วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Life > เส้นผมเปลี่ยนเพราะยา?

เส้นผมเปลี่ยนเพราะยา?

 
การใช้ยาบางชนิดทำให้เส้นผมของคุณเปลี่ยนไป อาจเกิดผมหยิก ผมร่วง ผมบาง  หรือแม้แต่ผมเปลี่ยนสี ผมร่วงหรือผมบาง
 
การเปลี่ยนแปลงในเส้นผมหรือผมร่วง เป็นผลข้างเคียงจากการใช้ยาหลายประเภท โดยบางประเภทก่อให้เกิดปัญหามากกว่าประเภทอื่น David Salinger กรรมการบริหารของสมาคมผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผมระหว่างประเทศ ระบุว่า ยาที่ก่อให้เกิดผลดังกล่าว ได้แก่ ยาละลายลิ่มเลือด (เช่น wafarin, heparin) ยาลดระดับไขมันในเลือด ยารักษามะเร็ง ยาลดความดันโลหิตสูงบางกลุ่ม (โดยเฉพาะกลุ่มเตา–บล็อกเกอร์) และกลุ่มอนุพันธ์วิตามินเอ (retinoids)
 
ยาที่ทำให้เส้นผมเปลี่ยนแปลงยังรวมถึงยาเม็ดคุมกำเนิด ยารักษาโรคลมชัก ยารักษาอาการซึมเศร้า และยาต้านอาการทางจิต
 
นอกจากนี้ ผลการศึกษายังเชื่อมโยงว่า ยาระงับปวด ibuprofen มีผลให้ผมร่วงและผมบาง แต่จัดเป็นผลข้างเคียงจากยาที่เกิดขึ้นน้อยมาก และผมสามารถกลับคืนสู่ภาวะปกติได้เมื่อไม่ได้รับยาตัวนี้ หรือใช้ยาต้านอาการอักเสบตัวอื่นแทน
 
Dr.Michael Rich แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนังแห่งกรุงเมลเบิร์นเชื่อมโยงอาการผมร่วงและผมบางกับการใช้ยารักษาโรคเกาต์ โรคสะเก็ดเงิน โรคข้อรูมาตอยด์ โรคพาร์กินสัน โรคหัวใจเต้นผิดปกติ และอาการแสบร้อนกลางอก
 
ใครคือกลุ่มเสี่ยง
Dr.Rich ระบุว่า “ผู้หญิงมีความเสี่ยงสูงกว่าผู้ชายมาก อาการผมร่วงอาจมีตั้งแต่ผมร่วงเป็นกระจุก ร่วงทั่วทั้งศีรษะ ไปจนถึงล้านทั้งศีรษะ บางครั้งจะเกิดผลข้างเคียงต่อเม็ดสีของเส้นผมเท่านั้น ทำให้กลายเป็นคนมีผมสีเทาและผมขาวไปเลย นี่อาจเป็นการอธิบายปรากฏการณ์ที่ว่า จู่ๆ ผมของคุณเปลี่ยนเป็นสีเทาได้ในชั่วข้ามคืน !!”
 
ผมเริ่มร่วงเมื่อไร
Dr.Rich อธิบายว่า “ยาแต่ละประเภทส่งผลให้ผมเริ่มร่วงไม่เท่ากัน กล่าวโดยทั่วไป ยาประเภทที่มีความเป็นพิษสูงต่อร่างกายของผู้ที่สัมผัสยา (cytotoxic) ซึ่งใช้ในการรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด ทำให้ผมเริ่มร่วงประมาณ 2 ถึง 3 สัปดาห์หลังการเริ่มรักษา ขณะที่ยาละลายลิ่มเลือด หรือยาเม็ดคุมกำเนิด หรือยารักษาอาการซึมเศร้า อาจทำให้ผมร่วงหลังเริ่มรักษาไปแล้ว 2 ถึง 5 เดือน”
 
Salinger กล่าวว่าที่เป็นเช่นนี้เพราะความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นหลังจากร่างกายได้รับยาแล้ว เป็นสาเหตุให้เส้นผมที่กำลังงอกใหม่ที่อยู่ในขึ้น “ระยะเจริญเติบโต” (anagen stage) เปลี่ยนสภาพไปสู่ขั้น “ระยะเส้นผมหยุดการเจริญเติบโต” (telogen stage) โดย “เส้นผมจะอยู่ในระยะหยุดการเจริญเติบโตนี้นานประมาณ 3 เดือนก่อนร่วงจากนหนังศีรษะ แล้วจึงมีผมใหม่งอกขึ้นมาแทนที่”
 
ผมงอกเมื่อไรหลังเคมีบำบัด
Dr.Rich ให้คำตอบว่า “ถ้าคุณมีหนังศีรษะปกติ อาการผมร่วงจะคืนสู่ภาวะปกติภายในหนึ่งถึงหกเดือนหลังหยุดการรักษาด้วยเคมีบำบัด” ผมที่งอกใหม่อาจมีลักษณะเส้นผมหรือสีผมเปลี่ยนไป แต่มักเกิดขึ้นชั่วคราวเท่านั้น
 
ยาเม็ดคุมกำเนิดทำให้ผมร่วงจริงไหม
Salinger อธิบายว่า “บางครั้งยาเม็ดคุมกำเนิดก็ทำให้ผมร่วงได้ แต่โดยทั่วไปแล้ว อาการผมร่วงจะเกิดขึ้นกับผู้ที่มียีนผมบางบริเวณส่วนหน้าหรือส่วนบนของหนังศีรษะ ดังนั้น ถ้าคุณมียีนผมบางแบบพันธุกรรมแล้ว การรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิดย่อมมีผลทำให้ผมร่วง แต่ปัจจุบันมียาเม็ดคุมกำเนิดที่ไม่เร่งให้เกิดผมร่วงในผู้มียีนผมบางแบบพันธุกรรมแล้ว เช่น Qlaira, Zoely, Yasmin และ Yaz”
 
ยาบางตัวทำให้ผมหยิกจริงหรือไม่
คำอธิบายจาก Salinger คือ “ฮอร์โมนเพศมีอิทธิพลสูงมากต่อการทำให้ผมหยิก นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมจึงเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นเมื่อเริ่มหรือหยุดรับประทานยาเม็ดคุมกำเนิด ยารักษามะเร็งบางตัวมีผลต่อการหยิกของเส้นผมเช่นกัน เพราะเข้าไปรบกวนกระบวนการที่ทำให้เส้นผมเหยียดตรงหรือหยิกตามธรรมชาติ”
 
ยาทำให้ผมเปลี่ยนสีได้ไหม
Salinger ระบุว่า “ยาบางประเภททำให้ผมเปลี่ยนสีได้ คนไข้ของผมคนหนึ่งรับประทานยา L –dopa รักษาโรคพาร์กินสัน เธอสังเกตเห็นว่า เส้นผมของเธอมีสีเข้มขึ้น เพราะยาทำให้ร่างกายผลิตเม็ดสีของเส้นผมเพิ่มขึ้นนั่นเอง ส่วนคนไข้อีกคนหนึ่งรับประทานยาซูนิทินิบ (sunitinib) รักษาโรคมะเร็ง เธอสังเกตเห็นว่า สีผมของเธอจางลงมาก นั่นเป็นเพราะยาเข้าไปรบกวนให้ร่างกายผลิตเม็ดสีน้อยลง โดยยาที่มีผลทำให้สีผมเปลี่ยนไป มักเข้าไปรบกวนกระบวนการผลิตเม็ดสีของเส้นผมโดยตรง”
 
ผมร่วงเท่าไรจึงถือว่ามากเกินไป
Dr.Rich แนะนำว่า “รีบไปพบแพทย์ หรือแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านเส้นผม ถ้าคุณมีผมร่วงวันละหลายร้อยเส้น ถ้าคุณมีผมร่วงมากขึ้นอย่างฉับพลัน หรือผมบางลงอย่างเห็นได้ชัด หรือมีหย่อมหัวล้านเพิ่มมากกว่าเดิม พึงระลึกไว้ด้วยว่า ยาไม่ได้เป็นสาเหตุเดียวที่ทำให้ผมร่วง การอดอาหาร ภาวะทุพโภชนาการ ภาวะบาดเจ็บ ความเครียดทางจิตใจ ภาวะต้องรักษาโรคเรื้อรัง โรคเชื้อรา ภาวะหลังตั้งครรภ์ เพศ อายุ และปัจจัยด้านพันธุกรรม ล้วนเป็นสาเหตุให้เกิดผมร่วงได้ทั้งสิ้น”
 
ที่มา: นิตยสาร GoodHealth  
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว