วันอาทิตย์, พฤศจิกายน 24, 2024
Home > On Globalization > มรดก warehouse สู่ยักษ์ค้าปลีก

มรดก warehouse สู่ยักษ์ค้าปลีก

 
Column: AYUBOWAN
 
ภูมิทัศน์ทางเศรษฐกิจของศรีลังกาคงไม่สมบูรณ์หากไม่เอ่ยถึงชื่อของ Cargills บรรษัทผู้ผลิต และประกอบการค้าปลีกรายใหญ่ที่มีโครงข่ายธุรกิจครอบคลุมตั้งแต่ภาคอุตสาหกรรมการเกษตรที่เป็นเสมือนหนึ่งโรงครัวให้กับผู้คนในดินแดนแห่งนี้ ไปจนถึงสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG: Fast-moving consumer goods) อีกหลากหลายผลิตภัณฑ์
 
จุดเริ่มต้นของ Cargills ในด้านหนึ่งไม่แตกต่างจากความเป็นไปของบรรษัทรายใหญ่แห่งอื่นๆ ที่โลดแล่นอยู่ในศรีลังกา ซึ่งต่างเป็นผลผลิตหรือมรดกที่สืบเนื่องมาจากนักธุรกิจต่างชาติที่เข้ามาแสวงประโยชน์พร้อมๆ กับเจ้าอาณานิคม และลงหลักปักฐานเติบโตมาจนถึงปัจจุบัน
 
หากแต่ในรายละเอียดทางธุรกิจของ Cargills อาจแตกต่างจากกลุ่มผู้ประกอบการรายอื่นๆ ตรงที่ Cargills เติบโตขึ้นจากการเป็นคลังนำเข้าสินค้าและธุรกิจค้าส่งกระจายสินค้า มากกว่าที่จะเป็นผู้แทนหรือนายหน้าค้าเงินตราและชาออกไปสู่ตลาดโลก ซึ่งเป็นคุณลักษณะหลักของผู้ประกอบการในช่วงอาณานิคม
 
ประวัติการณ์ของ Cargills เริ่มขึ้นเมื่อ William Miller และ David Sime Cargill เปิดดำเนินธุรกิจคลังสินค้า เพื่อนำเข้าและค้าส่งสินค้าจากต่างประเทศป้อนสู่ความต้องการบริโภคของผู้คนในตลาดศรีลังกา ที่บริเวณท่าเรือโคลัมโบ เมื่อปี 1844 หรือเมื่อ 172 ปีที่แล้ว 
 
โดยสถานที่ตั้งกิจการค้าดังกล่าวได้รับการเรียกขานในเวลาต่อมาว่า “House of Cargills” กลายเป็นอาคารประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญไม่เฉพาะต่อเรื่องราวความเป็นไปของ Cargills หากยังสะท้อนวิถีของการพัฒนาและเปลี่ยนผ่านทางเศรษฐกิจของศรีลังกาจากยุคอาณานิคมสู่การเป็นเอกราช สังคมนิยม สาธารณรัฐจนถึงตลาดเสรีในปัจจุบันด้วย
 
ลำดับขั้นของการพัฒนา Cargills ก้าวไปสู่หลักไมล์สำคัญอีกขั้นเมื่อนักธุรกิจชาวทมิฬนาม Chittampalam A. Gardiner เข้ามาควบคุมกิจการของ Cargills และแปลงสภาพ House of Cargills ให้เป็นบริษัทมหาชนในปี 1946 สอดรับกับการปรับขบวนของนักธุรกิจจากต่างแดนในยุคหลังสงครามโลกและการเรียกร้องหาเอกราช
 
ภายใต้การนำของ Chittampalam A. Gardiner (January 1899 – December 1960) และกลุ่ม Ceylon Theatres ของเขา Cargills เติบโตขึ้นอย่างมั่นคง ก่อนที่จะมาถึงจุดเปลี่ยนผ่านสำคัญอย่างก้าวกระโดดจากผลของนโยบายเศรษฐกิจตลาดเสรีนับตั้งแต่ช่วงปี 1977 เป็นต้นมา ควบคู่กับการเข้ามาเป็นผู้บริหารในตำแหน่งกรรมการผู้จัดการของ Albert  A Page ในปี 1981 และขึ้นสู่ตำแหน่งประธานบริษัทในปีต่อมา
 
การปรับเปลี่ยนในการบริหารและบริบทโดยรอบ เปิดโอกาสให้ Cargills สามารถแสวงหาช่องทางธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างกว้างขวาง โดย Cargills ริเริ่มเปิดซูเปอร์มาร์เก็ตแห่งแรกของศรีลังกาบนถนน Staple กลางกรุงโคลัมโบ ในปี 1983 หรือเมื่อ 33 ปีที่แล้ว ภายใต้ชื่อ Cargills Food City โดยสาขาแห่งแรกนี้ยังเปิดให้บริการอยู่ในปัจจุบัน
 
Cargills ขยายบริบททางธุรกิจไปสู่การอุตสาหกรรมการผลิตและแปรรูปอาหารในปี 1993 ด้วยการลงทุนสร้างโรงงานและบริษัท Cargills Quality Foods และขยายไปสู่กิจการเครือข่ายร้านอาหาร เมื่อได้รับสิทธิในแฟรนไชส์ KFC ในปี 1996 พร้อมกับการสร้างตำรับการปรุงที่สอดรับกับรสนิยมทางอาหารของกลุ่มผู้บริโภคท้องถิ่น
 
ความพยายามของ Cargills ในการเป็นผู้ประกอบการด้านอาหารรายใหญ่ ท่ามกลางข้อวิตกกังวลว่าด้วยความมั่นคงทางอาหารของศรีลังกาซึ่งจำต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศ ส่งผลให้ Cargills เริ่มโครงการรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรทั้งผักและผลไม้จากเกษตรกรผู้ปลูกภายในประเทศโดยตรงในปี 1999 พร้อมกับตั้งศูนย์รับซื้อกระจายอยู่ในแต่ละพื้นที่
 
ความสำเร็จจากโครงการดังกล่าวส่งผลให้ Cargills ขยายโครงข่ายไปสู่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกร และโคกระบือ ในปี 2002 ซึ่งนำไปสู่การผลิตสินค้าในกลุ่ม dairy product และรวมถึง Cargills Magic Ice Cream ที่เป็นภาพสะท้อนผลสืบเนื่องของการขยายโอกาสและต่อยอดทางธุรกิจอย่างแจ่มชัด ควบคู่กับการจัดตั้ง Cargills Kist เพื่อดำเนินธุรกิจอุตสาหกรรมแปรรูปทางการเกษตรครบวงจร ที่ยกระดับโอกาสทางการตลาดให้กับทั้ง Cargills และเกษตรกรในเครือข่าย
 
กรณีดังกล่าวส่งเสริมให้ภาพลักษณ์ของ Cargills ในการยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของทั้งผู้บริโภคและเกษตรกรรากหญ้าระดับชาวบ้านในท้องถิ่นดำเนินไปอย่างแข็งแกร่ง ควบคู่กับการสื่อสารข้อความ “My Company, My Country” ได้อย่างเปี่ยมพลังและขยายการรับรู้ได้อย่างกว้างขวางด้วย
 
การรุกคืบทางธุรกิจของ Cargills ดำเนินไปอย่างไม่หยุดยั้ง เมื่อ Cargills ขยายพรมแดนเข้าสู่หมวดสินค้าอุปโภคบริโภค (FMCG: Fast-moving consumer goods) หลากหลายในปี 2010 พร้อมกับการรุกเข้าขอใบอนุญาตประกอบกิจการธนาคารพาณิชย์ ซึ่งนำไปสู่การดำเนินกิจการ Cargills Bank ที่เริ่มให้บริการตั้งแต่เมื่อปี 2014 ก่อนที่จะมีการปรับปรุงโครงสร้างธุรกิจขนานใหญ่เพื่อให้การบริหารจัดการกระชับขึ้นในเวลาต่อมา
 
Cargills วางเข็มมุ่งที่จะเป็นผู้ประกอบการค้าปลีก ที่มีฐานของเกษตรอุตสาหกรรมและผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพมาตรฐานเป็นกลไกขับเคลื่อน ควบคู่กับการวางยุทธศาสตร์การเติบโตอย่างยั่งยืนซึ่งดูจะเป็นประเด็นที่สอดรับกับนโยบายและเป้าประสงค์จากภาครัฐเป็นอย่างดี
 
โดยเฉพาะประเด็นว่าด้วยการผลิตสินค้าที่ได้มาตรฐานด้วยกระบวนการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อลดค่าครองชีพ การส่งเสริมและพัฒนาทักษะของเกษตรกรและเยาวชน ควบคู่กับการลดช่องห่างของความเหลื่อมล้ำระหว่างประชากรในเขตเมืองและชนบท ซึ่งดูเหมือนว่า Cargills จะประสบความสำเร็จอย่างมากในประเด็นเหล่านี้
 
ประวัติการณ์กว่า 170 ปีของ Cargills ที่เริ่มขึ้นจากคลังสินค้า (warehouse) กำลังพัฒนาเข้าสู่ความน่าตื่นตาตื่นใจครั้งใหม่ ที่อาจเรียกได้ว่าเป็นกลไกหนุนนำการพัฒนาสังคมทั้งระบบของศรีลังกาไปอีกไกล ในขณะที่ผู้ประกอบการรายอื่นๆ อาจกำลังหาวิธีไล่ตามอยู่ก็เป็นได้