แม้ว่าจะเพิ่งฉลองปีใหม่ไปเมื่อไม่นาน แต่เราก็กำลังจะผ่านตรุษจีนไปอีกแล้ว ขณะที่ปีใหม่ไทยที่เรียกว่าสงกรานต์ก็ขยับใกล้เข้ามาเพียงอีกไม่กี่อึดใจ ซึ่งดูเหมือนว่าการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ปีม้า-มะเมีย จะโจนทะยานไปข้างหน้าอย่างรวดเร็วมากขึ้นหลังจากนี้
เมื่อพูดถึงตรุษจีน จะละเลยไม่พูดถึง Chinatown หรือย่านคนจีนเสียเลยก็ดูจะกระไรอยู่
ในประเทศไทย แม้ว่าเราจะมีเยาวราชและสำเพ็งเป็นประหนึ่งศูนย์กลางของวัฒนธรรมจีน ที่เรียกได้ว่าเป็น Chinatown อยู่กลางกรุงเทพฯ แต่ดูเหมือนว่าปัจจุบัน ย่านคนจีนของไทยกระจายอยู่ทั่วทุกหนแห่ง เพราะชาวจีนได้หลอมรวมเป็นคนไทยเชื้อสายจีนมานานกว่า 2-3 ศตวรรษแล้ว
และคงเหมือนกับอีกหลายประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และอีกหลายภูมิภาคของโลกที่คนจีนได้เข้าไปตั้งถิ่นฐานและมีบทบาททั้งในเชิงสังคม และเศรษฐกิจ การเมืองไม่น้อยเช่นกัน
ไม่เว้นแม้แต่ญี่ปุ่น ซึ่งมีรากฐานและขนบทางวัฒนธรรมที่แน่นหนา ก็ยังได้รับอิทธิพลและการถ่ายเททางวัฒนธรรมจากจีนในระดับที่ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน โดยมีเมืองท่าที่สำคัญ 3 แห่งเป็นกลไกสำคัญในการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมนี้
นางาซากิ (Nagasaki) ถือเป็นเมืองหน้าด่านแห่งแรกๆ ของญี่ปุ่นที่ได้เก็บรับวัฒนธรรมจีนเข้ามาในญี่ปุ่น โดยผ่านทางนักเดินเรือชาวโปรตุเกสที่เดินทางค้าขายสินค้าจากยุโรป ผ่านช่องแคบมะละกา มาเก๊า และแผ่นดินใหญ่ของจีน ก่อนที่จะมาขึ้นฝั่งที่ปลายทางในเมืองนางาซากิ ตั้งแต่เมื่อกว่า 420-450 ปีที่แล้ว
แต่หลักฐานการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในเมือง นางาซากิ เริ่มหนาแน่นจริงจังก็เมื่อ 150-200 ปีที่ผ่านมานี้เอง โดยประมาณกันว่าในช่วงปี 1800-1850 ประชากรในเมืองนางาซากิ กว่า 1 ใน 3 เป็นชาวจีนที่อพยพเข้ามาประกอบกิจการค้าขาย และรับจ้างแรงงานอยู่ในเมืองท่าแห่งนี้
กรณีดังกล่าวเกิดขึ้นในห้วงเวลาที่คาบเกี่ยวต่อเนื่องกับการเปิดเมืองท่าเรือเพื่อการค้าขายกับต่างประเทศทั้งที่ โยโกฮามา (Yokohama) และที่โกเบ (Kobe) ในช่วงปี 1850-1890 ซึ่งทำให้ทั้งโยโกฮามา และโกเบกลายเป็นพื้นที่ที่มีประชากรชาวจีนเข้ามาอาศัยอย่างหนาแน่นในเวลาต่อมา
การตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในญี่ปุ่นใช่ว่าจะราบรื่นหรือเป็นไปด้วยดีหรอกนะคะ เพราะประวัติศาสตร์ของจีนและญี่ปุ่นได้ก่อให้เกิดความสัมพันธ์แบบทั้งรักทั้งชัง หรือ love-hate relationship มาโดยตลอด
โดยเฉพาะจากข้อเท็จจริงที่ว่า จีนและญี่ปุ่นเคยมีสงครามระหว่างกันเพื่อช่วงชิงบทบาทและอิทธิพลเหนือคาบสมุทรเกาหลีในปี 1894-1895 ก็มีนางาซากินี่ล่ะที่เป็นฐานทัพเรือแห่งใหญ่ที่ใช้ในการปฏิบัติการรบพุ่งกับจีนเสียด้วย
ความรู้สึกของชาวญี่ปุ่นต่อคนจีน จึงดำเนินไปในท่วงทำนองที่ไม่ค่อยน่าไว้วางใจต่อกันมากนัก และเมื่อเกิดเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ หรือ Great Kanto Earthquake ในปี 1923 ซึ่งติดตามมาด้วยเหตุจลาจล และการโจมตีคนจีนและคนกลุ่มน้อยต่างชาติอย่างกว้างขวาง ทำให้ชาวจีนในโยโกฮามาเลือกที่จะอพยพกลับประเทศจีน
ก่อนที่สถานการณ์ของคนจีนในญี่ปุ่นจะอยู่ในภาวะวิกฤตหนักขึ้นไปอีก เมื่อจีนและญี่ปุ่นเปิดฉากสงครามครั้งใหม่ในปี 1937 ซึ่งกองทัพญี่ปุ่นรุกเข้าไปถึงนานกิงพร้อมกับสังหารชาวจีนกว่า 3 แสนคน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมาว่า Nanking Massacre และ Rape of Nanking โดยสงครามดังกล่าวยาวนานต่อเนื่องไปจนถึงห้วงเวลาสิ้นสุดของสงครามโลกครั้งที่ 2 ในปี 1945 เลยทีเดียว
ย่านคนจีน ทั้งที่เมืองนางาซากิ โกเบ และโยโกฮามา เริ่มกลับมาคึกคักอย่างช้าๆ ในช่วงหลังสงคราม ก่อนที่ในปี 1955ซุ้มประตูขนาดใหญ่แบบจีนจะถูกสร้างขึ้นที่ย่านคนจีนในเมืองโยโกฮามา เพื่อแสดงออกถึงการยอมรับการตั้งถิ่นฐานของชาวจีน พร้อมกับการเรียกขานย่านคนจีนดังกล่าวว่า Yokohama Chinatown อย่างเป็นทางการ ซึ่งถือเป็นการเริ่มบริบทใหม่ของย่านคนจีนในสังคมญี่ปุ่นให้กลับมาคึกคักและเติบโตอีกครั้ง
Yokohama Chinatown กลายเป็นย่านคนจีนที่ถือได้ว่าใหญ่ที่สุดในญี่ปุ่นในห้วงเวลาปัจจุบันและเป็นแม่เหล็กสำคัญอีกแห่งหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งชาวญี่ปุ่นและชาวต่างชาติ ให้หลั่งไหลเข้ามาเที่ยวชมเมืองโยโกฮามา ซึ่งมีประวัติศาสตร์ยาวนานและพยายามแข่งบารมีกับกรุงโตเกียวอีกด้วย
โดยเฉพาะในฐานะที่เป็นประหนึ่งการแสวงหาทัศนวิสัยที่แปลกตาออกไปจากความเป็นญี่ปุ่นที่คุ้นตา และตั้งอยู่ไม่ไกลจากกรุงโตเกียวมากนัก คิดเป็นระยะทางให้เข้าใจและเห็นภาพโดยง่ายก็เพียงขับรถจากสนามหลวงไปถึงพุทธมณฑลสาย 4 เท่านั้นเอง
พิพิธภัณฑ์อันเกี่ยวเนื่องกับวัฒนธรรม และการตั้งถิ่นฐานของชาวจีนในโยโกฮามา ถูกจัดแสดงไว้อย่างหลากหลาย รวมถึง Ramen Museum หรือพิพิธภัณฑ์บะหมี่ ก็มีจัดแสดงในฐานะวัฒนธรรมที่มีชีวิต (living culture) อยู่ในเมืองโยโกฮามานี้
ขณะที่จุดเด่นของ Chinatown ก็คงเป็นเรื่องของเมนูอาหารที่มีให้เลือกสรรอย่างหลากหลาย เฉพาะใน Chinatown ที่เมืองโยโกฮามาแห่งเดียวก็มีภัตตาคารอาหารจีนอยู่ไม่น้อยกว่า 200 แห่งให้เลือกรับประทาน บำรุงกล้ามเนื้อท้องกันเลย
ร้านโปรดของพวกเราที่มีโอกาสพาคณะเพื่อนพ้องน้องพี่ไปให้การต้อนรับ เป็นร้านบุฟเฟต์อาหารจีน ซึ่งตั้งอยู่หัวมุมถนนใจกลางย่านคนจีนในโยโกฮามาแห่งนี้ ซึ่งด้วยเหตุของทำเลที่ตั้งประกอบกับรสชาติของอาหาร ทำให้ในวันหยุด และวันเสาร์อาทิตย์ จะต้องมีการจองคิวเพื่อใช้บริการกันยาวนานนับ2-3 ชั่วโมงเลยทีเดียว
นอกเหนือจากเมนูคาว-หวาน และของทานเล่น แต่อิ่มจริง ที่มีอยู่อย่างหลากหลายแล้ว ประสบการณ์การสั่งอาหารที่นี่ก็เป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย
เพราะแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นบุฟเฟต์ แต่เมื่อบริกรพาไปนั่งที่โต๊ะซึ่งถูกจัดไว้โต๊ะละ 4 ที่นั่งเรียบร้อย จะกำหนดให้เราสั่งอาหารได้ไม่เกิน 6 จานในแต่ละรอบของการสั่งอาหารหนึ่งครั้ง แต่จะสั่งกี่รอบก็ได้ นัยว่าเพื่อป้องกันการไม่มีที่พอจะวางจานอาหาร ซึ่งแต่ละจานก็ไม่มีขนาดใหญ่โตแต่อย่างใด
ครั้งหนึ่งด้วยหน้าที่การงานทำให้ต้องพาคณะไปเลี้ยงรับรองมื้อกลางวันที่ร้านแห่งนี้ และได้อธิบายเงื่อนไขเบื้องต้นให้สมาชิกในกลุ่มได้รับทราบ ป้องกันการดูแลไม่ทั่วถึง เพราะต้องแยกนั่งกันหลายโต๊ะ แต่ด้วยเหตุที่ทุกคนประสงค์จะลิ้มลองเป็ดปักกิ่งในญี่ปุ่นจึงเลือกสั่งเมนูดังกล่าวกันอย่างพร้อมเพรียง
ผลลัพธ์ที่ได้จึงกลายเป็นเป็ดปักกิ่งจานขนาดมหึมาประหนึ่งว่าต้องใช้เป็ดทั้งตัว ซึ่งทำให้แทบไม่มีที่ว่างในท้องสำหรับเมนูอาหารอื่นๆ กันเลย
แต่ใช่ว่าย่านคนจีนในญี่ปุ่นจะมีเรื่องราวของอาหารตั้งอยู่โดยลำพัง เพราะแม้ที่โกเบจะมีภัตตาคารอาหารจีนกว่า 100 แห่งให้บริการเช่นกัน แต่มิติทางประวัติศาสตร์ของชื่อบ้านนามเมืองที่เรียกขานย่านคนจีนในโกเบว่า นานกิงมาจิ (Nanking-machi) หรือหมู่บ้านนานกิง กลับสะท้อนปมลึกๆ ในจิตใจของคนทั้งสองชาติ ควบคู่กับการจัดแสดงพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ว่าด้วยคนจีนโพ้นทะเล (Kobe Overseas Chinese History Museum) ไว้ด้วย
ขณะเดียวกันสำหรับที่นางาซากิ ซึ่งเรื่องราวของอาหารได้ข้ามพ้นเส้นแบ่งความเป็นจีน-ญี่ปุ่น และได้ผสมผสานเป็นวัฒนธรรมพื้นถิ่นไปแล้ว ก็มีงานเทศกาลโคมไฟ (Nagasaki Lantern Festival) ตลอดช่วงเทศกาลตรุษจีนเป็นไฮไลต์ที่สะท้อนวัฒนธรรมจีนในสังคมญี่ปุ่นได้อย่างลงตัวเช่นกัน
บางทีการเป็นชนกลุ่มน้อยในสังคมที่เจริญแล้ว ก็อาจมีโอกาสทำอะไรได้มากกว่าการเป็นคนกลุ่มใหญ่ในสังคมด้อยพัฒนาก็เป็นได้