วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > Recreation > Well-Being > เท่าทันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

เท่าทันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

 

แต่ก่อนหากพูดถึงมะเร็งไม่ว่าจะเป็นมะเร็งชนิดใดก็ตามมโนภาพอันน่าสะพรึงกลัวของโรคร้ายที่ไม่มีหนทางเยียวยาก็ผุดขึ้นมาอย่างที่ไม่อยากให้เกิดขึ้นกับใครอีก ทว่าเมื่อไม่นานมานี้ความรู้สึกเหล่านั้นค่อยๆ เลือนลง จากความหวาดหวั่นถูกแทนที่ด้วยความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์การแพทย์สมัยใหม่ 
 
แม้ว่ายังไม่มีวิธีใดพิชิตโรคร้ายนี้อย่างได้ผลเต็มร้อย แต่เทคนิคการรักษามะเร็งบางชนิดของประเทศญี่ปุ่นในปัจจุบันอาจกล่าวได้ว่าสามารถป้องกันและ/หรือตรวจคัดกรองโรคได้ก่อนในระยะเริ่มต้น ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มอัตราการรักษาจนหายขาดได้สูงยิ่งขึ้น ภายใต้ความร่วมมือของผู้ป่วยที่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรคและปฏิบัติตนตามคำแนะนำของแพทย์อย่างถูกต้อง ซึ่งหนึ่งในที่กล่าวมานั้นคือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก
 
มดลูกเป็นอวัยวะสำคัญในระบบสืบพันธุ์ของเพศหญิงซึ่งมีอุบัติการของมะเร็ง 2 ชนิดได้แก่มะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกและมะเร็งปากมดลูก
 
การป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมีส่วนสัมพันธ์กับการเกิดรอบเดือนของสตรีอย่างใกล้ชิด ซึ่งอรรถาธิบายโดยภาพรวมคือเมื่อสตรีเข้าสู่วัยเจริญพันธุ์แล้วรังไข่จะหลั่งฮอร์โมนเอสโตรเจนซึ่งเป็นฮอร์โมนเพศหญิงที่กระตุ้นให้เกิดการสร้างเยื่อบุบริเวณผนังด้านในของโพรงมดลูกให้หนาตัวขึ้นเตรียมพร้อมสำหรับการฝังตัวของไข่ที่เกิดการปฏิสนธิ
 
จนกระทั่งหลังช่วงเวลาตกไข่ ส่วนที่เรียกว่า corpus luteum ในรังไข่จะหลั่งฮอร์โมนเพศหญิงอีกชนิดหนึ่งชื่อโปรเจสเตอโรนมาเพิ่ม ฮอร์โมนเพศหญิงทั้งสองชนิดนี้ทำหน้าที่ประสานกันเพื่อรองรับการตั้งครรภ์และป้องกันการแท้งบุตร ในทางกลับกันหากไม่มีการปฏิสนธิเกิดขึ้นปริมาณของฮอร์โมนเอสโตรเจนและโปรเจสเตอโรนจะลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ไข่ที่ไม่ได้รับการปฏิสนธิและเยื่อบุที่สร้างเตรียมไว้ในผนังด้านในของมดลูกหลุดลอกออกมากลายเป็นประจำเดือน
 
ถ้าบังเอิญเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นในโพรงมดลูกด้วยสาเหตุใดก็ตามประจำเดือนสม่ำเสมอเป็นกลไกตามธรรมชาติทำหน้าที่ป้องกันการเจริญเติบโตของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก่อนถึงระยะที่ลุกลามเป็นอันตรายต่อร่างกาย
 
เมื่อเข้าสู่วัยทองซึ่งเป็นช่วงอายุที่ไม่มีการตกไข่แล้วดังนั้นรังไข่จึงไม่หลั่งฮอร์โมนเพศหญิงส่งผลให้ไม่มีประจำเดือน แต่ในสตรีวัยทองบางคนโดยเฉพาะคนที่มีน้ำหนักตัวมากกว่าเกณฑ์เฉลี่ย (BMI*>25) อาจจะยังมีการสังเคราะห์ฮอร์โมนเอสโตรเจนได้จากเซลล์สะสมไขมันซึ่งกระตุ้นให้โพรงมดลูกหนาตัวขึ้นอย่างต่อเนื่องแต่ไม่เกิดรอบเดือน
 
ในกรณีนี้หากเกิดเซลล์มะเร็งขึ้นที่โพรงมดลูกก็จะมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกมากกว่าสตรีวัยทองที่มีน้ำหนักร่างกายในเกณฑ์ปกติประมาณ 2.5 เท่า นอกจากนี้โรคบางอย่าง เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง, สตรีที่ไม่เคยตั้งครรภ์หรือตั้งครรภ์น้อยครั้งอาจมีความเสี่ยงต่ออุบัติการของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกได้เช่นกัน
 
จากสถิติของจำนวนผู้ป่วยมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกในญี่ปุ่นพบว่าประมาณ 80-90% เป็นสตรีวัยทองที่มีปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวอย่างน้อย 1 อย่าง ส่วนอีกราว 10% เป็นสตรีที่ไม่ได้จัดอยู่ในกลุ่มที่มีปัจจัยเสี่ยงแต่มีประวัติของคนในครอบครัวที่เกี่ยวข้องกับมะเร็ง
 
ไม่ว่าจะเป็นสตรีวัยเจริญพันธุ์หรือสตรีวัยทองล้วนสามารถล่วงรู้หรือเฝ้าระวังการเกิดมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกที่มีอาการบ่งชี้สำคัญคือ การมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุ ทั้งนี้เป็นข้อสังเกตร่วมกับปริมาณเลือดที่มากหรือน้อยกว่าปกติ รวมถึงสีของเลือดที่ผิดแปลกไปเช่น เป็นสีแดงออกน้ำตาล 
 
ในทางตรงกันข้ามการมีเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ได้หมายความว่าจะต้องเป็นอาการเริ่มแรกของมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกเสมอไป เนื่องเพราะยังมีสาเหตุอื่นที่ทำให้มีเลือดออกทางช่องคลอดได้เช่น ประจำเดือนที่ไม่สม่ำเสมอ, เนื้องอกชนิดธรรมดา, พังผืดในมดลูก, การรับประทานยาหรืออาหารบางประเภทที่มีส่วนผสมของฮอร์โมนเอสโตรเจนโดยตั้งใจหรือไม่ได้ตั้งใจ เป็นต้น
 
ภาวะเลือดออกทางช่องคลอดโดยไม่ทราบสาเหตุไม่ใช่เรื่องน่าอาย อีกทั้งเทคนิคการตรวจคัดกรองมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็ทำได้ง่าย ดังนั้นควรรีบปรึกษาสูตินรีแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุที่แท้จริง 
 
เพราะข้อเท็จจริงสำคัญประการหนึ่งก็คือมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกสามารถเฝ้าระวังและป้องกันในเบื้องต้นได้ด้วยตัวเอง 
 
นอกจากนี้การตรวจร่างกายประจำปีโดยละเอียดก็มีส่วนช่วยป้องกันมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกรวมถึงมะเร็งชนิดอื่นได้อีกทางหนึ่งก่อนที่จะเกิดแสดงอาการ
 
ซึ่งแม้หากตรวจพบมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูกก็ตาม การทราบผลตั้งแต่ในระยะแรกจะช่วยเพิ่มโอกาสการรักษาให้หายขาดได้ทันท่วงที
 
 
*BMI ย่อมาจาก Body Mass Index หรือดัชนีมวลกายซึ่งใช้อ้างอิงสมดุลระหว่างน้ำหนักกับส่วนสูง โดยคำนวณได้จากสมการ ดัชนีมวลกาย = น้ำหนัก (กิโลกรัม) หารด้วยส่วนสูงยกกำลังสอง (เมตร2) ซึ่งผลการคำนวณแบ่งเป็น
BMI ต่ำกว่า 18.5 : ผอม
BMI อยู่ระหว่าง 18.5-25 : สมส่วน
BMI อยู่ระหว่าง 25-30 : น้ำหนักเกิน
BMI มากกว่า 30 : อ้วน
 
ภาพดัดแปลงจาก http://www.hashii.info
 
โดย ชุมพล ธีรลดานนท์