วันจันทร์, พฤศจิกายน 25, 2024
Home > Cover Story > แปลงบ้านเก่าเป็นโรงแรม สไตล์ Siam Hotel Maker

แปลงบ้านเก่าเป็นโรงแรม สไตล์ Siam Hotel Maker

 
 
บ่อยครั้งที่เรามักเห็นภาพอาคารบ้านเรือนเก่าแก่แต่ทรงคุณค่าทั้งด้านสถาปัตยกรรมและเรื่องราวในอดีต กลับถูกทิ้งร้าง ทรุดโทรม รอวันผุพังไปตามกาลเวลา และบ่อยครั้งอีกเช่นกันที่บ้านเรือนเหล่านั้นถูกแทนที่ด้วยอาคารสมัยใหม่ชนิดหารากแทบไม่เจอ กลบความมีเสน่ห์และคุณค่าดั้งเดิมของอาคารไปจนเกือบหมดสิ้น
 
แต่ก็มีคนอีกกลุ่มหนึ่งอย่าง “สยาม โฮเทล เมกเกอร์” (Siam Hotel Maker) ที่เห็นคุณค่าและมูลค่าของสิ่งเหล่านี้ พยายามชุบชีวิตตึกเก่า อาคารเก่า ให้กลับมาถ่ายทอดเรื่องราวในอดีตพร้อมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเจ้าของได้ในรูปแบบของโรงแรมขนาดเล็กที่มีเอกลักษณ์และมาตรฐานไม่แพ้โรงแรมใหญ่
 
สยาม โฮเทล เมกเกอร์ คือบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์สำหรับธุรกิจโรงแรมที่พักขนาดเล็ก ตั้งแต่ โรงแรมบูติก (Boutique Hotel), โฮสเทล (Hostel), บัดเจท โฮเทล (Budget Hotel) รวมถึงเบดแอนด์เบรคฟาสต์ (Bed&Breakfast) โดยก่อตั้งขึ้นภายใต้การริเริ่มและบริหารงานของ “กันตศม นพวงศ์ ณ อยุธยา” เจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบ “บ้านนพวงศ์” บูติกโฮเทลต้นแบบด้านการอนุรักษ์และปรับปรุงอาคารเก่าที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่มีรางวัลชนะเลิศการประกวดในโครงการ “Thailand Boutique Awards 2014-2015” ในหมวด Basic Thematic City Hotel เป็นเครื่องการันตี
 
อาจกล่าวได้ว่าสยาม โฮเทล เมกเกอร์ คือผลพวงจากการอนุรักษ์และพัฒนาบ้านนพวงศ์ให้กลายเป็นบูติกโฮเทลที่มีเอกลักษณ์อันโดดเด่นบนเกาะรัตนโกสินทร์ เพราะก่อนที่จะมาเป็นบ้านนพวงศ์นั้น กันตศมในฐานะเจ้าของและสถาปนิกผู้ออกแบบต้องผ่านการเก็บข้อมูลเรื่องการออกแบบ ก่อสร้าง อนุรักษ์อาคารเก่าในทุกรายละเอียด ผ่านการรีเสิร์ชจากอาคารเก่าที่ได้รับการบูรณะอย่างดี รวมถึงเรียนรู้เพิ่มเติมด้านการบริหารจัดการโรงแรม จนได้เป็นองค์ความรู้ที่มีประโยชน์และควรค่าแก่การถ่ายทอด
 
เมื่อผนวกกับกระแสการเกิดขึ้นของโรงแรมขนาดเล็กเพื่อตอบสนองความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วยแล้ว สยาม โฮเทล เมกเกอร์น่าจะเข้ามาเป็นตัวช่วยสำหรับผู้ที่ต้องการทำธุรกิจที่พักขนาดเล็กได้เป็นอย่างดี
 
“เวลาผมไปบรรยายเรื่องเกี่ยวกับบูติกโฮเทล หลังจบการบรรยายจะมีนักเรียนหรือคนที่เข้ามาอบรมทั้งคุณลุงคุณป้า เข้ามาถามว่าผมรับเป็นที่ปรึกษารึเปล่า? มีช่างรับก่อสร้างไหม? เพราะเขาก็ไม่รู้จะพึ่งใคร แต่ทุกคนอยากทำโรงแรมของตัวเอง ซึ่งเมืองไทยยังไม่มีใครรับทำโรงแรมสเกลเล็กขนาดนี้ ส่วนใหญ่ที่ปรึกษาด้านโรงแรมจะเป็นสเกลใหญ่ 100 ห้องขึ้นแล้วค่าที่ปรึกษาก็มีราคาสูง ทีนี้คนที่เขาทำโรงแรมขนาดเล็กเขาก็ไม่รู้จะไปปรึกษาใคร ในฐานะที่ผมมีประสบการณ์จากบ้านนพวงศ์มาแล้ว จึงคิดว่าน่าจะช่วยเหลือผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็กตรงนี้ได้” กันตศมเล่าถึงที่มาที่ไปของสยาม โฮเทล เมกเกอร์
 
โดยสยาม โฮเทล เมกเกอร์จะทำหน้าที่ให้คำปรึกษาแก่ผู้ที่สนใจทำโรงแรมของตัวเอง เป็นผู้ประกอบการขนาดย่อมหรือกลุ่ม Start up โดยนำความรู้และประสบการณ์จากการทำบ้านนพวงศ์ไปประยุกต์ใช้ ให้คำปรึกษาทั้งด้านการลงทุน การออกแบบสถาปัตยกรรม วิศวกรรม ก่อสร้าง การวางระบบการบริหารงานโรงแรมอย่างเป็นมาตรฐานครบวงจร ตั้งแต่มาตรฐานห้องพัก การบริการลูกค้า ตลอดจนการทำ Branding การตลาด การขาย แม้กระทั่งการออกแบบหน้าเว็บไซต์ของโรงแรมนั้นๆ ซึ่งที่พักในลักษณะนี้ กันตศมกล่าวว่าเหมาะกับการตลาดออนไลน์ จำพวกออนไลน์บุ๊กกิ้งและเว็บไซต์เป็นหลัก เรียกว่าต่อให้ลูกค้าที่เข้ามาปรึกษาไม่มีประสบการณ์ในการทำโรงแรมเลย สยาม โฮเทล เมกเกอร์ก็สามารถทำให้เป็นเจ้าของธุรกิจโรงแรมได้ ซึ่งถือเป็นบริษัทแรกในประเทศไทยที่ดำเนินธุรกิจด้านนี้
 
สำหรับเรื่องการออกแบบนั้น ถือเป็นงานถนัดของกันตศมเพราะความที่เป็นสถาปนิกอยู่แล้ว อีกทั้งยังมีทีมออกแบบที่มีความเชี่ยวชาญ ทั้งการปรับปรุงบ้านสไตล์โคโลเนียลแบบบ้านนพวงศ์ หรือจะเป็นแนวสมัยใหม่ก็ตาม ในส่วนของงาน “operation” การวางระบบการบริหารงานโรงแรมและการตลาดนั้น สยาม โฮเทล เมกเกอร์ได้ทีมด้านการบริหารโรงแรมจากเชนโรงแรมใหญ่มาช่วยตอบโจทย์ให้ลูกค้า ซึ่งต่อไปเราจะได้เห็นภาพของโรงแรมเล็กๆ 10-20 ห้อง แต่สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีมาตรฐานไม่แพ้โรงแรมใหญ่
 
ที่ผ่านมากลุ่มลูกค้าถือว่ามีความหลากหลาย ซึ่งไม่จำกัดเฉพาะแนวโรงแรมบูติกเท่านั้น แต่สยาม โฮเทล เมกเกอร์โฟกัสที่ธุรกิจที่พักเป็นหลัก และที่สำคัญต้องเป็นธุรกิจที่พักที่เจ้าของต้องการบริหารเอง โดยผลงานที่ออกสู่สายตาประชาชนแล้วอย่างเช่น Matchbox Bangkok Hostel โฮสเทลสุดฮิปย่านสุขุมวิท ที่สยาม โฮเทล เมกเกอร์ เข้าไปช่วยในการวางระบบ และภายในปีนี้จะมีผลงานที่ทยอยออกมาให้ได้ชมกันอีก ซึ่งกันตศมมั่นใจว่าผลงานที่ออกมาต้องเป็น master piece อย่างแน่นอน เพราะผ่านกระบวนการออกแบบที่ใส่ใจทุกรายละเอียด
 
แต่สิ่งสำคัญคือการวางโพซิชั่นของที่พักที่ต้องการให้เป็นเพื่อความชัดเจนในกระบวนการทำงานและง่ายต่อการทำการตลาด โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าต้องการทำโรงแรมบูติก สิ่งที่กันตศมเน้นย้ำคือ “โรงแรมบูติกที่ดีต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่ลอกเลียนแบบได้ยาก” ที่สามารถถ่ายทอดผ่านทางอาคาร สถาปัตยกรรม อย่างอาคารเก่า ตึกเก่าที่มีประวัติศาสตร์และความน่าสนใจอยู่ในตัวของมันเองอยู่แล้ว หรืออาจจะถ่ายทอดผ่านการให้บริการที่มีเอกลักษณ์ แปลก น่าสนใจ มีคาแร็กเตอร์เป็นของตนเองก็ได้เช่นกัน ซึ่งจุดนี้จะทำให้สามารถทำการตลาดได้ง่ายมาก เพราะเป็นการสร้างจุดขายที่แข็งแรง
 
โดยหัวเรือใหญ่แห่งสยาม โฮเทล เมเกอร์ มองว่าแนวโน้มของธุรกิจที่พักแนวนี้สามารถพัฒนาต่อไปได้อีกมาก เพราะเล็งเห็นศักยภาพของแต่ละพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นย่านชุมชนภุฎีจีน ตลาดน้อย เยาวราช และในอีกหลายๆ ที่ เพราะแต่ละที่มีประวัติศาสตร์ เรื่องราว และเสน่ห์ของตัวเอง เพียงแต่นำมาแต่งตัวเสียใหม่ก็สามารถต่อยอดไปได้อีกไกล
 
“บ้านเราเจริญเติบโตมากับประวัติศาสตร์ แต่ละชุมชนเขามีเรื่องราวของเขาอยู่แล้ว แค่จับเรื่องราวเหล่านั้นมาถ่ายทอดให้มันง่าย ก็กลายเป็นจุดขายของแต่ละที่ได้”
 
อย่างกรณีของ “ลอยละล่อง” บ้านริมน้ำสุดคลาสสิกฉากในภาพยนตร์เรื่อง “รถไฟฟ้ามาหานะเธอ” และ “พระนครนอนเล่น” โรงแรมบูติกขนาดเล็กที่ฝังตัวอยู่ในย่านเทเวศร์ ที่ชื่อชั้นติดอันดับต้นๆ ของที่พักที่มีเอกลักษณ์ และได้ใจนักท่องเที่ยว น่าจะเป็นบทพิสูจน์ได้เป็นอย่างดี
 
นอกจากการเป็นที่ปรึกษาแล้ว สยาม โฮเท็ล เมกเกอร์ยังได้ต่อยอดธุรกิจที่พักออกไปอีกหนึ่งขั้น คือการสร้างเชนที่พักขนาดเล็กในชื่อ “เยลโล่ รูม” (Yellow Room) สำหรับผู้ที่ต้องการทำห้องพักขนาดสองหรือสามห้อง เจ้าของบ้านที่อยากรีโนเวตบ้านให้เป็นที่พักแต่ไม่ต้องการขั้นตอนที่มากมาย ลักษณะคล้ายโฮมสเตย์ โดยจะมีทีมจากสยาม โฮเท็ล เมกเกอร์เข้าไปปรับปรุงห้องพักตามที่เจ้าของบ้านต้องการ ซึ่งอาจจะไม่ต้องหรูหราแต่ต้องมีมาตรฐาน เช่น เตียงขนาดควีนส์ไซส์ เครื่องปรับอากาศ ทีวี อุปกรณ์ในห้อง ห้องน้ำในตัว ปรับปรุงเสร็จนำระบบการบริหาร การจอง ใส่เข้าไป พร้อมเปิดขายออนไลน์ได้ทันที โดยมีระบบออนไลน์บุ๊กกิ้งจากส่วนกลาง ที่จะส่งข้อความไปยังเจ้าของบ้านเมื่อมีคนจอง เป็นเชนโรงแรมขนาดเล็กภายใต้แบรนด์ “เยลโล่ รูม” ที่มีการบริหารและบริการตามมาตรฐาน
 
โดยกันตศมมองว่าโมเดลนี้จะเกิดขึ้นในหลายๆ ที่ รวมถึงในต่างจังหวัด และเชื่อว่าจะเป็นตัวช่วยผลักดันเศรษฐกิจชุมชน บ้านนี้ทำที่พัก อีกบ้านรับซักรีด อีกบ้านขายอาหาร ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะทำให้คนในชุมชนมีรายได้ อีกทั้งนักท่องเที่ยวยังได้เรียนรู้วัฒนธรรมและวิถีชีวิตไปในตัว เป็นการพัฒนาธุรกิจที่พักชุมชน ซึ่งทำให้การท่องเที่ยวไทยแข็งแรงตั้งแต่จุดที่เล็กที่สุดคือ “ชุมชน”
 
อีกทั้งยังเป็นธุรกิจที่ตอบสนองผู้ประกอบการรายย่อยที่ต้องการริเริ่มทำธุรกิจ เพราะมีขนาดเล็ก ทุกคนสามารถเริ่มได้ด้วยตนเอง โดยใช้สิ่งที่ตนมีอยู่แล้วให้เพิ่มมูลค่าขึ้น ถ้ามองในแง่ตลาดโรงแรมขนาดเล็กนั้น นับว่ามีโอกาสเติบโตสูง เพราะพฤติกรรมนักท่องเที่ยวในปัจจุบันเปลี่ยนไปจากแต่ก่อน หันมานิยมเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง จองห้องพักเอง ชื่นชอบที่พักขนาดเล็ก เก๋ๆ ฮิปๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแหล่งวัฒนธรรม เมืองเก่า เพื่อซึมซับบรรยากาศและเสน่ห์ของอดีต
 
แนวคิดการปรับเปลี่ยนบ้านเก่า อาคารเก่า ให้เป็นโรงแรมเพื่อตอบสนองนักท่องเที่ยว นอกจากเพิ่มมูลค่าให้กับเจ้าของแล้ว ยังเป็นการรักษาคุณค่าของสิ่งที่มีอยู่ไม่ให้ผุพังไปตามกาลเวลาอีกด้วย เป็น creative economy ที่นำเอาภูมิปัญญาและสมบัติอันมีค่าทั้งวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมมาจับแต่งตัวใหม่แล้วเพิ่มมูลค่าให้กับสิ่งเหล่านั้น ดังที่กันตศมกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า “ผมมองว่าสิ่งนี้มันไม่ได้มีแค่มูลค่า แต่มันมีคุณค่ามากกว่า”