คุณอาจโทษการเดินทางไปทำงานทุกวัน โทษวิถีชีวิตที่มีแต่ความเครียด หรือไม่ก็โทษไวน์ที่คุณดื่มเกินพอดีไปแก้วหนึ่งเมื่อคืนวันศุกร์ แต่ความจริงคือ สภาพแวดล้อมภายในบ้านต่างหาก ที่เป็นสาเหตุให้คุณปวดศีรษะ
ไม่ว่าแสงจ้า กลิ่นเหม็นฉุน หรือมลพิษในบ้าน ล้วนเป็นสาเหตุร่วมของอาการปวดศีรษะ และจู่โจมเข้าโจมตีคุณได้ทุกหนแห่ง ไม่ว่าคุณจะอยู่ตรงบริเวณใดของบ้าน แต่คุณมีวิธีง่ายๆ ในการช่วยทำให้บ้านเป็นเขตปลอดอาการปวดศีรษะได้เหมือนกัน
ทำให้อากาศถ่ายเท
ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณเป็นคนสะอาดมากหรือไม่ แต่อยู่ที่อากาศภายในบ้านมีมลภาวะสูงกว่าอากาศนอกบ้าน สารเคมีในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาด เครื่องเรือน รวมทั้งพรมปูพื้น ล้วนก่อให้เกิดแก๊สที่ทำให้ปวดศีรษะได้ ท่อแอร์ของเครื่องปรับอากาศอาจทำให้บ้านของคุณเย็นสบายในหน้าร้อน แต่นั่นไม่ได้หมายถึงอากาศที่บริสุทธิ์สะอาดเสมอไป
Jerome Dixon ผู้ก่อตั้ง headache.com.au อธิบายว่า สารอินทรีย์ระเหยง่าย (volatile organic compounds หรือ VOCs) ได้ชื่อว่าเป็นตัวการสำคัญที่ก่อให้เกิดอาการปวดศีรษะ น้ำหอมปรับอากาศที่คุณฉีดภายในบ้านเพื่อให้มีกลิ่นหอมสดชื่นนั้น เต็มไปด้วย VOCs และเป็นผลเสียมากกว่าผลดีต่อสุขภาพของคุณ โดยเฉพาะเมื่อคุณเป็นคนปวดศีรษะง่าย
“กลิ่นเหม็นฉุนเป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะได้ แต่การพยายามดับกลิ่นในห้องด้วยน้ำหอมดับกลิ่นหรือน้ำหอมปรับอากาศ ยิ่งเป็นการเพิ่มสารกระตุ้นให้มากขึ้นเป็นสองเท่า”
วิธีลดสารกระตุ้นในบ้าน
ถ้ากลิ่นฉุนทำให้คุณปวดศีรษะ ให้กำจัดกลิ่นนั้นแทนการหาสารอื่นมาดับกลิ่น เช่น ติดตั้งพัดลมดูดอากาศเหนือเตาไฟที่คุณประกอบอาหาร
ทำให้บ้านเย็นสบายด้วยการเปิดพัดลมหรือเปิดหน้าต่างให้มีลมธรรมชาติพัดเข้ามา
เปิดประตูและหน้าต่างให้อากาศในบ้านไหลเวียนถ่ายเทได้สะดวก และทำให้มลพิษในบ้านลดลงได้อย่างชะงัด
ล้างทำความสะอาดแผ่นกรองของเครื่องปรับอากาศปีละสองครั้ง
จัดพื้นที่เทคโนโลยีเสียใหม่
การจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน เป็นสาเหตุให้คุณปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะถ้าคุณต้องจ้องหน้าจอวันละหลายๆ ชั่วโมง
Glen Smith ผู้เชี่ยวชาญด้านการยศาสตร์ (ergonomist) แห่งกรุงเมลเบิร์น, ออสเตรเลีย อธิบายว่า “การที่คนทำงานที่บ้านมากขึ้น ยิ่งทำให้การสร้างสภาพแวดล้อมของการทำงานที่บ้านให้ดีขึ้นเป็นสิ่งจำเป็นมากขึ้น”
ท่านั่งเป็นประเด็นสำคัญของผู้มีปัญหาปวดศีรษะเช่นกัน โดยเฉพาะท่านั่งที่ทำให้คุณต้องเงยหน้าหรือเอียงคอ หรือห่อไหล่ “ที่คุณปวดศีรษะจากท่านั่งเหล่านี้เพราะต้องเกร็งกล้ามเนื้อคอเป็นเวลานานนั่นเอง” Smith สรุป
ปรับสภาพแวดล้อมในที่ทำงานป้องกันการปวดศีรษะ
ปรับเก้าอี้นั่งให้ที่นั่งโน้มมาข้างหน้าเล็กน้อย เพื่อสอดคล้องกับแนวโค้งตามธรรมชาติในกระดูกสันหลัง
ส่วนบนสุดของจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ตรงระดับสายตาพอดี และเมื่อพิมพ์งาน โดยแขนทั้งสองข้างกางออกจากลำตัว ข้อศอกไม่ควรวางบนโต๊ะ แต่ให้เคลื่อนไหวอย่างอิสระ วิธีนี้ป้องกันไม่ให้คุณหลังค่อมขณะพิมพ์งาน
กำจัดสารก่อภูมิแพ้
Peter Smith ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคภูมิแพ้ (allergist) แห่งควีนส์แลนด์, ออสเตรเลีย กล่าวว่า ภาวะอักเสบจากการสัมผัสสารก่อภูมิแพ้ในบ้านของคุณ สามารถกระตุ้นเส้นประสาทสมอง (trigeminal nerve) ในสมอง และทำให้ปวดศีรษะอย่างรุนแรงได้
ไรฝุ่น ควันบุหรี่ น้ำหอม อากาศเย็นจากระบบเครื่องปรับอากาศ สีและกาวบางชนิดที่ใช้ในการผลิตพรมและเฟอร์นิเจอร์ ล้วนทำให้คนเป็นโรคภูมิแพ้ปวดศีรษะได้ “ไม่น่าเชื่อว่าสำหรับบางคน เชื้อราก็ทำให้ปวดศีรษะได้”
วิธีลดอาการปวดศีรษะจากโรคภูมิแพ้
ใช้ผ้าปูที่นอนและปลอกหมอนป้องกันสารก่อภูมิแพ้ และซักเครื่องนอนในน้ำร้อนเป็นประจำ
ใช้พรมขนสั้น และดูดฝุ่นอย่างน้อยสัปดาห์ละครั้ง
ติดตั้งผ้าม่านหน้าต่างที่ซักได้ง่าย หรือไม่ก็ใช้บานหน้าต่างทำด้วยไม้ที่ปิดภายนอกกระจก ทำให้ไม่จำเป็นต้องใช้ผ้าม่านหน้าต่างภายในบ้านอีก
จัดห้องนอนและห้องนั่งเล่นให้โปร่งโล่งไม่รกรุงรัง เพื่อลดปริมาณฝุ่น ห้องนอนที่สงบและเป็นระเบียบ ยังทำให้คุณใช้เป็นพื้นที่หลบจากความเครียดที่เป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะได้
ทำความสะอาดห้องน้ำและครัวให้ปราศจากเชื้อรา โดยทำความสะอาดด้วยน้ำส้มสายชูและโซดาไบคาร์บอเนต
ไม่ปลูกต้นไม้ในร่มที่อาจเป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะ เช่น มะลิ การ์ดิเนีย โดยเฉพาะต้นกระวาน California bay laurel หรือที่รู้จักกันว่า “ต้นปวดหัว” เพราะกระตุ้นตัวรับเส้นประสาทสมองที่ทำให้ปวดศีรษะ
อย่าให้สูบบุหรี่ในบ้านหรือบริเวณใกล้บ้าน
เมื่อซื้อเครื่องเรือนใหม่ ให้ถามอัตรา VOCs และเลือกเครื่องเรือนที่มี VOCs ต่ำเสมอ
แสง
แสงไฟสว่างจ้าเหนือศีรษะเป็นตัวการให้ปวดศีรษะ เช่น หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ที่ให้แสงไม่สม่ำเสมอจนเหมือนมีการกะพริบถี่ๆ อย่างอ่อนๆอยู่ตลอดเวลา Peter Smith ระบุว่า แม้แสงสว่างตามธรรมชาติในเวลากลางวันยังทำให้ปวดศีรษะได้ โดยเฉพาะหากจ้องมองดวงอาทิตย์ นอกจากจะปวดศีรษะแล้วยังปวดไมเกรนด้วย
ตำแหน่งที่ตั้งของโต๊ะหรือเก้าอี้ก็เป็นสาเหตุให้ปวดศีรษะได้ แม้ไม่ได้จัดให้หันหน้าออกไปทางหน้าต่างโดยตรงก็ตาม “บางคนนั่งในตำแหน่งที่แสงแดดเข้าตาข้างเดียว ทำให้ปวดศีรษะข้างเดียวได้”
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว