สุขภาพ การศึกษา และชุมชน เป็น 3 ขาหลักในการทำซีเอสอาร์ของบริษัท เอไอเอ ประเทศไทย จำกัด เริ่มต้นพัฒนามาจากพฤติกรรมตัวแทนในการติดตามดูแลลูกค้า แล้วนำเสนอเป็นไอเดียสู่การช่วยเหลือสังคมที่กว้างขึ้นจนเป็น 3 รูปแบบกิจกรรมที่บริษัทเลือกดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง
ปีนี้เอไอเอประเทศไทยอายุ 75 ปี เริ่มต้นทำซีเอสอาร์ยุคแรกๆ ด้วยการให้ทุน การศึกษากับเด็กตั้งแต่ประมาณ 40 ปีก่อน เริ่มจากให้โดยคัดเลือกกันเองผ่านตัวแทนในชุมชนต่างๆ ที่แนะนำมา ก่อนจะปรับเข้าสู่การส่งเสริมอย่างเป็นระบบ
“ตอนหลังเราจับมือกับมูลนิธินักเรียนขาดแคลนในพระบรมราชินูปถัมภ์ ให้มูลนิธิเป็นผู้คัดเลือกเด็ก ปีหนึ่ง 48 ทุน เป็นทุนแบบต่อเนื่องจนจบระดับมหาวิทยาลัย ก็หลายคน ตอนนี้มีเด็กที่จบโดยทุนเกิน 2,000 คน” สุทธิ รจิตรังสรรค์ รองประธาน อาวุโสฝ่ายบริหารกล่าว
ทำได้ประมาณ 10 ปี ก็เริ่มคิดทำซีเอสอาร์กับชุมชนโดยตรง ด้วยการบริจาค สร้างแท็งก์น้ำคอนกรีตสำหรับชุมชน เพื่อแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำกินน้ำใช้ในชุมชนที่ยังไม่ได้รับการพัฒนา เพราะน้ำเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับชีวิต ทำเรื่อยมาจนปัจจุบัน แต่เปลี่ยนรูปแบบแท็งก์ให้เหมาะสมตามยุคสมัย จากแท็งก์คอนกรีตที่เคลื่อนย้ายไม่ได้ดูแลรักษาความสะอาดยาก เปลี่ยนเป็นโอ่งดินปั้นขนาดใหญ่ และยุคล่าสุดคือถังไฟเบอร์ที่รักษาความสะอาดง่ายขึ้น
จนกระทั่งปี 2548 เอไอเอเริ่มมอง การทำซีเอสอาร์ที่ให้ประโยชน์กว้างขึ้น โดยพัฒนาผลลัพธ์ในแง่การศึกษาและชุมชนมารวมกัน บริษัทเริ่มให้การศึกษากับเด็กและชุมชนในรูปแบบของห้องสมุดโรงเรียน
“การให้ทุนก็ยังเดินหน้าอยู่ แต่มีโครงการห้องสมุดเอไอเอเพิ่มเข้ามา เพราะ มองว่าการมอบทุนเราไม่ได้ทำเอง กิจกรรม ส่วนที่เราทำเองก็น้อยไป เช่น แจกทุนการศึกษาให้เด็กเวลาไปทำกิจกรรมกับชุมชนเป็นครั้งคราว ผ่านไปเทอมหนึ่งก็หมดไป ที่หันมาเลือกทำห้องสมุดเพราะมองว่าโรงเรียนบางแห่งยังไม่มีห้องสมุด บางแห่งมีแต่ไม่ครบถ้วนในความเป็นห้องสมุดที่ดี และห้องสมุดก็เป็นรูปแบบที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาที่ให้ประโยชน์กับเด็กได้ทั่วถึงและ ใช้ประโยชน์ได้อย่างต่อเนื่อง” สุทธิกล่าว
เอไอเอจะสร้างตัวอาคารและจัดหนังสือให้รวมมูลค่าหลังละกว่าล้านบาท โรงเรียนที่มีโอกาสได้รับจะต้องเป็นโรงเรียน ที่ยังไม่มีห้องสมุดหรือห้องสมุดในรูปแบบที่ควรจะเป็นห้องสมุดจริงๆ และมีนักเรียน ตั้งแต่ระดับประถมถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3
ตัวโรงเรียนตั้งอยู่ในชุมชน
“พยายามกระจายไปทุกภาค จุดหนึ่งพอคัดเลือกโรงเรียนแล้วก็จะเจาะลึกดูว่าสถานที่ที่โรงเรียนจัดให้สร้างห้องสมุด ให้ชุมชนเข้าไปใช้ด้วยได้ไหม ถ้าได้ก็สอด คล้องกัน เด็กได้ ชุมชนได้ โครงสร้างหน้าตาห้องสมุดจะมีรูปแบบชัดเจน ข้างในก็จะตกแต่งให้พร้อมทั้งหนังสือและระบบการอ่านหนังสือเต็มรูปแบบ”
ห้องสมุดเอไอเอแห่งล่าสุดเป็นแห่งที่ 24 อยู่ที่โรงเรียนบ้านพรุดินนา อ.คลองท่อม จ.กรaะบี่ สุทธิบอกว่าจะเดินหน้าทำต่อไปเรื่อยๆ เหมือนโครงการส่วนใหญ่ที่คิดขึ้นแล้วก็ทำไปอย่างต่อเนื่อง ทุกครั้งที่เขาไปทำพิธีเปิดห้องสมุด ก็จะสัมผัสได้ถึงความรู้สึกของคนรับที่ประทับใจ อย่างที่โรงเรียนแห่งนี้ผู้อำนวยการโรงเรียน
ถึงกับออกปากว่าโรงเรียนไม่เคยได้รับงบจากทางการเป็นเงินก้อนโตสำหรับโครงการอะไรอย่างที่เอไอเอจัดทำห้องสมุดให้ และนักเรียนก็ไม่เคยมีห้องสมุดที่ดีอย่างนี้
“เราพยายามสนับสนุนให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้เหมือนกับเด็กในเมืองที่มีห้องสมุดดีๆ เพื่อกระตุ้นให้เขาเปลี่ยนจากเด็กที่มีความรู้แค่ในห้องเรียน ให้มีโอกาสเรียนรู้กว้างขึ้นโดยอาศัยการศึกษาของตัวเอง ฝึกการรักการอ่าน รักความก้าวหน้าในอนาคต”
สุทธิกล่าวด้วยว่า แม้วันนี้เอไอเอจะมีแนวทางซีเอสอาร์ที่เดินหน้าต่อเนื่องหลายเรื่องแต่กิจกรรมที่ถือว่าเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจประกันโดยตรงคือเรื่องสุขภาพ ซึ่งจะเน้นช่วยเหลือให้คนที่ได้รับการดูแลกลับมาอยู่ร่วมกับสังคมได้เหมือนคนปกติและมีผลต่อการพัฒนาคุณภาพชีวิต รวม ถึงสิ่งแวดล้อมชุมชนทางอ้อม เพราะถ้าคนในชุมชนมีโอกาส พัฒนาด้านการศึกษาก็จะส่งผลต่อการดูแลสังคมที่ดีขึ้นด้วย ซีเอสอาร์ด้านสุขภาพโครงการแรกชื่อเอไอเอ สร้างรอยยิ้ม เริ่มเมื่อปี 2547 ทำร่วมกับมูลนิธิสร้างยิ้ม เพื่อรักษาเด็กปากแหว่งเพดานโหว่ เริ่มต้นจาก 80 ราย ทำเรื่อยมาจนปัจจุบันรวมมีเด็กที่ได้รับการ ผ่าตัดไปแล้วจำนวน 1,762 ราย
โรคปากแหว่งเพดานโหว่เป็นโรคที่ยังไม่สามารถชี้ชัดว่าเกิดจากอะไร เอไอเอจึงเน้นให้ความช่วยเหลือโฟกัสทุกจังหวัดทั่วประเทศ โดยดูว่าพื้นที่นั้นมีโรงพยาบาล ที่มีหมอผ่าตัดเฉพาะทางไหม และมีความพร้อมของอุปกรณ์การผ่าตัดที่จะส่งเด็กไปรับการรักษาหรือไม่
ตอนหลังพบว่าโรคนี้เกิดค่อนข้างมากในภาคอีสาน สาเหตุที่พอสรุปได้คือเหตุจากกรรมพันธุ์และโภชนาการที่ไม่ถูกต้อง แม่ได้รับสารอาหารไม่เพียงพอขณะตั้งครรภ์ และภาคอีสานบางแห่งมีความเชื่อ ว่าเวลาท้องให้กินดิน แต่ไม่ว่าจะเกิดที่ไหน ที่เหมือนกันทุกที่คือเด็กที่เป็นจะมีปมด้อย ผู้ปกครอง ยิ่งทุกข์เพราะลูกมักจะถูกสังคมผลักออก พอทำให้เด็กกลับสู่สังคมได้ เด็กเหล่านั้น ก็กลายเป็นคนมองสิ่งแวดล้อมรอบตัวสวยงามเปลี่ยนไปจากเดิม
“ครั้งหนึ่งผมได้ไปทำกิจกรรมซ้ำที่ มีเด็กที่เคยได้รับการผ่าตัดจากโครงการขึ้นมาพูดขอบคุณ สิ่งที่ประทับใจคือชีวิตเขาเปลี่ยนไปจากเดิม กลาย เป็นเด็กที่มีความมั่นใจและได้เป็นหัวหน้าชั้น” จากนั้นเอไอเอเลือกต่อยอดกิจกรรมซีเอสอาร์ด้านสุขภาพอีกหนึ่งโครงการชื่อเอไอเอ เพื่อก้าวใหม่ชีวิตใหม่ ในปี 2552 เพิ่มอีกโครง การ เพื่อทำให้ชีวิตคนอีกกลุ่มสมบูรณ์ขึ้น เป็นโครงการมอบขาเทียมให้แก่ผู้พิการ ช่วงเวลา 2 ปีเศษที่ผ่านมา มีผู้รับมอบไปแล้ว 1,200 ขา และกลับไปเดินและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ในชีวิตได้เหมือนคนปกติ
ไม่ว่าเอไอเอจะขยายซีเอสอาร์ไปในแนวกว้างหรือลึกอย่างไร แต่ละกิจกรรมก็จะวนอยู่ใน 3 ขาที่มีอยู่ ในเรื่องสุขภาพ การศึกษา และชุมชน ซึ่งส่วนของชุมชนเป็นขอบเขตที่เปิด ช่องให้ทำกิจกรรมที่กว้างที่สุด เหมือนเช่นกรณี เกิดเหตุการณ์สึนามิเมื่อปี 2547 เอไอเอก็เลือก ที่คิดกิจกรรมพิเศษเพื่อช่วยเหลือเยียวยาชุมชน เพราะมองว่าเป็นเรื่องเร่งด่วนและเป็นรากฐานที่จะทำให้ชีวิตกลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว
“ตอนนั้นเราร่วมกับเอไอจีสร้างบ้านให้กับชาวบ้านในชุมชนที่ได้รับความเสียหายในจังหวัดต่างๆ 110 หลัง แต่ไม่ใช่มีเงินแล้วเอาไปสร้าง ตอนนั้นรัฐก็มีโครงการสร้างบ้านให้ชุมชน แต่ปัญหาที่เราพบคือคนในชุมชนไม่ยอมไปอยู่ในจุดที่รัฐสร้างให้ เพราะไม่ใช่ที่ทำกินหรือบ้านที่เคยอยู่เดิม เราก็ใช้วิธีให้ชุมชนช่วยกันสร้างบ้านกันเอง ทุกคนที่ได้รับต้องมาช่วยกันทำให้เสร็จทีละบ้านจนครบ กลายเป็นรูปแบบที่ช่วยสัมพันธ์กับชุมชนที่ดีและทำให้ชุมชนได้กลับมาอยู่ที่เดิมร่วมกันอีกครั้ง”
สุทธิสรุปภาพรวมซีเอสอาร์ของบริษัทว่าอาจจะดูหลากหลาย ถ้ามองจากมุมผู้บริโภค เขาก็อยากจะให้มองว่า เอไอเอมีความหลากหลายและทำให้ชุมชนต่างๆ รู้จักและพอใจเมื่อได้รับรู้ในสิ่งที่บริษัททำให้กับชุมชน ซึ่งจะทำให้เกิดเป็นการสร้างความผูกพันระหว่าง บริษัทกับสังคมในระยะยาว