ธุรกิจร้านสเต็กเดือดขึ้นมาทันที เมื่อคู่แข่ง 2 ค่าย “เจฟเฟอร์-ซานตาเฟ่” พร้อมใจเปิดเกมรุกช่วงชิงตลาดที่มีเม็ดเงินมากกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเฉพาะ “เจฟเฟอร์สเต็ก” ที่มีแบ็กแข็งแกร่ง ทั้งเงินทุนก้อนใหญ่และตัวผู้บริหารที่เคยปลุกปั้นสินค้าแบรนด์ยักษ์ใหญ่ประสบความสำเร็จมาแล้ว
แน่นอนว่า ชื่อบริษัท เวฟ เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน) ไม่ใช่คนวงในธุรกิจร้านอาหาร ก่อตั้งเมื่อปี 2536 และถือเป็นธุรกิจในกลุ่มครอบครัวมาลีนนท์ โดยเปลี่ยนชื่อจากบริษัท ซีวีดี เอ็นเตอร์เทนเมนท์ จำกัด (มหาชน)
เริ่มแรกผลิตและจำหน่ายตลับวิดีโอเทปก่อนเข้าสู่ธุรกิจผู้ผลิตและจำหน่ายรายการโทรทัศน์ ธุรกิจจัดแสดงคอนเสิร์ตและกิจกรรมต่างๆ เจ้าของลิขสิทธิ์จำหน่ายละครไทยช่อง 3
จนกระทั่ง ดร.แคทลีน มาลีนนท์ ดึงตัวสามี คือ แมทธิว กิจโอธาน เข้ามาดำรงตำแหน่งประธานกรรมการและประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เกมขยายไลน์ธุรกิจจึงเริ่มต้นอย่างเข้มข้น
3 ปีที่ผ่านมา เวฟเอ็นเตอร์เทนเมนท์ไล่ซื้อกิจการต่อเนื่อง เริ่มจากซื้อกิจการโรงเรียนสอนภาษาวอลล์สตรีท 100% มูลค่า 800 ล้านบาท ถัดจากนั้น ซื้อกิจการบริษัท เจฟเฟอร์ เรสโตรองต์ มูลค่าราว 600 ล้านบาท และซื้อหุ้นบริษัทอินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ 50% จากจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจดั้งเดิมด้านบันเทิงจนสามารถสร้างรายได้เติบโตอย่างมั่นคง
แมทธิวกล่าวว่า ปี 2559 จะเป็นปีที่บริษัทเริ่มเดินหน้าขยายธุรกิจร้านสเต็ก “เจฟเฟอร์” เต็มรูปแบบ หลังใช้เวลาปรับปรุงรูปแบบร้าน คุณภาพและบริการให้ได้มาตรฐานมากขึ้น จนมีความพร้อมในการประกาศภาพลักษณ์ใหม่
ปัจจุบัน ร้านอาหารเจฟเฟอร์เปิดให้บริการรวม 79 สาขา อยู่ในกรุงเทพฯ 38 สาขา ต่างจังหวัด 41สาขา เน้นกลุ่มเป้าหมายคนรุ่นใหม่อายุ 18-35 ปี โดยมียอดลูกค้าเฉลี่ยมากกว่า 4 ล้านคนต่อปี และประเมินแนวโน้มตลาดมีอัตราเติบโตต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 5%
ยิ่งในยุคเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ผู้บริโภคจำนวนมากมีพฤติกรรมการบริโภคเปลี่ยนจากการเข้าร้านหรูๆ มาใช้บริการร้านอาหารราคาปานกลางจนถึงถูก รวมทั้งกระแสความนิยมร้านอาหารญี่ปุ่นเริ่มเบาบางลง โดยประมาณกันว่า ตลาดร้านสเต็กมีมูลค่ารวม 14,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 เซกเมนต์ ได้แก่ สเต็กพรีเมียม มีสัดส่วน 62% สแตนดาร์ด 18% และแมส 20% ซึ่งเจฟเฟอร์สเต็กอยู่ในกลุ่มแมสที่มีการเติบโต 7% สูงกว่าตลาดรวม และมีศักยภาพสูง ดูจากจำนวนร้านสเต็กระดับแมสที่ผุดทั่วทุกชุมชนและร้านเหล่านี้พยายามหาช่องทางการจำหน่ายเข้าสู่คอมมูนิตี้มอลล์มากขึ้น
แมทธิวกล่าวว่า บริษัทเตรียมเงินลงทุน 1,500 ล้านบาท เพื่อขยายสาขาร้านเจฟเฟอร์ โดยตั้งเป้าเปิดครบ 240 สาขาภายใน 5 ปี และล่าสุดพัฒนาร้านรูปแบบใหม่ เพิ่มมุม “เจฟเฟอร์ คาเฟ่” ให้บริการเครื่องดื่มประเภทชากาแฟและของว่างอื่นๆ พร้อมบริการไวไฟฟรีและขยายเวลาเปิดปิดร้าน 07.00– 24.00 น. เพื่อเพิ่มโอกาสสร้างยอดขายตั้งแต่เมื้อเช้า กลางวัน เย็น จนถึงยามค่ำคืน
สำหรับร้านรูปแบบใหม่ทดลองเปิดแห่งแรกในอาคารวิคทอรี่คอร์เนอร์ ย่านอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ โดยเพิ่มพื้นที่เป็นมากกว่า 440 ตารางเมตร จำนวน 220 ที่นั่ง และถือเป็นโมเดลต้นแบบในการปรับสาขาอื่นๆ นอกจากนี้ มีแผนบุกตลาดอาเซียน (เออีซี) โดยเฉพาะประเทศเปิดใหม่อย่างพม่าและกัมพูชา ซึ่งคาดว่าจะเริ่มในปีหน้า
บริษัทยังมีแผนซื้อธุรกิจร้านอาหาร อย่างร้านฟาสต์ฟู้ดหรือร้านอาหารจานด่วน โดยปีนี้จะปิดดีลได้ 1-2 ราย หรืออย่างน้อยต้องมีกิจการร้านอาหารในเครือ 4 แบรนด์ เฉพาะเจฟเฟอร์ตั้งเป้ารายได้แตะ 2,300 ล้านบาทใน 5 ปี จากปีก่อนอยู่ที่ 721 ล้านบาท
ด้านคู่แข่ง “ซานตาเฟ่” ของบริษัท เคที เรสทัวรองท์ จำกัด ล่าสุดประกาศเป้าหมายภายใน 3-5 ปี จะขยายสาขาให้ได้ 200 แห่ง งบลงทุนรวม 800 ล้านบาท และเตรียมงบอีก 400 ล้านบาท อัดกิจกรรมการตลาดอย่างต่อเนื่อง เฉพาะปีนี้ปูพรมเพิ่ม 24 สาขา เน้นหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศ จากปัจจุบันมีสาขาทั้งหมด 82 แห่ง
ที่จริงแล้ว ชื่อ “สเต็กซานตาเฟ่” เปิดตัวมานานกว่า 12 ปีแล้ว แต่ต้องใช้เวลาหลายปีสร้างแบรนด์สู้เจ้าตลาดอย่าง “ซิซซ์เล่อร์” และมีการปรับทีมผู้บริหารครั้งใหญ่ จนกระทั่งทุกอย่างลงตัว จึงเริ่มลงทุนและเปิดเกมรุกในตลาด อัดเงินทุนขยายสาขาในศูนย์การค้าและคอมมูนิตี้มอลล์
ที่สำคัญ ใช้กลยุทธ์ด้านราคาแต่เมนูคุณภาพ สร้างความแตกต่างชนคู่แข่ง จนสามารถสร้างรายได้ก้าวกระโดดจากหลักไม่กี่ร้อยล้านสู่ระดับ 1,000 ล้านบาทเมื่อปี 2557
ซานตาเฟ่เตรียมแผนเจาะตลาดต่างประเทศในกลุ่มประเทศอาเซียนเช่นกัน โดยจะผุดสาขา 10-15 แห่งภายใน 5 ปี เพื่อหวังโกยรายได้ตลาดต่างประเทศไม่ต่ำกว่า 700 ล้านบาท ขณะที่ดันรายได้ในประเทศแตะระดับ 4,000 ล้านบาท
สงครามสเต็กหมื่นล้าน 2 ค่าย จึงไม่ใช่แค่สมรภูมิในประเทศ แต่กำลังปักธงรบรุกสู่อาเซียนด้วย