วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Entrepreneurship > SMEs > KBank จับคู่พ่อค้า ไทย-จีน เสริมกลยุทธ์ ธุรกิจ เอสเอ็มอี

KBank จับคู่พ่อค้า ไทย-จีน เสริมกลยุทธ์ ธุรกิจ เอสเอ็มอี

จากภาพรวมการค้าการลงทุนธุรกิจเอสเอ็มอีไทย-จีน ที่ดำเนินไปด้วยดี ธนาคารกสิกรไทย
เล็งเห็น ช่องทางในการหาลู่ทางจับคู่ทางธุรกิจ หวัง สร้างเครือข่ายและหากลยุทธ์เพื่อเพิ่มมูลค่าทางการค้า โดยเน้น ธุรกิจ มันสำปะหลัง เป็นหลัก คาดจะสามารถกระตุ้นการส่งออกมันสำปะหลังไปยังจีนในปีนี้ได้ถึง 1 ล้านตัน มูลค่าราว 7,000 ล้านบาท

พิพิธ เอนกนิธิ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ระบุว่า ภาพรวมการค้าระหว่างไทยกับจีน
ในปีที่ผ่านมา มีมูลค่าการค้าสูงถึง 78,684.81 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 2.08 ล้านล้านบาท สูงขึ้นจากปี 2554 ร้อยละ 12.5 ปัจจัยที่ช่วยกระตุ้นให้จีนมีการลงทุนทั้งภายในประเทศและนอกประเทศ มาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน ประกอบกับการผลักดันแผนพัฒนาเศรษฐกิจแห่งชาติจีนที่จะใช้ระหว่างปี 2554-2558 ซึ่งมุ่งเปลี่ยนความเป็นชนบทสู่ความเป็นเมือง

โดยปัจจุบัน มันสำปะหลัง เป็นสินค้าพืชไร่ ที่จีนนำเข้ามาจากไทยสูงเป็นอันดับ 6 คิดเป็นมูลค่า
การส่งออกในปี 2555 อยู่ที่ประมาณ 1,496.33 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัวจากปี 2554 ร้อยละ 10.10 ครองส่วนแบ่งทางการตลาดในจีนได้ถึงร้อยละ 68.9 ของมูลค่าการนำเข้ามันสำปะหลังทั้งหมดของจีน
และคาดว่าในปี 2556 จะขยายตัวในอัตราร้อยละ 14-18

การที่ ธนาคารกสิกรไทย ได้จัดกิจกรรมการจับคู่ธุรกิจระหว่างนักธุรกิจไทยและนักธุรกิจจีน
(Sino-Thai Business Matching) ด้วยการนำคู่ค้ามาพบกันผ่านความร่วมมือของเหล่าพันธมิตรเพื่อให้
เกิดการค้าการลงทุนอย่างแท้จริง ทั้งนี้เพือ่เป็นการสร้างความมั่นใจและเข้าใจการทำธุรกิจในประเทศจีน
ให้กับผู้ประกอบการไทย และสนองนโยบายรัฐบาลจีนที่สนับสนุนให้ผู้ประกอบการจีนออกมาลงทุนในต่างประเทศซึ่งจะนำไปสู่ความสัมพันธ์อันดีทางการค้าและก่อให้เกิดมูลค่าทางธุรกิจระหว่างไทย-จีนในอนาคต รวมถึงยังเป็นการสร้างโอกาสให้ประเทศไทยได้เป็นศูนย์กลางในการขยายตลาดเข้าสู่ AEC ที่กำลังจะมาถึงด้วย

พัชร สมะลาภา รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันมีลูกค้าผู้ประกอบการจีนที่เข้ามาลงทุนในไทยเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่อง เนื่องจาก ไทยเป็นประเทศที่มีวัตถุดิบทางเกษตรกรรมอยู่จำนวนมาก ผู้ประกอบการจีนต้องการเข้ามาลงทุนในไทยเพื่อจะได้อยู่ใกล้แหล่งวัตถุดิบ
ซึ่งจะง่ายต่อการควบคุมคุณภาพวัตถุดิบก่อนส่งออกไปยังประเทศจีน อีกทั้งในปัจจุบันประเทศจีนมีกฎหมายสั่งห้ามนำธัญพืชหลัก 5 ประเภทมาใช้ผลิตในอุตสาหกรรม เนื่องจากจีนกำลังประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร เพราะจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น

ทั้งนี้ ประเทศไทยถือเป็นประเทศในอันดับต้น ๆ ที่ส่งออกมันสำปะหลังไปยังประเทศจีนอย่างต่อเนื่องโดยเฉพาะมันเส้น ด้วยมูลค่าไม่ต่ำกว่า 1,074 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ในปี 2555 ซึ่งคิดเป็นร้อยละ 98 ของมูลค่าการส่งออกมันสำปะหลังทั้งหมดของไทย ครองมูลค่าส่วนแบ่งตลาดในจีนได้ถึงร้อยละ 69.7 ของมูลค่าการนำเข้ามันสำปะหลังทั้งหมด

ทั้งนี้ ปัจจุบันการซื้อขายมันสำปะหลัง ของพ่อค้าไทย- จีน จะต้องผ่านพ่อค้าคนกลาง ซึ่งทำให้ผู้ประกอบการจีนรู้จักลูกค้าไทยที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับมันสำปะหลังน้อยราย การได้รับสินค้าไม่เพียงพอต่อความต้องการ ในขณะที่ทางผู้ประกอบการไทยเองก็มีความต้องการที่จะหาคู่ค้าที่รับซื้อมันสำปะหลังเพิ่มขึ้น ธนาคารจึงมองเห็นโอกาสในการช่วยจับคู่ธุรกิจให้กับผู้ประกอบการไทยและจีน โดยทำเป็นกิจกรรม Business Matching นี้ขึ้นมา เพื่อให้คู่ค้าได้พบกัน

” เราจะจัดกิจกรรมนี้ ต่อไปอย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นไปที่เครือข่ายอุตสาหกรรมประเภทพืชไร่ เช่น ยางพาราและลำไยอบแห้งเป็นหลัก เพราะถือว่าเป็นสินค้าที่ยังเป็นต้องการของตลาดจีน ทั้งนี้ ธนาคารหวังว่า จะ สามารถช่วยสร้างเครือข่ายธุรกิจให้แข็งแกร่งและแน่นแฟ้นได้จะเป็นการช่วยให้เศรษฐกิจของทั้งสองประเทศขับเคลื่อนต่อไปได้อย่างมั่นคงแน่นอน ” พัชร กล่าวสรุป..