ในขณะที่สังคมไทยกำลังเข้าสู่ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองรื่นเริงเนื่องในวันสงกรานต์หรือวันขึ้นปีใหม่แบบไทย ด้วยความรู้สึกระคนกันทั้งความกังวลเรื่องปัญหาทางเศรษฐกิจที่ดูเหมือนจะบีบรัดและเขม็งเกลียวหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ สอดรับกับสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่สามารถแสวงหาทางออกจากภาวะชะงักงันได้อย่างชัดเจน
อีกฟากฝั่งของมหาสมุทรอินเดีย ในดินแดนที่เรียกว่าศรีลังกา ผู้คนที่นี่ก็กำลังเฉลิมฉลอง Aluth Avurudda หรือ Avurudu ซึ่งก็คือเทศกาลขึ้นปีใหม่ของชาวสิงหล (Singhalese) ที่เกี่ยวเนื่องในเชิงวัฒนธรรมกับเทศกาลสงกรานต์และการเถลิงศกใหม่ของทั้งภูมิภาคเอเชียใต้และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตามการยึดถือปฏิทินตามแบบสุริยคติไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
แต่ที่จะแตกต่างกันไปบ้างสำหรับช่วงเวลาสำคัญแห่งปีนี้ ก็คือ ดูเหมือนว่าชาวศรีลังกาส่วนใหญ่มีโอกาสได้เฉลิมฉลองวันขึ้นปีใหม่ ท่ามกลางความรู้สึกที่รื่นเริงและเปี่ยมความหวังสำหรับอนาคตที่กำลังจะงอกเงยขึ้น มากกว่าในช่วงหลายปีที่ผ่านมา
เป็นการเริ่มต้นปีใหม่ ควบคู่กับความหวังถึงสันติภาพและความจำเริญที่ยั่งยืนไปพร้อมๆ กับโอกาสครบวาระ 5 ปีของการสิ้นสุดสงครามกลางเมืองในเดือนพฤษภาคมที่กำลังจะมาถึงนี้
ภาวะสงครามกลางเมือง (Civil War) ที่เกิดขึ้นจากความขัดแย้งทางชาติพันธุ์ระหว่างรัฐบาลศรีลังกาที่เป็นตัวแทนของเสียงส่วนใหญ่ชาวสิงหล กับชนกลุ่มน้อยชาวทมิฬ ที่ทอดระยะเวลาเนิ่นนานกว่า 3 ทศวรรษนับตั้งแต่ช่วงกลางปี 1983 จนถึงเมื่อรัฐบาลประกาศชัยชนะอย่างเบ็ดเสร็จเด็ดขาดเหนือกองกำลังติดอาวุธพยัคฆ์ทมิฬอีแลม (Liberation Tigers of Tamil Eelam: LTTE) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2009 ได้สร้างบาดแผลและร่องรอยเจ็บลึกลงไปในสังคมศรีลังกา ซึ่งเป็นพหุสังคมที่มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ไม่น้อยเลย
ความสูญเสียในเชิงสังคมตามการประเมินของสหประชาชาติ (UN) ซึ่งนับเป็นจำนวนชีวิตของประชาชนนับแสนคน ทั้งที่เป็นเจ้าหน้าที่รัฐและพลเรือนที่ต้องเสียชีวิตไปในความขัดแย้งที่ยาวนานนี้ ย่อมไม่สามารถคำนวณเป็นมูลค่าใดๆ ได้ หากแต่ย่อมเป็นบทเรียนและกรณีศึกษาที่มีคุณค่าและนัยความหมายอย่างยิ่งสำหรับการก้าวเดินไปข้างหน้าในอนาคต
ขณะที่มูลค่าความสูญเสียทางเศรษฐกิจตลอดระยะเวลาแห่งความขัดแย้งยาวนานเกือบ 3 ทศวรรษได้รับการประเมินว่ามีมากถึง 2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6.6 ล้านล้านบาท ซึ่งเป็นจำนวนที่มูลค่ามากกว่า GDP ของศรีลังกาในปี 2009 ถึง 5 เท่า
ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจก็คือ รัฐบาลศรีลังกาได้ทุ่มเทงบประมาณมากกว่า 5.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ เฉพาะในช่วงปี 2009 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของการรุกไล่ปราบปรามเพื่อนำพาสันติสุขกลับคืนสู่ศรีลังกา และใช้งบประมาณมากกว่า 3 แสนล้าน ศรีลังการูปี หรือประมาณ 2.3 พันล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อเร่งระดมสรรพกำลังพัฒนาพื้นที่ภาคเหนือของประเทศ ซึ่งเคยเป็นฐานที่มั่นของกลุ่มพยัคฆ์ทมิฬอีกด้วย
ภาวะสงครามกลางเมืองที่ยาวนานส่งผลให้การลงทุนจากต่างประเทศในศรีลังกา ตกอยู่ในภาวะชะงักงันยาวนาน และทำให้ผู้ประกอบการลงทุนจำนวนมากมองข้ามศรีลังกาไปโดยปริยาย
ความพยายามที่จะเร่งฟื้นฟูประเทศให้ก้าวเดินไปข้างหน้าของรัฐบาลศรีลังกาในยุคหลังสงครามกลางเมืองนี้ ไม่ได้เกิดขึ้นท่ามกลางสุญญากาศหรือดำเนินไปอย่างปราศจากรากฐานรองรับ ในทางกลับกันดินแดนแห่งนี้เป็นจุดยุทธศาสตร์ที่มีประวัติศาสตร์และความสำคัญมาอย่างยาวนาน ทั้งในมิติของเศรษฐกิจการค้า ตั้งแต่มีการติดต่อกันระหว่างโลกตะวันออก-ตะวันตก ตามเส้นทาง Sea Silk Route และในมิติของความมั่นคงระดับนานาชาติ ที่กำลังเป็นที่หมายตาจากนานาประเทศ
โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเวลา 5 ปีที่ผ่านมา หลังจากที่รัฐบาลศรีลังกาสามารถนำความสงบสันติกลับคืนสู่ดินแดนที่ได้ชื่อว่าเป็นไข่มุกแห่งมหาสมุทรอินเดีย (the Pearl of the Indian Ocean) แห่งนี้ได้อีกครั้ง การลงทุนจากบรรษัทข้ามชาติขนาดใหญ่จากทุกมุมของโลกและความช่วยเหลือจากรัฐบาลมหาอำนาจจำนวนมากต่างหลั่งไหลเข้ามาสู่ศรีลังกา และกำลังเปลี่ยนโฉมหน้าของศรีลังกาไปด้วยอัตราเร่ง
ในมิติทางภูมิรัฐศาสตร์ ศรีลังกานับเป็น Strategic Location ในมหาสมุทรอินเดีย และยังคงความสมบูรณ์ในด้านทรัพยากรธรรมชาติ ที่ชาติมหาอำนาจทั้งจีน อินเดีย ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา รวมถึงชาติในยุโรป พยายามเบียดแทรกเพื่อเข้ามามีบทบาทและส่วนร่วมในการพัฒนาและขยายอิทธิพลในบริเวณดังกล่าว
โดยนับตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา จีนและศรีลังกาได้ร่วมลงนามในข้อตกลงว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน ซึ่งทำให้บรรษัทผู้ประกอบการจากจีน พาเหรดเข้ามาลงทุนในศรีลังกาอย่างเอิกเกริก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเขตพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษของศรีลังกา โดยในจำนวนนี้ Huawei Technologies ถือเป็นหัวหอกสำคัญที่เข้ามาลงทุนในศรีลังกาด้วยเม็ดเงินมหาศาล และกลายเป็นคู่สัญญาค้าขายกับบริษัทด้านโทรคมนาคมของศรีลังกาเกือบทุกรายไปโดยปริยาย
ขณะเดียวกันจีนได้ขยับบทบาทให้ขึ้นมาเป็นคู่ค้าอันดับหนึ่งของศรีลังกา ควบคู่กับการเสนอให้ความช่วยเหลือเพื่อการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคทั้งระบบรถไฟ ถนน รวมถึงการสร้างท่าเรือน้ำลึก สนามบินนานาชาติ และโรงกลั่นน้ำมันที่เมือง Hambantota ซึ่งอยู่ห่างจากโคลัมโบไปทางตอนใต้ 240 กิโลเมตร และเป็นเมืองบ้านเกิดของ Mahinda Rajaapaksa ประธานาธิบดีคนปัจจุบันของศรีลังกา ภายใต้มูลค่าความช่วยเหลือรวมเป็นจำนวนมากกว่า 1 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ทางด่วนหมายเลข E03 หรือ Colombo-Katunayake Expressway ซึ่งเป็นทางด่วนสายที่สองของศรีลังกาเชื่อมโยงเส้นทางจากกรุงโคลัมโบถึงสนามบินนานาชาติ Bandaranaike รวมถึงเมือง Katunayake และ Negombo ระยะทางรวม 25.8 กิโลเมตร ก่อสร้างแล้วเสร็จภายในระยะเวลา 4 ปี (ตุลาคม 2009-ตุลาคม 2013) ด้วยงบประมาณจำนวน 293 ล้านเหรียญสหรัฐหรือประมาณเกือบ 1 หมื่นล้านบาท โดยในจำนวนนี้รัฐบาลจีน ผ่านทางธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าของจีน (Exim bank of China) เป็นผู้สนับสนุนหลักถึง 248 ล้านเหรียญสหรัฐหรือกว่าร้อยละ 85 ของการลงทุนโดยรัฐบาลศรีลังกาลงทุนในส่วนที่เหลืออีก 45 ล้านเหรียญสหรัฐเท่านั้น
ขณะเดียวกันทางด่วนหมายเลข E02 ซึ่งเป็นถนนวงแหวนระยะทาง 29 กิโลเมตร เชื่อมเส้นทาง E01: Colombo-Matara หรือ Southern Expressway กับทางด่วนหมายเลข E03: Colombo-Katunayake ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจำนวนกว่า 1,600 ล้านเหรียญสหรัฐจากรัฐบาลญี่ปุ่นผ่านทาง JICA ซึ่งทำให้ทางด่วนเส้นนี้กลายเป็นถนนที่มีมูลค่าการก่อสร้างเฉลี่ยต่อกิโลเมตรสูงที่สุดในศรีลังกาที่กิโลเมตรละ 57 ล้านเหรียญสหรัฐเลยทีเดียว
ภายใต้ข้อจำกัดของการเป็นประเทศเกาะ ที่ต้องพึ่งพาเชื้อเพลิงและพลังงานจากภายนอกอย่างมหาศาล ทำให้ศรีลังกากลายเป็นคู่ค้าที่มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับประเทศอาหรับในอ่าวเปอร์เชีย (GCC: Arab states of the Persian Gulf) ซึ่งประกอบด้วย คูเวต บาห์เรน กาตาร์ โอมาน ซาอุดีอาระเบีย และ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ โดยกว่า 90% ของปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงที่บริโภคในศรีลังกาเป็นการนำเข้าจากประเทศในกลุ่ม GCC ขณะเดียวกันชาวศรีลังกาจำนวนมากได้เข้าไปเป็นแรงงานและสร้างชุมชนชาวต่างชาติขนาดใหญ่ในประเทศในอ่าวเปอร์เซียนี้ด้วย
ความมั่นคงทางพลังงาน ท่ามกลางความต้องการที่เพิ่มมากขึ้นจากผลของพัฒนาการทางเศรษฐกิจสังคมในช่วงที่ผ่านมา กลายเป็นประเด็นสำคัญที่รัฐบาลศรีลังกาพยายามข้ามให้พ้นข้อจำกัดนี้ และเป็นปัจจัยหนุนเสริมให้ประเทศในกลุ่ม GCC แทรกตัวเข้ามามีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะที่เป็นหลักประกันด้านพลังงาน ขณะที่สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ตัดสินใจเข้าลงทุนกิจการด้านพลังงานในศรีลังกานับตั้งแต่ปี 2008 เป็นต้นมา
บทบาทของกลุ่มประเทศ GCC ต่อศรีลังกามิได้จำกัดอยู่เฉพาะเรื่องพลังงานเท่านั้น หากแต่ในความเป็นจริง ชุมชนชาวมุสลิมในโคลัมโบได้ขยายตัวและมีบทบาทในทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคอสังหาริมทรัพย์ ภายใต้เครือข่ายสายสัมพันธ์และการสนับสนุนทางการเงินจากกลุ่มประเทศ GCC นี้
เช่นเดียวกับบทบาทของชาวทมิฬโพ้นทะเลที่ไปแสวงหาโอกาสอยู่ในประเทศตะวันตกทั้งในยุโรป และอเมริกา ซึ่งได้กลับเข้ามาพัฒนาโครงข่ายทางธุรกิจและลงทุนในธุรกิจหลากหลายจนกลายเป็นกลุ่มทุนที่มีบทบาททางเศรษฐกิจอยู่ในห้วงปัจจุบัน
การเร่งฟื้นตัวจากภาวะชะงักงันของสงคราม ทำให้รัฐบาลศรีลังกาต้องให้ความสำคัญกับการตั้งถิ่นฐานใหม่ (resettlement project) เพื่อรองรับกับการขยายตัวทางเศรษฐกิจสังคมที่กำลังจะเกิดขึ้น ซึ่งเป็นผลให้เกิดการพัฒนาและปรับปรุงการใช้พื้นที่ในโคลัมโบอย่างเอิกเกริก รวมถึงการให้สัมปทานในที่ดินเพื่อการลงทุนสร้างโรงแรมขนาดใหญ่ระดับห้าดาวมาตรฐานโลก ในพื้นที่ prime area ริมฝั่งมหาสมุทรอินเดียกลางใจเมือง เพื่อรองรับกับอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวที่รัฐบาลศรีลังกาคาดหวังจะให้เป็นธุรกิจหลักในการนำพาเงินตราต่างประเทศเข้าสู่ศรีลังกาด้วย
ข้อมูลที่น่าสนใจอย่างยิ่งสำหรับศรีลังกาในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา ก็คือ ในรายงานการจัดอันดับของ World Economic Forum เมื่อปี 2012 ศรีลังกาได้รับการปรับสถานะจากการเป็นประเทศในกลุ่ม Factor-driven มาเป็นประเทศที่กำลังเปลี่ยนผ่านสู่การเป็นเขตเศรษฐกิจ Efficiency-driven ขณะที่ดัชนีความสามารถในการแข่งขันระดับโลกในปี 2013-2014 (Global Competitiveness Index: GCI 2013-2014) ของศรีลังกาอยู่ในลำดับที่ 65 จาก 148 ประเทศ และมีแนวโน้มจะขยับลำดับขึ้นในห้วงเวลานับจากนี้
หากช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลอง Aluth Avurudda และสงกรานต์ จะมีคุณค่าความหมายเหมือนกันในมิติของการเริ่มต้นศักราชใหม่ บางทีชนชาวศรีลังกาคงได้มีโอกาสเริ่มสิ่งใหม่ๆ ที่ท้าทายไปในอนาคต และนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นของศักราชใหม่ที่เปลี่ยนโฉมศรีลังกาไปจากการรับรู้แบบเดิมอย่างแท้จริง