สำนวนไทยที่ว่า “ไก่งามเพราะขน คนงามเพราะแต่ง” อาจตอบโจทย์ตลาดธุรกิจความงามไทยได้ดีว่า เพราะเหตุใด ตลาดความงามบ้านเรา จึงมีการเติบโตที่สูง วิกฤตใดๆ ก็ไม่ส่งผลให้ธุรกิจความงามสะทกสะท้านได้ ตราบใดที่คนยังให้ความสำคัญกับเรื่องความสวยความงาม
ท่ามกลางการแข่งขันอย่างสูงของผู้ประกอบการ และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน) โดยการบริหารของ นพ. สุวิน ไกรภูเบศ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บิวตี้ คอมมูนิตี้ จำกัด (มหาชน)
จากหมอเชียงใหม่ที่หันมาเอาดีด้านการขายเครื่องสำอางจนร่ำรวย ธุรกิจที่เติบโตอย่างโตเนื่อง จำนวนสาขาที่เพิ่มขึ้น และก้าวเข้ามาเป็นบริษัทมหาชนในปี 2555 ด้วยทุนจดทะเบียน 300,000,000 บาท
นพ.สุวิน จบแพทย์เชียงใหม่ปี 2534 รุ่นที่ 28 แต่หันมาเอาดีทางด้านขายเครื่องสำอางจนร่ำรวย โดยในช่วงปี 2541-2542 เปิดร้านเครื่องสำอางเล็กๆ ชื่อว่า “นีโอ” ย่านสยามสแควร์ ก่อนจะขึ้นห้างมาบุญครองใช้ชื่อใหม่ “โมนา” และเปลี่ยนชื่อร้านอีกครั้งเป็น “คอสเมดา” แต่กิจการก็ยังไม่ได้หวือหวาเป็นที่จับตามองมากนัก
จุดพลิกผันสำคัญเกิดขึ้นใน ปี 2549 เมื่อชื่อ “บิวตี้ บุฟเฟ่ต์” ปรากฏขึ้น และชื่อนี้เองที่หนุนส่งให้กิจการจำเริญขึ้นอย่างรวดเร็ว และทำให้ในปี 2554 ขยายแบรนด์เพิ่มเติมไปสู่ “บิวตี้ คอทเทจ” และเปิดแบรนด์ใหม่ “เมด อิน เนเจอร์”
ก้าวย่างของ นพ.สุวิน และบิวตี้ คอมมูนิตี้ แม้จะได้รับคำอธิบายอย่างราบเรียบว่าเกิดขึ้นจากความชื่นชอบแฟชั่น ความงามของภรรยา จนตกผลึกด้านความคิดและเป็นจุดเริ่มต้นการก้าวสู่ธุรกิจความงามจนประสบผลสำเร็จถึงทุกวันนี้
แต่โดยเนื้อแท้ของความสำเร็จคงปฏิเสธได้ยากว่า ความเป็นไปของ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เกิดขึ้นจากความคิดสร้างสรรค์ที่พร้อมจะเดินออกนอกกรอบของแนวปฏิบัติของธุรกิจความสวยความงามแบบเดิมๆ ไปสู่การสร้างสรรค์ หรือครีเอทลักษณะเฉพาะให้เกิดขึ้นและกลายเป็นจุดเด่นของ บิวตี้ คอมมูนิตี้ ในที่สุด
ภายใต้แนวคิด 4 รูปแบบ ได้แก่ บิวตี้ บุฟเฟต์, บิวตี้ คอทเทจ, เมด อิน เนเจอร์ และ บิวตี้ มาร์เก็ต โดยทุกแนวคิดจะมีความแตกต่างกัน ทั้งด้านการออกแบบผลิตภัณฑ์ ช่องทางการจำหน่าย ตำแหน่งการตลาด รวมถึงกลุ่มลูกค้าแตกต่างกัน แต่ครอบคลุมกลุ่มลูกค้าทุกระดับ
ขณะที่ตัวหลักในการทำรายได้มาจากแบรนด์ บิวตี้ บุฟเฟต์ สัดส่วนรายได้ 70% แต่กระนั้นบริษัทเริ่มปักธงไปยังแบรนด์ BEAUTY MARKET จากคอนเซ็ปต์นำซูเปอร์มาร์เก็ตผนวกกับร้านขายเครื่องสำอาง ที่มีสโลแกนว่า “ร้านสะดวกสวย” (Beauty Convenience Store) ซึ่งถือเป็นร้านแนวคิดใหม่ แตกต่างและแปลกใหม่ เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคนในปัจจุบัน เป็นการต่อยอดธุรกิจแบบครบวงจรของ BEAUTY
และเล็งเห็นว่า ในอนาคตบิวตี้มาร์เก็ตจะสามารถทำรายได้สูงกว่าร้านบิวตี้ บุฟเฟต์ 3-4 เท่า เนื่องจากเปิดกว้างเรื่องสินค้ามาก โดยมุ่งเน้นไปยังแบรนด์ระดับกลาง ซึ่งเป็นกลุ่มที่เติบโตมากที่สุดและมีแรงซื้อที่ดี
เป็นการเริ่มต้นจากความคิดสร้างสรรค์ ไปสู่การสร้างพลวัตเพื่อแสวงหารายได้และการเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งดูเหมือนว่าทั้ง นพ.สุวิน และบิวตี้ คอมมูนิตี้ จะดำเนินการด้วยดีในช่วงที่ผ่านมา
“นโยบายของบริษัทที่ต้องการเติบโตในหลายช่องทาง รวมถึงเทรนด์ของร้านความงามมัลติแบรนด์ในต่างประเทศอย่าง “ซาซ่า” จากฮ่องกง หรือ “เซโฟร่า” จากฝรั่งเศส ก็เติบโตมากในต่างประเทศ จากพฤติกรรมของลูกค้าที่มีเวลาเลือกซื้อของน้อยลง ทำให้บริษัทคิดคอนเซ็ปต์ร้านรูปแบบใหม่ “บิวตี้ มาร์เก็ต” เพื่อรวบรวมสินค้าเกี่ยวกับความสวยงามที่สามารถตอบโจทย์ผู้บริโภคเอาไว้ในที่แห่งเดียว (วันสต็อปเซอร์วิส)” นพ. สุวิน กล่าว
ภายใต้พื้นที่ 100-200 ตารางเมตร เป็นร้าน Multi–Brands และเป็นแบรนด์สินค้าที่รู้จักกันดี ทั้งในประเทศและแบรนด์นอก อาทิ เกาหลี ญี่ปุ่น อเมริกา ยุโรป ฯลฯ โดยภายในร้านจะมีสินค้าเกี่ยวกับความงามทั้งหมดกว่า 300 แบรนด์ 9,000 รายการ ใน 9 กลุ่มสินค้า อาทิ เมกอัพ, เฟเชียลแคร์, บิวตี้แอ็กเซสเซอรี่, บอดี้แคร์, บอดี้ไฮยีน, แฮร์แคร์, น้ำหอม, บิวตี้ดริงก์แอนด์ฟู้ดและเมนส์แคร์
“นอกเหนือจากสินค้าของบริษัทแล้ว แม้สินค้าของคู่แข่งอย่าง “KARMARTS ก็หาซื้อได้ เพราะนโยบายของเราเปลี่ยนจากคู่แข่งมาเป็นคู่ค้า”
เป็นทัศนะที่น่าสนใจติดตาม เพราะในธุรกิจความสวยความงามในปัจจุบันถือเป็นธุรกิจที่มีการแข่งขันและช่วงชิงฐานลูกค้ากันอย่างดุเดือดจากผลของอัตราการเติบโตและมูลค่าการตลาดที่มีจำนวนมากมหาศาล การเปลี่ยนคู่แข่งขันให้กลายเป็นคู่ค้าจึงเท่ากับความสามารถในการลดทอนแรงเสียดทานในการดำเนินธุรกิจ และสามารถสร้างเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจในแบบ win-win ในตลาดที่ยังมีพื้นที่กว้างใหญ่นี้ด้วย
นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ บิวตี้ คอมมูนิตี้ สามารถวางเป้าหมายการรุกเข้าสู่ตลาดอย่างเอิกเกริก โดยหลังจากเปิดสาขาแรกไปแล้วที่ซีคอนสแควร์ ศรีนครินทร์ ภายใต้งบการลงทุนสาขาละ 7 ล้านบาท บิวตี้ คอมมูนิตี้ วางเป้าหมายที่ขะเร่งขยายสาขาให้ได้มากถึง 15สาขา ในปีนี้
“โมเดลร้านมัลติแบรนด์ความงามโดยเฉพาะ ที่เห็นในไทยยังไม่มีรายไหนชัดเจนนัก หลังจากนี้เชื่อว่าจะมีโมเดลดังกล่าวเพิ่มขึ้น นอกจากเงินทุน ประสบการณ์ในการบริหารก็สำคัญ ซึ่งเรามีประสบการณ์ในการบริหารร้านค้าปลีกความงามเหล่านี้มาแล้ว พอเปิดบิวตี้ มาร์เก็ต ซัพพลายเออร์ได้ให้การตอบรับอย่างดี ดังนั้นสาขาที่ 2 เราจะเพิ่มพื้นที่ให้มากกว่าสาขาแรก เพื่อรองรับสินค้าต่างๆ ที่จะเข้ามามากขึ้น” นพ. สุวิน กล่าว
แม้จะเป็นผู้ประกอบการที่กล่าวได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดีอยู่ในธุรกิจความสวยความงาม แต่แนวทางของ นพ.สุวินกลับให้ภาพที่แจ่มชัดและโฟกัสไปในสิ่งที่ความถนัดชำนาญการ ซึ่งนี่อาจถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ บิวตี้ คอมมูนิตี้ เติบโตขึ้นได้อย่างแข็งแกร่งและมีทิศทางชัดเจน
“ถ้าเราไม่ถนัดจริง เราจะไม่ทำ” นพ.สุวินให้ความเห็นว่าบริษัทไม่มีแผนต่อยอดในรูปแบบคลินิกความงามแน่นอน ถึงแม้จะคร่ำหวอดอยู่กับธุรกิจความสวยงาม และประสบการณ์มากมาย แต่ นพ.สุวินบอกว่า เป็นงานที่ไม่ถนัด มีการแข่งขันที่ค่อนข้างสูง และมีแนวโน้มอิ่มตัวได้เร็ว
ในขณะที่เคล็ดลับของการทำธุรกิจจนประสบผลสำเร็จนั้น ควรมีจุดเด่นดังนี้ 1. เป็นธุรกิจเงินสด 2. ลูกหนี้น้อย 3. ค้าปลีกเป็นธุรกิจที่คนเข้าใจง่าย เราไม่ได้ทำสารเคมีตั้งต้น ฉะนั้นแทบไม่ต้องอธิบายอะไรเลย 4. มีกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ 5 สามารถขยายสาขาได้จำนวนมาก ทำให้รายได้เพิ่มขึ้นเป็นเงาตามตัว ข้อสุดท้าย เรารู้ความต้องการของผู้บริโภคแบบตัวต่อตัว
“ครีเอทีฟ ไดนามิก และความยั่งยืน” เป็นปรัชญาที่ นพ.สุวินยึดเป็นแนวทางในการทำงาน และทำให้บริษัทฯ เติบโตเคียงคู่กับธุรกิจความงามตลอดไป
Relate Story