วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > MONO Shop การพัฒนา SMEs แบบญี่ปุ่น

MONO Shop การพัฒนา SMEs แบบญี่ปุ่น

 
หากกล่าวถึงต้นแบบการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือที่เรียกขานอย่างติดปากว่า SMEs ที่ประสบความสำเร็จ เชื่อว่าคงไม่มีประเทศใดจะเป็นตัวอย่างได้ดีไปกว่าญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นกรณีศึกษาที่น่าสนใจและได้ถ่ายทอดเทคนิควิธีและองค์ความรู้ในการบริหารจัดการให้กับอีกหลายประเทศ รวมถึงประเทศไทยให้จำเริญรอยตามด้วย
 
สาเหตุหนึ่งที่ทำให้พัฒนาการของ SMEs ในแบบญี่ปุ่นได้รับความสนใจเป็นเพราะ SMEs ญี่ปุ่นกลายเป็นกลไกสำคัญที่รองรับและเติมเต็มจักรกลทางเศรษฐกิจของญี่ปุ่นให้เคลื่อนที่ไปอย่างมีพลวัต และรังสรรค์ประโยชน์ในทุกระนาบของกระบวนการผลิต และขยายผลต่อเนื่องกับกระบวนการพัฒนาเศรษฐกิจระดับชุมชนท้องถิ่น ที่ถูกนำมาปรับใช้เป็น OTOP หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ในประเทศไทยด้วย
 
ล่าสุด สภาหอการค้าญี่ปุ่น (Shokokai: โชโคไก) ได้พัฒนาความคิดต่อยอดพัฒนาการดังกล่าวด้วยการหนุนนำผู้ประกอบการ SMEs ให้รุกออกสู่ตลาดต่างประเทศ ด้วยการเปิดตัว MONO Shop เพื่อพัฒนาช่องทางการค้าระหว่างไทย-ญี่ปุ่น จัดจำหน่ายของดีจาก 47 จังหวัดของประเทศญี่ปุ่น ทั้งอาหาร เครื่องใช้ เครื่องเขียน อุปกรณ์ตกแต่ง และอีกมากมายกว่า 800 ชนิด บนพื้นที่ชั้น 5 โซนเอเทรียม ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวิลด์
 
โมโน ช็อป (MONO SHOP) เป็นโครงการที่ริเริ่มโดยสภาหอการค้าญี่ปุ่น โดยได้รับแรงบันดาลใจในการสร้างจากร้านต้นแบบจากประเภทร้านค้าที่เรียกว่า Antenna Shop ในประเทศญี่ปุ่น ซึ่งร้าน Antenna Shop เป็นร้านค้าที่จะช่วยกระจายสินค้าของผู้ประกอบการขนาดเล็กในจังหวัดต่างๆ ที่ไม่สามารถใช้ช่องทางกระจายสินค้าขนาดใหญ่เพื่อนำสินค้ามาจำหน่ายในกรุงโตเกียวและเขตใกล้เคียง นอกจากนี้ยังมีการให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาช่องทางการค้าต่างๆ อีกด้วย
 
การเปิดตัวร้าน MONO Shop ในประเทศไทยเป็นผลพวงที่สืบเนื่องมาจากการที่ประเสริฐ บุญชัยสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เดินทางเยือนประเทศญี่ปุ่นเพื่อหารือกับโยชิฟูมิ อิชิซาวา ประธานสภาอุตสาหกรรมประเทศญี่ปุ่น เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลและความคิดเห็นเกี่ยวกับการพัฒนาช่องทางการค้า และส่งเสริมเศรษฐกิจท้องถิ่นของทั้งสองประเทศ เมื่อปีที่ผ่านมา 
 
และการที่ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย ได้เดินทางไปดูงานที่ร้าน Antenna Shop ชื่อ Muraka Machikara kan ที่บริหารจัดการโดยหอการค้าญี่ปุ่น ณ ย่านยูรัคโจ กรุงโตเกียว และได้มีการจัดงาน Thai Fair ภายในร้านเพื่อจัดจำหน่ายสินค้าประเภทอาหารและงานฝีมือของไทยระหว่างนั้นอีกด้วย
 
ฮานาโอกะ ฮิโรชิ ตัวแทนโครงการ MONO Shop จากทางญี่ปุ่นระบุว่า MONO SHOP ในกรุงเทพฯ เกิดขึ้นภายใต้แนวคิดเพื่อสนับสนุน เชื่อมโยง และพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) ของญี่ปุ่นที่ต้องการจำหน่ายสินค้าในประเทศไทย โดยเป็นช่องทางการขายสินค้าและเป็นตัวกลางเชื่อมโยงวัฒนธรรมของญี่ปุ่นที่แท้จริงกับสังคมผู้บริโภคชาวไทย 
 
ขณะเดียวกันยังมีการทำวิจัยตลาดกับผู้บริโภคและผู้ประกอบการนำเข้าค้าปลีก-ส่งของไทย ผ่านหน้าร้านและการร่วมงานแสดงสินค้าต่างๆ เพื่อนำไปพัฒนาสินค้าให้เหมาะกับตลาดของประเทศไทย และเพื่อวางแผนดำเนินธุรกิจกับภูมิภาคอาเซียนซึ่งมีความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง
 
หากประเมินในมิติที่ว่านี้ การเกิดขึ้นของ MONO Shop จึงมิได้เป็นเพียงการเกิดขึ้นของ outlet ผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่นเท่านั้น หากยังหมายถึงวิถีและกระบวนการที่ครบวงจรของการผลิตและคิดสร้างประโยชน์จากทรัพยากรและคุณลักษณะที่โดดเด่นจากแต่ละพื้นที่มาสร้างให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ ที่น่าสนใจติดตามอย่างยิ่ง
 
กันตธร วรรณวสุ กรรมการผู้จัดการ บริษัท เมดิเอเตอร์ จำกัด ตัวแทนผู้ดำเนินงานร้านโมโน ช็อป ในประเทศไทย กล่าวว่า โครงการ MONO SHOP จัดตั้งขึ้นเพื่อมุ่งเน้นในการบุกตลาดใหม่ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะประเทศไทยซึ่งถือว่าเป็นตลาดที่สำคัญในอาเซียน 
 
“เราได้ทำการสำรวจตลาดเพื่อจัดหาสินค้าและเลือกทำเลการจัดตั้งร้านที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมายในประเทศไทย นอกจากนี้เรายังมีการจัดกิจกรรมการตลาดเพื่อส่งเสริมผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่างต่อเนื่อง เช่น การออกงานแฟร์ จัดเทศกาลราเม็ง ร่วมงานกับผู้เชี่ยวชาญด้านการแต่งหน้าเพื่อโปรโมตสินค้ากลุ่มความสวยความงาม และเร็วๆ นี้ เราจะมีการจัดงานโมโน ช็อป เอ็กซ์โป ในกลางปีนี้ เพื่อเปิดตัวสินค้าเข้าสู่กลุ่มเป้าหมายให้มากยิ่งขึ้น นอกจากนี้เรายังให้ความสำคัญในการถ่ายทอดข้อมูล วัฒนธรรมญี่ปุ่น ที่ชัดเจนเพื่อประโยชน์ต่อความก้าวหน้าทางธุรกิจในอนาคตด้วยเช่นกัน”
 
โดย MONO SHOP เป็นชื่อที่มีความหมายแอบแฝงอยู่ในทุกตัวอักษร โดยตัว ‘M’ นั่นหมายถึงงานของช่างฝีมือ ตัว ‘O’ หมายถึงการต้อนรับอย่างมีน้ำใจไมตรี ตัว ‘N’ หมายถึงประเทศญี่ปุ่น และ ตัว ‘O’ ตัวสุดท้ายนั่นเหมือนเป็นการตบท้ายว่าผู้บริโภคจะได้รับความเพลิดเพลินไปกับการเลือกซื้อหาสินค้าและใช้บริการกับทางร้าน
 
แม้ว่า MONO Shop อาจไม่ได้มีขนาดใหญ่โต เมื่อเทียบกับธุรกิจอุตสาหกรรมจากญี่ปุ่นที่ลงหลักปักฐานอยู่ในประเทศไทย และภูมิภาคอาเซียนมาอย่างมั่นคงในช่วงเวลาที่ยาวนานก่อนหน้านี้ แต่การรุกคืบของธุรกิจ SMEs จากญี่ปุ่นในครั้งนี้ กำลังเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนภาพรวมที่ต่อเนื่องจากแนวความคิด Abenomics และความพยายามที่จะเน้นย้ำและสร้างอัตลักษณ์ผลิตภัณฑ์จากญี่ปุ่น
 
ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจุดเด่นและอาวุธลับ ที่พร้อมจะนำพาธุรกิจญี่ปุ่นให้กลับมาเป็นดาวจรัสแสงในโลกธุรกิจอีกครั้ง และน่าจะเป็นกรณีศึกษาสำหรับผู้ประกอบการในประเทศไทยที่กำลังพยายามหาทางออกจากวังวนของวิกฤตความชะงักงันทางเศรษฐกิจการเมืองนี้ไม่น้อยเลย