วันพฤหัสบดี, มกราคม 16, 2025
Home > Cover Story > เกษตร+ทฤษฎีใหม่ จุดแข็งแกร่งที่สุดของไทย

เกษตร+ทฤษฎีใหม่ จุดแข็งแกร่งที่สุดของไทย

เสาวลักษณ์ ศรีคิรินทร์ นักธุรกิจผู้ปลุกปั้นธุรกิจผลไม้แปรรูปและเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ แบรนด์ “Pasuda Food” ย้ำหนึ่งไอเดียสำคัญที่ตัดสินใจแตกไลน์จากธุรกิจเครื่องจักร บริษัท พศุดา ซัพพลายส์ แอนด์ เซอร์วิสเซส เปิดแผนกทำธุรกิจอาหาร นำร่องสินค้าผักผลไม้แปรรูปเมื่อสามปีก่อน คือการมุ่งสู่ธุรกิจการเกษตรตามแนวคิด “ศาสตร์พระราชา”

เธอย้ำว่า ขณะที่หลายๆ ประเทศ เช่น สิงคโปร์ มุ่งการพัฒนาด้าน Science Technology, Engineer, Mathematic ซึ่งดูเหมือนประเทศไทยอาจยังเป็นฝ่ายวิ่งไล่ตาม แต่ความจริงแล้ว ประเทศไทยมีจุดแข็งที่เหนือกว่า คือ เกษตรกรรม  มีทรัพย์ในดินสินในน้ำ เป็นธุรกิจในอนาคต แหล่งผลิตอาหารของโลก เพียงแต่ต้องอาศัยแนวคิดการพัฒนา นวัตกรรมและช่องทางการตลาดต่อยอดให้เกษตรกรสามารถทำเกษตรกรรมได้ต่อไป

ขณะเดียวกัน ท่ามกลางปัญหาเศรษฐกิจมากมายของประเทศ ภาคเอกชน นักวิชาการ และเกษตรกรอีกหลายคนยังมั่นใจว่า “ศาสตร์พระราชา” และแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง คือ หนึ่งหนทางแก้วิกฤต หนึ่งวิธีสร้างภูมิคุ้มกันและสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะพระราชดำรัสของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เรื่องแนวทางเศรษฐกิจพอเพียงเมื่อปี 2517 ที่ว่า

“การพัฒนาประเทศจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมีพอกินพอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นอันพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อยเสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะทุ่มเทสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย จะเกิดความไม่สมดุล ซึ่งอาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด”

ทั้งนี้ หากย้อนสู่จุดเริ่มต้น พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางการดำเนินชีวิตแก่พสกนิกรชาวไทย ก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ “ต้มยำกุ้ง” เมื่อรัฐบาลไทยประกาศลอยตัวค่าเงินบาทเมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2540

ต่อมา ในวันที่ 4 ธันวาคม 2540 ทรงเน้นย้ำแนวทางการแก้ไข เพื่อให้รอดพ้นและสามารถดำรงอยู่ได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์และความเปลี่ยนแปลงต่างๆ ของโลก  โดยยึดหลัก “ทางสายกลาง”  และการทำเกษตรตามทฤษฎีใหม่ ซึ่งพระองค์ท่านทรงคิดค้นวิจัยโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ในพื้นที่ส่วนพระองค์ขนาด 16 ไร่ 2 งาน 23 ตารางวา ที่ ต.ห้วยบง อ.เมือง จ.สระบุรี ตั้งแต่ปี 2532 และทรงเผยแพร่ช่วงปี 2537 เพื่อแก้ไขปัญหาเกษตรกรรมในเขตแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำในการเกษตร โดยเฉพาะการเกษตรที่อาศัยน้ำฝนเป็นหลัก ซึ่งมีความเสี่ยงสูงในการขาดแคลนน้ำ กรณีฝนทิ้งช่วงและปริมาณน้ำฝนไม่เพียงพอในการเพาะปลูก เป็นทฤษฎีแห่งการบริหารจัดการดิน ที่ดิน น้ำและเวลา ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินจำนวนน้อยให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้ มีความมั่นคงด้านอาหาร คือ มีข้าว มีพืชผัก และอาหารโปรตีน จากการเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ หมู ปลา ไว้บริโภคได้ตลอดทั้งปี

แน่นอนว่า เมื่อพูดถึงโครงการเกษตรทฤษฎีใหม่ ต้องนึกถึง “โคก หนอง นา โมเดล” ซึ่งในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงศึกษาข้อมูลและทรงพบว่า เกษตรกรไทยส่วนใหญ่ครอบครองพื้นที่เฉลี่ยครอบครัวละ 10-15 ไร่ จึงทรงแนะนำให้จัดสรร โดยมีเป้าหมายว่า ต้องทำให้เรามีข้าวปลาอาหารพอกินตลอดปี เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายและมีรายได้เหลือพอจับจ่ายใช้สอยในเรื่องจำเป็น โดยใช้อัตราส่วน 30 : 30 : 30 : 10 เป็นเกณฑ์

30% แรกเป็นพื้นที่แหล่งน้ำ โดยการขุดบ่อทำหนองและคลองไส้ไก่

30% ต่อมาเป็นพื้นที่ทำนา ปลูกข้าว

อีก 30% ทำโคกหรือป่า ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง

ปลูกป่า 3 อย่าง คือ ปลูกไม้ใช้สอย ปลูกไม้กินได้ และปลูกไม้เศรษฐกิจ เพื่อให้ได้ประโยชน์ 4 อย่าง คือ “มีกิน” ได้แก่ มีผัก มีอาหารไว้กิน “มีอยู่” สามารถตัดไม้ไปสร้างบ้าน ทำที่อยู่ได้ “มีใช้” มีไว้ใช้สอยในครัวเรือน ใช้เป็นยาและสมุนไพร ใช้เป็นฟืน เป็นเครื่องมือใช้สอยในบ้าน และ “มีความสมบูรณ์ และความร่มเย็น”

ส่วนที่เหลืออีก 10% เป็นพื้นที่อยู่อาศัย และเลี้ยงสัตว์ เช่น ไก่ ปลา วัว และควาย

หรือที่เรียกว่า โคกหนองนา อธิบายให้เห็นภาพชัดยิ่งขึ้น คือ 1. โคก ใช้ดินที่ได้จากการขุดหนองน้ำมาถมดินภายในพื้นที่ให้สูงขึ้นเป็นโคก ในสัดส่วน 40% ของพื้นที่ โดยแบ่ง 30% ของพื้นที่ ปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ซึ่งชนิดของต้นไม้ที่ปลูก ควรมีความสูง 5 ระดับ  คือ ไม้สูง ไม้กลาง ไม้เตี้ย ไม้เรี่ยดิน และพืชหัว ช่วยเพิ่มความหลากหลายให้ระบบนิเวศ สามารถอุ้มน้ำในดินได้ดีขึ้นแล้ว ช่วยบดบังแสงแดด ทำให้บ้านมีความร่มเย็นขึ้น ขณะที่อีก 10% แบ่งสำหรับเป็นที่อยู่อาศัยและเลี้ยงสัตว์

2. ขุด “หนอง” เป็นจุดๆ ในสัดส่วน 30% ทั่วทั้งพื้นที่ เพื่อเป็นแหล่งกักเก็บน้ำยามหน้าฝนไว้ใช้ในหน้าแล้ง โดยหนองจะมีรูปทรงอะไรก็ได้ แต่ควรมีระดับความตื้น ความลึก ไม่เท่ากันและไม่ควรกว้างเกินไป เพื่อไม่ให้น้ำโดนแสงแดด จนระเหยหมด

3. แบ่งพื้นที่ 30% ทำ “นา” ปลูกข้าว จะช่วยให้มีผลผลิต เก็บไว้รับประทานในครอบครัว หรือเก็บผลผลิตขาย

4. ขุดคลองไส้ไก่ ลักษณะคลองเล็กๆ คดโค้งไปรอบๆ พื้นที่ เชื่อมระหว่างหนองที่ขุดไว้ตามจุดต่างๆ จะช่วยให้เก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น และมีแหล่งน้ำรอบๆ พื้นที่ สามารถรดน้ำพืชผักได้ง่าย ช่วยเพิ่มความชุ่มชื้นให้พื้นที่

ปิดท้าย คันนาทองคำ โดยยกหัวคันนาสูง ส่วนฐานคันนาให้ถมกว้าง จะช่วยกักเก็บน้ำในไร่นา ทำให้นาเป็นนาน้ำลึก ช่วยควบคุมหญ้า ทำให้ข้าวออกรวงใหญ่ ให้ผลผลิตดี และยังมีพื้นที่สำหรับปลูกพืชผักผลไม้บนหัวคันนา สามารถเก็บผลผลิตไว้กินในครัวเรือน หรือจะเก็บขายสร้างรายได้ได้ด้วย.