วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เลียบเลาะ “บางยี่ขัน 2” House of Mekhong

เลียบเลาะ “บางยี่ขัน 2” House of Mekhong

ประตูโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เปิดต้อนรับ ผู้จัดการ 360 ํ เพื่อเก็บเกี่ยวประวัติศาสตร์การผลิตเหล้าไทยที่มีอายุยาวนานกว่า 70 ปี

แม้ที่นี่ไม่ใช่โรงเหล้าแห่งแรกแต่ถือเป็นมรดกที่ตกทอดจาก “บางยี่ขัน” และปัจจุบันยังคงเป็นโรงงานผลิต “แม่โขง” ออกสู่ตลาดโลก

ขณะที่ “แม่โขง” ขวดแรกผลิตที่โรงงานสุราบางยี่ขัน ปากคลองบางยี่ขัน ริมแม่น้ำเจ้าพระยาเขตบางกอกน้อย ในเวลานั้นมีเป้าประสงค์เพื่อทดแทนการนำเข้าวิสกี้และบรั่นดีในช่วงกระแสชาตินิยม

ตามข้อมูลประวัติศาสตร์ โรงงานสุราบางยี่ขันแห่งแรกเดินเครื่องจักรผลิตเหล้าตั้งแต่ครั้งเริ่มสร้างกรุงเทพมหานคร ในสมัยนั้นถือเป็นสมบัติของนายอากร ซึ่งได้รับอนุญาตจากรัฐบาลให้ผูกขาดผลิตสุราขาวหรือ “เหล้าโรง” ออกจำหน่ายในกรุงเทพมหานคร

การผลิตดำเนินเรื่อยมาจนถึงยุคที่ประเทศไทยเรียกร้องดินแดนคืนจากฝรั่งเศส เกิดกรณีพิพาทกัน

หลวงวิจิตรวาทการได้ประพันธ์เพลงปลุกใจคนไทยให้รักชาติและกล้าเข้าสู่สมรภูมิ ชื่อว่า “ข้ามโขงไปสู่แคว้นแดนไทย” และ “โขงสองฝั่งเหมือนฝั่งเดียวกัน” กรมสรรพสามิตจึงตั้งชื่อสุราปรุงพิเศษ 35 ดีกรีที่ผลิตขึ้นใหม่ในปี 2484 ว่า “แม่โขง” นับตั้งแต่นั้นมา

โรงงานบางยี่ขันเปลี่ยนผ่านสังกัดจากกระทรวงการคลังมาขึ้นอยู่กับกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม และเข้าสู่ยุคที่รัฐบาลเปิดให้เอกชนประมูลเช่าโรงงาน เพื่อเพิ่มกำลังการผลิตเมื่อปี 2503

ผู้เช่ารายแรกคือ บริษัท สุรามหาคุณ จำกัด โดยจ่ายอัตราค่าเช่าปีละ 41 ล้านบาท และได้รับการต่อสัญญาอีก 10 ปี ตั้งแต่ปี 2513 อัตราค่าเช่าปีละ 55 ล้านบาทบวกส่วนแบ่งผลกำไรสุทธิอีกร้อยละ 25

โรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เกิดขึ้นในช่วงสิ้นสุดสัมปทานปี 2523 เมื่อบริษัท สุรามหา-ราษฎร จำกัด ของกลุ่มตระกูลเตชะไพบูลย์เข้าร่วมประมูลและชนะได้สิทธิ์เช่า 15 ปี แต่มีเงื่อนไขต้องสร้างโรงงานสุราบางยี่ขันแห่งที่ 2 ที่ตำบลบางคูวัด จังหวัดปทุมธานี และยกให้เป็นกรรมสิทธิ์ของกรมโรงงานอุตสาหกรรม กระทรวงอุตสาหกรรม เนื่องจากความต้องการสุราแม่โขงมีสูงมากจน “บางยี่ขัน 1” ไม่สามารถรองรับได้ ต่อมามีการขยายอายุการเช่าเพิ่มอีก 5 ปี จนถึงปี 2542

ในระหว่างนั้นเกิดการเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ เมื่อเจริญสามารถยึดครองบริษัท สุรามหาราษฎร จากกลุ่มเตชะไพบูลย์ ซึ่งรวมถึงสิทธิ์การเช่าโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ไปโดยปริยาย

1 มกราคม 2543 คณะรัฐมนตรีมีมติเปิดเสรีการผลิตและจำหน่ายสุรา เจริญเปลี่ยนชื่อบริษัทสราญชัย จำกัด เป็นบริษัท สุราบางยี่ขัน จำกัด เข้าประมูลซื้อที่ดินและทรัพย์สินโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 ในราคา 8,251 ล้านบาท

ปัจจุบันบริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) มีเครือข่ายโรงเหล้าทั่วประเทศ จำนวน 18 โรง แบ่งเป็นกลุ่มบริษัทแสงโสม 7 โรง กลุ่มบริษัทสุรากระทิงแดง 6 โรง และกลุ่มบริษัทสุราบางยี่ขันอีก 5 โรง

นุสรณ์ ตั้นพันธ์ ผู้จัดการโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 นำ ผู้จัดการ 360 ํ เดินลัดเลาะไล่ไปตามเส้นทางการผลิตเหล้าในอาคารเก่าที่ไม่ได้เปลี่ยนแปลงจากอดีตมากนัก ยิ่งถ้ามองจากเลนส์กล้องเพื่อจับภาพกว้างแล้ว “บางยี่ขัน 2” ส่งบรรยากาศเก่าแก่อย่างเห็นได้ชัด

เริ่มจาก “แผนกส่า” ซึ่งเป็นส่วนที่นำกากน้ำตาลหรือโมลาสมาหมักจนได้น้ำส่าที่มีคุณภาพ ต่อไปยัง “แผนกกลั่น” ภายในเต็มไปด้วยหอกลั่นขนาดใหญ่ ซึ่งไทยเบฟเวอเรจนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาควบคุมการผลิตให้ได้แอลกอฮอล์ 95 ดีกรี ก่อนจะปรับลดให้เหลือ 35 ดีกรี ส่งไปยัง “แผนกปรุง” ตามสูตรการผลิตเหล้าแต่ละแบรนด์ อย่างตัวเหล้าแม่โขงใหม่กับแม่โขงเก่าต่างกันที่ระยะเวลาการบ่มคือ จากเดิมบ่มเพียง 3-7 ปี ตัวใหม่บ่มนานขึ้นเป็น 8 ปี ส่วนหงส์ทองบ่มประมาณ 3 เดือน

เมื่อปรุงและบ่มจนได้น้ำสีอำพันที่มีรสชาติตรงตามคุณสมบัติของสินค้าแล้ว จะเข้าสู่ขั้นตอนการบรรจุใส่ขวดและกล่องส่งออกสู่ตลาด เพื่อไปให้ถึงมือผู้บริโภค “บางยี่ขัน 2 ตอนนี้ผลิตสุรา 3 ตัว ปีละ 100 ล้านลิตร เป็นกำลังผลิตของหงส์ทองมากที่สุด ส่วนแม่โขงยังไม่มากและกำลังรอผลจากฝ่ายการตลาด เพราะไลน์การผลิตล่าสุดยังใช้อยู่เพียง 60%”

หากเป็นไปตามแผนการนำ “แม่โขง” กลับมาทำตลาดในไทย ไลน์การผลิตใหม่จะเปิดเดินเครื่องทันที ซึ่งนอกจากกลยุทธ์การตลาดที่เป็นตัวหลักในการรีแบรนด์และสร้างยอดขายแล้ว ไทยเบฟมีโครงการเปิดพิพิธภัณฑ์ “House of Mekhong” บริเวณด้านหน้าโรงงานสุราบางยี่ขัน 2 เพื่อเป็น Visitor Center ให้ผู้สนใจและแขกคนสำคัญระดับประเทศเยี่ยมชมและเรียนรู้ประวัติศาสตร์ความเป็นมากว่าจะเกิดเป็นสุรา “แม่โขง”

คาดว่า House of Mekhong จะเปิดอย่างเป็นทางการในอีก 1-2 เดือนข้างหน้า

น่าเสียดายที่วันนั้น เรายังบุกเข้าไปในพิพิธภัณฑ์ไม่ได้!!