วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > AEC > Pathways to 2015 > การศึกษาไทยและ AEC 2015

การศึกษาไทยและ AEC 2015

ผมได้พูดถึงการศึกษาในประเทศภูฏาน จึงขออนุญาตแทรกเรื่องการศึกษาแบบไทยๆ  เนื่องจากเราเองก็กำลังจะเข้าสู่การเปิดตลาดเสรีของประชาคมอาเซียนอย่างเต็มรูปแบบในอีก2ปีกว่า เนื่องจากไทยเป็นประเทศชั้นนำในอาเซียน เราต้องหันมาถามตัวเองว่าเราจะ Position การศึกษาของประเทศไทยในมิติไหน  เพราะประเทศเล็กๆ อย่างภูฎานยังสร้าง Education City เพื่อเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของภูมิภาค

ผมจะพูดถึงจุดแข็งและจุดอ่อนของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางด้านการศึกษาของอาเซียน แม้เราจะไม่ได้มีประชากรครึ่งโลกอย่างที่ท่านนายกรัฐมนตรีเชื่อมั่น แต่ถ้ารวมประชากรของ ASEAN +3 หรือ ASEAN +6 ผมเชื่อว่าอาจจะเกินครึ่งโลกเสียด้วยซ้ำ  ดังนั้นเราต้องถามว่าประเทศไทยอยู่ตรงไหนในอาเซียน และถ้าบวก3 หรือ บวก 6 ประเทศภาคีแล้วไทยยืนอยู่ตรงไหน หรือมีที่ยืนหรือไม่

เนื่องจากผมเองก็เป็นนักการศึกษาคนหนึ่ง  จึงให้ความสนใจในเรื่องการศึกษาค่อนข้างมาก โดยผมได้เล่าว่าการศึกษาคือสินค้าส่งออกในต่างประเทศ  และได้พูดถึงการศึกษาไทยและความเป็นนานาชาติ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เราไม่สามารถเถียงได้อีกต่อไปว่า  “การศึกษาไทยมีไว้แค่คนไทยเท่านั้น”  แบบในอดีตที่เราพูดกัน เพราะถ้าประเทศไหนยังคิดแบบนี้ก็คงต้องเข้าเกียร์ถอยหลังเข้าคลองไปได้เลย  เพราะแนวคิดที่ว่าการศึกษาคือวิทยาทานนั้นอาจจะเป็นจริงในยุคโบราณจนมาสิ้นสุดในสมัยสงครามเย็นที่มีโคลัมโบแพลน หรือทุนอีสต์เวสต์ ในยุคนั้นเราได้ยินชื่อทุนมากมาย และที่คนไทยรู้จักมากที่สุดคือ ทุนนักเรียนแลกเปลี่ยน AFS ซึ่งรูปแบบของ AFS ในวันนี้ก็แตกต่างจากเมื่อ 20 ปีก่อนไปมากแล้ว ทุกวันนี้การศึกษาในประเทศที่พัฒนาแล้วได้ปรับตัวให้เข้ากับโลกที่เปลี่ยนแปลงโดยมีการบูรณาการทั้งจากวงการศึกษาและระบบราชการเพื่อความเหมาะสม
ถ้ามองตามหลักการพัฒนาประเทศโดย Rostow สามารถแบ่ง Product ได้ใน5 มิติคือ Primitive, Pre-Take Off, Take Off, Drive to Maturity, High Consumption หากเอามาตรฐานของการพัฒนามาเป็นที่ตั้ง ระดับ Primitive  คือประเทศที่ยังไม่มีระบบการศึกษาที่เป็นมาตรฐานหรือกำลังสร้างระบบอยู่ ในขณะที่ระดับ Pre-Take Off  คือการเตรียมความพร้อมในการปรับระบบเพื่อความเป็นสากลแต่ยังไม่มีความพร้อมที่จะรับชาวต่างชาติเพื่อมาศึกษา  หรืออาจจะมีความพร้อมแล้วแต่ก็ยังเชื่อว่าการศึกษาเป็นสิ่งที่มีไว้เพื่อคนในประเทศของเขาเพียงอย่างเดียว ขณะที่ระดับ Take Off  คือการเปิดตัวสู่สากล และเป็นการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนารากฐานของการศึกษาและการให้บริการ ซึ่งเปรียบเสมือนการเปิดตลาดและพยายามที่จะปรับการบริการต่างๆให้เข้ากับความต้องการของตลาด  ส่วนในระดับDrive to Maturity นั้นคือการพัฒนาระบบต่างๆ ให้เหมาะสม ในขณะที่ High Consumption จะมีความพร้อมในทุกๆ ด้าน เช่นประเทศพัฒนาแล้วที่ใช้ภาษาอังกฤษอย่างอเมริกา อังกฤษ ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และแคนาดา ซึ่งทำธุรกิจทางการศึกษาอย่างเป็นระบบ

เมื่อเอาระบบของไทยไปเทียบกับระดับโลก จะเห็นว่าประเทศไทยยังห่างไกลประเทศที่พัฒนาแล้วอย่างมาก แต่ต้องมาดูว่าปัจจุบันนี้การศึกษาของไทยและอาเซียน หรืออาเซียน+3 กับ +6 อยู่ในระดับไหน หากเราเอากรอบบวก 6 ซึ่งรวมทั้งเอเชียแปซิฟิกมาไว้ด้วยกัน  จะพบว่าออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ และญี่ปุ่นเป็นระดับ High Consumption ที่เราต้องไปศึกษาจากเขา

สำหรับประเทศอินเดียนั้นส่งออกการศึกษามานานแล้ว โดยคนไทยจำนวนไม่น้อยที่ไปเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาในเมืองภารตะ เช่นที่เมืองดาร์จีลิง และในช่วงที่ผ่านมาในแคว้นอัสสัม อย่างเมือง กุวาฮาตี แม้ว่าอินเดียจะพยายามส่งออกการศึกษาแต่แบรนด์ของอินเดียอาจจะไม่ดึงดูดนักศึกษา เพราะความไม่พร้อมด้านสาธารณูปโภคของประเทศ แต่ก็ต้องยอมรับว่าอินเดีย Take Off มากว่า 20 ปีแล้ว

ส่วนเกาหลีนั้นมีจุดอ่อนคือ เขาเดินตามญี่ปุ่นจนลืมนึกว่า ภาษาเกาหลีไม่ได้เป็นภาษากลางของโลก ดังนั้นนอกจากกระแสเกาหลีฟีเวอร์แล้ว แม้เกาหลีพยายามที่จะ Take Off  แต่ Product ของเกาหลีอยู่ในปริมาณที่จำกัดด้านภาษา 

ส่วนประเทศจีน ตอนนี้เป็นทั้งผู้ส่งออกการศึกษาและตลาดที่ใหญ่ที่สุดของการศึกษา  ในประเทศไทย เราจะพบว่านักศึกษาจีนให้ความสำคัญกับการเรียนภาษาอังกฤษและภาษาไทยไม่แพ้นักศึกษาไทยที่ตื่นตัวการเรียนภาษาจีน เราอาจจะสงสัยว่าทำไม  เราพบว่าประเทศจีนนั้นให้ความสำคัญกับภาษาในเอเชีย ไม่ว่าจะเป็นไทย ญี่ปุ่น เกาหลี หรือ เวียดนาม ดังนั้นเมื่อมองจาก ASEAN +6 แล้ว เราจะพบว่าประเทศไทยเป็นรองด้านศักยภาพทางการแข่งขันกับญี่ปุ่น ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ แบบไม่เห็นฝุ่น ขณะที่อินเดียกับจีนจะเป็นในรูปแบบที่ใกล้เคียงกัน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียนไทยไปอินเดียกับจีน หรือนักเรียนเขาเองก็มาเมืองไทยไม่น้อย ในขณะที่ประเทศเกาหลีเองก็มีความสนใจอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำจากไทยและเกาหลีเอง

เมื่อหันมามองรอบๆ ตัวเราและสิบประเทศอาเซียน ประเทศที่ต้องการพัฒนาด้านการศึกษาอย่างมากคงหนีไม่พ้นลาว กัมพูชา หรือพม่า ในขณะที่ประเทศอินโดนีเซีย หรือมาเลเซีย จะเห็นได้ชัดว่าชนชั้นกลางโดยเฉพาะประชาชนเชื้อสายจีนนิยมส่งบุตรธิดาไปเรียนในต่างประเทศ ส่วนฟิลิปปินส์ก็เคยเป็นประเทศที่ Take Off ไปเมื่อห้าสิบปีก่อน แต่เนื่องจากไม่รักษามาตรฐานทั้งการศึกษาและเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการเกิดขึ้นของมหาวิทยาลัยตึกแถว ซึ่งส่งผลเสียต่อชื่อเสียงทางการศึกษาของเมืองตากาล็อก อย่างกู่ไม่กลับ นอกจากนี้มาตรฐานที่ลดลงของฟิลิปปินส์ทำให้อดีตผู้ส่งออกการศึกษารายใหญ่ที่สุดของอาเซียนกำลังที่จะเริ่มส่งนักศึกษาออกไปต่างประเทศแทน

สำหรับสิงคโปร์นั้นได้ส่งออกการศึกษาจนเป็น High Consumption ไปแล้ว เพราะถ้าไม่ติดว่าเป็นเอเชีย สิงคโปร์แทบจะไม่มีความแตกต่างจากเมืองฝรั่งอีกต่อไป ประเทศไทยเองได้ Take Off  ด้านการศึกษาอย่างเต็มตัวมาได้ระยะหนึ่งแล้ว ในอดีตที่ผ่านมาการศึกษาไทยอาจจะเป็นในรูปแบบเดียวกับญี่ปุ่นหรือเกาหลี ที่ผู้มาศึกษาจากประเทศเพื่อนบ้านต้องเรียนภาษาไทยก่อน อย่างไรก็ตาม การเปิดตัวของโรงเรียนนานาชาติ  ตามด้วยมหาวิทยาลัยนานาชาติในช่วง2ทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้ประเทศไทยได้เปิดตัวเป็น Provider ด้านการศึกษาในระดับสากล โดยนักศึกษาที่เลือกมาเรียนในประเทศไทยนั้นมาจากอาเซียนและแอฟริกา และเอเชียส่วนต่างๆ รวมถึงนักศึกษาแลกเปลี่ยนจากอเมริกา ยุโรป ซึ่งเลือกประเทศไทยเป็นตลาดการศึกษาเช่นกัน

ถ้าหันมามองการเปิดตลาดเสรีอาเซียนว่าจะมีผลกระทบกับการศึกษาไทยหรือไม่ เราสามารถเห็นได้ทั้งปัญหาและโอกาส ปัญหานั้นเราจะพบได้หลายอย่างเช่น การบริการวีซ่าจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองของไทย หากวัดกับสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในประเทศที่มีความพร้อมแล้ว เรายังต้องปรับปรุงอีกมาก ในปัจจุบันนี้วีซ่านักศึกษาของไทยใช้  Non-Immigrant Visa ซึ่งการขอเอกสารค่อนข้างวุ่นวายในระดับหนึ่ง ขณะที่ประเทศที่ส่งออกการศึกษาจะมีวีซ่านักศึกษาแยกออกมาเป็นชนิดพิเศษ โดยในบางประเทศสามารถขอonline ได้ ในขณะที่ประเทศไทยจะต้องไปที่ศูนย์ราชการ และนักศึกษาจากบางประเทศต้องคอยรายงานตัวกับเจ้าหน้าที่ตำรวจทุกๆ90วัน ในขณะที่ต่างประเทศเขาจะตัดความยุ่งยากเหล่านี้ออกไปด้วยการต่อวีซ่าเป็นรายปี นอกจากนี้การเปลี่ยนชนิดของวีซ่าในไทย หลายครั้งชาวต่างชาติจำเป็นต้องเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ในขณะที่ในต่างประเทศจะสามารถขอเปลี่ยนสถานะวีซ่าได้โดยไม่ต้องออกนอกประเทศ

นอกจากความพร้อมด้าน Immigration แล้ว ประเทศไทยยังต้องปรับทัศนคติต่อชาวต่างประเทศโดยเฉพาะการตั้งแง่กับชาวต่างชาติที่มาจากประเทศเพื่อนบ้านและแอฟริกา การที่เรามีทัศนคติที่เป็นลบกับประเทศเพื่อนบ้านย่อมส่งผลต่อทัศนคติเชิงลบของพวกเขาต่อประเทศไทยเช่นกัน สิ่งนี้บ่งชี้ถึงความไม่พร้อมของประเทศไทยในการเป็น Education Hub เช่นกัน

สิ่งที่เราพบเห็นคือความสับสนของบทบาทและวัฒนธรรมของประเทศไทยกับความเป็นอาเซียน หลายครั้งที่ผมได้รับเชิญไปร่วมงานโรงเรียนหรือมหาวิทยาลัย  ซึ่งเมื่อชมการแสดงเกี่ยวกับอาเซียนผมพบว่าเราให้ความสำคัญกับวัฒนธรรมไทยจนแทบจะเรียกว่า ไม่รับรู้วัฒนธรรมของชาติอื่นๆ มากนัก นอกจากการแต่งชุดประจำชาติของเขา ความรู้และการตื่นตัวของชาวไทยต่ออาเซียนนั้นเรียกได้ว่าอยู่ในเกณฑ์ที่ต่ำเกือบที่สุดในอาเซียนทีเดียว 

ในการสัมมนาความพร้อมด้านอาเซียนหลายหน ผมพบว่าเราสับสนกับบทบาทของเราเองมาก เช่นการประชุมเตรียมความพร้อมของจังหวัดใหญ่ทางภาคเหนือ หลังจากที่ภาครัฐและเอกชนพูดถึงความพร้อมจนกระทั่งมีความเห็นว่าภาคเหนือของไทยนั้นมีความพร้อมที่จะเป็นศูนย์กลางการศึกษาของอาเซียน และอาจจะรวมไปถึงประเทศจีนเลยทีเดียว ปรากฏว่าหลังจากสัมมนาสักพักผมเจอกับความคิดเห็นอย่างการแต่งเครื่องแบบนักศึกษาหรือการโปรโมตให้นักศึกษาแต่งชุดไทยในบางวัน ทำให้เริ่มสงสัยว่าตกลงเราจะไปอาเซียนหรือจะให้ทั้งอาเซียนมาเป็นไทย  ซึ่งถ้าเป็นอย่างหลังผมมองว่า ไม่ต้องไปคิดถึง2015เลย ต่อให้ 2050 ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้

อีกตัวอย่างที่ผมเห็นแล้วไม่ทราบจะหัวเราะหรือร้องไห้ดี  คือข่าวที่ว่า ภาษาไทยจะเป็นหรือมีศักยภาพที่จะเป็นภาษากลางของอาเซียน ทั้งๆ ที่ภาษาราชการของอาเซียนคือภาษาอังกฤษ เราไปคิดหรือหลงตัวเองว่าชาวกัมพูชา ลาว เวียดนาม และพม่า เขาเรียนภาษาไทยแล้วเราก็จะเป็นศูนย์กลางของอาเซียน แต่ชาวอินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ หรือบรูไน ไม่ได้แสดงความสนใจเรียนภาษาไทยมากเท่าที่เราหลงคิดกันไปเอง ซึ่งมีคำตอบเดียวคือคนไทยเราต้องเรียนรู้ภาษาอังกฤษ

การที่ประเทศไทยมองจากภายในสู่ภายนอก เราจะพบปัญหาไม่น้อยทั้งเรื่องการบริการ การเตรียมความพร้อม การเข้าใจความแตกต่างของวัฒนธรรม  และที่สำคัญคือมุมมองของชาวไทยต่อประชาคมโลก ปัญหาที่เรามักจะได้ยินเกี่ยวกับเด็กไทยสมัยใหม่ คือการขาดทักษะภาษาต่างประเทศ ในขณะที่ต่างประเทศเริ่มหันไปมองการเรียนรู้ภาษาที่สาม เด็กไทยยังใช้ภาษาไทยที่ผิดในโลกออนไลน์ ตรงนี้ไม่รวมถึงการ Comment ภาษาไทยในเว็บไซต์ที่เป็นสากล สร้างความเอือมระอาให้กับชาวออนไลน์ในประเทศต่างๆ การขาดความเข้าใจในวัฒนธรรมต่างประเทศ ล้วนส่งผลให้ต้องหันมามองตัวเองว่า เราเตรียมความพร้อมให้เยาวชนของเราแบบผิดๆ อยู่หรือไม่ การที่เราปลูกฝังความเป็นไทยไม่ใช่เรื่องผิด แต่ต้องให้องค์ความรู้แก่เด็กสมัยใหม่ด้วยว่า Beyond  Thailand เป็นอย่างไร หากเราเรียนรู้ความเป็นไทยแต่ไม่สามารถก้าวพ้นแนวคิดชาตินิยมซึ่งมีอายุอานามกว่า100ปี ไปได้ ประเทศไทยคงจะก้าวไปสู่โลกที่เป็นนานาชาตินิยมที่กำลังจะมาถึงประเทศของเราในปี 2015 ได้ยากอย่างแน่นอน