วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > New&Trend > “ฟ็อกซ์” ฟ้อง ธ.กรุงเทพ 2,500 ล้านบาท กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตี

“ฟ็อกซ์” ฟ้อง ธ.กรุงเทพ 2,500 ล้านบาท กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตี

 

ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป เอเชีย ยื่นเรื่องต่อศาลที่ฮ่องกงและไทย ฟ้องธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) กรณีไม่จ่ายแบงก์การันตีสำหรับค่าลิขสิทธิ์การออกอากาศรายการของฟ็อกซ์ แทนบริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) และบริษัท ซีทีเอช จำกัด (มหาชน) 2 ยักษ์ใหญ่ธุรกิจดิจิทัลทีวี ที่ยุติการให้บริการไปแล้ว

 

ฟ็อกซ์ได้ทำสัญญาให้สิทธิ์การออกอากาศรายการต่างๆ แก่จีเอ็มเอ็มและซีทีเอช ตั้งแต่ปี 2556 โดยทั้ง 2 บริษัทค้างชำระค่าสิทธิ์การออกอากาศดังกล่าวเป็นมูลค่ากว่า 2,500 ล้านบาท และต้องชำระดอกเบี้ยกรณีจ่ายล่าช้า ซึ่งธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีค้ำประกันการชำระเงินให้กับจีเอ็มเอ็มและซีทีเอช และตั้งแต่ปี 2558 ธนาคารกรุงเทพไม่ได้ทำตามสัญญาจ่ายแบงก์การันตีแทน 2 บริษัทดังกล่าว

 

“ฟ็อกซ์ มีความผูกพันอย่างยาวนานต่ออุตสาหกรรมสื่อในประเทศไทย เรามุ่งมั่นที่จะนำเสนอรายการบันเทิง และรายการกีฬาระดับคุณภาพแก่ผู้ชมชาวไทย” ซูบิน กานเดเวีย ประธานบริษัท ฟ็อกซ์ เน็ตเวิร์ค กรุ๊ป ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก และตะวันออกกลาง กล่าว และ

 

“เรื่องนี้ทำให้เราผิดหวังเป็นอย่างยิ่งที่ธนาคารที่มีชื่อเสียงอันดับต้นๆ ของประเทศไทย ผิดสัญญาซึ่งการผิดสัญญาครั้งนี้ไม่เพียงส่งผลต่อฟ็อกซ์เท่านั้น แต่เกิดขึ้นในช่วงเวลาที่ความมั่นใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยอยู่ในระดับที่สูง”

 

เมื่อ 3 ปีที่แล้ว คณะกรรมการกิจการวิทยุกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช) ได้เปิดประมูลใบอนุญาตการดำเนินกิจการทีวีดิจิทัล และสร้างรายได้ให้แก่รัฐกว่า 50,000 ล้านบาท โดยมีธนาคารกรุงเทพเป็นผู้ออกแบงก์การันตีรายใหญ่ที่สุดแก่ผู้ให้บริการทีวีดิจิทัลในประเทศไทย แก่ผู้ให้บริการจำนวน 14 ราย จากทั้งหมด 24 ราย คิดเป็นมูลค่ารวมกว่า 20,000 ล้านบาท หรือราวร้อยละ 41 ของค่าลิขสิทธิ์ทั้งหมด

 

อย่างไรก็ตาม ผู้ชนะการประมูลประสบปัญหาการดำเนินธุรกิจ เนื่องจากการซื้อขายเวลาโฆษณาชะลอตัว อันเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวน อีกทั้งผู้ชมยังคงนิยมรับชมทีวีแบบอนาล็อก และเปลี่ยนมาดูทีวีแบบดิจิทัลในอัตราที่ต่ำอยู่มาก

 

การยุติการให้บริการของทีวีดิจิทัลช่องต่างๆ นับเป็นการทดสอบระบบของธนาคารไทย เนื่องจากส่งผลให้บรรดาเจ้าหนี้ขอให้ธนาคารหลักหลายแห่งในประเทศไทยต้องจ่ายแบงก์การันตีแก่คู่สัญญา และผู้ผลิตหลายราย

 

ช่วง 3 ปีที่ผ่านมา การซื้อเวลาโฆษณาในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยการซื้อเวลาโฆษณาผ่านช่องทีวีดิจิทัล ถือว่าต่ำมาก โดยในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2559 การซื้อเวลาโฆษณาผ่านทีวีดิจิทัล คิดเป็นมูลค่าราว 9,000 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 9 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ในขณะที่การซื้อเวลาโฆษณาผ่านทีวีอนาล็อกลดลงร้อยละ 11 คิดเป็นมูลค่าราว 26,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลเนื่องมาจากการบริโภคภายในประเทศที่ลดลง

 

“ความน่าเชื่อถือของธนาคารถือเป็นทรัพย์สินที่สำคัญที่สุดของผู้ให้บริการทางการเงิน แบงก์การันตีที่ออกโดยธนาคารถือว่าเป็นเครื่องมือทางการเงินที่เป็นพื้นฐานต่อทั้งระบบการเงินและการพาณิชย์ของประเทศ ดังนั้น การทำหน้าที่ผู้ค้ำประกันตามสัญญา ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ผู้ลงทุนเชื่อมั่นต่อธนาคารไทย การเพิกเฉยในการทำหน้าที่ดังกล่าว จึงถือเป็นความเสี่ยงต่อความน่าเชื่อถือของธนาคารกรุงเทพเอง” กานเดเวีย กล่าว