วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > ไอคอนสยาม ศึก One Destination

ไอคอนสยาม ศึก One Destination

 
ทิ้งเวลาห่างเกือบ 2 ปี หลังการประกาศความร่วมมือระหว่าง 3 ยักษ์  ยักษ์ใหญ่ค้าปลีกระดับไฮเอนด์ “สยามพิวรรธน์”, ยักษ์ใหญ่คอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ “แมกโนเลีย” และยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมเกษตร “ซีพี” เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2555 บนที่ดินผืนใหญ่กว่า 40 ไร่ย่านเจริญนคร ริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ชนิดไร้พิมพ์เขียวโครงการและขอบเขตจินตนาการ 
 
จนกระทั่งได้ฤกษ์ 1 ก.ค. 2557 ทั้ง 3 พันธมิตรเปิดฉากอภิมหาโปรเจกต์ “ไอคอนสยาม (ICONSIAM)” ชนิดที่ทุกวงการต้องตื่นตะลึงกับแผนสร้างสตอรี่เรื่องใหม่ให้ประเทศไทยด้วยเม็ดเงินมูลค่ากว่า 50,000 ล้านบาท 
 
ไม่ว่าจะเป็นแผนการสร้างเมือง พลิกวงการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ หรือเขย่าอาณาจักรค้าปลีกข่มขวัญคู่แข่ง แต่ซีรีส์ “ไอคอนสยาม” ที่กว่าจะเปิดให้บริการอีก 3 ปี เลื่อนจากแผนเดิมปี 2558 กลับยิ่งกดดันให้ 2 หัวเรือใหญ่อย่าง ชฎาทิพ จูตระกูล กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด และ ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น ต้องวางกลยุทธ์ขายฝันและปลุกจินตนาการ เพื่อบรรลุเป้าหมายการเป็น “One Destination” ของคนทั่วโลก 
 
ล่าสุด  “ไอคอนสยาม” ขยายพื้นที่การพัฒนา จากเดิม ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ลูกสาวคนเล็กของ ธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการเครือซีพี ซื้อที่ดินผืนใหญ่ซึ่งอยู่ระหว่างโรงแรมมิลเลนเนียม ฮิลตัน และโรงแรมเพนนินซูล่าจากบริษัท อรุณพร็อพเพอร์ตี้ จำนวน 40 ไร่ มูลค่ากว่า 4,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 50 ไร่ มูลค่ารวม 6,000 ล้านบาท เม็ดเงินลงทุนพุ่งพรวด 40% จาก 35,000 ล้านบาท เป็น 50,000 ล้านบาท 
 
ที่สำคัญ เปลี่ยนเป้าจากโครงการเชิงพาณิชย์ของ 3 พันธมิตร เป็นแผนสร้างอาณาจักรเชื่อมโยงเครือข่ายพันธมิตรทางธุรกิจริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา 30 โครงการ มูลค่าการลงทุนรวมกัน 140,000 ล้านบาท ตลอดระยะทางยาว 10 กิโลเมตร โดยไอคอนสยามจะเป็นศูนย์กลางเชื่อมต่อการคมนาคมทางน้ำกับโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมในระบบอื่น ซึ่งประกอบด้วย 2 สะพานข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาในปัจจุบัน กับอีก 3 โครงการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำในอนาคต ระบบขนส่งมวลชนรถไฟฟ้าสายสีเขียว (บีทีเอส) และโครงการรถไฟฟ้าสายสีแดง 
 
ขณะเดียวกัน จะมีการสร้างท่าเรือสาธารณะ 2 ท่า ท่าเรือส่วนบุคคล 1 ท่าในพื้นที่โครงการ เพื่อเชื่อมต่อกับอีก 73 ท่าเรือ ในรัศมี 10 กิโลเมตรบนแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งมีเรือกว่า 650 เที่ยวต่อวัน โดยไอคอนสยามเตรียมเรือ Ferry Boat รับส่งอีก 6 ลำ และบริการรถ Shuttle Bus รับส่งระหว่างโครงการกับสถานีรถไฟฟ้าธนบุรี
 
ชฎาทิพ จูตระกูล กล่าวว่า ไอคอนสยามถือเป็นผู้นำการบุกเบิกความร่วมมือระดับชาติครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยจัดทำ “แผนแม่บทวิสัยทัศน์แห่งแม่น้ำเจ้าพระยา” หรือ ICONSIAM River Master Vision ภายใต้ความร่วมมือของผู้ประกอบการและหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนที่มีอยู่ในปัจจุบัน สถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ และอีก 30 โครงการใหม่ที่เริ่มดำเนินการระหว่างปี 2555-2563  
 
“แม่น้ำเจ้าพระยาไม่มี New story ขายต่างประเทศมานานแล้ว ทั้ง 3 พันธมิตรจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้าง New Story สร้างแลนด์มาร์คใหม่ให้แม่น้ำเจ้าพระยาและกรุงเทพฯ เพื่อเป็นเป้าหมายที่คนทั่วโลกต้องเดินทางมาท่องเที่ยว”
 
ทั้งนี้ กว่าปีครึ่งที่ผ่านมา ทีมงานไอคอนสยามศึกษาศักยภาพของธุรกิจและการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์บนแม่น้ำเจ้าพระยา โดยแลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงวัฒนธรรม สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและภาคเอกชน ทั้งกลุ่มโรงแรมริมน้ำ คอมมูนิตี้มอลล์ และเรือด่วนเจ้าพระยา เพื่อวางแผนแลกเปลี่ยนลูกค้าและกลยุทธ์การตลาด ส่งเสริมให้ธุรกิจบนแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก 
 
นอกจากนั้น สำนักผังเมือง กรุงเทพมหานคร มีแนวคิดสร้างทางเดินเลียบฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งไอคอนสยามจะเนรมิต The River Park  เป็น Community Space ที่ใหญ่ที่สุดริมฝั่งแม่น้ำ เนื้อที่ 10,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับการจัดงานระดับชาติและการแสดงโชว์ระดับโลก พร้อมเชื่อมต่อกับโครงการของสำนักผังเมือง
 
สำหรับตัวโครงการ ซึ่งด้านหน้าทอดยาวเลียบริมน้ำและมีผืนน้ำโอบอุ้มทั้งสองฝั่งซ้ายขวาระยะความยาวมากกว่า 400 เมตร มีพื้นที่รวม 750,000 ตร.ม. แยกเป็น 2 ส่วน คือ อาณาจักรศูนย์การค้า พื้นที่ 525,000 ตร.ม. และอาณาจักรอาคารที่พักอาศัยริมน้ำระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ ภายใต้ชื่อ “แมกโนเลียส์ วอเตอร์ฟรอนท์ เรสซิเดนท์” จำนวน 2 อาคาร คือ  สูง 70 ชั้น 1 อาคาร และ 40 ชั้น อีก  1 อาคาร 
 
พื้นที่อาณาจักรศูนย์การค้าแยกเป็นอาคาร Luxury และอาคาร Main Retail & Entertainment โดยอาคาร Luxury มีพื้นที่ 25,000 ตร.ม. ด้านหน้าอาคารทอดยาวกว่า 300 เมตร ขนานไปกับแม่น้ำเจ้าพระยา ภายใต้คอนเซ็ปต์แหล่งรวบรวมที่สุดของแบรนด์ดังระดับโลก “Icons within Icon” เป็นแห่งแรก โดยสร้าง Iconic Store  ซึ่งชฎาทิพสร้างนิยามใหม่แห่งวงการค้าปลีก รูปแบบคฤหาสน์ “Brand Mansion” ถ่ายทอดเรื่องราวและเอกลักษณ์ของแบรนด์อันเป็นมรดกตกทอด นอกจากนี้อาคาร Luxury ยังรวมสุดยอดภัตตาคารหรูระดับ Michelin stars ชื่อดังจากประเทศต่างๆ
 
ส่วนอาคาร Main Retail พื้นที่ 500,000 ตร.ม. ติดกับถนนเจริญนคร สร้างพื้นที่ร้านค้าทั้ง in door และ outdoor จำนวน 500 ร้านค้า มี 100 ภัตตาคาร จาก 30 ประเทศ โดยสินค้าและบริการทุกแบรนด์เป็นระดับแชมเปี้ยน รวมทั้งสร้างศูนย์การประชุมระดับโลก (World Class Auditorium) 3,500 ที่นั่ง รองรับการประชุมนานาชาติ งานสำคัญของรัฐบาล Trade Exhibition หรือแม้กระทั่งโชว์แบบอลังการจากบรอดเวย์และลอนดอน
 
ไอคอนสยามยังทุ่มงบอีก 10,000 ล้านบาท สร้างบิ๊กแม็กเน็ต “7 สิ่งมหัศจรรย์” โดยประเดิมไอเดีย 2 สิ่งมหัศจรรย์เป็นซีรีส์แรก ได้แก่ การแสดงสายน้ำผสมผสาน แสง สี เสียง ไฟ และมัลติมีเดียที่ยาวที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มากกว่า 400 เมตร และพิพิธภัณฑ์ศูนย์รวมมรดกทางประวัติศาสตร์ สุดยอดภูมิปัญญาไทย โดยความร่วมมือจากกระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงการคลัง กระทรวงการท่องเที่ยวฯ ขณะที่อีก 5 สิ่งมหัศจรรย์รอเปิดตัวเป็นซีรีส์ชุดต่อไป
 
หากเปรียบเทียบ “ไอคอนสยาม” จะเปิดให้บริการในปี 2560 ช้ากว่า “เดอะมอลล์ กรุ๊ป” ที่เร่งบิ๊กโปรเจกต์ “The Epicenter of Sukhumvit” ผนึก 3 ศูนย์ระดับเวิลด์คลาส ดิ เอ็มโพเรียม ดิ เอ็มควอเทียร์ และ ดิ เอ็มสเฟียร์ เนื้อที่รวมกัน 50 ไร่ พื้นที่ทั้งหมด 650,000 ตร.ม. เพื่อเผยโฉมเต็มรูปแบบภายในปี 2559  
 
ตามด้วยแผนบุกเบิกทำเลใหม่ๆ ทั้ง “บลูพอร์ต หัวหิน รีสอร์ต มอลล์” และโครงการสร้างอาณาจักรชอปปิ้งใหม่ใจกลางเมืองภูเก็ต “บลูเพิร์ล” เพื่อเป็นไข่มุกเลอค่าสุดของเอเชีย เนื้อที่กว่า 150 ไร่ ในฐานะห้างระดับลักชัวรี่และสวนสนุกธีมพาร์คยิ่งใหญ่ระดับโลก รวมถึงโครงการ Bangkok Mall ตรงข้ามศูนย์ไบเทค บางนา พื้นที่ 100 ไร่ เพื่อให้กรุงเทพฯ มีแลนด์มาร์คใหญ่เหมือน “ดูไบ มอลล์” ซึ่งศุภลักษณ์ อัมพุช ประกาศเป้าหมายผลักดันรายได้ทะลุ 1 แสนล้านบาท และยกระดับเป็นศูนย์กลางท่องเที่ยวของภูมิภาคเอเชีย
 
ด้านหนึ่ง เดอะมอลล์ กรุ๊ป ยังจับมือกับสยามพิวรรธน์ในฐานะผู้ร่วมทุน “สยามพารากอน” แต่อีกด้านซ่อนนัยหลายอย่าง โดยเฉพาะการที่สยามพิวรรธน์เลือกกลุ่ม “เอ็มบีเค” ซึ่งเป็นผู้ร่วมทุนโครงการ “พาราไดซ์ พาร์ค” เข้ามาร่วมหุ้นในไอคอนสยาม ที่สำคัญ กลยุทธ์ One Destination กำลังเป็นตัวประชันฝีมือสองนักธุรกิจหญิง “ชฎาทิพ-ศุภลักษณ์” ที่ถือเป็น “Big Idea” ในวงการทั้งคู่ สงครามค้าปลีกระดับเวิลด์คลาส มีประเด็นร้อนฉ่าอีกหลายซีรีส์แน่
 
Relate Story