วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Recreation > Travel in Style > คอซูเมล (Cozumel) สรวงสวรรค์ใต้ทะเลแคริบเบียน

คอซูเมล (Cozumel) สรวงสวรรค์ใต้ทะเลแคริบเบียน

 

เกริ่นเอาไว้ตั้งแต่ตอนที่แล้วว่าจะพาคุณดำดิ่งลงใต้ทะเลกัน ผมขออนุญาตพาคุณดำน้ำชมโลกใต้ทะเลรอบเกาะคอซูเมลกันครับ 
 
คอซูเมลเป็นเกาะเล็กๆ นอกชายฝั่งตะวันออกของคาบสมุทรยูกาตาน (Yucatan Peninsula) ใกล้ๆ กับเมืองแคนคูน (Cancun) เมืองตากอากาศชื่อดังของเม็กซิโก ว่ากันว่า เกาะคอซูเมลแห่งนี้เป็นสวรรค์บนโลก ถ้าลองเสิร์ชคำว่า Cozumel ในกูเกิ้ล ก็จะพบเว็บไซต์แนะนำการท่องเที่ยวเกาะนี้มากมาย ส่วนใหญ่จะจั่วหัวไว้ว่า “Heaven on Earth” สำหรับผม ชายหาดขาวน้ำทะเลใสของเกาะนี้ก็แค่ “โอ” ไม่ถึงกับ “ว้าว” แต่อย่างใด ถ้าจะแค่มานอนพักผ่อนฟังเสียงคลื่น ชมหาดทราย สายลม สองเรา แล้ว ผมว่าไม่ต้องถ่อสังขารมาถึงคอซูเมลหรอก รีสอร์ตมากมายหลายแห่งริมหาดแคนคูนก็เพียงพอแล้ว ชาดหาดยาวกว่า สวยกว่า น้ำทะเลสีสวยใสใกล้เคียงกัน อาจจะแพ้ตรงความเงียบสงบ 
 
ชายหาดแคนคูนอาจจะพลุกพล่านกว่า ไม่สงบเหมือนชายหาดบนเกาะคอซูเมล แต่แคนคูนก็มีสิ่งอำนวยความสะดวก แหล่งบันเทิง และกิจกรรมให้เลือกมากกว่าเยอะ หรือถ้าไม่อยากไปไกลถึงเม็กซิโก ชายหาดบนเกาะหลายเกาะในทะเลอันดามันบ้านเราก็สู้เขาได้สบาย 
 
สวรรค์จริงๆ ของคอซูเมล อยู่ลึกลงไปใต้ทะเลแคริบเบียน ผมตั้งใจมาที่เกาะคอซูเมลก็เพื่อดำน้ำโดยเฉพาะ และนี่เป็นครั้งแรกที่ผมจะได้สัมผัสความงามใต้ทะเลแคริบเบียนแห่งมหาสมุทรแอตแลนติก  ไม่ถึง 3 ชั่วโมงเที่ยวบินจากเมืองดัลลัส เทกซัส ก็พาพวกเราแลนดิ้งบนสนามบินเกาะคอซูเมล (อักษรย่อของสนามบิน CZM เผื่อคุณจะใช้ในการจองตั๋วออนไลน์) พวกเราเช็กอินเข้าพักที่รีสอร์ตดำน้ำแห่งหนึ่ง ชื่อ คาซาเดลมาร์ (Casa del Mar) ไม่ไกลจากท่าเรือเฟอร์รี่ข้ามฟากจากปลายา (Playa del Carmen) ในตอนบ่ายวันนั้น 
 
ข้อดีของการพักในรีสอร์ตดำน้ำก็คือ เราไม่ต้องเดินทางจากที่พักไปร้านดำน้ำเพื่อลงเรือ ท่าเทียบเรือที่จะพาพวกเราไปดำน้ำอยู่ในโรงแรมนั่นเอง  เก็บของเข้าห้องพักเสร็จสรรพ พวกเราก็ตรงไปที่ร้านดำน้ำเพื่อรับฟังการบรีฟจากไดฟ์มาสเตอร์ เกี่ยวกับกฎ กติกา มารยาท ของการดำน้ำกัน ซึ่งก็เหมือนกันกับร้านดำน้ำทั่วไป คือห้ามดำน้ำตามลำพัง (No Solo Diving) ห้ามจับหรือสัมผัสสิ่งมีชีวิตใต้ทะเล ซึ่งรวมไปถึงปะการัง กัลปังหา และฟองน้ำ มีการเช็กบัตรนักดำน้ำ และล็อกบุ๊ก ตามกฎของ PADI และบอกเวลารวมพลในตอนเช้าและบ่าย เพื่อลงเรือออกดำน้ำกัน 
 
หลังจากจบพิธีบรรยายสรุปของไดฟ์ลีดเดอร์เม็กซิกันแล้ว พวกเราก็ต้องทำการทดสอบทักษะการดำน้ำ หรือที่เรียกว่า เทสต์ไดรฟ์ (Test Dive) กัน เพราะพวกเราแต่ละคนห่างหายจากวงการดำน้ำไปเป็นปี เลยถือโอกาสทดสอบอุปกรณ์ดำน้ำและอุปกรณ์ถ่ายภาพใต้น้ำไปเสียทีเดียวเลย 
 
พวกเราสามคนกระโดดจากท่าเรือของร้านดำน้ำลงไปสู่ความลึกประมาณ 15 เมตร น้ำใสครับ แต่ไม่มากเท่าไร ยังเห็นตะกอนแขวนลอยอยู่ ผมเอาเฮาส์ซิ่งเปล่าๆไม่บรรจุกล้องลงไปทดสอบด้วย เฮาส์ซิ่งยังคงป้องกันน้ำเข้าได้เป็นอย่างดี หลังจากที่นอนพังพาบอยู่ในกระเป๋าเป็นปี 
 
แต่ที่ใช้ไม่ได้คือ เรกกูเลเตอร์ ที่เป็นส่วนสำคัญที่สุดในการลงไปอยู่ใต้ทะเล เรกกูเลเตอร์ที่อุตส่าห์หอบหิ้วมาจากเมืองไทยดันรั่ว มีฟองอากาศรั่วออกมาตลอดเวลา เป็นอันว่าผมต้องเช่าเรกกูเลเตอร์จากร้านดำน้ำ นี่เป็นความสำคัญของ Test Dive สำหรับผู้ที่ห่างเหินการดำน้ำมานาน นอกจากได้ทบทวนทักษะการควบคุมตัวเองใต้น้ำแล้ว ยังได้ทดสอบอุปกรณ์ที่ไม่ได้ใช้มานานว่าพร้อมที่จะใช้ดำน้ำหรือไม่
 
เช้าวันรุ่งขึ้น พวกเราลงเรือออกดำน้ำกันช่วงสายๆ วันหนึ่งเราจะได้ดำน้ำกัน 3 ไดรฟ์ ตอนเช้า 1 ไดรฟ์ กลับมาทานอาหารกลางวันบนบก พักท้องสักนิด แล้วดำตอนบ่ายอีกสองไดรฟ์
 
อย่างแรกที่ผมสังเกตเห็นจากบนเรือ คือน้ำใสมาก ใสจนเห็นพื้นทรายและกองหินใต้ทะเล สอบถามไดรฟ์ลีดเดอร์ เขาบอกว่า ความลึกเฉลี่ยของพื้นทรายบริเวณนั้นอยู่ที่ราวๆ 40 เมตร ใช่ครับ ทัศนวิสัยแนวลึก หรือ vertical visibility ของทะเลแถวนี้อยู่ที่ 40 เมตร ผมไม่เคยเห็นทะเลที่ไหนใสขนาดนี้มาก่อน
 
จุดดำน้ำรอบๆ เกาะคอซูเมลมีมากมายหลายจุด ทั้งแบบเป็นแนวปะการังบนพื้นทรายให้ดำสบายๆ แนวกำแพงหินใต้น้ำ ที่มีกระแสน้ำให้ดำแบบตามกระแส หรือ drift dive ไปจนถึงซากเรือให้ดำเรือจม (wreck dive) บางซากไม่ใช่เรือธรรมดา แต่เป็นซากเรือบิน ให้ดำถ่ายรูปเล่นให้กิ๊บเก๋กันอีกด้วย 
 
ส่วนใหญ่เรือบริการดำน้ำ จะพานักดำน้ำดำอยู่บริเวณจุดดำน้ำที่ดำกันง่ายๆ ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ จุดดำน้ำด้านเหนือมักจะมีกระแสน้ำแรง ไม่เหมาะสำหรับนักดำน้ำมือสมัครเล่น ดำไปก็ไม่สนุก 
 
จุดเด่นของโลกใต้ทะเลคอซูเมล อยู่ที่ (แน่นอน) น้ำใสมว้ากๆ ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตใต้ทะเลจัดว่าเป็นรองมหาสมุทรแปซิฟิกอยู่หลายขุม สัตว์ทะเลที่เด่นๆ ก็มี เต่าทะเล ตัวไม่ใหญ่เท่าแถวสิปาดันในมาเลเซีย แต่มีให้ชมอยู่ทั่วไป ฟองน้ำหลายหลากพันธุ์ ดูรูปร่างแปลกตา ปลาพันธุ์แปลกที่หาไม่ได้แถวบ้านเรา  เช่น  ปลาไหลมอเรย์สีเขียว (Green Moray Eel) ปลาเทวดาฝรั่งเศส (French Angelfish) หรือจะเป็นหอยเบี้ยลิ้นเฟมมิงโก้ (Flamingo Tongue Cowrie Snail) ที่พบเฉพาะในทะเลแคริบเบียน และแนวปะการังในมหาสมุทรแอตแลนติกตอนใต้เท่านั้น ม้าน้ำและปลาพันธุ์นิยมของช่างภาพแนวมาโครอย่างปลาบู่ (Goby) ปลาตุ๊ดตู่ (Blenny) มีให้ชมบ้างประปราย 
 
สำหรับผม 2 วัน 6 ไดรฟ์ใต้ทะเลคอซูเมลก็เพียงพอแล้ว เพราะดำไปก็เจอวิวเดิมๆ สัตว์ทะเลประเภทเดิมๆ โชคดีที่มีการเปลี่ยนแปลงจุดดำน้ำในไดรฟ์สุดท้ายของพวกเรา ไดรฟ์ลีดเดอร์ถามนักดำน้ำทุกคนในกลุ่มว่าอยากดูอะไรที่แตกต่างมั้ย พวกเราตอบกันเป็นเสียงเดียวว่า Yes (บางคนตอบเป็นภาษาสเปนว่า Si) คุณไดรฟ์ลีดเดอร์ใจดีจึงจัดการเปลี่ยนจุดดำน้ำกะทันหัน ไปดำเรือจมที่ชื่อว่า Felipe Xicotencalt หรือ C-53 กัน 
 
เรือ C-53 ถูกปลดประจำการและจมลงในปี 1999 ลงไปตั้งอยู่ที่ความลึก 25 เมตรใต้ทะเลบริเวณอุทยานแห่งชาติจันคาแนบ (Chankanaab National Park) ตัวเรือมีความยาว 56.3 เมตร กว้าง 10.10 เมตร และมีความสูง 12 เมตร ซากเรือจมแบบตั้งอยู่ตรงๆ ไม่ได้นอนตะแคงเหมือนซากเรือทั่วๆไป มีช่องให้เข้าไปดำน้ำดูสภาพในเรือได้ แต่ไม่ให้เข้าไปเองครับ ไดรฟ์ลีดเดอร์จะพาเข้าไป และพาออกมาเอง 
 
นักดำน้ำที่ชื่นชอบการถ่ายภาพเรือจม รับรองไม่ผิดหวัง การถ่ายภาพเรือจม ปกติแล้วจะไม่มีการใช้แฟลช เนื่องจากจะให้ได้ภาพเรือทั้งลำ จะต้องถอยห่างจากตัวเรือพอสมควร  ระยะที่ถอยออกมาเป็นระยะที่แฟลชส่องไม่ถึง เปิดแฟลชไปก็รังแต่จะสะท้อนตะกอนแขวนลอยให้ดูละม้ายคล้ายหิมะตกใต้น้ำ หรือทำให้ภาพที่ได้ฟุ้งๆ ไม่ใสเสียเปล่าๆ แต่ด้วยน้ำทะเลใสๆ ที่นี่ การถ่ายภาพเรือทั้งลำทำได้ง่ายๆ 
 
เวลา 2 วันของการดำน้ำที่นี่หมดไปอย่างรวดเร็ว เช้าวันรุ่งขึ้น ผมเช่ารถขับเที่ยวรอบเกาะ ที่นี่สามารถเช่ารถเพียงครึ่งวันได้ หรือถ้าใครต้องการผจญภัยเล็กน้อยก็สามารถเช่ารถมอเตอร์ไซค์ขับรอบเกาะได้เช่นกัน ทางด้านตะวันออกของเกาะ มีหาดทรายสวยๆ อยู่หลายแห่ง บางแห่งก็เป็นหาดประเภท Cloth Optional หรือ Nude Beach นั่นแหละ  อาหารตาของหนุ่มๆ ก็พอมีให้ชมกันบ้าง นอกจากนี้ยังมีแหล่งโบราณคดีมายันอีก 3-4 แห่ง แต่พวกเราไม่ได้แวะไปชม เพราะเวลาจำกัด
 
จนกว่าจะพบกันในครั้งต่อไป