วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > The Global Link > Inside New Zealand > Pro Bono กับการเปลี่ยนกฎหมายในน่านน้ำนิวซีแลนด์

Pro Bono กับการเปลี่ยนกฎหมายในน่านน้ำนิวซีแลนด์

เมื่อกลางปีที่ผ่านมา รัฐบาลนิวซีแลนด์ได้มีการเปลี่ยนกฎหมายจ้างงานในน่านน้ำนิวซีแลนด์ โดยกำหนดว่าเรือประมงทุกลำที่เข้ามาจับปลาในน่านน้ำนิวซีแลนด์จะต้องใช้กฎหมายจ้างงานของนิวซีแลนด์กับลูกเรือทุกคนในขณะที่อยู่ในน่านน้ำนิวซีแลนด์

และที่น่าสนใจกว่านั้นก็คือ นี่ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงกฎหมายที่เกิดจากผลของคดีความในศาล แต่เป็นการเปลี่ยนแปลงกฎหมายจากการที่กลุ่มทนายความอาสา ได้มีการประชุมเจรจากับรัฐบาลนิวซีแลนด์ให้เปลี่ยนกฎหมาย เนื่องจากลูกความในคราวนี้ไม่มีเงินที่จะไปจ้างทนายในประเทศนี้ให้มาว่าความให้พวกเขา และจ่ายค่าดำเนินการในการพิจารณาคดีในศาลให้ทางการอย่างแน่นอน และถึงมี ผมว่าโอกาสที่จะชนะคดีก็คงจะยากมาก เพราะลูกความเหล่านี้เป็นพวกลูกเรือที่ทำงานอยู่ในเรือประมง ชื่อ ‘โอยาง 75’ (Oyang 75) ซึ่งเป็นเรือประมงของประเทศเกาหลีใต้

ซึ่งเจ้าของเรือโอยาง 75 สามารถเอาเปรียบลูกเรือสารพัดได้ เพราะตามกฎหมายน่านน้ำ (Maritime Law) ของนิวซีแลนด์ถือว่าน่านน้ำเป็นเขตแดนสากล ที่เรือทั่วไปสามารถเดินทางไปมาได้ ฉะนั้นการจะกำหนดให้เรือลำไหนๆ ใช้กฎหมายของประเทศที่เขาอยู่ในน่านน้ำนั้นๆ จึงเป็นเรื่องยาก ฉะนั้นกฎหมายก็คือ ถ้าเรือลำนั้นชักธงประเทศไหนก็ให้ใช้กฎหมายประเทศนั้น ฉะนั้นถ้าเรือเดินสมุทรลำไหนจดทะเบียนที่เกาหลีใต้ ชักธงเกาหลีใต้ ก็ใช้กฎหมายเกาหลีใต้ในเรือลำนั้น

แน่นอนว่าการทำแบบนี้ก็ทำให้มีช่องโหว่ทางกฎหมายเกิดขึ้น ให้นายทุนหัวใสคิดวิธีที่จะลดต้นทุนได้ โดยเฉพาะกับธุรกิจประมง เนื่องจากนิวซีแลนด์ เป็นประเทศที่ค่าแรงสูงมาก แถมลูกจ้างมีสิทธิต่างๆ ตามกฎหมายมากมาย ที่นายจ้างจะละเมิดไม่ได้ ฉะนั้นบริษัทประมงบางบริษัทในนิวซีแลนด์จึงใช้ช่องว่างของกฎหมายน่านน้ำของนิวซีแลนด์ให้เป็นประโยชน์ที่จะลดค่าใช้จ่าย โดยก่อนอื่นก็ขอสัมปทานจับสัตว์น้ำจากทางการนิวซีแลนด์ซะก่อน พอได้สัมปทานเรียบร้อยแล้ว คราวนี้ก็ไปซื้อเรือประมงที่ต่างประเทศจดทะเบียนว่าเป็นของประเทศไหนก็ได้ที่กฎหมายแรงงานกำหนดค่าแรงไว้ถูกๆ แล้วก็จ้างลูกเรือจากประเทศนั้นให้ลงเรือแล่นมาที่น่านน้ำของนิวซีแลนด์ โดยชักธงของประเทศนั้นๆ ขึ้นซะ แค่นั้นเจ้าของธุรกิจก็ไม่ต้องกลัวจะถูกกฎหมายแรงงานของนิวซีแลนด์มาเล่นงานเขาได้แล้ว แถมยังได้กำไรเพิ่มขึ้นอีกด้วย เพราะว่าต้นทุนเรื่องค่าแรงถูกลงเยอะ แล้วพอจับปลาได้เต็มเรือ ก็แล่นเรือเอาปลามาเข้าท่าเรือที่นิวซีแลนด์ โหลดสินค้าลงไปขาย แค่นี้ก็ได้กำไรเพียบ เพราะว่าขายสินค้าให้ผู้บริโภคในราคาสูง เนื่องจากคิดราคาสินค้าตามต้นทุนการจ้างพนักงานของนิวซีแลนด์ แต่ต้นทุนของพวกเขาจริงๆ ถูกกว่านั้นเยอะ เพราะจ้างแรงงานประเทศอื่นมาจับปลาให้

ซึ่งพวกทำธุรกิจประมงพอเห็นบริษัทคู่แข่งหรือบริษัทของเพื่อนตัวเองทำแบบนี้แล้วลดต้นทุนได้เยอะ ยอดกำไรสูงขึ้นแบบเห็นๆ คราวนี้ก็เลยทำตามมั่ง ไม่ยอมน้อยหน้ากัน เพราะกฎหมายเปิดโอกาสให้พวกเขา จ้างลูกเรือประเทศอื่นได้ แล้วเรื่องอะไรจะต้องจ่ายแพงจ้างลูกเรือนิวซีแลนด์ให้โง่ จนกระทั่งผู้เชี่ยวชาญในเรื่องธุรกิจประมงในนิวซีแลนด์ให้สัมภาษณ์ว่า “ปลาหมึก และปลาที่จับจากน้ำลึกในนิวซีแลนด์ส่วนใหญ่ จับโดยแรงงานทาส (Slave Labour) ของลูกเรือต่างชาติทั้งนั้น”

การจ้างลูกเรือต่างชาติมาจับปลาในน่านน้ำนิวซีแลนด์จึงเพิ่มมากขึ้นอย่างรวดเร็ว ขณะนี้มีคนทำธุรกิจทำสัญญาระยะยาวกับบริษัทขายอาหารทะเล รับจับปลาให้ ถึง 12 บริษัท และหนึ่งในนั้นคือบริษัท โอยาง คอร์เปอเรชั่น (Oyang Corporation) ของนายซาโจ้ โอยาง (Sajo Oyang) นักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ โอยางติดต่อธุรกิจประมงในนิวซีแลนด์ว่ายูไม่ต้องไปซื้อเรือประมงมาจับปลาเองด้วยซ้ำ มาทำสัญญากับไอดีกว่า ไอจะจัดการให้ทุกอย่าง จะเป็นคนหาเรือประมง หาลูกเรือ แล้วจะหาสัตว์น้ำให้ยู กี่ตันๆ ต่อเรือ 1 ลำ โดยยูจ่ายเงินมาให้ไอ เท่าไหร่ๆ ต่อเรือ 1 ลำ ซึ่งธุรกิจประมงบางบริษัท ก็ใช้บริการของโอยาง เพราะไม่ต้องลำบากไปหาลูกเรือ ไปทำเรื่องซื้อเรือ จดทะเบียนเรือ เอาเรือออกจากท่าที่ต่างประเทศ แค่จ่ายเงินให้บริษัทโอยางตามที่เขาเรียกร้อง โอยางจะจัดการทุกอย่างให้เสร็จสรรพ และพาเรือเข้ามาเทียบท่าที่นิวซีแลนด์พร้อมปลาตามจำนวนที่สัญญาไว้ไม่มีบิดพลิ้ว

แน่นอนว่าการที่บริษัทโอยางสามารถรับทำบริการเหล่านี้ในราคาที่ไม่แพงนักได้ ย่อมต้องมีวิธีลดต้นทุน และวิธีลดต้นทุนของบริษัทโอยางนั้น ก็คือการเอาเปรียบลูกเรือให้มากที่สุด เพื่อจะได้จ่ายเงินที่ตัวเองได้รับจากธุรกิจประมงออกไปให้น้อยที่สุด เริ่มจากเรือประมงที่ซื้อมานั้น ก็ไม่จำเป็นที่จะต้องซื้อเรือประมงแพงๆ ที่มีห้องพัก ห้องนั่งเล่น ระบบทำความร้อน หรือระบบระบายอากาศถูกต้องแต่อย่างใด ซื้อเรือห่วยๆ ถูกๆ ยังไงก็ได้ (เรือโอยาง 75 เป็นเรือเก่าสุดๆ อายุ 26 ปี) เพราะเรือโอยาง 75 ไม่ได้ชักธงนิวซีแลนด์ ฉะนั้นกฎหมายแรงงานของนิวซีแลนด์ก็ไม่สามารถปกป้องลูกเรือโอยาง 75 ได้ ลูกเรือโอยาง 75 ต้องนอนรวมกันอยู่ในห้องที่แออัด ส้วมชักโครกไม่มี มีแต่ส้วมสุดโสโครกชวนอาเจียน น้ำร้อนไม่มีให้อาบ ซึ่งเวลาเรือออกไปหาปลาใกล้ๆ ขั้วโลกใต้ แล้วต้องอาบน้ำเย็นนี่มันคงเสียวพิลึก ส่วนเครื่องทำความร้อนในห้องนอนนั้นไม่ต้องฝัน ไม่มีหรอก ลูกเรือก็คงจะต้องนอนเบียดเสียดอาศัยไออุ่นของกันและกัน สู้ความหนาวกันไปตามยถากรรม

ส่วนเรือของบริษัทโอยางนั้น หลังออกจากประเทศเกาหลีใต้ ก็จะไปแวะรับลูกเรือจากอินโดนีเซีย ซึ่งคนงานเหล่านี้ก็จะโดนกล่อมมาโดยการสร้างภาพสวยหรูว่าจะได้มาทำงานที่นิวซีแลนด์ ลูกเรือพวกนี้ก็นึกภาพว่าพวกเขาจะมีรายได้สูงๆ ในเมืองสวรรค์ พอเรือโอยาง 75 มาเทียบท่า ก็รีบขึ้นเรือกันแบบไม่ต้องคิดหน้าคิดหลัง กว่าจะรู้ว่าคิดผิดก็สายไปเสียแล้ว เพราะเรือออกจากท่าเรียบร้อย ไม่มีวันได้กลับบ้านอีกต่อไป ต้องรอให้เรือโอยาง 75 พากลับมาส่งที่ประเทศตัวเองอีกครั้งถึงจะลาออกจากงานนี้ได้ ซึ่งบริษัทโอยางนั้นพอพาคนงานเหล่านี้ขึ้นเรือมาได้ ก็แล่นมาน่านน้ำนิวซีแลนด์ทันที แล้วก็จับปลาขึ้นไปส่งให้บริษัทประมงที่เป็นคู่สัญญาที่ท่าเรือนิวซีแลนด์ แล้วก็แล่นลงไปจับปลาต่อ ลูกเรือก็คงจะมีโอกาสแค่ไปเดินเล่นที่เมืองท่าในนิวซีแลนด์เป็นครั้งคราว ก่อนจะถูกต้อนลงเรือนรก แล่นเข้าสู่น้ำลึกไปจับปลาต่อ ซ้ำซากแบบนี้ต่อไปเรื่อยๆ โอกาสที่เรือโอยางจะพาพวกเขาแล่นออกจากน่านน้ำนิวซีแลนด์แล้วพากลับบ้าน ก็คงชาติหน้าตอนบ่ายๆ ถ้ายังไม่ตายซะก่อน

ส่วนเวลาทำงานนั้น นายจ้างก็เลี้ยงลูกเรือด้วยลำแข้ง ในเรือนั้นมีพนักงานจากบริษัทโอยาง 5 คน คือกัปตัน ผู้ช่วยกัปตัน และอีก 3 คนเป็นผู้คุม ซึ่งหน้าที่ของผู้คุม คือทำทุกอย่างเพื่อให้ลูกเรือเชื่อฟังคำสั่ง ซึ่งจากหลักฐานการแอบอัดเสียงบนเรือ พบว่าการตะคอกลูกเรือให้ทำงานนั้นเป็นเรื่องปกติ ลูกเรือคนไหนทำงานไม่ดี จะมีการขว้างปลาใส่หน้า เป็นการลงโทษสถานเบา ส่วนการลงโทษสถานกลาง คือการผลักลูกเรือเข้าไปอยู่ในห้องเย็นใต้เรือ 24 ชั่วโมง แล้วล็อกประตูจากด้านนอกไม่ให้ออกมาได้ ในขณะที่เรือกำลังแล่นอยู่บริเวณใกล้ขั้วโลกใต้ที่หนาวจัด และหากคนไหนดื้อมากๆ ก็จะโดนลงโทษสถานหนัก คือโดนผู้คุมรุมกระทืบ ส่วนถ้าถามว่าแล้วแค่คำสั่งผู้คุม ทำไมถึงไม่เชื่อฟัง คำตอบคือบางคำสั่งนั้นเป็นคำสั่งที่ถ้าทำตามก็อาจจะตาย ยอมโดนกระทืบยังจะดีกว่า เช่นในปี 2010 มีเรือของบริษัทโอยาง นามว่า ‘โอยาง 70’ (Oyang 70) กำลังแล่นเรืออยู่ แล้วเกิดแล่นผ่านฝูงปลาใหญ่มาก ผู้คุมเลยสั่งให้ลูกเรือลงอวน และดึงปลาทั้งฝูงนั้นให้ได้ ซึ่งผลก็คืออวนหนักเกินไป ดึงไม่ขึ้น ผู้คุมก็ยังสั่งให้ดึงให้ขึ้นมาให้ได้ น้ำหนักของอวนหนักเกินไป ทำให้เรือเสียการทรงตัวและล่ม ลูกเรือตายไป 5 คน

สำหรับเวลาเริ่มงานและเลิกงานนั้น ลูกเรือทุกคนจะต้องทำงานหามรุ่งหามค่ำ เมื่อเรือไปเจอปลา และมีการเริ่มจับปลา จะไม่มีการหยุดงานจนกว่าจะลากปลาขึ้นมาบนเรือได้สำเร็จ และถ้าปลาที่จับขึ้นมานั้นเป็นปลาราคาถูก ถือเป็นความผิดของลูกเรือ จะต้องโดนหักเงินเดือนทุกคน และต้องทิ้งปลาเหล่านั้นลงทะเล และจับปลาใหม่ที่ขายได้ราคาสูงๆ ขึ้นมาแทนให้ได้ ส่วนลูกเรือคนไหนที่เป็นผู้หญิง ก็จะมีหน้าที่พิเศษด้วย คือเป็นเมียบำเรอให้ผู้คุม กัปตัน และผู้ช่วยกัปตันเรียงคิวหลังเลิกงาน หลังจากอ่านวิถีชีวิตลูกเรือของบริษัทโอยาง ผมไม่แปลกใจเลยว่าทำไมบริษัทโอยางถึงรวยเอาๆ ก็เล่นหาเรื่องหักเงินเดือนลูกเรือกันทุกวัน ส่วนลูกเรือคนไหนที่เรือล่มจมน้ำตายไปแล้ว แทนที่จะส่งเงินเดือนที่พวกเขาทำงานมาทั้งหมดไปให้ญาติพี่น้องที่อินโดนีเซีย ก็ริบเงินเหล่านั้นขึ้นหมด ไม่ยอมจ่าย โดยอ้างว่าเป็นความผิดของลูกเรือที่ทำให้เรือล่ม (ทั้งๆ ที่จริงๆ ลูกเรือทำตามเพราะกลัวโดนรุมยำ) ทำให้ทรัพย์สินบริษัทเสียหาย บริษัทจึงขอริบเงินเดือนเหล่านั้นเป็นค่าเสียหาย ฉะนั้นทั้งโคตรโหดโคตรโกงแบบนี้ ไม่รวยก็ให้มันรู้ไป

แต่กรรมมีจริง เนื่องจากเหล่าผู้คุมและกัปตันของโอยาง ปฏิบัติต่อลูกเรือได้ต่ำทรามเกินไป ฉะนั้นเมื่อเรือโอยาง 75 ได้เข้ามาเทียบฝั่งนิวซีแลนด์เพื่อขนปลาลงไปให้บริษัทประมงครั้งล่าสุด ลูกเรือ 32 คนที่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นฝั่งไปพักผ่อน เมื่อเรือมาถึงฝั่งก็ไม่มีใครยอมลงเรือกลับไปทำงาน ทุกคนพร้อมใจกันเดินทางไปขอความช่วยเหลือจากทางการนิวซีแลนด์ จึงกลายเป็นข่าวใหญ่ และไม่นานหลังจากนั้น ก็มีลูกเรือบริษัทโอยางอีก 2 ลำ คือเรือเมลิลล่า (Melilla) 201 และเมลิลล่า 203 ที่ไม่ยอมกลับเข้าเรือนรกเมื่อขึ้นฝั่ง เพราะทนไม่ไหว

แน่นอน เมื่อเรื่องนี้กลายเป็นข่าว คนนิวซีแลนด์ก็ตกใจกันมาก เพราะไม่เคยรู้มาก่อนว่าอาหารทะเลแพงๆ อร่อยๆ ที่ตัวเองกินอยู่ทุกวันนั้น ส่วนใหญ่จับโดยแรงงานทาสทั้งนั้น และที่น่าปลื้มใจที่สุดคือ มีทนายความนิวซีแลนด์ชื่อนายเครก ทัค (Craig Tuck) เข้ามาช่วยเหลือลูกเรือเหล่านี้ โดยทำหน้าที่ทนายอาสา หรือที่ภาษากฎหมายเรียกว่า Pro Bono Publico ซึ่งก็คือการช่วยเหลือลูกความที่ไม่มีเงินจ้างทนาย โดยไม่คิดเงิน ซึ่งการช่วยเหลือคนยากจนโดยไม่คิดเงินนั้นมีทนายความหลายคนทำอยู่ และไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจที่ทนายความหลายคนทำ เพราะอาชีพทนายความ ผมขอพูดตามประสบการณ์ทำงานของผมว่า มีหลายกรณีที่ลูกความสั่งให้เราทำในสิ่งที่เราไม่อยากทำ ซึ่งกฎของทนายความไม่อนุญาตให้ทนายความปฏิเสธที่จะไม่ทำคดีให้ลูกความหากลูกความพร้อมจะจ่ายค่าบริการ

สำหรับผมเองนั้น ก็เคยทำหลายเรื่องที่ผมไม่อยากทำ แต่ก็มีหลายเคสที่ผมรู้สึกดีมากที่รับ เคสที่ผมชอบรับที่สุดก็คือ เคสที่ลูกความของผมถูกอีกฝ่ายหนึ่งโกง เอาเปรียบหรือละเมิด และเขาต้องการความช่วยเหลือจากผม และผมรู้ดีว่าผมสามารถใช้ความรู้กฎหมายของผมช่วยพวกเขาได้ เวลาได้เคสแบบนี้ทีไร ผมจะมีความกระตือรือร้นมาก และรู้สึกดี เพราะมีโอกาสใช้ความรู้ช่วยคนที่สมควรได้รับความช่วยเหลือ

ผมเชื่อว่าทนายความส่วนใหญ่ก็คิดเหมือนผม ฉะนั้นเมื่อลูกเรือของบริษัทโอยางอยากเห็นบริษัทโอยางถูกลงโทษ ทนายความอย่างนายทัคจึงเต็มใจที่จะให้ความช่วยเหลือ และนายทัคยังประกาศหาทนายความที่จะมาช่วยเขาทำเรื่องนี้ ซึ่งก็มีทนายหลายคนอาสาที่จะช่วยเหลือเขา กลายเป็นกลุ่มทนายอาสาที่จะเล่นงานบริษัทโอยางให้ได้ เรื่องจะไปฟ้องศาลนิวซีแลนด์ขอให้ศาลสั่งให้บริษัทโอยางจ่ายค่าจ้างลูกเรือตามอัตรานิวซีแลนด์นั้นเป็นไปไม่ได้ แต่ลูกเรือส่วนใหญ่ให้สัมภาษณ์ว่า เรื่องเงินไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุด พวกเขาอยากได้ค่าจ้างตามอัตราที่เหมาะสมก็จริง แต่พวกเขาต้องการเห็นบริษัทโอยางถูกลงโทษ ซึ่งผมเองก็เชื่อว่าลูกเรือไม่ได้โกหก เพราะลูกความส่วนใหญ่ของผม เวลาพวกเขาต้องการฟ้องคนที่โกง เขาจะบอกผมทุกคนว่าเรื่องเงินไม่สำคัญเท่าเรื่องที่เขาต้องการเห็นศาลตัดสินคนคนนั้นว่าทำผิดจริง ส่วนค่าเสียหายจะได้เท่าไหร่นั่นก็แล้วแต่ศาลจะตัดสิน

นายทัคจึงฟ้องบริษัทโอยางในความผิดเรื่องการทิ้งปลาที่จับได้แล้วลงทะเล เมื่อปลาที่จับขึ้นมานั้นเป็นปลาราคาถูก เพราะกฎของการให้สัมปทานนั้น เมื่อใครจับปลาขึ้นมาแล้ว ไม่ว่าปลานั้นจะราคาถูกหรือแพง เขาไม่มีสิทธิ์ทิ้งปลาเหล่านั้นลงไปใหม่ได้ เพราะปลาพวกนั้นถูกจับขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ตายหมด การทิ้งซากปลาจำนวนเป็นร้อยๆ ตันลงทะเลนั้นจะสร้างมลภาวะให้น่านน้ำนิวซีแลนด์ ซึ่งบริษัทโอยางถูกศาลตัดสินให้ยึดเรือประมงไปหลายลำ และต้องจ่ายค่าปรับให้ทางการถึง 8 ล้านดอลลาร์ สมใจเหล่าลูกเรือที่อยากเห็นบริษัทโอยางถูกลงโทษทุกประการ

แต่กลุ่มทนายอาสายังไม่ยอมให้เรื่องจบแค่นั้น เพราะปัญหาเรื่องโอยาง แค่ลงโทษบริษัทโอยางอย่างเดียว ยังแก้ไขปัญหาไม่ได้ เพราะปัญหาที่แท้จริงมาจากช่องโหว่ของกฎหมายที่เปิดโอกาสให้นายทุนไม่จำเป็นต้องใช้กฎหมายนิวซีแลนด์ในน่านน้ำนิวซีแลนด์ ฉะนั้นถ้าไม่แก้กฎหมาย ในอนาคตก็จะมีนายทุนคนใหม่ที่ทำอะไรแบบโอยางทำ และอาจจะไม่ได้ทำผิดกฎหมายนิวซีแลนด์ในการทิ้งปลาราคาถูกที่ตายแล้วลงน้ำ ทำให้ทางการไม่สามารถลงโทษเขาได้ด้วย

เหล่าทนายอาสาจึงขอเข้าเจรจากับรัฐบาลให้แก้ไขกฎหมายจ้างงานในน่านน้ำนิวซีแลนด์ ว่าลูกเรือทุกคนในเรือประมงที่มาจับปลาในน่านน้ำนิวซีแลนด์ จะต้องได้รับความคุ้มครองจากกฎหมายแรงงานของนิวซีแลนด์ เพื่อไม่ให้มีใครมาทำอะไรผิดในเขตประเทศนิวซีแลนด์โดยที่ทางการไม่สามารถเอาผิดได้อีก ซึ่งรัฐบาลเองก็ตกลงที่จะเปลี่ยนกฎหมายตามที่พวกเขาเรียกร้อง เรื่องนี้จึงจบลงด้วยดี

อ่านเรื่องการเปลี่ยนแปลงกฎหมายน่านน้ำในนิวซีแลนด์ ผมก็เลยมีความคิดว่าสำหรับประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่มีจิตใจรักความยุติธรรมนั้น กฎหมายไม่จำเป็นที่จะรอให้มีเศรษฐีที่สามารถจ่ายเงินสู้คดีตัวเองขึ้นไปให้ถึงศาลฎีกา เพื่อจะเปลี่ยนกฎหมายเสมอไป หากว่าประชาชนจำนวนมากในประเทศหนึ่งๆ เห็นว่ากฎหมายมาตราไหน ไม่มีความเป็นธรรม พวกเขาก็ควรที่จะกล้าผลักดันให้มีการเปลี่ยนกฎหมายมาตรานั้นๆ เพื่อให้ปัญหาเรื่องความไม่เป็นธรรมจากกฎหมายมาตรานั้นหมดไป

ที่สำคัญคือ สื่อมวลชนจะต้องเปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นแสดงความคิดเห็นโดยเต็มที่ และอธิบายเหตุผลว่าทำไมกฎหมายมาตรานั้นจึงควรจะเปลี่ยนแปลง และเปิดโอกาสให้มีการวิจารณ์ข้อดีข้อเสียของกฎหมายมาตรานั้นอย่างเต็มที่ กฎหมายที่มีปัญหาและไม่เป็นธรรมก็จะค่อยๆ ถูกยกเลิกหรือถูกเปลี่ยนแปลงไป ซึ่งประเทศที่กฎหมายยิ่งมีความยุติธรรมและเสมอภาคกันมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งเป็นประเทศที่น่าอยู่ขึ้นเท่านั้น