วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > “ครัวไทยสู่โลก” เข็มมุ่งของผู้ประกอบการไทย

“ครัวไทยสู่โลก” เข็มมุ่งของผู้ประกอบการไทย

 

การประกาศรุกตลาดต่างประเทศของผู้ประกอบการด้านอาหารของไทย ดูจะกลายเป็นยุทธศาสตร์และแนวโน้มที่ไม่อาจเลี่ยงได้ในอนาคต หลังจากที่ประเทศไทยวางยุทธศาสตร์ประเทศไว้ที่การเป็นครัวของโลกมานาน เกือบทศวรรษที่ผ่านมา
 
เครือเจริญโภคภัณฑ์รุกเข้าไปลงทุนและวางโครงข่ายการผลิตในประเทศเพื่อนบ้านอย่างต่อเนื่อง และนับเป็นทุนไทย หรือผู้ประกอบการไทย ที่มีลำดับขั้นการพัฒนาทางธุรกิจสอดรับกับยุทธศาสตร์ของชาติมากที่สุดหลายหนึ่ง
 
ก่อนหน้านี้ CPF เคยรุกตลาดญี่ปุ่นด้วยการร่วมลงทุนกับ Yonekyu Corp. บรรษัทผู้ประกอบการผลิตและแปรรูปเนื้อสัตว์ขนาดกลางจากญี่ปุ่น ด้วยการจัดตั้งบริษัท CP-Yonekyu เมื่อช่วงปลายปี 2004 เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของ CPF ภายใต้ความมุ่งหวังว่าระดับการพัฒนาและเทคโนโลยีทางการผลิตของ Yonekyu อาจช่วยลดทอนระยะเวลาและเพิ่มขีดความสามารถในการเข้าสู่ตลาดญี่ปุ่นในอนาคต หลังจากที่ CPF ต้องได้รับผลกระทบจากวิกฤตการณ์ไข้หวัดนก ในช่วงก่อนหน้านั้น

ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจประการหนึ่งก็คือ ในแต่ละปีญี่ปุ่นนำเข้าไก่สดแช่เย็น-แช่แข็ง และไก่แปรรูปจากประเทศไทยมีมูลค่าเฉลี่ยกว่า 16,000 ล้านบาท ซึ่งถือเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 47-52 ของมูลค่าการส่งออกเนื้อไก่ของไทย การสูญเสียตลาดส่งออกไก่ดังกล่าวได้ส่งผลให้ผู้ประกอบการไทยต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตและแสวงหาโอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ขึ้นมารองรับกับรายได้ที่หดหายไปด้วย

แต่การปรับตัวของผู้ประกอบการไทย ย่อมมิได้เกิดขึ้นโดยลำพัง ท่ามกลางสุญญากาศที่ปราศจากคู่แข่งขันในการช่วงชิงช่องทางธุรกิจนี้ เพราะผู้ประกอบการเลี้ยงสุกรทั้งจากยุโรปและอเมริกา ต่างติดตามสถานการณ์และความเชื่อที่ว่า “วิกฤตของไก่คือโอกาสของหมู”

CPF พยายามขยายบริบททางธุรกิจให้กว้างขวางออกไปจากปริมณฑลของไก่ โดยได้ขยายบริบททางธุรกิจเข้าสู่ Aquaculture และการขยายฐานรายได้ในหมวด Hams & Sausages รวมถึงธุรกิจแปรรูปอาหาร (processed foods) อีกหลากหลายที่กำลังมีบทบาทสำคัญและเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของ CPF ในปัจจุบัน
 
ประเด็นที่น่าสนใจมากของ CPF ก็คือการดำเนินความพยายามและวางยุทธศาสตร์ในการสร้างแบรนด์สินค้าและการยอมรับในคุณภาพให้กับผลิตภัณฑ์ เพื่อการรุกเข้าไปสู่ตลาดโลก และตลาดนานาชาติในระดับยาวไว้อย่างไร
 
ตัวอย่างที่น่าศึกษากรณีหนึ่ง ก็คือ บมจ.ทียูเอฟ ที่ต้องใช้เวลากว่า 20 ปี เพื่อสร้างแบรนด์ของตัวเอง หลังจากอยู่เบื้องหลังรับจ้างผลิต (โออีเอ็ม) อาหารทะเลแช่แข็ง ให้กับผู้ประกอบการต่างๆ ไม่เพียงเท่านั้นยังมีเป้าหมายปั้นแบรนด์องค์กร TUF ให้ติดตลาดโลกด้วย
 
แม้ว่า บมจ.ทียูเอฟจะมีแบรนด์จำหน่ายสินค้าในประเทศบ้างแล้วก็ตาม เช่น ฟิชโช่ (fisho) ซีเล็ค (sealect) และอาหารสัตว์ เช่น อาหารกุ้งยี่ห้อนานามิ หรือดี-โกรว์ (d-grow) หรือ Aquafeed แต่ก็จำหน่ายอยู่ในประเทศ ในขณะที่ตลาดโลกต้องมีแบรนด์ใหม่ที่ต่างออกไป
 
ทว่าหากจะเริ่มสร้างแบรนด์ใหม่โดยไม่มีใครรู้จักอาจเป็นหนทางที่ต้องใช้เวลาไม่น้อย ดังนั้นการเข้าซื้อกิจการบริษัทในต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จอยู่ในตลาด ย่อมเป็นทางลัด จึงทำให้ทียูเอฟซื้อกิจการบริษัท Van Camp Sea-foods ในสหรัฐอเมริกาผู้ผลิตปลาทูน่าและปลาแซลมอน และได้เป็นเจ้าของแบรนด์ Chicken of the sea
 
นอกจากนั้นยังได้เป็นเจ้าของแบรนด์ในยุโรปอีก 4 ยี่ห้อคือ John West, Petit Navire, Hyacinthe Parmentier, Mareblu ที่มีอายุมากกว่า 100 ปี หลังจากเข้าซื้อกิจการบริษัท เอ็มดับบลิว แบรนด์ส
 
การเข้าซื้อกิจการในตลาดยุโรปและสหรัฐอเมริกาทำให้บริษัทสามารถทำตลาดต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ โดยไม่ต้องกังวลเริ่มต้นสร้างแบรนด์ใหม่ หากทำเช่นนั้นบริษัทฯ อาจต้องลงทุน ลงแรงไม่น้อย เพราะตลาดปลาทูน่าในตลาดโลกมีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ในขณะที่พฤติกรรมการบริโภคสินค้าจะนิยมซื้อ สินค้าที่มีประวัติยาวนาน เพราะแสดงให้เห็นถึงความสามารถของธุรกิจที่รักษาแบรนด์ให้คงอยู่ได้
 
การตัดสินใจเข้าไปซื้อแบรนด์ที่มีชื่อเสียงในตลาดอยู่แล้ว นับว่าเป็นการคิดพัฒนาต่อยอดให้กับธุรกิจโดยไม่ต้องเริ่มจากศูนย์
 
อีกกรณีหนึ่งที่น่าสนใจ เป็นกรณีของ ส.ขอนแก่น ที่สามารถแทรกตัวเข้าสู่ตลาดยุโรป (EU) ได้สำเร็จ แม้ว่าการส่งผลิตภัณฑ์จากเนื้อหมูเข้าไปขายในตลาดยุโรปจะมีการกีดกันค่อนข้างมาก โดย ส.ขอนแก่น แก้ปัญหานี้ด้วยการตั้งฐานผลิตในประเทศโปแลนด์ แล้วว่าจ้างบริษัท Paruzel ให้เป็นโรงงานในการผลิตสินค้า และเป็นฐานส่งออกในยุโรป เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าชาวเอเชียที่อยู่ในยุโรป ทั้งในลักษณะของสินค้าภายใต้แบรนด์ ส.ขอนแก่น และบางส่วนจำหน่ายเข้าสู่ตลาด HoReCa โดยตรง
 
แต่จังหวะก้าวดังกล่าวย่อมไม่ใช่หลักประกันในความสำเร็จในอนาคต ขณะที่ข้อเท็จจริงที่น่าสนใจอีกด้านหนึ่งอยู่ที่ยอดขายกว่า 80% ของยอดขายรวมของ ส.ขอนแก่น มาจากธุรกิจอาหารแปรรูปจากทะเล ซึ่งทำให้ธุรกิจนี้กลายเป็นธุรกิจหลัก นอกจากนี้ยังมีการส่งออกไปขายยังตลาดยุโรป อเมริกา จีน ญี่ปุ่น เกาหลี ฮ่องกง และอิสราเอลด้วย
 
ขณะเดียวกัน ส.ขอนแก่น โดยโรงงาน “มหาชัยฟู้ด โปรเซสซิ่ง” ผู้ผลิตอาหารแปรรูปจากทะเล มีแผนขยายธุรกิจผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปจากทะเลอย่างต่อเนื่อง โดยบริษัทกำลังเตรียมลงทุนราว 250 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 13,000 ตันต่อปี เพื่อเตรียมรองรับตลาดประชาคมอาเซียน รวมทั้งประเทศในตะวันออกกลาง โดยคาดว่าหากเดินเครื่องจักรได้เต็มกำลังการผลิตภายในปีนี้ ส.ขอนแก่นก็น่าจะขึ้นแท่นเป็นผู้ผลิตลูกชิ้นทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลกทันที
 
ตลาดอาเซียนที่กำลังจะขยายตัวจากผลของ AEC ส่งผลให้แนวโน้มการลงทุนเพื่อรองรับประชาคมอาเซียนดำเนินไปอย่างคึกคัก โดยจังหวะก้าวของเบทาโกร ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่การเข้าไปลงทุนในกัมพูชา ด้วยการเปิดบริษัท เบทาโกร แคมโบเดีย Betagro (Cambodia ) Company Limited เพื่อดำเนินธุรกิจจำหน่าย อาหารสัตว์ ธุรกิจฟาร์มสุกรพันธุ์ รวมทั้งจำหน่ายเวชภัณฑ์สำหรับสัตว์ และผลิตภัณฑ์อาหารสัตว์ ในราชอาณาจักรกัมพูชามาตั้งแต่ปี 2551
 
นอกจากนี้ เบทาโกร ซึ่งกำหนดเป้าหมายของเครือเบทาโกรไว้ที่การเป็นผู้ผลิตสินค้าต้นน้ำ ในการเลี้ยงปศุสัตว์ที่ปลอดภัย ก่อนที่จะทำการผลิตอาหารที่ปลอดภัยในทุกขั้นตอนการผลิต เพื่อสร้างเสริมคุณภาพชีวิตให้กับผู้บริโภค  ยังสามารถส่งออกผลิตภัณฑ์ของเบทาโกรไปยังญี่ปุ่น อังกฤษ และประเทศในภาคพื้นยุโรป ซึ่งคาดว่าจะเป็นยุทธศาสตร์สำคัญของเบทาโกรในอนาคตอีกด้วย
 
ความมุ่งหมายที่จะรุกตลาดต่างประเทศ ไม่ได้จำกัดอยู่เฉพาะแต่ในหมู่ผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารเท่านั้น หากแต่สำหรับ MK ซึ่งเป็นผู้ประกอบการภัตตาคารรายใหญ่อีกรายก็กำหนดให้การรุกสู่ต่างประเทศเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์การพัฒนาที่สำคัญในช่วงนับจากนี้
 
เป้าหมายของ MK น่าสนใจติดตามในประเด็นที่ประสงค์จะเป็น Asian Brand ที่ได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้บริโภคในแต่ละประเทศ
 
แม้ว่าผู้ประกอบการด้านอาหารของไทยจะวางเป้าหมายและเข็มมุ่งสู่การขยายฐานการผลิตและการตลาดออกไปสู่ต่างประเทศซึ่งเป็นบริบทที่กว้างขวางขึ้น แต่ประเด็นสำคัญสำหรับการรุกคืบไปข้างหน้านอกเหนือจากประเด็นว่าด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาสตร์การพัฒนาของประเทศ โดยเฉพาะในมิติของความมั่นคงทางอาหารแล้ว
 
ประเด็นว่าด้วยคุณภาพของอาหารจากผู้ประกอบการไทย ก็ควรเป็นอีกส่วนหนึ่งที่จะเป็นประหนึ่งธงนำที่ทำให้ “อาหาร” จากผู้ประกอบการไทยเหล่านี้ สามารถปักธงและลงหลักในตลาดต่างประเทศได้อย่างมั่นคงในระยะยาวและบรรลุสู่เป้าหมายทางธุรกิจที่กำหนดไว้