วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > สหพัฒน์ปรับยุทธศาสตร์ “เกียร์สโลว์” ฝ่าวิกฤต

สหพัฒน์ปรับยุทธศาสตร์ “เกียร์สโลว์” ฝ่าวิกฤต

 

ปี 2556 อาจเป็นปีที่เครือสหพัฒน์ต้องเจอมรสุมเศรษฐกิจลูกใหญ่อีกครั้ง โดยเฉพาะปัญหา “กำลังซื้อ” ที่ประเมินผิดพลาด จากเดิมคาดการณ์ว่าจะพุ่งสูงจากการขึ้นค่าแรง 300 บาท และนโยบายจำนำข้าวของรัฐบาล บวกกับธุรกิจส่งออกได้รับผลกระทบจากปัญหาเงินบาทแข็งค่า จนกระทั่งบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือสหพัฒน์ ต้องประกาศแผน “เกียร์สโลว์” เป็นแนวนโยบายให้บริษัทในเครือกว่า 300 บริษัท ชะลอการลงทุนโครงการใหม่และรอจังหวะรุกในปีหน้า
 
แน่นอนว่า วิกฤตครั้งนี้ส่งผลโดยตรง ไม่ใช่แค่เป้าหมายยอดขายเติบโตต่ำสุดในรอบหลายสิบปี ไม่เกิน 5% จากปกติอยู่ในระดับ 10-20% ต้องชะลอด้านการส่งออก ปิดโรงงานบางแห่ง แต่ยังกดดันให้บริษัทในเครือสหพัฒน์ต้องรีบยกเครื่องครั้งใหญ่และปรับโครงสร้างผลักดันผู้บริหารรุ่นใหม่เข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง เพื่อรองรับการแข่งขันในสงครามธุรกิจที่รุนแรงขึ้นและมีทุนต่างชาติเข้ามามากขึ้น
 
อย่างไรก็ตาม ต้องถือว่า เครือสหพัฒน์ขยายอาณาจักรครอบคลุมธุรกิจการผลิตและจำหน่ายสินค้าอุปโภคบริโภคเกือบทุกหมวดในชีวิตประจำวันมากกว่า 30,000 รายการ จากกว่า 100 แบรนด์ ตั้งแต่กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม กลุ่มเครื่องใช้ในครัวเรือน เครื่องใช้ส่วนตัว เครื่องสำอาง เสื้อผ้าตั้งแต่หัวจรดเท้า รองเท้า เครื่องหนัง ทุกเพศทุกวัย
 
การขับเคลื่อนธุรกิจในช่วง 2-3 ปี นอกจากการพัฒนานวัตกรรมด้านสินค้าแล้ว สหพัฒน์ยังพยายามวางเครือข่ายค้าปลีก เพื่อสร้างช่องทางการจำหน่ายสินค้าของตัวเอง มีทั้งร้านสะดวกซื้อหรือ “คอนวีเนียนสโตร์” 108 ช้อป และเพิ่งร่วมทุนกับลอว์สันกรุ๊ป ประเทศญี่ปุ่น เปิดร้าน “ลอว์สัน 108”, ร้านสเปเชียลสโตร์ประเภทดรักสโตร์ “ซูรูฮะ”, ร้านเบเกอรี่ “ เดลิย่า”, ร้านกู๊ดมอร์นิ่ง ฟาร์มเฮาส์ และปลายปีนี้เตรียมเปิดตัวคอมมูนิตี้มอลล์ “เจพาร์ค” ในสวนอุตสาหกรรมศรีราชา ซึ่งถือเป็นโครงการที่บุณยสิทธิ์หมายมั่นปั้นมือให้เป็นต้นแบบก่อนขยายไปยังสวนอุตสาหกรรมอีก 3 แห่ง
 
รวมทั้งรุกเข้าสู่ตลาดทีวีช้อปปิ้ง โดยจับมือกับ ซูมิโตโม คอร์ปอเรชั่น ผู้ผลิตรายการทีวีช้อปปิ้งอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น และห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล เปิดสถานีช้อปชาแนล ซื้อขายสินค้ากันตลอด 24 ชั่วโมง ผ่านช่องสัญญาณดาวเทียม
 
นอกจากนี้ ยังมีธุรกิจด้านการศึกษาอีก 4 แห่ง คือ สถาบันบุนกะแฟชั่น ซึ่งร่วมกับบุนกะแฟชั่นคอลเลจ ประเทศญี่ปุ่น โรงเรียนภาษาและวัฒนธรรมญี่ปุ่นวาเซดะ ซึ่งร่วมมือกับมหาวิทยาลัยวาเซดะ ประเทศญี่ปุ่น ก่อตั้งเมื่อปี 2545 ล่าสุดเปิด 2 สาขาที่อาคารเอ็มไพร์ทาวเวอร์และศรีราชา โรงเรียนสอนแต่งหน้าเอ็มทีไอ และโรงเรียนการบินศรีราชา
 
ส่วนสวนอุตสาหกรรม ซึ่งเปิดรองรับบริษัทในเครือ บริษัทร่วมทุนและเปิดขายพื้นที่ให้บริษัทภายนอกทั้ง  4 แห่ง ได้แก่ สวนอุตสาหกรรมศรีราชา จ.ชลบุรี เนื้อที่ประมาณ 1,600 ไร่ มีโรงงานรวม 81 แห่ง, สวนอุตสาหกรรมกบินทร์บุรี จ.ปราจีนบุรี เนื้อที่ 3,500 ไร่ มีโรงงานเกือบ 40 แห่ง สวนอุตสาหกรรมลำพูน จ.ลำพูน เนื้อที่ 1,200 ไร่ มีโรงงานประมาณ 20 แห่ง และสวนอุตสาหกรรมแห่งใหม่ล่าสุดที่ อ.แม่สอด จ.ตาก เริ่มมีบริษัทเอกชนเข้าไปเปิดโรงงานแล้ว 5 แห่ง
 
แต่หากพูดถึงรายได้หลักกว่า 1.2-1.6 แสนล้าน ส่วนใหญ่มาจากกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญยาวนานเกือบ 70 ปี ทำตลาดในประเทศและตลาดส่งออก ซึ่งกลุ่มโชควัฒนาพยายามปรับโครงสร้างให้เข้ากับสถานการณ์และดันทายาทรุ่นที่ 3 เข้ามามีบทบาทการบริหารงานมากขึ้น ไม่ใช่แค่ลูกมือของผู้ใหญ่รุ่นสองอีกต่อไป

ทั้งนี้ กลุ่มตระกูลโชควัฒนารุ่น 2 หรือลูกๆ ของนายห้างเทียม มีพี่น้อง 8 คน เริ่มจากบุณย์เอก บุญปกรณ์ บุณยสิทธิ์ ศิริยล ศิรินา (ปวโรฬารวิทยา) ณรงค์ บุญชัย และบุญเกียรติ โดยบุณยสิทธิ์ถือเป็นประธานใหญ่ในเครือสหพัฒน์และกำลังผลักดันให้ “บุญชัย” กับ “บุญเกียรติ” เป็นผู้สานต่ออาณาจักรแสนล้านต่อไป
 
ขณะที่ทายาทรุ่น 3 ซึ่งเป็นลูกๆ ของพี่น้องทั้ง 8 คน จำนวน 17 คน มี 3 คนก้าวขึ้นมาเป็นผู้บริหารธุรกิจหลักในเครือสหพัฒน์  คือ ธรรมรัตน์  โชควัฒนา ลูกชายคนโตของบุณยสิทธิ์ที่ถูกฝึกงานอย่างเข้มข้นตั้งแต่จบมหาวิทยาลัยเอแบค เรียนรู้งานตัดเย็บของวาโก้และเสื้อผ้าชนิดต่างๆ นานกว่า 20 ปี ล่าสุดดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ช่วยผู้อำนวยการบริษัท ไอ.ซี.ซี. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) ดูแลผลิตภัณฑ์กลุ่มเสื้อผ้าและสิ่งทอ
 
ธีรดา อำพันวงษ์ กรรมการผู้จัดการและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โอซีซี จำกัด (มหาชน)   ลูกสาวคนที่ 2 ของบุณยสิทธิ์ ดูแลผลิตภัณฑ์กลุ่มเครื่องใช้ส่วนบุคคล กลุ่มเครื่องสำอาง
 
ลูกสาวคนนี้จบปริญญาตรีด้านแฟชั่น เมอเชนไดซิ่งจากสหรัฐอเมริกา เริ่มต้นการทำงานครั้งแรกกับ เพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ที่สหพัฒนพิบูล มีหน้าที่ดูแลการตลาดผลิตภัณฑ์ลอตเต้ ต่อมาบุณยสิทธิ์ดึงตัวให้ช่วยงาน ไอ.ซี.ซี.เพื่อแจ้งเกิดโครงการสร้างแบรนด์ “BSC” หรือ “Selected Collection” เป็นแบรนด์ระดับชาติ ซึ่งก็ประสบความสำเร็จและกลายเป็นแบรนด์หลักในหมวดเครื่องสำอางและเสื้อผ้าของไอ.ซี.ซี.
 ส่วน “เวทิต โชควัฒนา” ทายาทรุ่น 3 อีกคนที่ถูกวางตัวให้เข้ามาจับงานค้าปลีก ซึ่งถือเป็นธุรกิจไลน์ใหม่ของเครือสหพัฒน์
 
เวทิตเป็นลูกชายของบุญย์เอก เคยทำตลาดสินค้าแบรนด์โคนิก้าและเครื่องเสียงอาไกก่อนเข้ามาลุยงานในฐานะผู้บริหารบริษัท ซันร้อยแปด จำกัด ดูแลธุรกิจร้านสะดวกซื้อ 108 ช็อป และกำลังเดินหน้าปูพรมร้านลอว์สัน 108 ขณะเดียวกันก็เข้าไปร่วมทีมการตลาดกับ เพชร พะเนียงเวทย์ ลูกชายของพิพัฒ พะเนียงเวทย์ และชัยลดา ตันติเวชกุล ลูกสาวบุญชัย โชควัฒนา รับผิดชอบผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” หลังจากเพ็ญนภา ธนสารศิลป์ ลาออกไป
 
ในแง่ภาพรวมของสหพัฒน์เอง บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างธุรกิจหลายอย่าง เพื่อรองรับการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ การเปิดประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนหรือเออีซีในปี 2558  โดยตั้งหน่วยธุรกิจต่างประเทศเต็มรูปแบบเป็นครั้งแรก มีบริษัทสหพัฒนพิบูล และบริษัท สหพัฒนาอินเตอร์ โฮลดิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือเอสพีไอ นำร่อง เพื่อเป็นศูนย์กลางการส่งออกและขยายเครือข่ายธุรกิจในต่างประเทศ
 
รูปแบบเป็น “ดิสทริบิวชั่นคอมปะนี” เพื่อจัดจำหน่ายสินค้าของเครือสหพัฒน์และสินค้าไทยอื่นๆ ล่าสุดเริ่มเปิดดิสทริบิวชั่นคอมปะนีในเวียดนาม พม่า และเตรียมแผนขยายไปประเทศอื่นๆ ทั้งอาเซียน ยุโรป อเมริกา และตะวันออกกลาง
 
ด้าน “ไอ.ซี.ซี.อินเตอร์เนชั่นแนล” ธรรมรัตน์กำลังเร่งปรับโครงสร้างการบริหารงานครั้งใหญ่ในรอบ 43 ปี โดยปรับสินค้าทั้งหมด 60 แบรนด์ จากสินค้าทั้งหมดกว่า 100 กลุ่มผลิตภัณฑ์ ตั้งแต่กระบวนผลิต การจัดหาวัตถุดิบ และการจัดซื้อ ซึ่งจะต้องลงทุนระบบไอทีเพิ่มมากขึ้น เพื่อทำให้การจัดจำหน่ายสินค้าไปสู่คู่ค้ารวดเร็วขึ้นภายใน 1 วัน จากที่ผ่านมาการจัดส่งใช้เวลานาน 7 วัน
 
สำหรับบริษัทโอซีซี ซึ่งมีเครื่องสำอางแบรนด์ดังอย่างคัฟเวอร์มาร์ค เคเอ็มเอ เสื้อผ้า “กีลาโรช” นั้น  ธีรดาวางแผนปรับเปลี่ยนรูปแบบสินค้าให้เหมาะสมกับผู้หญิงเอเชีย สภาพอากาศ และเพิ่มไลน์สินค้า เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่และนักท่องเที่ยว รวมทั้งขยายตลาดประเทศกลุ่มเออีซี โดยใช้แบรนด์ “กีลาโรช” และ “เคเอ็มเอ” เป็นตัวเจาะ เริ่มที่เวียดนาม กัมพูชา และพม่า
 
ในอนาคตหลังเปิดเออีซีปี 2558 โอซีซีตั้งเป้าหมายปักธงบุกตลาดพม่าเต็มรูปแบบ ขณะนี้อยู่ระหว่างศึกษาตลาด ทำเลร้านค้า กำลังซื้อ ราคาที่เหมาะสม และพฤติกรรมการใช้สินค้า
 
ขณะที่เวทิต โชควัฒนา กรรมการบริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) ต้องลุยงานใหญ่ เรื่องการปรับเปลี่ยนรูปโฉมร้าน108 ช็อปเดิม เป็นร้านลอว์สัน 108 โดยตั้งเป้าเปิดครบ 50 สาขาภายในสิ้นปีนี้ ประกอบด้วยสาขาเปิดใหม่  20 สาขา และสาขาเก่าที่ปรับใหม่อีก 30 สาขา เน้นพื้นที่ในกรุงเทพฯ หลังจากนำร่องเปิดร้านลอว์สัน 108  จำนวน 3 สาขาที่หน้าอาคารสำนักงานสหพัฒนพิบูล สาขาลาดพร้าว101 และสาขาร่มเกล้า
 
ต้องถือว่า ร้านลอว์สัน 108 เป็น “หมัดเด็ด” ของเครือสหพัฒน์ในการกระจายสินค้าเข้าถึงกลุ่มผู้บริโภคและลดต้นทุนส่วนหนึ่งในการวางจำหน่ายผ่านร้านสะดวกซื้อยักษ์ใหญ่อย่างเซเว่น-อีเลฟเว่น แฟมิลี่มาร์ท รวมถึงซูเปอร์สโตร์รายใหญ่ที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมสูงลิบลิ่ว เพื่อสร้างทางเลือกให้ผู้ผลิตสินค้ารายอื่นและผู้บริโภค ซึ่งทั้งหมดต้องดูฝีมือการบริหารร่วมกับญี่ปุ่นของเวทิตว่าจะแก้มือจากกรณีร้าน 108 ช็อป ที่ดูเหมือนไม่ค่อยประสบความสำเร็จมากนัก

ปัจจุบัน ร้าน 108 ช็อป มีจำนวนสาขา 600 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นสาขาที่บริษัทลงทุนเอง 300 สาขา และสาขาร้านแฟรนไชส์ 300 สาขา โดยสาขาที่ลงทุนเอง 300 สาขา จะอยู่ในกลุ่มที่จะปรับเป็นร้านลอว์สันและชูจุดขายเรื่องอาหารสำเร็จรูปสไตล์ญี่ปุ่น
 
ทั้งหมดทั้งปวง ไม่ว่าจะเป็นการปรับโครงสร้าง การยกเครื่องกระบวนการผลิตสินค้า การรุกเจาะตลาดเพื่อนบ้าน หรือแม้กระทั่งการงัดยุทธศาสตร์ “เกียร์สโลว์” ชะลอแผนลงทุน เพื่อรอจังหวะและโอกาสที่ดีกว่า 

70 ปี ของเครือสหพัฒน์ จากร้านโชวห่วยขายของเบ็ดเตล็ดในตรอกอาเนียเก็ง ถนนทรงวาด จนกลายเป็นอาณาจักรธุรกิจกว่าแสนล้าน ปรัชญาและแนวคิดหลักล้วนมาจาก 4 ตัวอักษรของนายห้างเทียม “เร็ว ช้า หนัก เบา” นั่นเอง