วันอาทิตย์, ธันวาคม 15, 2024
Home > Cover Story > Wonderfruit ศิลปะ ดนตรี และธรรมชาติ โลกใหม่ของ “ประณิธาน พรประภา”

Wonderfruit ศิลปะ ดนตรี และธรรมชาติ โลกใหม่ของ “ประณิธาน พรประภา”

ประณิธาน พรประภา เคยพูดถึง Passion การปลุกปั้นธุรกิจแนวใหม่ Wonderfruit Festival มีจุดเริ่มต้นจากการเรียนรู้และการใช้ชีวิตอย่างใกล้ชิดกับธรรมชาติ เกิดแรงบันดาลใจที่จะสร้างเทศกาลที่รวบรวมศิลปะ ดนตรี อาหาร และสิ่งต่างๆ โลกในอุดมคติที่ปลุกพลังบวกให้ผู้คน ซึ่งนับจากการเปิดตัวครั้งแรกเมื่อปี 2557 ผ่านมากว่าสิบปี ล่าสุดกลายเป็นงานประจำปีที่ผู้คนทั่วโลกอยากเดินทางมาแชร์ประสบการณ์ครั้งหนึ่งในชีวิต

ที่สำคัญ จาก Passion ของคนคนหนึ่ง เกิดเป้าหมายใหญ่ขึ้น ในฐานะบิ๊กอีเวนต์ที่สามารถยกระดับประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางวัฒนธรรมสำคัญในเอเชีย จากจำนวนผู้คนที่เพิ่มขึ้นทุกปีและหลากหลายมากขึ้น

สำหรับปีนี้ Wonderfruit กำหนดจัดงานระหว่างวันที่ 12-16 ธันวาคม ณ The Fields สยามคันทรีคลับ ชลบุรี ชนิดข้ามวันข้ามคืน ในเนื้อที่กว่า 500 ไร่ โดยแบ่งโซนพื้นที่มากกว่า 40 โซน การแสดงดนตรีมากกว่า 300 รายการ เมนูอาหารมากกว่า 130 เมนู เวิร์กช็อป กิจกรรมด้านสุขภาพอีก 90 รายการ คาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานราว 30,000 คน จากกว่า 140 ประเทศทั่วโลก

แน่นอนว่า ประณิธานไม่ใช่นักธุรกิจธรรมดา เขาเป็น “พรประภา” รุ่นที่ 3 หลานปู่ ดร.ถาวร พรประภา ผู้บุกเบิกสร้างอาณาจักรสยามกลการที่มีบริษัทในเครือร่วม 50 แห่ง ครอบคลุม 6 กลุ่มธุรกิจสำคัญ ได้แก่ อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมอะไหล่ชิ้นส่วนรถยนต์ อุตสาหกรรมและเครื่องจักรหนัก อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวและบริการ ธุรกิจการศึกษาและเครื่องดนตรี และการลงทุน โดยประณิธานดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ดูแลธุรกิจกลุ่มแบรนด์ Komatsu และ Daikin ของสยามกลการ

ปี 2557 เขาเปิดบริษัท สแครทช์ เฟิร์สท์ จำกัด โดยมีเพื่อนๆ ไอเดียเดียวกันร่วมปลุกปั้นธุรกิจงานเทศกาลที่ไม่เหมือนใคร เรียกชื่อว่า Wonderfruit Festival

เบื้องหลัง Passion ข้อหนึ่ง คือ ประณิธานเรียนรู้และมีชีวิตอยู่กับเรื่องสิ่งแวดล้อมมาตั้งแต่วัยเด็ก มีผู้เป็นพ่อ คือ ดร.พรเทพ พรประภา เป็นไอดอลริเริ่มโครงการ THINK EARTH เมื่อปี 2533 ซึ่ง ดร.พรเทพ ผู้อำนวยการโครงการ THINK EARTH และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สยามกลการ จำกัด ในเวลานั้น ได้รับแรงบันดาลใจจาก ดร.ถาวร  ผู้เป็นพ่อเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะคำสอนที่ว่า “เมื่อหากำไรมาได้ ต้องคืนกลับสู่สังคม”

โครงการ THINK EARTH จึงเกิดขึ้นภายใต้คอนเซ็ปต์สำคัญ “คืนชีวิต คิดห่วงใยในผืนโลก” ตอกย้ำแนวความคิดผ่านทุกตัวอักษรคำว่า  EARTH  ตั้งแต่ตัวอักษร E- Environment, A- Animals, R-Rivers ,T-Trees และ H-Humans ซึ่งประณิธานมีโอกาสได้ทำโครงการเกี่ยวกับป่า ได้เข้าใจถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อม และอยากหาวิธีทำให้คนมาสนใจหรือสนุกกับประเด็นเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อม

นั่นคือ ที่มาและไอเดียการหยิบเรื่องศิลปะและวัฒนธรรมเป็นตัวกลางนำเสนอประเด็นสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน เกิดโปรเจกต์  Wonderfruit และจัดต่อเนื่องทุกปี แม้ต้องว่างเว้นไปร่วม 3 ปี จากสถานการณ์โควิดแพร่ระบาด แต่การกลับมาจัดอีกครั้งในปี 2565 ได้รับกระแสตอบรับดีเยี่ยม เพราะผลพวงโควิดกระตุ้นผู้คนทั่วโลกหันมาใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม การดูแลสุขภาพ และความยั่งยืนมากยิ่งขึ้น

สำหรับไฮไลต์งานในปี 2567 ต้องพูดถึงโซน Molam World การเฉลิมฉลองวัฒนธรรมอีสานผ่านดนตรี อาหาร และศิลปะ ให้ผู้ร่วมงานออกสำรวจ Theatre of Eats ที่เต็มไปด้วยอาหารเลิศรสจากร้านอาหารท้องถิ่นในบรรยากาศของตลาดกลางคืน ฟาร์มหอคอย รถบัสหมอลำ และแกลเลอรีจากจิม ทอมป์สัน การแสดงหมอลำโดย Maft Sai จาก ZudRangMa Records และกิจกรรมศิลปะหัตถกรรมมรดก เวิร์กช็อปการทำเครื่องดนตรีพิณ กับครอบครัว Kammao และ Phinprainn

Wonderness พื้นที่แห่งสุขภาพกายใจและสุขภาวะที่ดี มีกิจกรรมนับร้อยกิจกรรม เพื่อฝึกฝนและฟื้นบำรุงร่างกายและจิตใจ เช่น โซน Bath House, Unconditional Space, Ancestral Forest และเคบิน Slow Wonder

Sonic Minds โปรแกรมที่ Wonderfruit ร่วมมือกับ MSCTY_Studio ให้ผู้ร่วมงานออกสำรวจและเรียนรู้เกี่ยวกับเรื่องเสียงแห่งอนาคตที่ส่งผลต่อสุขภาพ

Rewilding Project พื้นที่ที่เต็มไปด้วยต้นไม้พื้นเมืองมากกว่า 30,000 ต้น ซึ่งใช้เทคนิคการปลูกและการฟื้นฟูป่าที่หลากหลายตั้งแต่ปี 2565 และปีนี้ผู้เข้าร่วมงานจะร่วมปลูกต้นไม้อีก 1,000 ต้น เพื่อเสริมสร้างระบบนิเวศใน The Fields เน้นพืชที่มีคุณค่าเชิงการใช้งานและสรรพคุณทางยา ซึ่งนำมาใช้ในเวิร์กช็อปและอาหาร

ขณะที่ Dining Experiences in The Fields ซึ่งถือเป็นแกนหลักของการจัดงาน Wonderfruit ทุกปีนั้น ปีนี้ได้เชฟ Dylan Eitharong จาก Haawm, เชฟปริญญ์ ผลสุข จากสำรับสำหรับไทย และ Lady GooGoo จะสร้างประสบการณ์การรับประทานอาหารในธีม “อาหารเป็นยา” และใช้แนวทางวิถีปฏิบัติอย่างยั่งยืน มีครัวแบบเปิดที่ได้รับแรงบันดาลใจจากครัวของแม่ยุคก่อน และแขกสามารถเพลิดเพลินกับสูตรอาหารแบบครอบครัวที่สืบทอดกันมาใน Open Kitchen ที่มองเห็นวิวรอบทิศทาง 360 องศา

ไฮไลต์ปิดท้าย A Diverse Exploration of Sound: Wonderfruit 2024 การรังสรรค์เสียงดนตรีในรูปแบบผ่านการเชื่อมต่อเข้ากับธรรมชาติและเห็ด เสียงรอบทิศทาง มีการแสดง Autobiography (v104) ของ Wayne McGregor ที่ร่วมกับ Jlin นิยามการออกแบบท่าเต้นใหม่โดยรวมการถอดรหัส DNA บันทึกความทรงจำส่วนตัว และปัญญาประดิษฐ์เข้าด้วยกัน

แน่นอนว่า วันเดอร์ฟรุ๊ตมีพันธมิตรจำนวนมากขึ้น เช่น สิงห์คอร์ปอเรชั่น แสงโสม ซีอาร์ซี ไดกิ้น การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ธนาคารกรุงเทพ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ โรงแรมดุสิตธานี และอีกหลายราย

ทุกค่ายต่างพุ่งเป้าการนำเสนอเรื่องเศรษฐกิจหมุนเวียนและการผลักดันสังคมอย่างยั่งยืน โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา The Fields แปรสภาพเป็นหมู่บ้านแบบถาวรพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน มีทีมงานจัดการของเสียและระบบกรองน้ำขั้นสูงที่สนับสนุนการจัดการทรัพยากรอย่างยั่งยืนตลอดทั้งงาน โดยได้รับการรับรองว่าเป็นงานมหกรรมที่เป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon-neutral ตั้งแต่ปี 2560 และไม่อนุญาตให้ใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง สนับสนุนการรีไซเคิลและการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างแพร่หลาย

ทั้งนี้ ในส่วนพาร์ตเนอร์รายใหญ่ บริษัท เซ็นทรัล รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือซีอาร์ซี ได้เปิดพื้นที่  CRC Sensory Space ให้ผู้ร่วมงานใช้ประสาทสัมผัสทั้ง 5 อย่าง เริ่มจาก Installation Art การสร้างสรรค์จากสิ่งของเหลือใช้ นำมาประยุกต์และผสมสานเข้ากับองค์ประกอบจากธรรมชาติ ในคอนเซ็ปต์ ดอกไม้ ผู้คน และดนตรี

The Art of Life Balance เวิร์กช็อปปล่อยใจสบายๆ ไปกับการสร้างสรรค์ลวดลายบนผ้าโดยใช้สีธรรมชาติ จากห้างเซ็นทรัล

Mindwave Rebalance การผ่อนคลายจิตใจและปรับความสมดุลด้วยการฟังคลื่นเสียงจากเครื่อง Banala Sound Wave จาก Tops Care ช่วยให้มีสมาธิและหลับลึก

D.I.Y Pet Scarf สนุกกับการออกแบบผ้าพันคอแสนเก๋ให้กับสัตว์เลี้ยงที่คุณรัก โดยใช้วัสดุรักษ์โลกกับ Pet ’N Me และ Sensory Fruit Bar เติมพลังความสดชื่นให้ร่างกายและจิตใจกับร้านผลไม้สดออแกนิกส่งตรงจากผู้ประกอบการท้องถิ่น

ขณะที่ “ไดกิ้น”  ร่วมเป็นพาร์ตเนอร์ติดตั้งเครื่องปรับอากาศประหยัดพลังงานภายในบ้านพัก Slow Wonder ที่ประหยัดพลังงานและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนและใช้พลังงานอย่างรับผิดชอบต่อโลกตามวิสัยทัศน์มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี 2593

ที่สำคัญในปีนี้ Wonderfruit ยังตั้งเป้าหมายการลดขยะที่ไปยังหลุมฝังกลบให้เป็นศูนย์ (zero landfill waste) บวกกับการลดปริมาณขยะและขยะเชื้อเพลิง (RDF) ลง 20% นอกจากนั้น สนับสนุนกลุ่มชุมชนท้องถิ่นผ่านการใช้ผลิตภัณฑ์ในภูมิภาคด้วย.