Bryan Haycock ผู้เขียนหนังสือ Hypertrophy – Specific Training และผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมฟิตเนสมานานกว่า 25 ปี ให้คำแนะนำที่น่าสนใจสำหรับผู้ต้องการลดน้ำหนักว่า ว่ายน้ำเป็นการออกกำลังกายแบบแอโรบิกก็จริง แต่ไม่เหมาะกับการลดน้ำหนัก
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร American Journal of Sports Medicine กล่าวถึงการว่ายน้ำที่มีผลต่อการลดน้ำหนักว่า ได้แบ่งกลุ่มหญิงสาวแข็งแรงแต่มีน้ำหนักตัวเกิน และต้องการลดน้ำหนักออกเป็น 3 กลุ่ม จากนั้นมอบหมายให้แต่ละกลุ่มออกกำลังกายแตกต่างกันเป็นประจำทุกวัน
กลุ่มแรก ให้เดินเร็ว
กลุ่มที่สอง ให้ปั่นจักรยานอยู่กับที่
กลุ่มที่สาม ให้ว่ายน้ำ
จากนั้นให้ทุกคนเพิ่มเวลาการออกกำลังกายทุกวันเป็นครั้งละ 60 นาที หลังจาก 6 เดือนไปแล้ว ปรากฏว่า หญิงสาวที่ออกกำลังกายด้วยการเดินเร็ว สามารถลดน้ำหนักตัวได้ร้อยละ 10 ขณะที่กลุ่มปั่นจักรยานอยู่กับที่ลดได้ร้อยละ 12 แต่กลุ่มว่ายน้ำกลับลดน้ำหนักไม่ได้เลย
ยิ่งกินน้ำตาลมาก ไขมันยิ่งพอกพูนต้นขาและสะโพก
Bryan Haycock ผู้เขียนหนังสือ Hypertrophy – Specific Training และผู้คร่ำหวอดในอุตสาหกรรมฟิตเนสมานานกว่า 25 ปี อธิบายว่า เซลล์ไขมันที่อยู่ใต้ชั้นผิวหนังที่เรียกว่า subcutaneous fat แตกต่างจากไขมันที่พบโดยทั่วไปในช่องท้องของเราในแง่การตอบสนองต่ออาหารและการออกกำลังกาย
ข้อเท็จจริงคือ ไขมันที่เกาะอยู่โดยรอบอวัยวะภายในร่างกาย จะหยุดพอกพูนเพิ่มขึ้นเมื่อมีการจำกัดพลังงานที่บริโภคและออกกำลังกาย ขณะที่การกำจัดไขมันใต้ผิวหนังต้องการกิจกรรมที่มากกว่าการลดอาหารและการออกกำลังกาย
สิ่งสำคัญที่ต้องรู้เกี่ยวกับการลดไขมันบริเวณสะโพกและต้นขาคือ เซลล์ไขมันเหล่านี้ไวต่อฮอร์โมนอินซูลินมาก เมื่อเราบริโภคคาร์โบไฮเดรตปริมาณมาก (โดยเฉพาะน้ำตาล) อินซูลินจะเพิ่มระดับสูงขึ้นมาก อินซูลินทำหน้าที่ป้องกันไม่ให้เซลล์ไขมันตอบสนองต่อร่างกายที่สั่งให้มันปลดปล่อยไขมันออกมา ตราบใดที่ในอาหารยังมีน้ำตาลรูปแบบต่างๆ เป็นส่วนผสม เซลล์ไขมันจอมดื้อเหล่านี้จะไม่ตอบสนองต่อการลดอาหารและการออกกำลังกายโดยเด็ดขาด
คำแนะนำคือ ให้คงการออกกำลังกายที่ทำในปัจจุบันเอาไว้ จากนั้นพยายามเน้นที่การลดน้ำตาลในอาหารทุกวิถีทาง รวมทั้งขนมหวานต่างๆ เมื่อควบคุมการบริโภคจนเข้าที่ภายในสองสามสัปดาห์ และรู้สึกสบายๆ กับอาหารดังกล่าวแล้ว จึงเริ่มออกกำลังกายอย่างจริงจัง
กลูเตนกับโรคความผิดปกติในช่องท้อง
กลูเตนเป็นอาหารก่อภูมิแพ้ เกิดจากการรวมกันของโปรตีนสองตัวคือ gliadin และ glutenin พบในธัญพืชข้าว ข้าวสาลี ข้าวไรย์ และข้าวบาร์เลย์ พบในผลิตภัณฑ์อาหารที่ทำจากธัญพืชดังกล่าว และในซอสปรุงรสที่มีแป้งผสมเพื่อให้เนื้อซอสเข้มข้น ธัญพืชที่ไม่มีกลูเตนโดยธรรมชาติที่สำคัญคือข้าว (rice มีโปรตีน glutenin แต่ไม่มีโปรตีน gliadin) และข้าวโพด
ในคนป่วยที่เป็นโรคความผิดปกติในช่องท้อง กลูเตนสร้างปัญหาให้ด้วยการกระตุ้นระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายให้เข้าทำลายปุ่มเล็กๆ จำนวนมากที่ยื่นออกจากผนังลำไส้เล็กเพื่อเพิ่มพื้นที่ผิวในการดูดซึมสารอาหาร ที่สำคัญอาการความผิดปกติในช่องท้องสร้างปัญหาให้มากกว่าที่คิด เพราะเชื่อมโยงกับโรคโลหิตจาง โรคกระดูกพรุน และภาวะมีบุตรยาก
โรคความผิดปกติในช่องท้องเป็นโรคภูมิต้านเนื้อเยื่อของตนเอง ซึ่งยังไม่มีวิธีรักษา การหลีกเลี่ยงกลูเตนจึงเป็นหนทางเดียวในการบรรเทาความรุนแรงของโรค
ชาวอเมริกันร้อยละ 1 หรือประมาณ 3 ล้านคนป่วยเป็นโรคความผิดปกติในช่องท้อง และมีจำนวนมากกว่านี้ที่ไวต่อกลูเตน นั่นคือ ไม่สามารถทนต่อกลูเตนได้ หมายความว่าคนกลุ่มนี้ไม่เพียงต้องพบปัญหาลำไส้เล็กถูกทำลาย แต่อาจมีปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ตามมา เช่น ท้องเสีย อาการลมแน่นในช่องท้อง อ่อนเพลีย และปวดศีรษะ
Column: Well-Being
เรียบเรียง: ดรุณี แซ่ลิ่ว
ที่มา: นิตยสาร Muscle & Fitness Hers