“แลนด์มาร์ค” ดูจะเป็นคำจำกัดความที่อาจมีความหมายถึงเป้าหมายอันยิ่งใหญ่ทางธุรกิจของบรรดานักธุรกิจ รวมไปถึงนักลงทุนแถวหน้าของไทยในห้วงเวลานี้ และแน่นอนว่าแลนด์มาร์คดูจะไม่ได้ถูกจำกัดวงอยู่แต่เฉพาะธุรกิจภาคเอกชนเท่านั้น หากแต่ยังถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นประดุจเรือธงที่สะท้อนถึงเป้าประสงค์ในการพัฒนาและขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยของภาครัฐอีกด้วย
สัปดาห์ที่ผ่านมา อีก 1 โครงการที่สำคัญและนับเป็นโครงการใหญ่ระดับชาติของภาครัฐกับอภิมหาโปรเจ็กต์ริมแม่น้ำเจ้าพระยาที่อุดมไปด้วยความหวังว่าจะเป็นโครงการที่สะท้อนให้เห็นถึงการเดินหน้าและพัฒนาด้วยความหวังที่จะทัดเทียมประเทศที่พัฒนาไปไกลแล้วของประเทศในทวีปเอเชีย
และแม้ว่าโครงการที่ถูกวาดฝันให้เป็นแลนด์มาร์คบนริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาดังกล่าวจะอยู่ในขั้นตอนของการออกแบบหลังจากผ่านการอนุมัติจากรัฐบาล และแม้ว่าการทำประชาพิจารณ์จะยังมีข้อกังขาอยู่บ้างก็ตาม หากแต่โครงการดังกล่าวยังเต็มไปด้วยกระแสเสียงทั้งฝั่งที่เห็นด้วยพร้อมเหตุผลที่ว่า โครงการดังกล่าวจะเป็นการเพิ่มพื้นที่สำหรับการพักผ่อนและกิจกรรมสันทนาการต่างๆ และเสียงที่ไม่เห็นด้วย ทั้งจากเหตุผลในเรื่องของผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ความกว้างของแม่น้ำเจ้าพระยาที่จะถูกลดทอนลง สภาพความเป็นไปของผังเมืองที่ไม่สอดคล้องกับความสะดวกของผู้อยู่อาศัยริมแม่น้ำ รวมไปถึงข้อผิดพลาดในเรื่องการออกแบบทางสถาปัตยกรรมที่ยังถูกวิจารณ์ดังอย่างต่อเนื่องและไม่ได้จำกัดวงการพูดคุยอยู่เพียงแต่ในสภากาแฟยามเช้าเท่านั้น
ท่ามกลางกระแสวิจารณ์ที่หนักหน่วงขึ้น กระนั้นโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาก็ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง ประหนึ่งว่าหากล้มเลิกโครงการนี้จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติอย่างใหญ่หลวง ทั้งนี้ตัวเลขรายได้จากบรรดาธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับแม่น้ำประหนึ่งเส้นเลือดใหญ่ของไทยอย่างแม่น้ำเจ้าพระยาที่ทำให้ประเทศมีรายได้ต่อปี 3 แสนล้านบาท ทั้งจากธุรกิจโรงแรม ภัตตาคาร ร้านอาหาร เรือท่องเที่ยว เรือด่วน เรือลากจูง
เมื่อพิจารณาจากตัวเลขดังกล่าวแล้วจึงไม่น่าแปลกใจนักหากที่ดินริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาจะกลายเป็นพื้นที่ที่ถูกหมายปอง เพราะหากเทียบกับรายได้ที่เข้าประเทศที่มากถึง 3 แสนล้านบาทต่อปี นั่นอาจสะท้อนให้เห็นตัวเลขรายได้ต่อธุรกิจต่างๆ ที่สูงไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน
ความเป็นไปของกระแสน้ำที่กำลังดำเนินไปตามครรลองแห่งธรรมชาติ กำลังจะถูกปรับเปลี่ยนให้เป็นไปตามครรลองของกระแสเงินตราและผลกำไรของนักลงทุนหรือไม่ เมื่อการกระจุกตัวของห้างร้าน ศูนย์การค้าในเมืองนั้นเริ่มเผยให้เห็นถึงความแน่นขนัด จนแทบจะมองไม่เห็นพื้นที่ว่างที่จะสามารถสร้างประโยชน์ใดๆ ได้อีก
การขยับขยายออกมายังพื้นที่รอบนอกกรุงเทพฯ จึงเริ่มมีความชัดเจนมากขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาของกรุงเทพฯ ฝั่งใต้ ทั้งนี้จากปีที่ผ่านมา (2558) มีการลงทุนทำธุรกิจของภาคเอกชนไทยมีมูลค่าสูงถึง 150,000 ล้านบาท โดยเฉพาะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่สามารถเชื่อมโยงธุรกิจสู่การท่องเที่ยวและวัฒนธรรมริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาได้
ทิศทางของกระแสธุรกิจริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่กำลังเชี่ยวกรากไหลแรงยิ่งกว่ากระแสน้ำ ดังนั้นในช่วงเวลาย้อนหลังไป 2-3 ปีจนปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าเกิดการเปลี่ยนแปลงขึ้นอย่างชัดเจนบนริมตลิ่งทั้งสองฝั่ง สถาปัตยกรรมบ้านไม้ที่ก่อร่างสร้างตัวอย่างง่ายๆ แปรเปลี่ยนเป็นตึกรามที่มีโครงสร้างแข็งแรง และการออกแบบที่ดึงดูดเรียกสายตาผู้คน ไล่เรียงตั้งแต่ ท่ามหาราช ยอดพิมานริเวอร์วอล์ค ริเวอร์ ซิตี้ แบงค๊อก เอเชียทีค และที่กำลังจะปรากฏโฉมให้เห็นในเร็ววันคือ ไอคอนสยาม โครงการมูลค่าหลายหมื่นล้านของสยามพิวรรธน์
กระนั้นการปรับโฉมของแต่ละธุรกิจที่มีอยู่อย่างต่อเนื่องแม้ว่าสถานการณ์เศรษฐกิจของไทยจะยังไม่ค่อยสู้ดีนัก ส่งผลให้เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ตัดสินใจที่จะทุ่มเงินจำนวนมหาศาลในการปรับโฉมที่อาจเป็นกลยุทธ์สำคัญในการรักษาฐานลูกค้าและรักษาแชมป์รีเทลริมน้ำเจ้าพระยาเอาไว้
ทั้งนี้ มานพ คำสว่าง ผู้จัดการทั่วไปโครงการเอเชียทีค เดอะริเวอร์ฟร้อนท์ บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด เล่าถึงคีย์หลักที่ทำให้เอเชียทีคประสบความสำเร็จว่า “ความสำเร็จของเอเชียทีค คือเรื่องของโลเกชั่น ที่สามารถตอบโจทย์ในการเชื่อมต่อการเดินทาง และยังมีการบอกต่อของนักท่องเที่ยวไปทั่วทุกมุมโลก โดยผู้บริหารได้วางกลยุทธ์เอาไว้ตั้งแต่ตอนเริ่มต้นโปรเจ็กต์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้โครงการประสบความสำเร็จ และนับเป็นเสน่ห์อีกอย่างหนึ่ง”
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในปัจจุบันจำนวนนักท่องเที่ยวของเอเชียทีคจะเพิ่มจำนวนขึ้นมากกว่าปีที่แล้ว 20 เปอร์เซ็นต์ โดยวันธรรมดาจำนวนนักท่องเที่ยว 30,000 คนต่อวัน และช่วงสุดสัปดาห์เพิ่มเป็น 50,000 คนต่อวัน และช่วงวันหยุดพิเศษ 80,000 – 100,000 คนต่อวัน กระนั้นทีซีซี แลนด์ ยังทุ่มเงินงบประมาณอีก 10,000 ล้านบาทเพื่อพัฒนาพื้นที่เฟสแรก
นอกเหนือจากการเพิ่มความบันเทิงทั้งไทยและเทศ ซึ่งจากเดิมที่มีเอเชียทีค สกาย, คาลิปโซต์ คาบาเร่ต์โชว์, มวยไทย ไลฟ์, รูปปั้นจูเลียบ และโจหลุยส์ แล้วยังมีการเนรมิตแม็กเน็ตใหม่ด้วยการสร้างเรือใบสามเสาที่นำต้นแบบมาจากเรือรบหลวงในสมัยรัชกาลที่ 5 โดยมีขนาดเท่าของจริงความยาว 55 เมตร มาจอดเทียบท่าเอเชียทีค พร้อมพัฒนาเป็นร้านอาหารไฟน์ไดน์นิ่ง ด้วยงบสูงถึง 50 ล้านบาทแล้ว ยังมีการขยายท่าเรือเพิ่มอีก 3 ท่า ซึ่งรวมกับท่าเทียบเรือเดิม จะทำให้เอเชียทีคมีท่าเรือรวม 4 ท่าเรือ ทั้งนี้ 1 ใน 3 ท่าเรือที่อยู่ในแผนงานการพัฒนาครั้งนี้จะมีความยาว 60 เมตร ซึ่งสามารถรองรับเรือสำราญได้พร้อมกัน 2 ลำ อีกทั้งยังมีการปรับปรุงเรื่องเวลาการรอ Shutter Boat ให้ใช้เวลาในการรอน้อยลง
นอกจากนี้จะมีการขยายพื้นที่อีก 1,000 ตารางเมตร เพื่อพัฒนาเป็น Street Fashion Zone พื้นที่สำหรับสินค้าไอเดีย แฟชั่น ที่น่าจะสามารถตอบโจทย์นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติได้ และยังปรับสไตล์การนำเสนอสินค้าในโกดัง 7 และ 8 ให้เป็น Urbano Zone อย่างเต็มรูปแบบ ซึ่งการปรับปรุงพื้นที่ดังกล่าวมีเป้าหมายว่าจะสามารถเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวจากเดิม 12 ล้านคน เป็น 24 ล้านคนภายใน 2 ปี
กระนั้นหากพิจารณาจากเป้าหมายที่เอเชียทีคต้องการในปัจจุบัน ประกอบกับการทุ่มเงินงบประมาณในการพัฒนาและปรับขยายพื้นที่บางส่วน และการที่ได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย น่าจะเป็นไปได้ว่าเป้าหมายของเอเชียทีคดูจะไม่ไกลเกินคาดหมายนัก
และอีกกลยุทธ์ที่นับเป็นเรื่องสำคัญที่จะหนุนนำให้เป้าหมายอันยิ่งใหญ่ของผู้บริหารทีซีซี แลนด์ เป็นไปตามคาดคือ การไม่แข่งกันเองกับบรรดาธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยา หากแต่ปรับคู่แข่งมาสู่การเป็นคู่ค้า ด้วยการจับมือกับธุรกิจริมแม่น้ำเจ้าพระยาด้วยกันเอง และบริษัททัวร์ ซึ่งกลยุทธ์นี้สอดรับกับนโยบายของทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนหลายๆ รายเช่นกัน
กระนั้นการใช้โอกาสในการเข้าร่วมโรดโชว์ในงานต่างๆ ในต่างประเทศน่าจะเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์หลักในการสร้างให้เกิดการรับรู้ในพื้นที่เป้าหมาย และการเพิ่มความแข็งแกร่งให้แก่ธุรกิจท่องเที่ยวไทยอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้คาดการณ์แนวโน้มรายได้จากการท่องเที่ยวไทยในช่วงไตรมาส 3 เอาไว้ที่ 5.97 แสนล้านบาท ซึ่งหมายถึงการขยายตัวเพิ่มขึ้น 10 เปอร์เซ็นต์ ในช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งมีปัจจัยมาจากการกระตุ้นและส่งเสริมการท่องเที่ยวนอกฤดูกาล อีกทั้งโครงการ 12 เมืองต้องห้าม…พลาด พลัส
อย่างไรก็ตาม หากมองสถานการณ์การท่องเที่ยวช่วงครึ่งปีหลังที่ ททท. ได้คาดการณ์เอาไว้ว่า ประเทศไทยจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวทั้งจากตลาดในประเทศและต่างประเทศว่าน่าจะมีรายได้ 1.3 ล้านล้านบาท ซึ่งการวิเคราะห์เบื้องต้นคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้นักท่องเที่ยวต่างชาติจะยังมีแนวโน้มเดินทางเข้ามาเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นในระดับที่ดี
การเติบโตของธุรกิจริมแม่น้ำขยายตัวมากขึ้นทำให้ชุมชนรอบข้างสร้างธุรกิจเล็กๆ ของตัวเองมากขึ้นในทิศทางเดียวกัน ซึ่งผู้บริหารอย่างมานพ กล่าวว่า “เอเชียทีค เป็นเจ้าแรกที่มีผลประโยชน์ต่อชุมชน และยังช่วยสร้างงานให้กับชุมชนในลักษณะของกิจกรรมที่ส่งต่อไปถึงชุมชนได้”
ขณะที่สุรสิทธิ์ มานะวัฒนากิจ ผู้จัดการทรัพย์สิน 1 บริษัท ทีซีซี แลนด์ แอสเสท เวิรด์ จำกัด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า “เอเชียทีค เดอะ ริเวอร์ฟร้อนท์ ถือเป็นแหล่งท่องเที่ยวริมแม่น้ำเจ้าพระยาแห่งแรกของไทยที่จุดประกายให้การท่องเที่ยวริมแม่น้ำได้รับความนิยมอย่างมาก ซึ่งเมื่อพิจารณาจากอัตราการเข้าพักของโรงแรมย่านริมแม่น้ำจากเดิมอยู่ที่ 35 เปอร์เซ็นต์ ปรับตัวสูงขึ้นเป็น 80 เปอร์เซ็นต์ในปัจจุบัน หรือแม้แต่การเกิดใหม่ของโครงการรีเทลตลอดสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาที่ผุดขึ้นราวดอกเห็ดย่อมแสดงให้เห็นถึงโอกาสที่สดใสในอนาคต และความสำเร็จในครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่โครงการของเรา แต่มันเกิดขึ้นกับชุมชนโดยรอบในย่านเจริญกรุงและขยายตลอดแนวริมน้ำเจ้าพระยาทั้งสองฝั่ง ปัจจุบันกลุ่มนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในโครงการแบ่งเป็นนักท่องเที่ยวไทย 40 เปอร์เซ็นต์ และนักท่องเที่ยวต่างชาติ 60 เปอร์เซ็นต์ โดย 5 ประเทศหลักในโซนเอเชีย ได้แก่ ไต้หวัน จีน เกาหลี ฮ่องกง อินโดนีเซีย และขยายตลาดไปยังนักท่องเที่ยวโซนยุโรป ทั้งนี้อัตราการใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติเฉลี่ยอยู่ที่ 1,500 บาท และ 2,000 บาท ตามลำดับ”
โครงการเอเชียทีคเฟส 2 นั้นสุรสิทธิ์อธิบายกับ “ผู้จัดการ 360ํ” “การขยายตัวของธุรกิจ MICE ทำให้เกิดการพัฒนาโครงการนี้เพื่อรองรับการเติบโตดังกล่าว ซึ่งจะทำให้เอเชียทีคกลายเป็น One Stop Service ที่มีทั้งส่วนที่เป็นโรงแรมซึ่งรองรับการจัดการประชุม จัดเลี้ยง งานสัมมนา และยังมีพื้นที่ด้านกิจกรรมสันทนาการและชอปปิ้ง”
โปรเจ็กต์ต่างๆ ที่ทีซีซี แลนด์ กำลังรังสรรค์ในห้วงยามนี้ ผลงานที่ปรากฏและกำลังจะปรากฏในอนาคตอันใกล้ สะท้อนให้เห็นถึงความเข้าใจจุดเด่นทางยุทธศาสตร์ของตัวเองและตีโจทย์ออกมาเป็นเสน่ห์ได้อย่างดี เฉกเช่นกลุ่มธุรกิจที่อยู่บนพื้นที่ริมตลิ่งสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ที่สร้างสรรค์เสน่ห์ในแบบฉบับของตัวเอง ซึ่งสามารถสร้างความแตกต่างได้เป็นอย่างดี
กระนั้นยังคงต้องรอการพิสูจน์ว่า กลุ่มธุรกิจใดจะประสบความสำเร็จและเป็นที่ยอมรับมากกว่ากัน เพราะนั่นยอมหมายถึงผู้คนที่อาศัยบริเวณโดยรอบยอมรับและพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง แต่ทั้งนี้ยังต้องคำนึงถึงเรื่องของเสน่ห์แต่ดั้งเดิมที่เคยเป็นมาเช่นกัน เพราะการเปลี่ยนแปลงในบางกรณีก็ไม่ใช่การนำไปสู่ความสำเร็จ หากแต่เป็นการเปลี่ยนแปลงที่เสมือนการนำพาไปสู่ความเสื่อมถอย เช่นที่กำลังเกิดกับตลาดดอกไม้ย่านปากคลองตลาด แม้ส่วนหนึ่งจะมองในเรื่องของความเป็นระเบียบ และความสะดวกในการสัญจร แต่หากพินิจพิเคราะห์กันในเรื่องของมนต์เสน่ห์ บางครั้งความชุลมุนอลหม่านก็มีเสน่ห์แอบแฝงอยู่ในตัวเองเช่นกัน
หากโครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ภายในการกำกับดูแลของรัฐบาล สำเร็จลุล่วงอย่างที่ไม่สามารถทัดทานได้ ประเทศไทยอาจจะเป็นประเทศที่อุดมไปด้วย “แลนด์มาร์ค” ที่มีอยู่ทุกหัวมุมเมือง หรือคำนี้คือจุดขายสำคัญที่ใครก็ขาดเสียไม่ได้ เพราะทั้งภาครัฐ และเอกชน ต่างปั้นแต่งโครงการที่หวังสร้างแลนด์มาร์คด้วยกันทั้งสิ้น
พื้นที่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ความหอมหวานในเชิงธุรกิจที่ทำให้เห็นการเติบโตอย่างต่อเนื่องเสมือนกระแสน้ำที่ไหลต่อเนื่องอย่างไม่มีวันย้อนกลับ แม้ว่านักลงทุนจะหยิบยกเอาประเด็นอัตลักษณ์ของไทยมาเป็นจุดขาย ทั้งในเรื่องของวัฒนธรรม วิถีชีวิตผู้คน แต่ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกลับสะท้อนภาพชัดลงบนพื้นผิวของแม่น้ำสายนี้ว่า “ทุกอย่างกำลังเปลี่ยนไปแล้ว”