ในปี 2009 ศูนย์ศิลปวัฒนธรรมแห่งชาติจอร์จส์ ปงปิดู (Centre national d’art et de culture Georges Pompidou) จัดนิทรรศการผลงานของปิแอร์ ซุลาจส์ (Pierre Soulages) จิตรกรร่วมสมัยชาวฝรั่งเศส เป็นนิทรรศการใหญ่ที่ศูนย์วัฒนธรรมแห่งนี้เคยจัดให้อาร์ติสต์ที่ยังมีชีวิตอยู่
ปิแอร์ ซูลาจส์ เกิดที่เมืองโรเดซ (Rodez) ในปี 1919 พ่อเสียชีวิตขณะเขาอายุ 5 ขวบ เขาจึงเติบโตมาภายใต้การดูแลของแม่และพี่สาว มีพรสวรรค์ด้านเขียนรูปโดยไม่รู้ตัว เมื่ออายุ 10 ขวบ เขาใช้หมึกดำเขียนบนกระดาษขาว เพื่อนของพี่สาวถามว่าทำอะไรอยู่ เขาตอบว่ากำลังวาดหิมะ เด็กคนนั้นทำหน้าประหลาดใจ ปิแอร์ ซูลาจส์กล่าวว่าเขาไม่ได้ต้องการท้าทายหรืออะไรทั้งสิ้น เพียงแต่กำลังแสวง “ประกายแสง” ความขาวของกระดาษเปรียบเสมือนสีหิมะ ตัดกับหมึกดำที่เขาวาดลงไป เขาได้รู้จักนักโบราณคดีผู้หนึ่ง และไปช่วยเขาทำงาน ทำให้เขาสนใจ “ของเก่าๆ” ครั้งหนึ่งครูพาไปทัศนศึกษาที่วัด Abbatiale Sainte-Foy de Conques เขาชื่นชอบศิลปะแบบโรมัน และเมื่อ 60 ปีให้หลัง รัฐบาลขอให้เขาออกแบบกระจกสีของวัดแห่งนี้ เขาจึงยินดีรับทำ เป็นกระจกสี 104 ชิ้น ที่เคียงคู่ไปกับวัดศตวรรษที่ 11
แม่อยากให้เป็นหมอ แต่ปิแอร์ ซูลาจส์ตั้งใจจะเป็นครูสอนวาดเขียน จึงเดินทางไปปารีสในปี 1938 เพื่อศึกษาต่อที่ Ecole des beaux-arts ทว่าไม่ชอบการสอนเชิงวิชาการ จึงเดินทางกลับบ้าน ระหว่างที่อยู่ที่ปารีส เขาไปชมงานศิลป์ที่พิพิธภัณฑ์ลูฟวร์ (Louvre) มีโอกาสชมนิทรรศการของปอล เซซานน์ (Paul Cézanne) และปาโบล ปิกัสโซ (Pablo Picasso) จึงตั้งใจว่าจะเขียนรูปเพียงอย่างเดียว เขาถูกเกณฑ์ทหาร หลังปลดประจำการไปเรียนต่อที่ Ecole des beaux-arts ของเมืองมงต์เปลลีเอร์ (Montpellier)
ปิแอร์ ซูลาจส์แต่งงานกับโกแลต (Colette) เพื่อนนักศึกษาในปี 1942 เมื่อเกิดสงคราม เขาปลอมเอกสารเพื่อที่จะไม่ต้องไปเป็นแรงงานบังคับในเยอรมัน แล้วจึงไปทำงานไร่ หลังสงคราม ปิแอร์ ซูลาจส์และภรรยาเดินทางไปปารีสในปี 1946 พำนักในชานเมืองโดยไม่มีเงินเลย แต่ทั้งสองโชคดีเพราะพ่อของโกแลตส่งไวน์มาให้ 30 ลิตรทุกเดือน เขานำไวน์ไปแลกเนื้อสัตว์ ส่วนแม่ส่งตั๋วปันขนมปังมาให้ เขาไปสอนเลขคณิตแทนครูที่ไปพักร้อนหรือป่วย
ปิแอร์ ซูลาจส์เขียนภาพแอ็บสแทร็คที่มีแต่สีดำ ส่งไปร่วมแสดงใน Salon d’automne ในปี 1946 แต่ได้รับการปฏิเสธ เพื่อนแนะนำให้ไปแสดงที่ Salon des surindépendants เป็นครั้งแรกที่เขาเห็นผลงานของเขาแขวนเคียงข้างผลงานของอาร์ติสต์อื่นๆ และพบว่าภาพเขียนของตนแตกต่างโดยสิ้นเชิง ยุคหลังสงคราม ภาพเขียนเต็มไปด้วยสีสัน แต่ภาพเขียนของปิแอร์ ซูลาจส์มีแต่สีทึม โดยมีสีดำเป็นหลัก อาร์ติสต์อย่างฟรองซิส ปิกาเบีย (Francis Picabia) โรแบร์ตา กอนซาเลซ (Roberta Gonzales) ฮันส์ ฮาร์ตุง (Hans Hartung) เห็นแล้วกลับชอบใจ
นับตั้งแต่ปี 1948 เป็นต้นมา ผลงานของปิแอร์ ซูลาจส์แสดงที่ปารีสและประเทศอื่นๆ ในยุโรป โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเยอรมัน แสดงร่วมกับจิตรกรแอ็บสแทร็คอื่นๆ เช่น Kupka, Domela, Herbin และในปี 1949 มีผลงานแสดงเดี่ยวที่ Galerie Lydia Conti ในหนึ่งชาวอเมริกันผู้หนึ่งเดินเข้ามาใน atelier ของเขา พินิจพิจารณาภาพเขียน แล้วบอกว่าชอบ ก่อนกลับเขามอบนามบัตรให้ ปรากฏว่าเป็นเจมส์ จอห์นสัน สวีนีย์ (James Johnson Sweeney) ภัณฑารักษ์ใหญ่ของพิพิธภัณฑ์ Museum of monder art ของนิวยอร์ก ซึ่งเป็นผู้ทำให้ชาวอเมริกันรู้จักปิแอร์ ซูลาจส์ ผู้ซื้อผลงานของเขามีเป็นอาทิ เนลสัน ร็อคกี้เฟลเลอร์ (Nelson Rockefeller) บิลลี ไวล์เดอร์ (Billy Wilder) อัลเฟรด ฮิทช์ค็อค (Alfred Hitschcock) ออตโต พะมิงเกอร์ (Otto Preminger)
ยามเขียนรูป ปิแอร์ ซูลาจส์มักปล่อยให้งานของเขา “บ่ม” และหากไม่ชอบใจภาพใด เขาจะเผาทิ้ง
ปิแอร์ ซูลาจส์กลายเป็นอาร์ติสต์ดังที่ได้นำผลงานไปแสดงยังเมืองต่างๆ ทั้งในยุโรปและอเมริกา รวมทั้งที่พิพิธภัณฑ์อย่าง Museum of modern art และ Guggenheim museum ในสหรัฐอเมริกา พิพิธภัณฑ์ใหญ่ๆ ต่างซื้อผลงานของเขา ดังเช่น Tate gallery, Guggenheim Museum, Meseum of modern art, Musée d’art moderne ที่ปารีส Museu de arte moderna ที่ริโอ เด จาเนโร เป็นต้น
ปิแอร์ ซูลาจส์ได้รับรางวัลมากมาย ในปี 1975 ได้รางวัลกรองพรีซ์ที่ปารีส ปี 1976 ได้รางวัลเรมบรานด์ (Rembrandt) ซึ่งเป็นรางวัลที่ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์ในยุโรปมอบให้ 1986 ได้ grand prix international de peinture Praemium imperiale สาขาภาพเขียน
มีผู้พยายามจัดให้ปิแอร์ ซูลาจส์อยู่ในกระแส surréalisme révolutionnaire แต่เขาบอกว่าไม่ใช่ บ้างก็ว่ากระแส expresionnisme abstrait เขาก็ว่าไม่เคยทำงานร่วมกับจิตรกรกระแสนี้ เขาไม่ยอมจัดตัวให้เข้ากับกระแสใดทั้งสิ้น
ในปี 2005 ปิแอร์ ซูลาจส์ยกผลงานของตน 500 ชิ้นแก่เมืองโรเดซ จึงมีการสร้างพิพิธภัณฑ์ปิแอร์ ซูลาจส์ขึ้น ซึ่งได้เปิดเมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2014 ความคิดในการสร้างพิพิธภัณฑ์ปิแอร์ ซูลาจส์มาจากการที่เทศมนตรีเมืองโรเดซมาพบเขา เพื่อถามว่าจะทำอะไรกับร่างแบบกระจกสีของวัด Abbatiale Sainte-Foy de Conques เขาจึงมอบให้ไป แล้วเทศมนตรีก็มาพบอีก คราวนี้สนใจภาพพิมพ์ อีกทั้งยังบอกกล่าวว่าอยากมีสถานที่ที่จะจัดแสดงผลงานเหล่านี้ ปิแอร์ ซูลาจส์จึงตกลงใจให้ใช้ชื่อของเขาเป็นชื่อพิพิธภัณฑ์ที่จะสร้างขึ้น พิพิธภัณฑ์แห่งนี้มีเนื้อที่ 500 ตารางเมตร สำหรับแสดงภาพเขียนของอาร์ติสต์อื่นๆ
ปิแอร์ ซูลาจส์ค้นพบการเขียนรูปด้วยสีดำที่เขาเรียกว่า Outrenoir ในปี 1979 วันหนึ่งเขาเหนื่อย และกำลังเขียนภาพด้วยสีดำ เขาไม่ทราบว่าทำได้อย่างไร วันรุ่งขึ้นเขาพบว่าเป็นสีดำที่แตกหน่อจากสีดำ สีดำที่ให้ความสว่าง สีดำที่แตกต่างขึ้นอยู่กับเครื่องมือที่ใช้ในการรังสรรค์ผลงานแต่ละชิ้น Outrenoir บางภาพออกสีกรมท่า บางภาพออกสีเทา บางภาพออกสีเงิน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับแสงที่สาดส่องมา ผลงาน 500 ชิ้นที่ปิแอร์ ซูลาจส์มอบให้พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เป็นงานที่เขารังสรรค์ในช่วง 30 ปีแรก กล่าวคือระหว่างปี 1940-1970
เยอรมันเป็นประเทศแรกที่ชื่นชอบผลงานของปิแอร์ ซูลาจส์เมื่อเขานำผลงานไปแสดงในปี 1948 สหรัฐอเมริกาเป็นประเทศต่อมาที่ได้ชมผลงานของเขาในปี 1949 เขาขายผลงานได้เป็นชิ้นแรกแก่ญาติของเพื่อนในราคานิดเดียว ซึ่งนำไปขายในภายหลังได้หลายล้านยูโร