“บุญถาวร” เจเนอเรชันใหม่ เดินหน้าโปรเจกต์ Design Village โมเดลค้าปลีกรูปแบบ Home and Lifestyle Mall จากหมุดแรกเจาะย่านราชพฤกษ์เมื่อปี 2561 จนถึงสาขาล่าสุด Design Village Ratchada ซึ่งบิ๊กบอสใหญ่มั่นใจว่าจะเป็น Key success สำคัญของบริษัทในปี 2568
ปัจจัย คือ โลเคชันย่านรัชดาภิเษก หนึ่งในศูนย์กลางธุรกิจแห่งใหม่หรือ New CBD (Central Business District) ของกรุงเทพฯ เต็มไปด้วยผู้คนที่มองหาประสบการณ์แปลกใหม่ แตกต่าง และประณีต ตรงกับจุดขายของ Design Village การคัดสรรร้านค้าที่ดีที่สุด (Finest Selection) เพื่อส่งมอบประสบการณ์การใช้ชีวิตกับสิ่งพิเศษให้เป็นเรื่องปกติ (Finest Lifestyle Norm)
สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บุญถาวร รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า Design Village Ratchada มีเนื้อที่กว่า 17 ไร่ เริ่มให้บริการเต็มทุกพื้นที่แล้วและจะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในไตรมาส 1 ปี 2568 โดยถือเป็น Community Living Mall ท่ามกลางที่พักอาศัยและอาคารสำนักงานมากกว่า 30 อาคาร จึงคาดว่าจะมีผู้ใช้บริการตลอดทั้งวัน ทั้งกลุ่มคนทำงานออฟฟิศ คนที่พักอาศัยในย่านรัชดาภิเษก ทำงานด้านสถาปัตยกรรมและการออกแบบ รวมทั้งกลุ่มนักศึกษา
นั่นทำให้บริษัทต้องออกแบบและจัดวางส่วนผสมแบบเอ็กซ์คลูซีฟผ่านพื้นที่ใช้สอยของทั้งสามอาคาร ภายใต้คอนเซ็ปต์ The Seamless Aspiring Destination on Ratchada ผสมผสานวิถีชีวิตการทำงาน การพักผ่อนและการดูแลสุขภาพเริ่มจากอาคาร A เป็นศูนย์รวมร้านอาหารกิน ดื่ม และ Wellness center ได้แก่ โซนกินดี (Good Eats) มีร้านอาหารและเครื่องดื่ม เช่น Brewave โรงเบียร์บรูว์เวฟสำหรับชาวรัชดานิสต้า สไตล์ร้านอาหารกลางวันและพื้นที่แฮงก์เอาต์กับเพื่อนๆ ครบจบในร้านเดียว ร้านลิ้มเหล่าโหงว ตำนานบะหมี่ลูกชิ้นปลา Shiguma บุฟเฟ่ต์ชาบูเกรดพรีเมียม หรือร้าน Tudari สาขาใหม่ ดีไซน์สไตล์วัยรุ่นเพื่อชาวรัชดานิสต้า
นอกจากนั้น ยังมีร้านก๋วยเตี๋ยวเรือวัดไทร พ.ศ. 2523 ร้านโอชาม ข้าวต้มแห้ง ร้านกาแฟสเปเชียลตี้ Hey Coffee ร้าน TIANZHI (เถียนจื้อ) ร้านขนมและเครื่องดื่มจากไต้หวันสาขาแรกและสาขาเดียวในประเทศไทยที่นำเมนูชาและขนมดั้งเดิมของไต้หวันเข้ามา
ขณะที่โซนสุขภาพดี (Good Health) ประกอบด้วยฟิตเนส Private Fitness รับเฉพาะ Premium Members และร้านค้าแบรนด์ดัง เช่น Lux Optic, I’m Dental Studio, Felizia Nails & Spa, Recovery Me, Million Salon
สำหรับอาคาร B เป็นศูนย์รวมความสุขสำหรับคนรักบ้าน (Good Living) จำหน่ายวัสดุ อุปกรณ์ตกแต่งบ้านและสินค้าอื่นๆ เกี่ยวกับบ้านและเฟอร์นิเจอร์ ปิดท้าย อาคาร C ที่มี Rolling Roasters ร้านกาแฟ Specialty ชื่อดัง มาในธีม Showroom Space Café และLighting Center ศูนย์รวมโคมไฟและอุปกรณ์ไฟฟ้าส่องสว่าง
ทั้งนี้ สิทธิศักดิ์ ทยานุวัฒน์ ถือเป็นบิ๊กบอสคนสำคัญที่ผลักดันโปรเจกต์ Design Village ตั้งแต่เริ่มต้นกระทั่งนำร่องสาขาแรกเมื่อปี 2561
เวลานั้นบุญถาวรต้องการรีเฟรชภาพลักษณ์แบรนด์ให้มีความเท่ คล่องตัว และเป็นมิตรภายใต้แนวคิด One Stop Happening ครบจบในที่เดียว เพื่อเข้าถึงกลุ่มลูกค้ารุ่นใหม่กับการทำบ้านในฝันให้เป็นจริง เพราะถือเป็นกลุ่มที่สามารถมีบ้านหรือคอนโดเป็นของตัวเองเร็วขึ้น มีความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นทำไอเดียให้กลายเป็นจริง มีส่วนร่วมและใส่ใจเลือกสรรสินค้าต่างๆ อย่างพิถีพิถัน เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่ง Design Village ตอบโจทย์ได้ทั้งหมด ในฐานะศูนย์รวมวัสดุตกแต่งบ้านสายพันธุ์ใหม่
แน่นอนว่า การเผยโฉมสาขาราชพฤกษ์ ถือเป็นความแปลกใหม่ในวงการ มีเนื้อที่กว่า 14 ไร่ พื้นที่ใช้สอยมากกว่า 20,000 ตารางเมตร และจัดแบ่งโซนตามคอนเซ็ปต์ไลฟ์สไตล์ ไม่ว่าจะเป็น Design Space พื้นที่หมวดสินค้า วัสดุตกแต่งบ้านภายใต้บุญถาวรและแบรนด์อื่นๆ ทั้งในประเทศและทั่วโลกมากกว่า 400 แบรนด์
มีแบรนด์ชั้นนำอย่าง JYSK จากประเทศเดนมาร์ก กลุ่มเครื่องนอน เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่งบ้านสไตล์สแกนดิเนเวียนในระดับที่ราชวงศ์เดนมาร์กเลือกใช้
มีโซน DIY ศูนย์รวมอุปกรณ์เพื่องานช่าง กระเบื้อง สุขภัณฑ์ ห้องน้ำ ห้องครัว และงานตกแต่งบ้าน เครื่องตัดกระเบื้อง เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้านต่างๆ โซน TILE GALLERY ศูนย์รวมกระเบื้องและวัสดุปูพื้น บุผนัง มากกว่า 20,000 รายการ โซน KITCHEN STUDIO ศูนย์รวมเฟอร์นิเจอร์ครัว เครื่องใช้ไฟฟ้าในครัว โซน LIGHTING CENTER ศูนย์รวมโคมไฟตกแต่งทุกประเภทแบบครบวงจร มากกว่า 5,000 รายการ และ Life Space ร้านอาหารแบบเอ็กซ์คลูซีฟ เช่น Basilico ร้านอาหารอิตาเลียนสไตล์ดั้งเดิม นอกจากนี้ ยังเปิดพื้นที่ Open Space รองรับอีเวนต์และ Co-Working Space สายพันธุ์บุญถาวร ชื่อ WORKSPACE
หลังจากนั้น ในปี 2563 ขยายโครงการ Design Village สาขาที่สองบริเวณพุทธมณฑล ขนาดพื้นที่ใช้สอย 27,000 ตารางเมตร บนที่ดิน 30 ไร่ โดยรีโนเวตเพิ่มเติมจากร้านบุญถาวร สาขาพุทธมณฑล
ปี 2564 เปิดสาขาที่ 3 ลุยย่านเกษตร-นวมินทร์ เนื้อที่ 50 ไร่ ขนาดพื้นที่ใช้สอย 32,000 ตารางเมตร โดยรีโนเวตเพิ่มเติมจากร้านบุญถาวร สาขาเกษตร-นวมินทร์ และปี 2566 เปิดสาขาที่ 4 ที่บางนา เนื้อที่ 27 ไร่ เป็นการรีโนเวตเพิ่มเติมจากร้านบุญถาวร สาขาบางนา เช่นกัน
สิทธิศักดิ์เคยย้ำกับสื่อว่า กระแสการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจทั้งในระดับมหภาคและจุลภาค ทำให้บุญถาวรต้องปรับตัวเองให้เป็นมากกว่าร้านขายวัสดุตกแต่ง ตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ภายใต้ Brand Idea : Ideas Come Alive ช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้ลูกค้าบริษัทและหนุนให้ “บุญถาวร” สามารถยืนหยัดมานานกว่า 50 ปี
ที่สำคัญ ทิศทางของตลาดและพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่เปลี่ยนไป ซึ่งเห็นได้ชัดภายหลังสถานการณ์โควิด ส่งผลให้ไลฟ์สไตล์การอยู่อาศัยของคนหลากหลายเจเนอเรชันเปลี่ยนแปลงไป ลูกค้าพิถีพิถันและใช้เวลาเลือกซื้อสินค้านานขึ้น ลูกค้าส่วนใหญ่ไม่ได้มาคนเดียว อาจนัดมาเจอกับสถาปนิก ผู้รับเหมา หรือมากับคนในครอบครัว โดยการเลือกซื้อสินค้าไม่จำเป็นต้องเป็นของที่แพงที่สุด แต่ต้องเป็นของที่ดีที่สุดตามความชอบและไลฟ์สไตล์ของตัวเอง ซึ่งทั้งหมดเป็นสารตั้งต้นของ Design Village และพัฒนาอย่างต่อเนื่อง
ส่วนการเลือกทำเลย่านชานเมือง เช่น ราชพฤกษ์ บางนา เกษตร-นวมินทร์ เพราะต้องการเจาะกลุ่ม Suburbanism ซึ่งเดิมใช้ชีวิตแบบ Urbanism เป็นคนที่มีประสบการณ์ Well-educated, International Experience & Exposure ชอบของดี มีหัวคิดทันสมัย ชื่นชอบการดีไซน์ นำเสนอความโดดเด่นเป็นตัวเอง เคยใช้ชีวิตในเมือง แต่ปัจจุบันกำลังจะสร้างครอบครัวหรือลงทุนซื้อบ้าน หนีความวุ่นวายในกรุงเทพฯ มาอยู่อาศัยในชานเมืองเพิ่มมากขึ้น พร้อมๆ กับความเจริญออกสู่พื้นที่ชานเมืองมากขึ้นต่อเนื่อง โดยเฉพาะเส้นทางคมนาคมและโครงการรถไฟฟ้า
ดังนั้น จากหมุดหมายแรกที่ราชพฤกษ์ ตามด้วยพุทธมณฑล และเกษตร-นวมินทร์ ส่งผลให้รายได้เติบโตต่อเนื่องและเติบโตมากกว่าสาขาเดิมก่อนการรีโนเวต จนกระทั่งวางแผนปรับโฉมบุญถาวรสาขาเดิมเป็นโครงการ Design Village อย่างต่อเนื่อง โดยเลือกทำเลที่มีลูกค้าเป้าหมายอีกไม่ต่ำกว่า 10 สาขา ภายใน 5 ปีข้างหน้า
หากสำรวจข้อมูลวิจัยจากสำนักต่างๆ คาดการณ์สถานการณ์ด้านธุรกิจจะมีการแข่งขันรุนแรงมากขึ้นในกลุ่มผู้ประกอบการ ซึ่งล้วนเป็นกลุ่มทุนรายใหญ่ทั้งสิ้น และยอดขายสินค้าหมวด Home & Garden ในปี 2568 ยังมีแนวโน้มเติบโต แต่อาจชะลอตัวลงจากช่วงก่อนหน้าอยู่ที่ราว 4%
สาเหตุหลักมาจากความต้องการซื้อหรือลงทุนในที่อยู่อาศัยหดตัวลง แต่จะได้รับปัจจัยหนุนจากความต้องการปรับปรุงที่อยู่อาศัย เพราะนิยมซื้อบ้านมือสองเพิ่มมากขึ้น และการซ่อมแซมบ้านหลังสถานการณ์น้ำท่วมในหลายพื้นที่
ด้านสมาคมผู้ค้าปลีกไทยประเมินภาพรวมค้าปลีกกลุ่มก่อสร้างและสินค้าตกแต่งบ้านทั่วประเทศ ทั้งรายใหญ่ รายกลาง รายเล็ก ที่มีมูลค่าราว 1.25 ล้านล้านบาท จะได้รับผลกระทบจากตลาดอสังหาฯ ที่ชะลอตัวลง และโครงการลงทุนใหม่จากภาครัฐที่หดตัวลงมาก
อย่างไรก็ตาม แม้ภาพรวมตลาดชะลอตัว แต่ยังไม่เข้าขั้นวิกฤตหรือลุกลามเท่าวิกฤตเศรษฐกิจในปี 2540 และมีโอกาสกลับมาฟื้นตัวชัดเจนช่วงปลายปี 2568 จากแรงหนุนการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่จะมีผลบวกต่ออสังหาริมทรัพย์และเศรษฐกิจ แนวโน้มหนี้ครัวเรือนจะทยอยลดลงและการที่ภาครัฐทยอยออกมาตรการใหม่ๆ กระตุ้นธุรกิจอสังหาฯ อย่างต่อเนื่อง.