ 2 และเบอร์ 3 พร้อมพ่วงกับคู่ค้าเกือบทั้งหมดในธุรกิจเพย์ทีวี เป้าหมายทางธุรกิจเพื่อล้มเจ้าตลาดเบอร์ 1 หากบรรลุผล คือชัยชนะครั้งยิ่งใหญ่ แต่นั่นอาจเป็นความพ่ายแพ้ของผู้บริโภคภายใต้ธุรกิจผูกขาดเหมือนเมื่อ 20 กว่าปีก่อน แถมเป็นการผูกขาดแบบกินยาวเสียด้วย
Relate Story