วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > ระวัง !! โรคต่อมไทรอยด์ถามหา

ระวัง !! โรคต่อมไทรอยด์ถามหา

 
ความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์นำไปสู่การเป็นหมัน โรคซึมเศร้าเรื้อรัง โรคเกี่ยวกับหัวใจ หรือไขมันในเลือดสูงได้
 
ต่อมไทรอยด์ตั้งอยู่ระหว่างกล่องเสียงกับกระดูกไหปลาร้า และหุ้มอยู่รอบหลอดลม นายแพทย์ Jeffrey Powell นักวิทยาต่อมไร้ท่อแห่งโรงพยาบาลนอร์ทเทิร์น เวสต์เชสเตอร์ในนิวยอร์ก อธิบายว่า ต่อมไทรอยด์ที่มีรูปร่างเหมือนผีเสื้อ ทำหน้าที่ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ ซึ่งเป็นสารเคมีที่ควบคุมระบบเผาผลาญและอุณหภูมิของร่างกาย ทั้งยังมีบทบาทในเกือบทุกระบบของร่างกาย เพื่อทำให้สมองของคุณยังเฉียบแหลม อวัยวะในช่องท้องยังเคลื่อนไหวเป็นปกติ ประจำเดือนมาตรงตามกำหนด ผิวหนัง เล็บ และเส้นผมมีสุขภาพแข็งแรงดี ฮอร์โมนไทรอยด์สามารถเร่งหรือลดอัตราการเผาผลาญพลังงานของร่างกายได้
 
เมื่อเกิดความผิดปกติขึ้นกับต่อมไทรอยด์ ร่างกายทั้งระบบย่อมเกิดปัญหาตามมามากมาย นายแพทย์ Armand Krikorian รองผู้อำนวยการด้านวิทยาต่อมไร้ท่อแห่ง University Hospitals Case Medical Center ที่คลีฟแลนด์ ระบุว่า ในบรรดาชาวอเมริกัน 25 ล้านคนที่มีความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ส่วนใหญ่จะเป็นเพศหญิง ผลการวิจัยยืนยันว่า ผู้หญิงมีความเสี่ยงต่อโรคต่อมไทรอยด์มากกว่าผู้ชายถึง 12 เท่า เพราะพวกเธอมีความเสี่ยงต่อโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง (autoimmune diseases) เช่น โรคข้อรูมาตอยด์ และโรคลูปัส มากกว่า ซึ่งโรคเหล่านี้รบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์โดยตรง
 
เป็นที่รู้กันว่า หลังตั้งครรภ์แล้ว ผู้หญิงมีโอกาสเกิดความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมไทรอยด์ ซึ่งมักถ่ายทอดทางพันธุกรรม และเกี่ยวข้องกับภาวะต่อมไทรอยด์ทำงานน้อย (ไฮโปไทรอยด์) หรือภาวะต่อมไทรอยด์เป็นพิษ (ไฮเปอร์ไทรอยด์) เป็นภาวะที่อาจเกิดขึ้นชั่วคราวหรือถาวรก็ได้
 
นอกจากนี้ ผลการวิจัยยังชี้ว่า สารเคมีที่นำมาผลิตสารเคลือบกันน้ำในอุปกรณ์การครัวแบบไม่ติดหรือ non – stick หรือผลิตพรม และที่นอน ล้วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการรบกวนการทำงานของต่อมไทรอยด์ได้ทั้งสิ้น
 
สัญญาณอันตราย
 
ไฮโปไทรอยด์กับไฮเปอร์ไทรอยด์ เป็นความผิดปกติของต่อมไทรอยด์ที่มีอาการตรงข้ามกันโดยสิ้นเชิง ผู้ป่วยเป็นไฮโปไทรอยด์จะมีอาการร่วมหรือคล้ายกับโรคอื่นๆ มากกว่า ในหลายกรณีมีการส่งสัญญาณอาการป่วยน้อยมากในระยะเริ่มแรก อาการจะรุนแรงขึ้นต่อเมื่อป่วยเป็นเวลานานแล้วเท่านั้น นอกจากนี้ บางครั้งอาการยังไม่ชัดเจนเพียงพอสำหรับการวินิจฉัยโรค เช่น อาจมีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ซึ่งอาจสืบเนื่องจากหลากหลายปัจจัยได้เช่นกัน
 
ผู้เชี่ยวชาญบางคนจึงค้นหาอาการประกอบอื่นๆ เพื่อช่วยการวินิจฉัย เช่น ผิวแห้ง ผมร่วง หลงลืม อ่อนล้า ท้องผูก ประจำเดือนผิดปกติ และหนาวสั่น อาการชัดเจนอย่างหนึ่งของไฮโปไทรอยด์คือ ผู้ป่วยรู้สึกอ่อนเพลียเป็นอย่างมากในระหว่างทำกิจกรรมที่เคยทำได้จนลุล่วงตามปกติ 
 
นายแพทย์ Jeffrey R.Garber นักวิทยาต่อมไร้ท่อแห่งวิทยาลัยแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ตั้งข้อสังเกตว่า “ฮอร์โมนไทรอยด์มีบทบาทมากในการช่วยควบคุมว่า จะมีพลังงานส่งไปเลี้ยงเซลล์ทั้งหมด ซึ่งรวมถึงเซลล์กล้ามเนื้อ มากน้อยเพียงใด”
 
การวินิจฉัยโรคไฮเปอร์ไทรอยด์ทำได้ง่ายกว่ามาก เพราะต่อมไทรอยด์ผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ออกมามากเกินไป ทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกจนน้ำหนักตัวลดฮวบ หัวใจเต้นแรง นอนไม่หลับ หรือท้องเสีย ผู้ป่วยมักมีอาการร้อนวูบวาบและตัวสั่นร่วมด้วย เมื่อเป็นนานขึ้นอาการจะรุนแรงขึ้นตามลำดับ
 
แต่โชคดีที่ทั้งไฮโปไทรอยด์และไฮเปอร์ไทรอยด์ ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยาเป็นอย่างดี
 
ป้องกันได้อย่างไร
 
วิธีที่ดีที่สุดในการปกป้องแหล่งพลังงานของคุณคือ วินิจฉัยอาการของโรคให้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ ถ้าคุณไม่แน่ใจ เพียงปรึกษาแพทย์ประจำตัว ขอตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์หรือที่เรียกว่า TSH (thyroid stimulating hormone test)
 
ถ้าคุณเป็นไฮโปไทรอยด์ แพทย์จะจ่ายฮอร์โมนไทรอยด์สังเคราะห์ levothyroxine ให้รับประทาน แล้วตรวจการทำงานของต่อมไทรอยด์ทุก 6 สัปดาห์ในช่วง 6 เดือนแรก เพื่อให้แน่ใจว่าแพทย์ให้รับประทานยาในปริมาณเหมาะสม ส่วนไฮเปอร์ไทรอยด์อาจรักษาด้วยยา เช่น tapazole ที่ต้องรับประทานทุกวัน เพื่อชะลอการทำงานของต่อมไทรอยด์ให้ช้าลง ซึ่งส่วนใหญ่การรักษาด้วยยามักให้ผลดีในทั้งสองกรณี  
 
หากคุณเป็นโรคนี้เพราะพันธุกรรมหรือปัจจัยเสี่ยงจากโรคภูมิคุ้มกันทำลายตนเอง คุณอาจป้องกันอะไรไม่ได้มากนัก แต่คุณปกป้องลำคอได้ด้วยการบริโภคไอโอดีน ซึ่งมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดกับการผลิตฮอร์โมนไทรอยด์ให้เพียงพอ แหล่งไอโอดีนที่หาได้ง่ายที่สุดคือ เกลือทะเลและขนมปังบางชนิด แต่ปัจจุบันผู้หญิงจำนวนมากหันไปบริโภคอาหารที่ปลอดกลูเต็นและมีโซเดียมต่ำ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาขาดไอโอดีนได้ จึงแนะนำให้บริโภควิตามินรวมเป็นประจำ เพราะมีไอโอดีน 150 ไมโครกรัม ซึ่งเพียงพอต่อความต้องการของร่างกายในแต่ละวัน (220 ไมโครกรัม ในกรณีตั้งครรภ์ และ 290 ไมโครกรัม ในกรณีให้นมบุตร) ที่สำคัญต้องเลิกสูบบุหรี่ เพราะสารเคมีในควันบุหรี่อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นไฮเปอร์ไทรอยด์ได้
 
สิ่งสำคัญที่สุดคือ ผ่อนคลาย พักผ่อนให้เพียงพอ เพราะเมื่อได้รับการรักษาอย่างถูกต้องแล้ว คุณมีโอกาสกลับมามีชีวิตตามปกติได้อีก
 
ที่มา: นิตยสาร Prevention : Fit & Firm at 40+ 
Column: Well – Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว