วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > On Globalization > Make-Inu: สุนัขขี้แพ้

Make-Inu: สุนัขขี้แพ้

 
การดูหมิ่นเหยียดหยามหรือแม้กระทั่งการทอนคุณค่าของผู้คนให้เสื่อมเสียศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์ ดูจะเรื่องราวที่เกิดขึ้นในแทบทุกสังคมนะคะ และเป็นกรณีที่เกี่ยวเนื่องกับรากฐานและพัฒนาการทางวัฒนธรรมของแต่ละสังคมไม่น้อยเลย
 
ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในญี่ปุ่นในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ก็ไม่ได้มีข้อยกเว้นให้สามารถหลีกหนีปรากฏการณ์เช่นที่ว่านี้แต่อย่างใด
 
สังคมญี่ปุ่นได้รับการกล่าวถึงในฐานะที่เป็น Male Dominant Society มาอย่างยาวนาน แต่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมและเงื่อนเวลาในปัจจุบัน ทำให้ผู้หญิงญี่ปุ่นกลายเป็นขุมพลังในการขับเคลื่อนกลไกทางสังคมและเศรษฐกิจที่ทวีบทบาทอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
 
บทบาทของผู้หญิงญี่ปุ่นในปัจจุบันไม่ได้ถูกจำกัดไว้เพียงการเป็นแม่บ้านที่ต้องดูแลความเรียบร้อยภายในบ้านและเลี้ยงดูกุลบุตรกุลธิดาอีกต่อไปแล้วนะคะ หากแต่สามารถยืนหยัดเลี้ยงตัวเองได้มากขึ้น โดยมีสถานะของการเป็น Office Ladies หรือ OLs เป็นภาพจำลองที่กระตุ้นเร้าให้ผู้หญิงเข้าทำงานในระบบอย่างต่อเนื่อง
 
การเกิดขึ้นของกลุ่มผู้หญิงทำงานในสำนักงานหรือ OLs ซึ่งถือเป็นชนชั้นใหม่ในสังคมญี่ปุ่นในช่วงที่ผ่านมา ได้ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งในมิติทางสังคมและเศรษฐกิจของญี่ปุ่นอย่างกว้างขวาง ขณะเดียวกันก็ติดตามมาด้วยราคาที่ต้องจ่ายพอสมควรทีเดียว
 
อิสรภาพที่ได้มาจากการปลดเปลื้องพันธนาการของการพึ่งพิงรายได้จากฝ่ายชาย นอกจากจะส่งผลให้แนวโน้มความนิยมที่จะครองความเป็นโสดและใช้ชีวิตอิสระของสตรีญี่ปุ่น หรือแม้กระทั่งการยอมรับสถานะของผู้หญิงที่เป็น Single Parent ที่เพิ่มมากขึ้นเป็นลำดับ เป็นปัจจัยหนุนเสริมให้สตรีญี่ปุ่นในกลุ่มนี้พร้อมที่จะจับจ่ายเงินเพื่อบำรุงความสุขและความต้องการของพวกเธอได้อย่างเสรี
 
วาทกรรมว่าด้วย “สุนัขขี้แพ้” (make-inu: มาเกะ-อินุ) ที่เหยียดหยามผู้หญิงในวัย 30ปีขึ้นไปที่เลือกจะใช้ชีวิตโสดโดยไม่แต่งงานและไม่มีบุตร ด้วยนัยที่บ่งชี้ว่าเป็นเพราะพวกเธอเป็นเพียงสิ่งมีชีวิตที่ไม่มีคุณค่า และไม่มีใครต้องการ จึงต้องครองความเป็นโสดและอยู่ในโลกของพวกเธอเพียงลำพัง กลายเป็นประหนึ่งหอกแหลมที่ทิ่มแทงลงไปในความรู้สึกของหญิงสาวกลุ่มนี้ให้ต้องเผชิญกับความเจ็บแปลบไม่น้อย
 
ขณะเดียวกันประพฤติกรรมในลักษณะ self satisfaction อย่างสุดโต่งของสตรีญี่ปุ่นกลุ่มนี้ ได้ก่อให้เกิดกระแสการค่อนขอดอย่างเสียหายและถึงขั้นกล่าวหาพวกเธอว่าเป็น parasite singles หรือ “คนโสดที่เป็นพยาธิของสังคม” เลยทีเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในสถานการณ์ยุคเศรษฐกิจตกต่ำในช่วงที่ผ่านมา
 
ผู้เขียนเชื่อว่าหากข้อกล่าวหาเหล่านี้ปรากฏขึ้นในสังคมไทย กลุ่มพิทักษ์สิทธิสตรีในสังคมไทยคงต้องลุกขึ้นทักท้วงและตอบโต้ผู้พูดว่าละเมิดหรือเหยียดหยามสตรีเพศอย่างไม่น่าให้อภัยแน่นอน เพราะไม่ว่าจะเทียบผู้หญิงเป็นสุนัข หรือพยาธิ ก็คงไม่งามและไม่บังควรอยู่แล้ว ซึ่งภายใต้บริบททางภาษาและวัฒนธรรม วลีดังกล่าวสะท้อนให้เห็นแนวคิดอนุรักษนิยมของญี่ปุ่นแบบที่มีผู้ชายนำได้เป็นอย่างดี
 
ประเด็นที่ทำให้กลุ่มสตรีญี่ปุ่นกลุ่มนี้ถูกโจมตีอย่างรุนแรง ทั้งที่พวกเธอเป็นกลุ่มที่มีอัตราการออมเงินสูงและมีกำลังซื้อขนาดมหึมาที่ได้รับการประเมินว่ามีสูงถึงระดับ 6.5 พันล้านเหรียญสหรัฐหรือถ้าจะเทียบเป็นสกุลเงินบาทก็ใกล้เคียงกับตัวเลขระดับ 2 แสนล้านบาท อยู่ที่พวกเธอพร้อมที่จะลงทุนเลือกซื้อครีมบำรุงผิวรักษาความงามที่มีราคาต่อกรัมสูงกว่าราคาทองคำ เพียงเพื่อเสริมสร้างความมั่นใจในการเข้าสู่สังคม หรือยืนเข้าแถวรอคิวเพื่อซื้อสินค้าแบรนด์เนมชื่อดังราคาแพงจนได้รับการกล่าวถึงว่าเป็น Brand-name Nation 
 
แต่พวกเธอกลับมีวิธีการในการใช้จ่ายที่เกี่ยวกับสินค้าประเภทเครื่องอุปโภคบริโภคทั่วไป รวมถึงเครื่องใช้ภายในบ้านในทิศทางที่ตรงกันข้ามและมีปัจจัยด้านราคามาเป็นเครื่องมือที่กำหนดการตัดสินใจในการเลือกสรรอย่างระมัดระวังเป็นพิเศษ
 
วิถีการดำเนินชีวิตและวิธีการในการเลือกบริโภคในแบบ bipolarization นี้ล่ะค่ะ ที่ทำให้กลุ่มสตรีสาวโสดในวัยทำงานของญี่ปุ่นเหล่านี้ ถูกประเมินว่าไม่สร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างจริงจัง เพราะเงินจำนวนมากที่พวกเธอจ่ายไปนั้นไม่ได้เพิ่มพูนศักยภาพทางการผลิตในเชิงเศรษฐกิจและสังคมเลย แม้ว่าพวกเธอจะเป็นฐานลูกค้าที่มีศักยภาพในการบริโภค ที่พร้อมจะถูกกระตุ้นให้เพิ่มการบริโภคและใช้จ่ายเงินให้มากขึ้นก็ตาม
 
หากประเมินอย่างปราศจากอคติที่เกิดขึ้นจากความไม่พึงพอใจของบุรุษเพศที่กำลังสูญเสียสถานะทางสังคมและกำลังถูกผลักให้กลายเป็นพลเมืองชั้นสอง จากความพยายามที่จะเอาใจผู้ใช้บริการที่เป็นเพศหญิงอย่างออกหน้าออกตาของผู้ประกอบการธุรกิจการค้า รวมถึงการให้บริการสาธารณะจำนวนมากแล้ว ก็ต้องยอมรับเหมือนกันนะคะว่าวิถีชีวิตของผู้หญิงญี่ปุ่นดังว่านี้ อาจก่อให้เกิดกระแสไลฟ์สไตล์ที่ฉาบฉวยเป็นระยะ แต่ไม่ก่อให้เกิด productivity ทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคมมากนักจริงๆ อย่างที่ถูกกล่าวหา
 
ขณะเดียวกันสิ่งที่น่าชื่นชมประการหนึ่งก็คือสตรีญี่ปุ่นที่ถูกกล่าวหาด้วยท่วงทำนองหนักหน่วงนี้ กลับไม่ยอมตกเป็นเหยื่อของสังคมที่มีวาทกรรมของบุรุษเพศครอบครองนี้อีกต่อไป เพราะพวกเธอผลิตสร้างนัยความหมายใหม่ๆ ให้กับคำว่า “สุนัขขี้แพ้” ในมิติใหม่ที่เป็นทางเลือกของชีวิตเสรี มากกว่าจะกลายเป็นเพียงสัตว์เลี้ยงที่ถูกคุมขังให้อยู่ในเคหสถานของผู้ชายที่ไม่เอาไหน
 
บทบาทของพวกเธอยังก้าวข้ามไปสู่การเข้าร่วมกิจกรรมทางวัฒนธรรมต่างๆ อย่างกระตือรือร้น โดยทั้งหมดอยู่บนพื้นฐานที่เริ่มต้นมาจาก sense of self  ที่ขยายตัวไปสู่การสร้าง personal value ซึ่งมีผลต่อการประเมินคุณค่าและการก่อรูปทางวัฒนธรรมญี่ปุ่นโดยองค์รวมครั้งใหม่ไปพร้อมกัน
 
บางทีในห้วงเวลานับจากนี้อีกไม่นาน บรรดาสุนัขขี้แพ้ หรือ make-inu เหล่านี้ อาจประกาศชัยชนะเหนือสังคมที่ผู้ชายครองความเป็นใหญ่นี้มาเนิ่นนาน ซึ่งหากสำนวนว่าด้วย “Every dog has its day” ที่ผู้คนคุ้นหูจะมีส่วนจริงอยู่บ้าง ความเป็นไปของผู้หญิงญี่ปุ่นก็กำลังรอคอยการพิสูจน์กับอนาคตที่กำลังจะมาถึง
 
และเมื่อถึงเวลานั้น “สุนัขขี้แพ้” อาจมีความหมายใหม่ ที่หมายถึงผู้ชายที่ไม่สามารถปรับเปลี่ยนทัศนะให้สามารถผลิตสร้างคุณค่าใหม่ให้สังคมก็เป็นไปได้นะคะ