วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > ดูดไอศกรีมแท่งแก้ปวดไมเกรน

ดูดไอศกรีมแท่งแก้ปวดไมเกรน

 
ทำไมรึ
 
เพราะอาการปวดศีรษะไมเกรนเกิดขึ้นจากการที่มีบางสิ่งบางอย่างไปกระตุ้นให้เส้นเลือดสมองขยายตัว แต่การทำให้เพดานปากได้สัมผัสกับความเย็น สามารถทำให้เส้นเลือดสมองที่ขยายตัวนั้น หดตัวกลับสู่สภาวะปกติได้ ดังนั้น การดูดไอศกรีมแท่งสัก 5 นาทีจึงช่วยให้หายปวดศีรษะได้
 
แม้จนถึงทุกวันนี้จะมีข้อพิสูจน์ที่ชัดเจนเกี่ยวกับประเด็นนี้น้อยมาก แต่คณะทำงานของโรงพยาบาลเพนริธ ประเทศอังกฤษ กำลังดำเนินรอยตามหลักการข้างต้นอย่างขมีขมัน ด้วยการยอมรับว่า พวกเขากำลังทดลองออกแบบผลิตยาที่เป็นสเปรย์เย็นฉีดเข้าสู่จมูกเพื่อให้ได้ผลอย่างเดียวกับการดูดไอศกรีมนั่นเอง
 
อยากคลายเครียดให้กินผักใบเขียว
 
เป็นที่รู้กันว่าแมกนีเซียมจัดเป็นยาคลายเครียดดั้งเดิมเลยก็ว่าได้ ผลการวิจัยระบุว่า ถ้าสมองของคุณขาดแมกนีเซียม จะส่งผลให้เซโรโทนิน (Serotonin) ลดระดับลงได้
 
Victoria O’Sullivan แพทย์นักธรรมชาติบำบัด กล่าวว่า “สมองจำเป็นต้องใช้แมกนีเซียมในการผลิตเซโรโทนิน ซึ่งเป็นสารเคมีในสมองที่ทำให้เรารู้สึกผ่อนคลาย ดังนั้น ถ้าคุณมีแมกนีเซียมในร่างกายต่ำ คุณจะรู้สึกเครียด”
 
การเพิ่มแมกนีเซียมในร่างกายทำได้ง่ายๆ ด้วยการบริโภคผักใบเขียวให้มากขึ้น รวมทั้งถั่วและถั่วเปลือกแข็งต่าง ๆ
 
ระหว่างลดน้ำหนักต้องกินโปรตีนเพิ่ม
ระหว่างการลดน้ำหนัก เรามักมีปัญหาอัตราการเผาผลาญต่ำลงและมวลกล้ามเนื้อลดลง วารสาร Journal of Nutrition จึงยืนยันผลการศึกษาของมหาวิทยาลัยมาสทริชท์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ว่า ระหว่างการลดน้ำหนัก การบริโภคโปรตีนเพิ่มขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นอย่างมาก เพื่อรักษาอัตราการเผาผลาญให้อยู่ในระดับปกติ
 
การศึกษาทำโดยให้ผู้ใหญ่อายุระหว่าง 18–80 ปีที่มีน้ำหนักตัวเกิน บริโภคอาหารที่ให้พลังงานต่ำนาน 6 เดือน โดยครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างบริโภคโปรตีน 0.8 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน (เป็นการบริโภคโปรตีนในปริมาณปกติ) และอีกครึ่งหนึ่งของกลุ่มตัวอย่างบริโภคโปรตีน 1.2 กรัมต่อน้ำหนักตัวหนึ่งกิโลกรัมต่อวัน (เป็นการบริโภคโปรตีนในปริมาณสูง) หลังจากนั้น 6 เดือน กลุ่มตัวอย่างที่บริโภคโปรตีนปริมาณสูงมีมวลกล้ามเนื้อแข็งแกร่งเพราะไขมันลดลง มีอัตราการเผาผลาญพลังงานในระดับสูงสุด และความดันโลหิตขณะหัวใจคลายตัวหรือความดันโลหิตตัวล่างลดลงอยู่ในระดับต่ำสุด
 
เต้นซุมบาเผาผลาญได้ 10 แคลอรีต่อนาที
ซุมบาเป็นโปรแกรมการออกกำลังกายที่รวมเอาการเต้นละติน การออกกำลังกายแอโรบิก และการออกกำลังกายที่ไม่ใช่การยกน้ำหนัก เช่น lunges and squats ไว้ด้วยกัน ตอนนี้สโมสรสุขภาพในทั่วโลกกว่า 110,000 แห่งพากันให้บริการชั้นเรียนเต้นซุมบาอย่างจริงจัง
 
John Porcari และคณะจากมหาวิทยาลัยวิสคอนซิน–ลา ครอส พบว่าซุมบาให้ทั้งความสนุกสนานและประสิทธิภาพการเผาผลาญสูงในเวลาเดียวกัน ทำให้สามารถเผาผลาญพลังงานได้ร่วม 10 แคลอรีต่อนาที และเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจขึ้นไปอยู่ที่ระหว่าง 140–184 ครั้งต่อนาทีตลอดชั้นเรียนซุมบานาน 50 นาที จึงช่วยให้ร่างกายแข็งแกร่งขึ้นและควบคุมน้ำหนักตัวได้ดีขึ้น
 
เข้านอนหลังอาหารเย็น 1 ชั่วโมง
นักวิจัยของประเทศกรีซกล่าวว่า คุณสามารถลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคหลอดเลือดสมองได้ถึงสองในสาม เพียงทิ้งช่วงอย่างน้อย 1 ชั่วโมงหลังอาหารเย็นแล้วจึงเข้านอน และลดความเสี่ยงเพิ่มอีกร้อยละ 10 ถ้าคุณอยู่ในภาวะตื่นได้อีกทุกๆ 20 นาทีหลังจากนั้น
 
การเข้านอนหลังรับประทานอาหารเย็นเร็วเกินไป เชื่อมโยงกับการเพิ่มความเสี่ยงจากอาการแสบร้อนกลางอก ซึ่งเป็นสาเหตุของภาวะหยุดหายใจขณะหลับ (sleep apnoea) ที่เป็นปัจจัยเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดสมอง
 
ออกกำลังกาย–ทำสมาธิจะเป็นหวัดน้อยลง
โรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจได้ชื่อว่าเป็นการเจ็บป่วยที่สิ้นเปลืองค่ารักษาพยาบาลมากที่สุดในอเมริกา โดยแต่ละปีต้องเสียเงินทั้งทางตรงและทางอ้อมถึงกว่า 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ
 
Nancy Selfridge จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยรอสส์พบว่า การออกกำลังกายปานกลางร่วมกับการนั่งสมาธิเป็นเวลา 8 สัปดาห์ติดต่อกัน สามารถลดอาการหวัดได้ร้อยละ 29 และลดระยะเวลาการป่วยเพราะหวัดได้ร้อยละ 43 จึงสรุปได้ว่า การรักษาสุขภาพกายและสุขภาพจิตให้ดีขึ้น สามารถป้องกันความเสี่ยงจากโรคติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจ
 
ออกกำลังกายตอนท้องว่าง
เผาผลาญไขมันได้ 24 ชั่วโมง
ผู้ที่เผาผลาญหลังงานได้ราว 10–15 แคลอรีต่อนาทีในระหว่างการออกกำลังกายแบบแอโรบิก จะสามารถเผาผลาญพลังงานเพิ่มได้อีกในช่วงหลังออกกำลังกายเสร็จแล้ว ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระยะเวลาและความหนักหน่วง นักวิจัยญี่ปุ่นพบว่า การเผาผลาญไขมัน 24 ชั่วโมงจะทำได้ดีกว่าหากออกกำลังกายตอนท้องว่าง ไม่ใช่ออกกำลังกายหลังอาหาร เพราะเมื่อร่างกายต้องพะวงกับการย่อยอาหาร ทำให้การเผาผลาญพลังงานตลอด 24 ชั่วโมงไม่มีประสิทธิภาพ
 
นอนน้อยจะอ้วนลงพุง
ศูนย์ศึกษาสุขอนามัยฮิตาชิของญี่ปุ่นพบว่า ผู้ที่นอนน้อยมีค่าดัชนีมวลกาย รอบเอว และไขมันมากกว่าผู้ที่นอนคืนละ 7–9 ชั่วโมง โดยพวกเขาทำซีทีสแกนเพื่อวัดปริมาณไขมันในช่องท้องและไขมันตามอวัยวะต่างๆ อย่างละเอียด ทั้งนี้ ไม่คำนึงถึงอายุ กิจกรรมทางกายภาพ การสูบบุหรี่ การดื่ม หรือสุขภาพแต่อย่างใด 
 
พวกเขาสรุปว่า การนอนน้อยสัมพันธ์กับไขมันรวมในร่างกาย และไขมันในช่องท้องในผู้ชายชาวญี่ปุ่น แม้จะมีผลการศึกษามากมายเชื่อมโยงการนอนน้อยกับโรคอ้วน แต่นักวิทยาศาสตร์ยังไม่สามารถให้คำอธิบายที่แน่ชัดว่าทำไม   
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth, นิตยสาร Fitness Rx
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว