วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Life > ถนอมเท้าก่อนก้าวออกจากบ้าน

ถนอมเท้าก่อนก้าวออกจากบ้าน

 
Column: Well – Being
 
หากต้องเดินจากจุดหนึ่งไปยังอีกจุดหนึ่ง เราต้องพึ่งเท้าทั้งสองข้างให้พาไปอย่างแน่นอน เท้ายังเป็นส่วนหนึ่งของกายวิภาคของเรา แต่ในชีวิตประจำวันเราไม่ค่อยนึกถึงเท้าผู้อาภัพแม้สักนาทีเดียว ผู้เชี่ยวชาญหลายคนจึงพร้อมใจกันเปิดเผยข้อเท็จจริงที่น่าทึ่งเกี่ยวกับเท้า และบอกเล่าวิธีดูแล ถนอมรักษาเท้าของเราให้แข็งแรงและเป็นสุขในระยะยาวผ่านทางนิตยสาร GoodHealth
 
หน้าแข้ง–ผู้ช่วยทาครีมบำรุง
จากปัญหาส้นเท้าแห้งอย่างรวดเร็ว ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นหนาตัวและแข็งกระด้างจนกลายเป็นสีขาวและแตกระแหง รวมทั้งอาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคนานาชนิด
 
ถ้าคุณเอื้อมมือไปที่ส้นเท้าเพื่อทาครีมบำรุงได้ยากลำบากมาก แนะนำให้ใช้ผู้ช่วยชั้นดีคือ หน้าแข้งของคุณเอง โดยบีบมอยเจอไรเซอร์ลงที่กลางหน้าแข้ง แล้วใช้ส้นเท้าอีกข้างหนึ่งทาถูบริเวณหน้าแข้งที่มีมอยเจอไรเซอร์ ในทางกลับกัน ให้ทำอย่างเดียวกันกับส้นเท้าอีกข้างหนึ่ง
 
แหล่งสะสมเชื้อราร่วม 200 ชนิด
เท้าของเราเป็นแหล่งสะสมเชื้อราหลากหลายถึงเกือบ 200 ชนิด แต่ส้นเท้าสะสมได้มากที่สุดราว 80 ชนิด ขณะที่เล็บเท้ามีเชื้อราเจริญเติบโตอยู่ราว 60 ชนิด และอีก 40 ชนิดปักหลักอยู่บริเวณง่ามเท้าของเรานั่นเอง
 
ต่อสู้กับเชื้อรา
เมื่อเป็นเชื้อรา คุณต้องใช้เวลารักษานานถึง 18 เดือน ด้วยวิธีทายาในรูปของครีม กินยา หรือยิงด้วยแสงเลเซอร์
 
ดร.ร็อบ เฮอร์มานน์ ศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าแห่งวิทยาลัยศัลยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าของออสเตรเลีย กล่าวว่า “ส่วนใหญ่แล้วการติดเชื้อเริ่มต้นที่บริเวณง่ามเท้า แล้วลามไปยังเล็บเล็บหนึ่ง จากนั้นจึงลามต่อไปยังเล็บอื่นๆ จนทำให้เล็บเปลี่ยนสีและเปราะแตกไม่แข็งแรง”
 
ดร.เฮอร์มานน์อธิบายต่อไปว่า “การติดเชื้อเกิดขึ้นได้เมื่อคุณสวมรองเท้าคู่เดิมเป็นประจำทุกวัน ซึ่งอาจทำให้คุณมีเหงื่อออกที่เท้าแต่ละข้างมากถึงครึ่งถ้วยในแต่ละวัน ก่อให้เกิดสภาพแวดล้อมเปียกชื้นตลอดเวลา ซึ่งเป็นแหล่งที่เชื้อราเจริญเติบโตได้ดี” จึงแนะนำให้พยายามสลับรองเท้าที่สวมใส่ อย่าสวมคู่เดิมตลอดเวลา
 
ตัดเล็บให้ถูกวิธี
ที่ประเทศออสเตรเลีย ปัญหาเล็บขบเป็นสาเหตุหลักของการผ่าตัดเท้าเป็นส่วนใหญ่ สัญญาณเตือนคือ อาการบวมแดง ปวด และที่ขอบนิ้วเท้ามีน้ำหนองไหล สาเหตุของปัญหามักมาจากการสวมรองเท้าคับเกินไปหรือตัดเล็บไม่ถูกวิธี ต่อไปนี้เป็นวิธีหลีกเลี่ยงการเกิดเล็บขบ
– ตัดเล็บเป็นแนวตรง
– ใช้กรรไกรตัดเล็บ เพราะคมและตัดได้เกลี้ยงเกลากว่า
– เวลาตัดเล็บให้ตัดตามรูปเล็บ อย่าตัดลึกลงไปในซอกเล็บ
 
ให้ระวังถ้านิ้วหัวแม่เท้าเอียง
ดร.เฮอร์มานน์กล่าวว่า “คนส่วนใหญ่คิดว่าภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเป็นเพียงอาการกระดูกโปนออกทางด้านข้างของนิ้วหัวแม่เท้า แต่จริงๆ แล้วมันเป็นอาการที่ข้อต่อของกระดูกนิ้วเท้าค่อยๆ วางตัวผิดจากแนวปกติอย่างช้าๆ”
 
“ปกติแล้วกระดูกนิ้วหัวแม่เท้ามีหน้าที่ผลักดันให้เกิดแรงส่งให้เท้าและลำตัวเคลื่อนไปข้างหน้า แต่ภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียงเป็นอาการเรียงตัวผิดของกระดูกนิ้วเท้า ทำให้คุณยืนหรือเคลื่อนไหวได้ไม่มั่นคง จึงเพิ่มความเสี่ยงที่จะหกล้ม”
 
Foot Mobilisation Therapy
การผ่าตัดอาจช่วยแก้ปัญหากระดูกโปนจากภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง หรือใช้วิธีทำให้กระดูกนิ้วเท้าเรียงตัวใหม่อย่างถูกต้อง หรือคุณอาจแก้ไขที่สาเหตุโดยตรงด้วยเทคนิคที่ไม่ใช่การผ่าตัดที่เรียกว่า Foot Mobilisation Therapy ซึ่งเป็นเทคนิคทำให้การเรียงตัวของกระดูกนิ้วเท้าดีขึ้น และสามารถทำงานได้ดีขึ้น ซึ่งเหมาะสำหรับการรักษาอาการนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ อาการพังผืดใต้ฝ่าเท้าอักเสบหรือโรครองช้ำ อาการปวดส้นเท้า และภาวะนิ้วหัวแม่เท้าเอียง
 
แดเนียล ฟิทซ์แพทริค แห่งอัลเทอร์เนทีฟ ฟุต โซลูชันส์ อธิบายว่า “เทคนิคนี้ช่วยแก้ไขการเรียงตัวของขาช่วงล่าง ด้วยการขจัดอาการติดขัดในเนื้อเยื่อเกี่ยวพันที่เป็นอุปสรรคต่อการเคลื่อนไหว โดยให้กระดูกนิ้วเท้าได้เคลื่อนไหวอย่างอ่อนโยนต่อเนื่องกัน ซึ่งเป็นการเรียงตัวเท้าเสียใหม่ เป็นการแก้ไขท่ายืนและท่าเดินให้ถูกต้อง ใช้เวลารักษาราว 6–12 สัปดาห์”
 
เลี่ยงอาการนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติ
อาการนี้มักมีสาเหตุร่วมจากภาวะเสียสมดุลในกล้ามเนื้อเท้า หรือเอ็นที่เชื่อมระหว่างกระดูกกับกล้ามเนื้อ หรือเอ็นที่เชื่อมต่อระหว่างกระดูกกับกระดูก
 
ดร.เฮอร์มานน์อธิบายว่า “เมื่อนิ้วเท้าได้รับการกระแทกโดยแรงหรือมีอะไรหล่นใส่เท้า ทำให้กระดูกนิ้วเท้าแข็งเกร็งและหงิกงอได้” อาจรักษาด้วยการใช้กายอุปกรณ์ การฉีดยาคอร์ติโคสเตียรอยด์ และการเข้าเฝือกอ่อนที่นิ้วเท้า
 
คุณหลีกเลี่ยงความเสี่ยงจากอาการนิ้วเท้าหงิกงอผิดปกติได้ด้วยการ
– สวมรองเท้าขนาดพอเหมาะกับเท้า คือมีช่องว่างระหว่างนิ้วเท้าที่ยาวที่สุดกับหัวรองเท้าอย่างน้อย 1.2 ซม. หรือครึ่งนิ้ว
– เลือกรองเท้าที่มีเชือกผูกหรือสายรัด เพื่อให้เคลื่อนไหวได้มากขึ้น
– เลือกรองเท้าที่ใช้วัสดุยืดหยุ่นได้บริเวณนิ้วเท้า
 
เช็ดง่ามเท้าให้แห้ง
ความอับชื้นระหว่างง่ามเท้าอาจนำไปสู่ปัญหาเชื้อรา เช่น ขี้กลาก จึงจำเป็นต้องเช็ดง่ามเท้าให้แห้ง
 
สจ๊วต เฮย์ส แห่งสมาคมผู้เชี่ยวชาญการดูแลเท้าของออสเตรเลีย แนะนำว่า “คุณอาจประสบกับภาวะผิวหนังเปียกชื้นจนเปื่อยยุ่ย มีเลือดไหล และปวดแสบมาก ดังนั้น เมื่ออาบน้ำเสร็จ เช็ดง่ามเท้าให้แห้ง ถ้าคุณมีปัญหาเอื้อมไม่ถึง ให้ใช้ไม้บรรทัดพันด้วยผ้าขนหนูผืนเล็ก ๆ แล้วเช็ดตามง่ามเท้าให้แห้งสนิท นอกจากนี้ เมธิลแอลกอฮอล์ก็ช่วยดูดซับความชื้นระหว่างนิ้วเท้าได้เช่นกัน”
 
เคล็ดลับซื้อรองเท้า
ดร.เฮอร์มานน์แนะนำว่า “เมื่อคิดจะซื้อรองเท้า ให้ใช้งานเท้าอย่างน้อยครึ่งวันก่อน เพราะแรงที่กดลงบนเท้าและข้อเท้าจากการรับน้ำหนักตัว หมายถึงการที่เนื้อเยื่อที่อ่อนนุ่มบวมตัวขึ้น ทำให้เท้าของคุณใหญ่ขึ้นเล็กน้อยในช่วงเย็น ซึ่งทำให้คุณได้ขนาดเท้าที่แม่นยำมากกว่า”
 
ปัญหาของรองเท้าหัวแหลม
สำหรับคุณสุภาพสตรีที่ชอบสวมรองเท้าหัวแหลม ระวังจะเกิดอาการปมเส้นประสาทนิ้วเท้าอักเสบ (Morton’s neuroma) ซึ่งเกิดขึ้นระหว่างนิ้วเท้าที่สามและสี่ สาเหตุเพราะเนื้อเยื่อโดยรอบเส้นประสาทหนาตัวขึ้นจากการถูกบีบอัดอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีอาการชาหรือปวดแสบ และรู้สึกเหมือนมีอะไรติดอยู่ในรองเท้าหรือถุงเท้าตลอดเวลา
 
“จากสภาพภายนอก คุณแทบมองไม่เห็นความผิดปกติ แต่มันทำให้ปวดที่เส้นประสาทอย่างแสนสาหัส” ดร.เฮอร์มานน์ให้ความกระจ่าง “รักษาโดยใช้กายอุปกรณ์หรือกินยาแก้ปวด และเปลี่ยนจากการสวมรองเท้าหัวแหลมมาเป็นรองเท้าหัวป้านหรือเหลี่ยมแทน”