วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Cover Story > จาก “ราชดำริ” สู่ “ริเวอร์ฟรอนท์” “แมกโนเลียส์” เปิดศึกก้าวกระโดด

จาก “ราชดำริ” สู่ “ริเวอร์ฟรอนท์” “แมกโนเลียส์” เปิดศึกก้าวกระโดด

 
แม้สถานการณ์การเมือง ยุทธการ “ชัตดาวน์” ยึดกรุงเทพฯ รอบใหม่มีแนวโน้มยืดเยื้อและไม่มีผู้สันทัดกรณีคาดเดาบทอวสาน จะส่งผลกระทบต่อธุรกิจหลายภาคส่วน แต่สำหรับบริษัทอสังหาริมทรัพย์ระดับซูเปอร์ลักชัวรี่อย่าง “แมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น” ของทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ ทายาทเจ้าสัวเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ประกาศเดินหน้าขยายโครงการอย่างต่อเนื่องและตั้งเป้าขึ้น “ท็อปไฟว์” ในตลาดไฮเอนด์ หลังจากกวาดยอดขายโครงการคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ “แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด” ในช่วงปี 2556 
 
สเต็ปต่อไป คือการเปิดขายบิ๊กโปรเจ็กต์ริมน้ำเจ้าพระยา มูลค่ากว่า 35,000 ล้านบาท อย่างเป็นทางการภายในต้นปีนี้ เพื่อเผยโฉมบริการเต็มรูปแบบรองรับการเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 
 
ธนวันต์ ชัยวัฒนะ กรรมการผู้จัดการบริษัทแมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น เปิดเผย “ผู้จัดการ 360  ํ” ว่า แมกโนเลียต้องการขยายตลาดให้หลากหลายและตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยจับกลุ่มลูกค้าตั้งแต่ระดับกลางขึ้นไปจนถึงระดับท็อปเอนด์ และเน้นตลาดคอนโดมิเนียมตามพฤติกรรมการปรับตัวของเมืองสมัยใหม่ หลังจากรุกธุรกิจอย่างเงียบๆ ในช่วงที่ผ่านมา 
 
อย่างน้อยตามแผนธุรกิจระยะ  1-3 ปี เปิดตัว 2 โครงการ และดูสถานการณ์บ้านเมืองเพื่อปรับตัวรับผลกระทบ ซึ่งความจริงไม่มาก เพราะเซกเมนต์กลุ่มเป้าหมายมีกำลังซื้อสูง มีกระแสเงินสด เพียงแต่สถานการณ์ความวุ่นวายอาจส่งผลต่ออารมณ์การซื้อเท่านั้นเอง 
 
อย่างไรก็ตาม “แมกโนเลีย” ยังมีโครงการจำนวนไม่มาก โดยเริ่มจากโครงการบ้านเดี่ยวสไตล์เซาเทิร์น แคลิฟอร์เนีย บนถนนบางนา-ตราด กม. 7  “แมกโนเลีย แกรนดิฟอร์ร่า (Magnolia Grandiflora) ราคาเริ่มต้นหลังละ 27 ล้านบาท จับกลุ่มเศรษฐี เมื่อปี 2548 แต่เวลานั้นยังไม่สามารถสร้างการรับรู้ในกลุ่มลูกค้า จนกระทั่งร่วมเป็นสปอนเซอร์สนับสนุนรายการ “อะคาเดมี่ แฟนตาเซีย ซีซั่น 3” ในปี 2549 ชื่อ “แมกโนเลียส์” ก็ดังกระหึ่มในตลาด และถือเป็นสปอนเซอร์รายใหญ่ติดต่อกันหลายซีซั่น 
 
หลังจากนั้น เปิดตัวบ้านเดี่ยว “แมกโนเลีย เซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย” ย่านบางนา และโครงการคอนโดมิเนียม “วิสซ์ดอม” ในย่านสุขุมวิท 64 เพื่อจับกลุ่มลูกค้าระดับกลาง เน้นความสะดวกสบายในการเดินทาง เนื่องจากอยู่ใกล้สถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส ปุณณวิถี 
 
ขณะเดียวกัน ขยายเข้าสู่ตลาดบ้านพักตากอากาศในต่างจังหวัด โดยปักหมุดแรกที่เขาใหญ่ ผุด “แมกโนเลียส์ เฟรนช์ คันทรี่ เขาใหญ่” ราคาเริ่มต้นหลังละ 18 ล้านบาท และขยายสร้างโรงแรมหรูระดับ 5 ดาว จำนวน 80 ห้องพัก มูลค่าการก่อสร้างประมาณ 600 ล้านบาท
 
ปี 2555 แมกโนเลีย คอร์ปอเรชั่น ประกาศความชัดเจนในฐานะผู้พัฒนาโครงการคอนโดมิเนียมระดับซูเปอร์ลักชัวรี่ ซึ่งถือเป็นทิศทางและเป้าหมายที่ต้องการสื่อสารและสร้างการรับรู้กับกลุ่มลูกค้า โดยนำร่องโครงการ “แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด” ราคาเริ่มต้น 8.5 ล้านบาทต่อยูนิต เพื่อสร้างผลงานต้นแบบและสะท้อนเส้นทางการทำธุรกิจที่เน้นความใส่ใจในทุกรายละเอียดของการพัฒนาที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ยุคที่กลุ่มเจียรวนนท์ก่อตั้งกลุ่มบริษัท ดีที เมื่อปี 2536 ทำธุรกิจบ้านเช่าและสวนเกษตร ก่อนขยายขอบเขตธุรกิจสู่การพัฒนาอสังหาริมทรัพย์และที่ดิน โดยเน้นการพัฒนาที่ดินเพื่อโครงการที่อยู่อาศัยในภาคอีสาน จนกระทั่งเปิดบริษัท แมกโนเลีย ไฟน์เนสท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด ในปี 2543 
 
ระยะเวลาสิบกว่าปีในวงการอสังหาริมทรัพย์ “แมกโนเลีย” ใช้จังหวะการขยายตัวของเมืองและกลุ่มเศรษฐีรุ่นใหม่บุกยึดทำเลใจกลางกรุงเทพฯ เส้นสุขุมวิท และทุ่มทุนผุดคอนโดมิเนียมหรูบนถนนราชดำริระหว่างโรงแรมแกรนด์ไฮแอทกับเพนนินซูล่าพลาซ่า ตอกย้ำแบรนด์ในตลาดคอนโดมิเนียมระดับท็อปเอนด์  เนื้อที่ 6 ไร่ จำนวน  316 ยูนิต แบ่งเป็นห้องชุดตั้งแต่แบบ 1 ห้องนอน ขนาด 48 ตร.ม. ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 9 ล้านบาท  แบบ 2 ห้องนอน ขนาด 80 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 15 ล้านบาท  เพนท์เฮ้าส์และดูเพล็กซ์เพนท์เฮาส์ ขนาด 250 – 360 ตร.ม. ราคาเริ่มต้น 67 ล้านบาท 
 
ภายในโครงการยังมีโรงแรม 5 ดาวระดับโลก “วอลดอร์ฟ แอสโทเรีย กรุงเทพ” จากเครือฮิลตัน โฮเต็ล แอนด์ รีสอร์ท  เข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรด้วย 
 
“จริงๆ แล้ว ตลาดคอนโดมิเนียมระดับลักชัวรี่ไม่ได้ใหญ่ เราไม่คิดว่าจะขายคอนโดไฮเอนด์ ปีละ 3 หมื่นล้าน แต่เป้าหมายการเป็นท็อปไฟว์หมายถึงการทำโครงการดีๆ อย่างสม่ำเสมอและสร้างการรับรู้ของลูกค้าในแบรนด์แมกโนเลียส์ ทั้งทำเล องค์ประกอบที่มีโรงแรมหรู การออกแบบสถาปัตย์ งานออกแบบภายใน วัสดุอุปกรณ์เป็นแบรนด์ระดับท็อปทั้งหมด”
 
ทั้งนี้ หากเปรียบเทียบโครงการคู่แข่งในระดับเดียวกัน ได้แก่ โครงการแกรเลอรี ฮูร์ เดอร์ (GALERIE rue de 39) ของค่ายเอพี ไทยแลนด์ ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 26-100 ล้านบาท โครงการมาร์ค สุขุมวิท ของบริษัท เมเจอร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด (มหาชน) ราคาเริ่มต้นยูนิตละ 30 ล้านบาท โครงการเดอะ สุโขทัย เรสซิเดนซ์เซส ของบริษัท เอชเคอาร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ราคายูนิตละ 28-480 ล้านบาท 
 
ขณะที่แมกโนเลียส์ ราชดำริ บูเลอวาร์ด ราคาเปิดตัวเริ่มต้นที่ 170,000 ต่อ ตร.ม. หรือยูนิตละ 8.5 ล้านบาท ล่าสุดราคาเฉลี่ยปรับขึ้น 15% อยู่ที่ ตร.ม.ละ  200,000 บาท ราคาเริ่มต้นมากกว่า 9 ล้านบาท และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีก โดยลูกค้าแบ่งสัดส่วนครึ่งๆ ระหว่างคนไทยกับต่างชาติ ลูกค้าต่างชาติมาจากฮ่องกง 15 % จีน 10% สิงคโปร์  7% และอื่นๆ อีก 18% เมื่อขายหมดคาดว่า กลุ่มลูกค้าต่างชาติจะมีสัดส่วนมากกว่า 70%
 
สำหรับปี 2557 หลังจากแถลงเรียกแขกเปิดตัวโครงการใหญ่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ร่วมกับพันธมิตรเมื่อต้นปี 2555 แม้ใช้ระยะเวลาซุ่มเงียบนานกว่า 2 ปี แต่มีกำหนดการเปิดรายละเอียดทั้งหมดภายในโครงการริมแม่น้ำเจ้าพระยาอย่างเป็นทางการในเร็วๆ นี้ 
 
อภิมหาโครงการริมน้ำแห่งนี้เป็นการร่วมทุนกันระหว่างบริษัท สยามพิวรรธน์ จำกัด ผู้บริหารศูนย์การค้าสยามเซ็นเตอร์ สยามดิสคัฟเวอรี่ สยามพารากอน กับเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ซึ่งแบ่งเป็น บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด และบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ก่อตั้งบริษัทขึ้นมาใหม่อีก  3 บริษัท คือ บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ เพลส คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะดำเนินโครงการ Grand River Place มีทั้งที่พักอาศัยระดับพรีเมียม โรงแรม และร้านค้า 
 
บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ พาร์ค คอร์ปอเรชั่น จำกัด จะบริหารโครงการ Grand River Park เป็นโซนเอ็นเตอร์เทนเมนต์ และ บริษัท แกรนด์ ริเวอร์ ฟรอนท์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด บริหารโครงการ Grand River Front  เป็นโซนร้านค้าริมแม่น้ำ 
 
ทั้ง 3 บริษัทมีทุนจดทะเบียนรวม 1,200 ล้านบาท แบ่งสัดส่วนการถือหุ้น คือ สยามพิวรรธน์  50% แมกโนเลียฯ 25% และซีพี 25% 
      
เบื้องต้น โครงการมีมูลค่าประมาณ 35,000 ล้านบาท พื้นที่รวม 40 ไร่ อยู่บนถนนเจริญนคร 5 เขตคลองสาน ฝั่งธนบุรี โดยมีทั้งฝั่งติดถนนเจริญนคร และติดริมแม่น้ำเจ้าพระยาทอดยาว 400 เมตร ซึ่งตามเป้าหมายต้องการสร้างเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ ติดระดับโลก เช่นเดียวกับเมืองที่อยู่ริมน้ำในต่างประเทศอย่างปารีส ลอนดอน เซี่ยงไฮ้ ซิดนีย์
 
เปรียบเทียบกับโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟรอนท์ เครือทีซีซีแลนด์ของกลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดี อีกฟากฝั่งมีพื้นที่รวม 70 ไร่ แต่มีหน้ากว้างติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา 300 กว่าเมตร ซึ่งทำให้ทีซีซีแลนด์เร่งขยาย “เอเชียทีค 2” ข้ามไปฝั่งเจริญนคร พื้นที่อีก 29 ไร่ ด้านหนึ่งเป็นการแข่งขันในสงครามค้าปลีกริมน้ำ แต่อีกด้านจะขยายแหล่งชอปปิ้งขนาดใหญ่ ซึ่งเอื้อต่อกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มซีพีหรือทีซีซีแลนด์
 
“พูดถึงทำเลย่านฝั่งธนฯ เรามองเป็นเซ็นเตอร์ของลักชัวรี่ริเวอร์ฟรอนท์โลเกชั่น เหมือนเรามองราชดำริเป็นเซ็นเตอร์ของลักชัวรี่ในเมือง เพราะในเมืองต่างๆ พรีเมียมโลเกชั่นจะอยู่ริมแม่น้ำ เรามองสเต็ปต่อไปว่า พรีเมียมโลเกชั่นของลักชัวรี่เซ็นเตอร์ริมน้ำอยู่ที่ไหน คำตอบคืออยู่ที่นั่น ไม่ว่าเจริญนคร หรือเจริญกรุง คือเซ็นเตอร์ของริเวอร์ฟรอนท์ที่เป็นลักชัวรี่โลเกชั่น เพราะฝั่งธนฯ เดี๋ยวนี้ไม่ใช่เจริญน้อยหรือจนกว่ากรุงเทพฯ โซนนิ่งของบ้านเดี่ยวที่ราคาแพงที่สุดก็อยู่ฝั่งธนฯ กลายเป็นที่ของคนมีเงินจำนวนไม่น้อย เพียงแต่เป็นไปได้ยากที่จะมีสุขุมวิท 2 ทันทีทันใด ต้องค่อยๆ เป็นค่อยๆ ไป” ธนวันต์กล่าว 
 
ที่สำคัญ มีความต้องการซื้อที่อยู่อาศัยริมแม่น้ำเจ้าพระยารออยู่อีกจำนวนมาก แต่โจทย์ข้อสำคัญอยู่ที่การสร้างสรรค์โครงการระดับลักชัวรี่ ราคาที่เหมาะสมกับคุณภาพ ซึ่งแมกโนเลียส์หมายมั่นสร้างคอนโดมิเนียมระดับไฮเอนด์อีก 2 โครงการภายในบิ๊กโปรเจ็กต์ 35,000 ล้านบาท ย้ายสมรภูมิจาก “ราชดำริ” สู่ “ริเวอร์ฟรอนท์” ทำเลใหม่ที่ดีที่สุด ลุยศึกครั้งใหม่และประกาศก้าวกระโดดทันทีตั้งแต่เปิดศักราชปีมะเมียด้วย