วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ร้านอาหารญี่ปุ่น เร่งเกมรุกบุกตลาดไทย

ร้านอาหารญี่ปุ่น เร่งเกมรุกบุกตลาดไทย

 
มูลค่าตลาดรวมกว่า 1.7 หมื่นล้านบาท จากปีที่แล้ว และมีอัตราเติบโตอย่างต่อเนื่องเฉลี่ยปีละ 10-15% ต่อปี ท่ามกลางกระแสการแข่งขันจากบรรดาค่ายผู้ประกอบการต่างๆ ที่เล็งเห็นเทรนด์นิยมการบริโภคอาหารญี่ปุ่นในประเทศไทย ที่มีการเติบโตสูงขึ้นเรื่อยๆ       
 
ในขณะที่ค่ายบริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด หรือซีอาร์จี ในกลุ่มเซ็นทรัล หนึ่งในผู้นำธุรกิจอาหาร QSR (Quick Service Restaurants) ซึ่งปัจจุบันเป็นเจ้าของแบรนด์อาหารญี่ปุ่นมากมาย ทั้งแบรนด์ที่สร้างขึ้นเอง และได้สิทธิ์แฟรนไชส์จากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นเปปเปอร์ ลันช์ (Pepper Lunch) สเต๊กสไตล์ญี่ปุ่น ชาบูตง (Chabuton) ร้านราเมง ริว ชาบู ชาบู (RYU Shabu Shabu) ร้านชาบู ชาบู สไตล์ญี่ปุ่น โยชิโนยะ (YOSHINOYA) ข้าวหน้าญี่ปุ่น โอโตยะ (OOTOYA) ร้านอาหารญี่ปุ่น 
               
ล่าสุดซีอาร์จีได้ซื้อไลเซนส์แฟรนไชส์ร้านเทนยะ จากบริษัท เทน คอร์ปอเรชั่น จำกัด ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งเป็นบริษัทในเครือรอยัลโฮลดิ้ง ผู้ประกอบการร้านอาหารรายใหญ่ พร้อมเปิดตัวร้านข้าวหน้าเทมปุระ แบรนด์ “เทนยะ” (TENYA) แบรนด์ที่มีชื่อเสียงและเป็นที่รู้จักกันแพร่หลายในญี่ปุ่น หวังจับกลุ่มลูกค้าคนทำงานที่นิยมชมชอบทานอาหารนอกบ้าน และพวกชอบลิ้มลองความอร่อย เป็นกลุ่มหลัก และรวมถึงกลุ่มครอบครัวอีกด้วย
 
ธีระเดช จิราธิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัด เปิดเผยว่า ประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกที่ญี่ปุ่นได้ขยายตลาดสู่ต่างประเทศ ทั้งนี้ จากอัตราการท่องเที่ยวของชาวไทยในญี่ปุ่นที่มีมากขึ้นทุกปี ผู้บริโภคชาวไทยจำนวนไม่น้อย มีโอกาสได้สัมผัสรสชาติอาหารญี่ปุ่นแท้ๆ มากขึ้น ทำให้ผู้บริโภคเริ่มมองหาอาหารญี่ปุ่นที่เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะในแต่ละประเภทมากขึ้น เพราะเชื่อว่ารสชาติต้องอร่อย เนื่องเพราะปรุงจากผู้เชี่ยวชาญ  ขณะที่แบรนด์เทนยะเป็นแบรนด์อาหารญี่ปุ่นที่มีชื่อเสียงด้านข้าวหน้าเทมปุระ โดยได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่ง จากชาวญี่ปุ่น จึงมั่นใจว่าการนำแบรนด์นี้เข้ามาจะตอบโจทย์กลุ่มลูกค้าที่นิยมชมชอบ อาหารญี่ปุ่นเป็นอย่างดี”
         
“สาขาแรก เราเปิดที่เซ็นทรัล บางนา และสาขาที่สอง เปิดที่เซ็นทรัล ลาดพร้าว ทั้งนี้ คาดว่าภายในปี 2557  จะมีสาขาทั้งหมดได้ราว 10 สาขา  ทั้งกรุงเทพฯ และปริมณฑล ด้วยงบลงทุนกว่า 60 ล้านบาท” ธีรเดชกล่าวเสริม
 
บริษัทได้วางแผนการลงทุนในระยะเวลา 5 ปี วางเป้าหมายการขยายสาขาแบรนด์เทนยะให้ครบ 30 สาขา ผ่านงบประมาณการลงทุนทั้งสิ้น 300 ล้านบาท และงบการตลาดอีก 100 ล้านบาท ปัจจุบันบริษัทมีแบรนด์ร้านอาหารในเครือทั้งสิ้น 12 แบรนด์ โดยแบ่งเป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นทั้งหมด 7 แบรนด์ คิดเป็นสัดส่วนรายได้ 50% ของภาพรวมธุรกิจร้านอาหารทั้งหมด
             
ขณะเดียวกันซีอาร์จีมีแผนทุ่มงบลงทุนถึง 2 พันล้านบาท เพื่อใช้ในการขยายสาขา 1.5 พันล้านบาทกับจำนวนสาขาทั้งหมด 90 สาขา ใน 12 แบรนด์ และงบการตลาด 500 ล้านบาท ในขณะที่ภาพรวมรายได้ปีนี้ตั้งเป้าไว้ที่ประมาณ 10,000  ล้านบาท  
 
ทั้งนี้ซีอาร์จียังมีแผนในการนำแบรนด์เทนยะเข้าไปทำตลาดในประเทศเพื่อนบ้านใน 2 ประเทศ คือ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย และประเทศฟิลิปปินส์ 
 
“ในปี 2557 เรามีแผนที่จะเปิดแบรนด์ใหม่ ทั้งในรูปแบบของการซื้อกิจการและการขยายในรูปแบบแฟรนไชส์ ราวไตรมาส 3 อีก 1 แบรนด์ ขณะเดียวกันก็เตรียมซื้อแบรนด์ใหม่เข้ามาทำตลาดเพิ่ม ซึ่งจะมีทั้งการซื้อกิจการและซื้อแฟรนไชส์ทั้งในและต่างประเทศ” ธีระเดชกล่าว 
 
ในขณะที่อีกหนึ่งร้านอาหารญี่ปุ่นที่เข้ามาบุกตลาดไทย  คือ ร้านอุด้ง “มารุกาเมะ เซเมง”  ซึ่งถือได้ว่าเป็นเชนใหญ่ในประเทศญี่ปุ่น โดยโทริดอลล์ ซึ่งดำเนินกิจการร้านอาหารอุด้ง “มารุกาเมะ เซเมง” โดยบริษัท โนดุ ฟู้ดส์ฯ เกิดขึ้นจากการร่วมทุนของบริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และกลุ่มบริษัทบูทิคฯ มีทุนจดทะเบียน 90 ล้านบาท และจะเพิ่มเป็น 180 ล้านบาท เพื่อดำเนินธุรกิจร้านอาหารญี่ปุ่นภายใต้แบรนด์มารุกาเมะ เซเมง โดยหวังว่า ภายใน 3 ปีจะติดท็อป 5 ในประเทศไทย
 
ภายใต้การร่วมทุนครั้งนี้ บริษัทพันธมิตรทั้งสองรายพร้อมที่จะรุกขยายสาขาร้านมารุกาเมะ เซเมง ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายไว้ 30 ร้านภายในเดือนมีนาคม 2558  ซึ่งความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญสำหรับร้านมารุกาเมะ เซเมง สำหรับการขึ้นมาเป็นแบรนด์ร้านอาหารญี่ปุ่นระดับโลก รวมถึงการขยายธุรกิจร้านอุด้งให้เติบโตในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
 
ทาคายะ อาวาตะ ประธานบริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด เปิดเผยว่า บริษัทได้เริ่มธุรกิจในประเทศไทยด้วยการขายแฟรนไชส์ร้านอุด้ง “มารุกาเมะ เซเมง” ให้กับบริษัท โนดุฟู้ดส์ จำกัด ซึ่งเป็นบริษัทลูกของกลุ่มบริษัทบูทิค เมื่อปี 2555 ปัจจุบันมีร้านอาหารมารุกาเมะ เซเมง ในไทย ถึง 9 สาขาได้แก่ เรนฮิลล์ สุขุมวิท 47 เดอะ พรอมานาด ศูนย์การค้าฟิวเจอร์พาร์ค รังสิต ศูนย์การค้าแปซิฟิค พาร์ค ศรีราชา เดอะมอลล์ งามวงศ์วาน ศูนย์การค้าแหลมทองช้อปปิ้งพลาซ่า ระยอง ศูนย์การค้าแหลมทองช้อปปิ้งพลาซ่า บางแสน โรบินสัน สระบุรี และโรบินสัน บางรัก
 
ทั้งนี้ บริษัทเตรียมใช้เงินลงทุน 150 ล้านบาท ในการขยายสาขาให้ได้ 30 สาขาภายใน 3 ปี จากปัจจุบันที่มีอยู่ 9 สาขา และจะเพิ่มขึ้นเป็น 15 สาขาในปีหน้า
 
“เราเล็งเห็นว่าตลาดไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพอย่างมากสำหรับการเติบโตของร้านอาหารญี่ปุ่น จึงตัดสินใจเข้าร่วมลงทุนในบริษัท โนดุฟู้ดส์ จำกัด ร้านอาหารมารุกาเมะ เซเมง ได้เปิดดำเนินการในประเทศไทยเมื่อปี 2555 การร่วมทุนครั้งนี้ เราตั้งเป้าที่จะขยายสาขาร้านมารุกาเมะ เซเมงในประเทศไทยให้ได้ครบ 30 สาขา ภายในเดือนมีนาคม 2558 ซึ่งถือว่าเร็วขึ้นจากเป้าหมายเดิม 1 ปี จากเดิมวางแผนไว้ในเดือนมีนาคม 2559 และคาดว่าภายในระยะเวลา 3 ปีนับจากนี้ร้านมารุกาเมะ เซเมง จะติด 1 ใน 5 ร้านอาหารญี่ปุ่นที่ได้รับความนิยม” ทาคายะกล่าว
 
ในขณะที่เป้าหมายหลักของการร่วมลงทุนในบริษัท โนดุฟู้ดส์ จำกัด คือการสร้างกระแสความนิยมอาหารญี่ปุ่นให้เติบโตมากขึ้นในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเริ่มต้นที่ประเทศไทยเป็นประเทศแรก นอกจากนี้ยังมุ่งหวังสร้างแบรนด์มารุกาเมะ เซเมง ให้เป็นแบรนด์ร้านอาหารระดับโลกอีกด้วย
 
ปรับชะรัน ซิงห์ ทักราล กรรมการผู้จัดการ กลุ่มบริษัทบูทิค กล่าวว่าการลงทุนในร้านอาหารมารุกาเมะ เซเมง ถือเป็นการขยายพอร์ตธุรกิจของกลุ่มบริษัทบูทิคจากด้านอสังหาริมทรัพย์ มาสู่กลุ่มธุรกิจร้านอาหารและเครื่องดื่ม “บริษัท โทริดอลล์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ได้เข้ามาเป็นพันธมิตรร่วมลงทุนในการขยายร้านมารุกาเมะ เซเมงในประเทศ และเชื่อมั่นว่าร้านมารุกาเมะ เซเมง จะสามารถขยายกิจการได้อย่างดีเยี่ยม และสร้างฐานลูกค้าที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่องในประเทศไทย โดยคาดว่าในปี 2559บริษัทฯ จะมีรายได้รวมเพิ่มขึ้นราว 300-400 ล้านบาท
 
ร้านมารุกาเมะ เซเมง เชนร้านอาหารอุด้งอันดับ 1 ในประเทศญี่ปุ่น โดยมีสาขามากกว่า 770 สาขาในญี่ปุ่น และมีอัตราการเติบโตรวดเร็วที่สุด จากการเปิดให้บริการเฉลี่ย 120 สาขาต่อปี นับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา
 
มารุกาเมะ เซเมง เปิดให้บริการครั้งแรกในปี 2543 จากข้อมูลล่าสุดเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2556 ร้านมารุกาเมะ เซเมง มีสาขาทั้งสิ้น 819 สาขาทั่วโลก โดยแบ่งเป็นสาขาที่ประเทศญี่ปุ่นรวม 772 สาขา จีน 20 สาขา ไทย 9 สาขา รัสเซีย 5 สาขา เกาหลีใต้ 4 สาขา ฮ่องกง 3 สาขา อินโดนีเซีย ไต้หวัน และฮาวาย ประเทศละ 2 สาขา โดยจุดเด่นของร้านมารุกาเมะ เซเมง คือให้ลูกค้าสามารถเลือกทอปปิ้งได้ตามใจชอบสำหรับอุด้งของตัวเอง
 
มารุกาเมะ เซเมง มีแผนที่จะขยายธุรกิจไปทั่วโลก โดยตั้งเป้าเปิดอีกมากกว่า 100 สาขาในยุโรปและเอเชีย ภายในปี 2558
 
ร้านอาหารญี่ปุ่น อีกหนึ่งธุรกิจที่มีแนวโน้มอัตราการเติบโตที่สูงขึ้น พร้อมกระแสการแข่งขันที่คึกคักจากผู้ประกอบการค่ายต่างๆ ทั้งนี้เพื่อหวังยึดครองส่วนแบ่งตลาดในธุรกิจอาหารที่มีมูลค่าหลายแสนล้าน นับว่าเป็นธุรกิจที่น่าจับตามองเป็นอย่างยิ่ง