วันอังคาร, ตุลาคม 8, 2024
Home > Recreation > Well-Being > เมล็ดเจีย – อาหารวิเศษยุคศตวรรษที่ 21

เมล็ดเจีย – อาหารวิเศษยุคศตวรรษที่ 21

Kununurra ได้ชื่อว่าเป็นเมืองห่างไกลที่สุดเมืองหนึ่งของออสเตรเลีย ตั้งอยู่ในหุบเขาออร์ด บริเวณชายแดนตอนเหนือของรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลียและนอร์ทเทิร์น เทอร์ริทอรี ผลพวงจากการพัฒนาโครงการชลประทานแม่น้ำออร์ดเมื่อไม่นานมานี้ ช่วยพัฒนาให้ Kununurra กลายเป็นแผ่นดินทองของการเกษตร เป็นแหล่งปลูกผลไม้เมืองร้อนหลากหลาย รวมถึง “เมล็ดเจีย” (chia) อาหารวิเศษยุคศตวรรษที่ 21
 
ที่นี่เป็นที่ตั้งของไร่เจียขนาดใหญ่ที่สุดในโลก มีทุ่งดอกเจียสีม่วงสวยสดใส ทอดตัวยาวไปจนสุดลูกหูลูกตา มี John Foss เกษตรกรท้องถิ่นเป็นผู้นำ เขาปลูกเมล็ดเจียครั้งแรกเมื่อปี 2005
 
Foss เป็นเกษตรกรรุ่นที่สี่ผู้เติบโตในฟาร์มข้าวสาลีทางตอนใต้ของเพิร์ท เขาเดินตามรอยเท้าของครอบครัวด้วยความกระตือรือร้น จนได้ทุนการทำเกษตรนัฟฟิลด์เมื่อปี 2000 ทำให้ได้เดินทางไปต่างประเทศ และทำวิจัยด้านการผลิตอาหารอย่างหลากหลาย รวมทั้งลงมือทำการเกษตรด้วยตนเองตั้งแต่ขั้นพื้นฐานขึ้นไป
 
ช่วงเวลาที่อยู่ต่างประเทศ Foss เรียนรู้เรื่องราวที่เป็นสากลสำหรับเกษตรกรมากมาย
 
“ในทุกที่ที่ผมไป ปัญหาพลังงาน น้ำ และความยั่งยืน เป็นประเด็นสำคัญที่สุดที่ทุกคนวิตกกังวล และเป็นหัวใจของความริเริ่มด้านการเกษตร ผมจึงตัดสินใจว่า การค้นหาพืชที่เป็นคำตอบของความวิตกกังวลดังกล่าวเป็นสิ่งสำคัญมาก”
 
ในเวลาเดียวกัน อุปสงค์ของผู้บริโภคที่มีต่อผลิตภัณฑ์ที่ส่งเสริมให้มีสุขภาพแข็งแรง และความเป็นอยู่ที่ดีก็สูงขึ้นอย่างรวดเร็ว “ผู้บริโภคที่สหรัฐฯ และยุโรป หันไปหา “อาหารวิเศษ” ซึ่งเป็นกระแสสังคมที่หันมาต่อต้านการพึ่งพาอาหารแปรรูปอย่างมาก ทำให้พืชผลที่เป็นอาหารวิเศษกลายเป็นที่ต้องการสูงขึ้นมากอย่างฉับพลัน ผมเองก็อยากปลูกพืชที่มีผลต่อสุขภาพ และทำให้โภชนาการของผู้บริโภคดีขึ้น”

อาหารเช้าของชาวเม็กซิโก
Foss รู้จักเจียครั้งแรกที่เม็กซิโก โดยคนงานในฟาร์มสาธิตวิธีผสมเมล็ดเจียกับน้ำ พริกป่นเล็กน้อย และบีบน้ำมะนาวลงไป กลายเป็นเครื่องดื่มสำหรับอาหารเช้าที่เรียกว่า “เจีย เฟรสกา” พร้อมกับรับรองว่าดื่มแล้วทำให้อายุยืนและสุขภาพดี
 
เจียมีต้นกำเนิดในเม็กซิโกและกัวเตมาลา เป็นอาหารหลักของชนเผ่าแอซแทคและมายา พวกเขาไม่เพียงบริโภคเมล็ดเจียในรูปของอาหารและเครื่องดื่ม แต่ยังใช้ในทางการแพทย์ รวมทั้งใช้ทาหน้าและลำตัว กล่าวกันว่า นักรบของชนเผ่าแอซแทคบริโภคเจียก่อนออกรบ เพราะเชื่อว่าให้โปรตีนเสริมสร้างกล้ามเนื้อ และช่วยบรรเทาอาการหิวโหยได้  ในวัฒนธรรมชนเผ่ามายา คำว่า chia หมายถึง “ความแข็งแกร่ง” และคนนำข่าวที่เดินทางด้วยเท้าของชนเผ่ามายา ต้องมีเมล็ดเจียติดตัวไปด้วย และใช้เป็นอาหารเพิ่มพลังงานระหว่างการเดินทางอันยาวนาน

เมล็ดพันธุ์แห่งความคิด
เมื่อกลับถึงบ้าน Foss เสี่ยงปลูกเมล็ดเจียบนพื้นที่ 5 เฮกตาร์ในหุบเขาออร์ด ซึ่งอยู่ต่ำกว่าเส้นศูนย์สูตร 15 องศา มีฝนเบาบาง และช่วงเวลากลางวันยาวนาน จึงเป็นดินแดนในอุดมคติสำหรับปลูกเมล็ดเจีย
 
Foss ประสบความสำเร็จจากผลผลิตรุ่นแรก ปีต่อมาจึงร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่น และชักชวนให้พวกเขาปลูกพืชชนิดใหม่ดูบ้าง โดยได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลรัฐเวสเทิร์นออสเตรเลีย ซึ่งร่วมมือกับเกษตรกรท้องถิ่นเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกเป็น 750 เฮกตาร์ และเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ 750 ตัน ส่วนใหญ่ส่งออกสู่ตลาดสหรัฐฯ และแคนาดา ที่มีความต้องการรออยู่พร้อมกับตลาดอาหารเพื่อสุขภาพที่มั่นคง

ดีต่อสุขภาพ
Foss อธิบายว่า “เพราะดินแดนแถบนี้มีช่วงเวลากลางวันยาวนาน ทำให้เมล็ดเจียของเราผลิตกรดไขมันโอเมกา – 3 ได้มากกว่า การที่เราเข้าถึงน้ำได้ ทำให้สามารถควบคุมสารอาหารในเมล็ดเจียได้ดีกว่าผลผลิตจากอเมริกากลางและใต้”
  
กรดไขมันโอเมกา – 3 ปริมาณสูงที่มีอยู่ในเมล็ดเจีย เป็นผลดีต่อสุขภาพหัวใจ ผลการวิจัยปี 2008 ของมหาวิทยาลัยโทรอนโตยอมรับว่า เมล็ดเจียสามารถลดความดันโลหิตและภาวะอักเสบ รวมทั้งทำให้เลือดไม่หนืดข้น
 
เมล็ดเจียยังมีโปรตีนสูงและคาร์โบไฮเดรตต่ำ จึงเป็นอาหารยอดนิยมในหมู่นักนิยมอาหารที่เลียนแบบบรรพบุรุษยุคอาศัยอยู่ในถ้ำหรือ Paleo Diet รวมทั้งผู้ที่ต้องการเพิ่มปริมาณการบริโภคโปรตีน
 
นักกำหนดอาหารยังยกนิ้วให้เมล็ดเจียเป็นอาหารลดความรู้สึกอยากอาหารหรือหิวโหย เพราะคุณสมบัติการอุ้มน้ำได้นั่นเอง เมื่อนำไปผสมกับน้ำ เมล็ดเจียจะดูดซึมน้ำจนพองตัวมีขนาดใหญ่ขึ้นเกือบสองเท่าตัว และมีวุ้นเคลือบอยู่ตรงพื้นผิวด้านนอก จึงนำไปเป็นส่วนผสมของผลิตภัณฑ์อาหารได้มากมาย ทำให้อาหารเหล่านั้นย่อยง่ายขึ้น

เมล็ดเจียยังเป็นแหล่งเส้นใยที่ไม่มีกลูเต็นเป็นส่วนผสม จึงเหมาะสำหรับผู้เป็นโรคแพ้กลูเต็น และอาจเป็นประโยชน์ต่อผู้มีปัญหาความผิดปกติในช่องท้องและระบบย่อยอาหาร

อาหารวิเศษนี้ยังช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่ (ด้วยการควบคุมอาการสวิงขึ้นและลงของพลังงาน และลดความอยากบริโภคน้ำตาล) และลดระดับไขมันในเลือด นอกจากนี้ยังมีแคลเซียมและสารต้านอนุมูลอิสระสูง ที่สำคัญมีธาตุเหล็กสูงกว่าผักโขมถึงสามเท่า ทำให้ Foss ต้องรีบออกตัวว่า “เราระมัดระวังเสมอที่จะไม่โอ้อวดสรรพคุณของเมล็ดเจียจนเกินจริง แต่มันเป็นอาหารวิเศษจริง ๆ เป็นความยิ่งใหญ่ของธรรมชาติที่มอบให้กับเรา”

ผงาดในตลาดโลก
ปี 2009 สหภาพยุโรปประกาศว่า เมล็ดเจียเป็น “อาหารมหัศจรรย์” และรับรองการนำมาเป็นส่วนผสมในขนมปังและผลิตภัณฑ์ขนมอบต่าง ๆ “การยอมรับของยุโรปหมายความว่ามีตลาดส่งออกเปิดกว้างสำหรับเรา” Foss อธิบาย ซึ่งในเวลาไล่เลี่ยกัน เมล็ดเจียเริ่มได้รับความนิยมในออสเตรเลียมากขึ้นเช่นกัน
 
เจียเป็นพืชที่ใช้เวลาปลูกเพียงสี่เดือน ฤดูเพาะปลูกเริ่มช่วงต้นฤดูแล้งคือพฤษภาคม และเก็บเกี่ยวก่อนถึงฤดูฝนคือกันยายน “สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเราคืออากาศที่แห้ง เพราะถ้าถูกน้ำหรือเปียกเมื่อไร เมล็ดเจียจะอุ้มน้ำและพองตัวไม่สามารถทำให้คืนสภาพได้อีก”