อาคารไม้สองชั้นบนถนนพระอาทิตย์นับเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์สำคัญบนถนนแห่งนี้ ที่อุดมไปด้วยเรื่องราวความเป็นมาทางประวัติศาสตร์ของเขตพระนคร กาลผันเปลี่ยน วันเวลานำมาซึ่งความชำรุดทรุดโทรมปรากฏให้เห็นภาพชัด กระทั่งสำนักงานทรัพย์สินฯ มีนโยบายปรับปรุงรูปโฉมตกแต่งภาพลักษณ์ภายนอกอาคารให้ดูใหม่ สร้างสีสันเพิ่มความสดใสมีชีวิตชีวามากขึ้น
ความเก่าแก่ของย่านนี้ที่เต็มไปด้วยความเป็นมาเป็นไป เรื่องเล่าของคนเก่าคนแก่ที่ถูกบอกเล่าต่อกันมา ผสมผสานกับจินตนาการของแต่ละคน คงทำให้เห็นภาพยุคสมัยแห่งความรุ่งเรืองของสถานที่นั้นๆ ได้เป็นอย่างดี
กาลเวลาที่ยังคงดำเนินไปข้างหน้าอย่างเที่ยงตรงและมั่นคง หนักแน่นกว่าสายน้ำ คล้ายกระจกเงาชิ้นดีที่สะท้อนให้เป็นความเปลี่ยนแปลงและการเปลี่ยนผ่านของสรรพสิ่ง สำหรับบางเรื่องกาลเวลาอาจทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นตำนาน หรือตำนานบางเรื่องกลับผันแปรมาเป็นตัวละครใหม่บนถนนสายเดิม
ครั้งหนึ่งบนถนนพระอาทิตย์เต็มไปด้วยร้านรวงที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร ร้านหนังสือ อัดแน่นไปด้วยเสน่ห์ ที่ทำให้ใครต่อใครต้องเดินทางมาค้นหาและทำความรู้จักกับถนนสายสั้นๆ เส้นนี้
ครัวนพรัตน์ ร้านอาหารไทยที่ตั้งอยู่บนถนนพระอาทิตย์ ที่เปิดให้บริการผู้คนในชุมชนและบรรดานิสิตนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และมหาวิทยาศิลปากร ข้าราชการ พนักงานบริษัทเอกชนบริเวณใกล้เคียง เป็นเวลากว่า 30 ปี แม้ครั้งหนึ่งจะปิดตัวลงด้วยเหตุผลบางประการ และปล่อยให้ผู้ประกอบการรายอื่นเข้ามาเช่าพื้นที่ดำเนินกิจการตามยุคสมัย กระทั่งทัศนียภาพของถนนพระอาทิตย์ถูกเปลี่ยนแปลงไปจากภาพชินตาของใครหลายคน
บรรยากาศของถนนพระอาทิตย์ที่เคยเต็มไปด้วยความอบอุ่นจากร้านรวงที่แทบทุกร้านจะรู้จักมักคุ้นกัน เสน่ห์ยามค่ำคืนของแสงสีที่อบอุ่นชวนให้ค้นหา แปรเปลี่ยนไปเป็นเสียงอึกทึกครึกโครมของดนตรีทันสมัย ทางเท้าถูกใช้เป็นพื้นที่หน้าร้านสำหรับตั้งโต๊ะดื่มกินและสังสรรค์ สร้างความขัดตาแก่ผู้สัญจรไปมาในย่านนั้น
กระทั่งอีกครั้งที่กาลเวลาได้นำพาบรรยากาศแบบเดิมๆ กลับมาเติมเต็มบนถนนพระอาทิตย์อีกครา เมื่อครัวนพรัตน์ที่ปิดกิจกรรมไปเป็นเวลาประมาณ 5 ปี กลับมาดำเนินกิจการใหม่ภายใต้การดูแลของทิพอาภา ยิ่งเจริญ ลูกสาวของอรศรี ศิลปี
“ดีใจมากเลย ที่ลูกสาวตัดสินใจกลับมาเปิดครัวนพรัตน์อีกครั้ง ตอนเขามาบอกว่าจะทำครัวนพรัตน์ ก็คิดว่าเขาน่าจะทำได้ เพราะช่วงท้ายๆ ของ 30 ปีที่ทำครัวนพรัตน์ ตอนนั้นเขาก็เริ่มเข้ามาช่วย แม้ว่าจะหยุดไป 5 ปี แต่เห็นความตั้งใจของเขา” อรศรี ศิลปี หรือที่ทุกคนเรียกขานอย่างสนิทใจว่า “คุณป้านิด” บอกเล่าให้ “ผู้จัดการ 360 ํ” ฟังด้วยใบหน้ายิ้มเปี่ยมสุข
ขณะที่ทิพอาภา ยิ่งเจริญ ลูกสาวของคุณป้านิดตัดสินใจกลับมาเปิดดำเนินกิจการครัวนพรัตน์ทันทีหลังจากที่ผู้เช่ารายเก่าหมดสัญญาไป ประกอบกับความทรุดโทรมของอาคารไม้ เริ่มปรากฏให้เห็นหลังจากผ่านการใช้งานมาอย่างหนัก
“หลังผู้เช่าคนเก่าหมดสัญญา เราก็มองว่าตัวอาคารเริ่มทรุดโทรมไปตามสภาพ หลังจากสำนักงานทรัพย์สินฯ เข้ามาทำนุบำรุงปรับโฉมภายนอกใหม่ เราเลยถือโอกาสนี้ปรับปรุงภายใน และตัดสินใจที่จะนำครัวนพรัตน์กลับมาเปิดกิจการอีกครั้ง” ทิพอาภาอธิบายเพิ่มเติม
ก่อนจะมาเป็นครัวนพรัตน์เฉกเช่นทุกวันนี้นั้น เดิมทีคุณพ่อของป้านิดทำกิจการเสื้อเชิ้ตนพรัตน์ ช่วงสมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ร้านเสื้อนพรัตน์ได้รับความสนใจเป็นอย่างมาก เนื่องจากรูปแบบการตัดเย็บที่ไม่เหมือนใคร ส่งผลให้ร้านนพรัตน์มีชื่อเสียงเรื่องการผลิตเสื้อเชิ้ต แต่เนื่องจากภาวะสงครามในสมัยนั้นทำให้ต้องหยุดดำเนินธุรกิจ และหันไปจับกิจการอย่างอื่นที่หวังจะเอื้อประโยชน์ในช่วงภาวะสงคราม โดยเปิดร้านขายน้ำตาล แต่ดำเนินกิจการไปได้ไม่เท่าไหร่ก็ประสบกับภาวะขาดทุน ซึ่งทำให้คุณพ่อของป้านิดมีหนี้สินติดตัว ในสมัยนั้นเงินจำนวน 5 ล้านบาทถือว่าไม่น้อยเลยทีเดียว แม้ว่าเจ้าหนี้คนแรกจะเสียชีวิตไป และได้โอนสถานะความเป็นลูกหนี้ไปให้กับอื้อจือเหลืยง ซึ่งท้ายที่สุดอื้อจือเหลียงยอมยกหนี้ให้
แม้ว่าหลังสงครามครอบครัวป้านิดจะกลับมาดำเนินกิจการเสื้อเชิ้ตได้อีกครั้งหนึ่ง แต่ความเปลี่ยนแปลงของสังคมในช่วงเวลานั้น ทั้งการเกิดใหม่ของศูนย์การค้า ห้างสรรพสินค้าและร้านรวงต่างๆ พากันเปิดกิจการจนร้านเสื้อนพรัตน์ขายได้น้อยลง กระทั่งป้านิดตัดสินใจที่จะแยกตัวมาทำร้านอาหาร พร้อมกับนำชื่อของกิจการเสื้อเชิ้ตนพรัตน์มาตั้งเป็นชื่อร้าน “ครัวนพรัตน์”
การตัดสินใจที่จะกลับมาเปิดครัวนพรัตน์อีกครั้ง ภายใต้การดูแลของคนรุ่นลูกอย่างทิพอาภา แม้จะยังคงมีกลิ่นอายของบรรยากาศเก่าๆ หากแต่เมื่อกลับมาอีกครั้ง คงเป็นไปไม่ได้ที่จะไม่มีการพัฒนารูปแบบของร้านเลย นี่เองอาจเป็นจุดเปลี่ยนที่เปิดโอกาสให้คนรุ่นหลานอย่าง พัทธ์ ยิ่งเจริญ เข้ามามีส่วนสำคัญในการออกแบบครัวนพรัตน์ด้วย
“ทุกคนในครอบครัวมีส่วนที่จะแสดงความคิดความเห็น เพราะเป็นกิจการของครอบครัว ก็เลยนั่งล้อมวงคุยกันในบ้าน แลกเปลี่ยนความคิดความเห็นกัน จนได้บทสรุปออกมาว่า “ครัวนพรัตน์” แม้ว่าจะยังมีพื้นที่ของร้านอาหารแบบเดิม แต่จะเพิ่มในส่วนของแกลเลอรี และการจัดแสดงงานศิลปะหรืองานอาร์ทได้ด้วย” ทิพอาภาอธิบายความ
ช่วงก่อนที่ครัวนพรัตน์จะเปิดดำเนินกิจการแห่งความอบอุ่นอีกครั้ง อาคารไม้ขนาดสองห้องทุกปรับปรุงพื้นที่ภายใน และเปิดโอกาสให้คนภายนอกสามารถมองเห็นพัฒนาการที่กำลังจะเกิดขึ้นในเร็ววัน
ห้วงเวลาแห่งความทุกข์โศกของคนไทยทั้งประเทศ เป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้พัทธ์ ยิ่งเจริญ เขียนภาพพระบรมสาทิสลักษณ์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 9 ภายในร้าน “หลังจากที่ครอบครัวตกลงกันเรื่องการกลับมาทำร้านอาหารอีกครั้ง ภายใต้คอนเซ็ปต์ที่ผสมผสานระหว่างร้านอาหารและแกลเลอรี ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตกแต่งร้านด้วยภาพวาดกึ่งถาวรบางส่วน และช่วงที่กำลังสเกตช์งานชิ้นนี้มีการเปลี่ยนรูปแบบหลายครั้ง คิดเอาไว้หลายแบบ กระทั่งวันที่ 13 ตุลาคม คุณพ่อเสนอว่า ควรเป็นภาพที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับในหลวงรัชกาลที่ 9” พัทธ์อธิบายแรงผลักดันที่ทำให้เกิดงานชิ้นงามนี้ ก่อนจะเสริมว่า “ผมเลือกที่จะดึงเอาพวงดอกไม้ที่มักปรากฏในงานจิตรกรรมที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนา พระแม่ พระบุตร ซึ่งเฟลมิช เป็นงานในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 17 ซึ่งงานลักษณะนี้อยู่ในยุค “บาโร้ก” ที่มีรายละเอียดโดดเด่น สะดุดตา เลยตัดสินใจที่จะผสมผสานงานโบราณมาใช้ถ่ายทอดเรื่องราวที่จะสามารถสื่อสารถึงพระองค์ท่านได้อย่างเหมาะสมที่สุด”
แม้จะมีเวลาในการรังสรรค์งานศิลปะชิ้นนี้เพียงวันละ 2-3 ชั่วโมง หากแต่ผลงานดังกล่าวกลับถูกบรรจงสร้างด้วยความตั้งใจ ในห้วงยามนั้นหากใครที่ผ่านมาบริเวณหน้าร้านครัวนพรัตน์ คงจะเคยเห็นภาพที่น่าจะเพิ่มความอิ่มเอมในหัวใจ ขณะที่พัทธ์ ทายาทของครัวนพรัตน์รุ่นที่สาม กำลังร่างแบบและลงสีบนผนังของร้าน โดยที่เบื้องหลังมีนพปฎลและทิพอาภา ยิ่งเจริญ พ่อและแม่คอยนั่งให้กำลังใจอยู่ไม่ห่าง
นอกจาก ‘ป้านิด’ อรศรี ศิลปี จะเป็นรุ่นบุกเบิกของครัวนพรัตน์แล้ว ยังเป็นประธานประชาคมบางลำพู และเคยกล่าวถ้อยแถลงที่แฝงนัยความหมายเมื่อมีงานเสวนา “เสน่ห์บางลำพู ธนารักษ์คู่ชุมชน” เมื่อ 27 กรกฎาคม 2559 ว่า “เด็กรุ่นหลังๆ ในชุมชนได้ศึกษาประวัติศาสตร์ชุมชน เพื่อเรียนรู้ว่าชุมชนเรามีรากเหง้ายังไง มีของดียังไง และเขาจะรักชุมชนอย่างไร เพราะฉะนั้นถ้าเขาโตขึ้นแล้วพาพ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย ออกไปจากชุมชน พวกที่ออกไปเขาก็ไม่ทราบว่าเขาเอาคนที่เล่าประวัติศาสตร์ได้ออกไปด้วย เราก็เหลือแต่คนมาใหม่ซึ่งไม่รู้เรื่อง ตรงนี้เป็นส่วนสำคัญที่เราอยากชูให้เขาทำขึ้นมา เด็กรุ่นใหม่โตขึ้นเขาก็ยังรักชุมชน มีความรู้สึกอบอุ่นและภูมิใจร่วมกับชุมชน”
ทัศนะที่ป้านิดเคยให้ไว้ เมื่อหันกลับมามองทายาทรุ่นที่สามอย่างพัทธ์ ผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกลับมาของครัวนพรัตน์ พัทธ์ ยิ่งเจริญ ดูจะเป็นตัวอย่างที่ดีของการแสดงออกถึงความรักชุมชน เมื่อพัทธ์บอกเล่าความคิดเกี่ยวกับครัวนพรัตน์ได้อย่างน่าฟังว่า “ผมเกิดและเติบโตที่ย่านนี้ วิ่งเล่นเข้าออกครัวนพรัตน์มาตั้งแต่เด็ก กินข้าวที่ร้านก็เหมือนกินข้าวที่บ้าน ความรู้สึกไม่ต่างกัน ตอนที่ทราบว่าคุณพ่อกับคุณแม่จะเปิดครัวนพรัตน์อีกครั้งรู้สึกดีใจ เพราะบรรยากาศและความรู้สึกแบบเดิมๆ จะหวนกลับมาอีกครั้ง”
หากมองจากร้านครัวนพรัตน์ไปยังเบื้องหน้าที่อุดมไปด้วยสีเขียวขจีของสนามหญ้าของสวนสันติชัยปราการ หมู่ภมรกำลังบินดอมดมดอกไม้ที่เพิ่งผลิดอกแย้มกลีบท่ามกลางอากาศที่เริ่มเย็นลง บรรยากาศที่เสมือนเชิญชวนให้นั่งเอนกายทอดสายตาผ่อนคลายไปกับวิถีของชีวิตผู้คนที่อาศัยพื้นที่สวนสาธารณะทำกิจกรรมยามเย็น
บรรยากาศครัวนพรัตน์เมื่อครั้งที่ยังเปิดกิจการ คงจำกันได้ดีว่าหน้าร้านมีเพียงป้ายไม้ที่มีตัวอักษรที่มากไปด้วยเอกลักษณ์เฉพาะตัว และอาจบ่งบอกถึงยุคสมัยที่เริ่มเปิดกิจการได้ดี
หากแต่ในเวลานี้สิ่งที่เปลี่ยนไปและเพิ่มเติมเข้ามาคือการที่ครัวนพรัตน์มีโลโกเป็น “ผีเสื้อ” ซึ่งพัทธ์อธิบายความเป็นมาของโลโกนี้ว่า “ช่วงที่กำลังเริ่มต้นใหม่ มีพี่ๆ ที่รู้จักกันแนะนำว่า ถ้าครัวนพรัตน์จะกลับมาควรจะมีโลโก เพื่อสร้างภาพจำ หากเวลาเราทำการตลาดหรือเผยแพร่ข่าวสารของร้าน จะได้ใช้โลโกเพื่อให้ง่ายต่อการจดจำ และที่เลือกใช้ผีเสื้อ เพราะผีเสื้อสามารถสื่อถึงวิญญาณอันบริสุทธิ์ของการเกิดใหม่ ซึ่งครัวนพรัตน์เป็นภาพจำของคนรุ่นหลังที่กลับมายังถนนพระอาทิตย์อีกครั้งภายใต้การดูแลของคนรุ่นใหม่ที่เป็นทายาทรุ่นที่สอง”
รสชาติแห่งความทรงจำที่ใครหลายคนยังคงจำได้เมื่อครั้งที่ได้มาลิ้มลองอาหารจากครัวนพรัตน์ รสชาติแห่งความคำนึงที่ติดปลายลิ้นจะยังเป็นเฉกเช่นเดิม เมื่อครัวนพรัตน์ยังดูแลแม่ครัวที่เป็นดังคนในครอบครัวไว้ “แม่ครัวเราก็คนเดิมนะคะ เมนูเดิม แกงจืดลูกรอก เราพยายามจะคงรสชาติอาหารเดิมที่ได้มาตรฐานสมัยที่คุณแม่ทำเอาไว้ค่ะ” ทิพอาภาอธิบาย
ทั้งนี้ในมิติใหม่ของครัวนพรัตน์ที่กำลังดำเนินไปภายใต้การดูแลของคนทั้งสามรุ่น มีการผสมผสานพื้นที่ของร้านอาหารเข้ากับพื้นที่ของการจัดแสดงงานศิลปะได้อย่างลงตัว เมื่อพื้นที่ชั้น 2 ของร้านถูกจัดเอาไว้สำหรับการจัดนิทรรศการหมุนเวียน หรืออาจมีกิจกรรมที่เกี่ยวกับงานศิลปะซึ่งเป็นความชำนาญและความชอบของเจนเนอเรชั่นรุ่นที่ 3 อย่าง พัทธ์ และพิมพ์อาภา ยิ่งจริญ
หลายพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเรื่องราวประวัติศาสตร์สำคัญ หรือเรื่องเล่าจากคนรุ่นก่อนสู่คนรุ่นใหม่ที่แฝงไปด้วยความประทับใจที่ยังคงติดอยู่ในความทรงจำวัยเด็ก ในขณะที่สังคมกำลังเปลี่ยนแปลงไปตามวิถีของยุคสมัย จนทำให้บางครั้งเรื่องราวครั้งประวัติศาสตร์ถูกหลงลืมหรือเดินไปเป็นคู่ขนานกับสังคมสมัยใหม่ และคนรุ่นใหม่เองก็วิ่งตามกระแสของสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปไม่เว้นแต่ละวัน
หากแต่คงไม่ใช่กับอรศรี ศิลปี และเหล่าทายาท ซึ่งการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งของครัวนพรัตน์ เป็นหลักฐานชิ้นสำคัญที่ทำให้เราเห็นว่า แม้ว่าความแตกต่างของคนทั้งสามรุ่นจะมีมากมายนัก ไม่ว่าจะเรื่องของความคิดความอ่าน ยุคสมัยของการเปลี่ยนผ่าน แต่ครัวนพรัตน์กลับกลายเป็นสถานที่ที่สามารถผสมผสานความคิดอ่านของคนทั้งสามเจนเนอเรชั่นได้อย่างเหมาะเจาะและลงตัว
ครัวนพรัตน์ภายใต้การดูแลและบริหารงานของครอบครัวยิ่งเจริญ โดยมี ‘ป้านิด’ คอยประคับประคอง และถ่ายทอดคำสอนที่น่าฟังด้วยรอยยิ้มเสมอๆ จะเป็นไปในรูปแบบใด ห้วงเวลาแห่งความคิดคำนึงที่เคยอยู่บนถนนพระอาทิตย์เมื่อสามสิบปีก่อนกลับมาตั้งตระหง่านที่จุดเดิมอีกครั้ง จะสามารถเชิญชวนแขกขาประจำของร้านให้หวนกลับมารำลึกความหลังจากรสชาติของเมนูเดิมได้มากน้อยเพียงใดคงต้องรอดู