วันอังคาร, ตุลาคม 22, 2024
Home > Cover Story > ถอดแนวคิดจอมยุทธ์ “โกะ” เกมขยายดินแดนของเซเว่นฯ

ถอดแนวคิดจอมยุทธ์ “โกะ” เกมขยายดินแดนของเซเว่นฯ

ก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) จอมยุทธ์ผู้บุกเบิกเกมกีฬาหมากล้อมหรือ “โกะ” ในไทย เคยกล่าวว่า เขามองประเทศไทยทั้งประเทศเป็นเสมือนกระดานหมากล้อมกระดานหนึ่ง เร่งเปิดร้านค้าในจุดยุทธศาสตร์ที่สำคัญ เพราะสุดยอดกลยุทธ์ของโกะไม่ใช่การจับกิน หรือทำลายฝ่ายตรงข้าม แต่เป็นการสร้างดินแดนมากกว่าคู่ต่อสู้

กลยุทธ์การเอาชนะ คือ วางเม็ดหมากล้อม “ปิดช่อง” ตาเดินของคู่ต่อสู้ คล้ายกับการหาทำเลในการขยายสาขาใหม่ของ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เพื่อปิดล้อมและสกัดการแจ้งเกิดคู่แข่ง อย่างได้ผลครั้งแล้วครั้งเล่า

ส่วนกระดานโกะขนาด 19 x 19 เส้น ซึ่งใหญ่กว่ากระดานหมากรุกถึง 5 เท่าครึ่ง ไม่ต่างจากการทำสงครามที่มีการสู้รบอยู่หลายสนามรบ การเล่นโกะจึงต้องคำนึงถึงความคุ้มค่าของทรัพยากรที่มีอยู่ ทรัพยากรที่เสียไป

สิ่งที่จะได้มาและบริหารทรัพยากรให้คุ้มค่า หมายถึงการรวมเม็ดหมากให้เกิดพลังสูงสุด เหมือนการรวมคนและรวมองค์กรให้เกิดพลังสูงสุดที่ไม่ใช่กำไรสูงสุด แต่ลงมาเป็นกำไรพอควร เพื่อความสุขสูงสุดและสร้างพลังสูงสุดขององค์กรที่จะเติบโตได้อย่างแข็งแกร่ง

ขณะเดียวกัน หากดูเส้นทางของซีพีออลล์ที่ดึงแฟรนไชส์ “เซเว่นอีเลฟเว่น” เข้ามาเปิดตลาดคอนวีเนียนสโตร์ในประเทศไทย โดยปักหมุดสาขาแรกเมื่อวันที่ 1 มิถุนายน 2532 ที่ซอยพัฒน์พงษ์ ถนนสีลมใจ กลางกรุงย่านธุรกิจ ชนิดเจาะไข่แดงที่มีกลุ่มลูกค้าล้อมรอบ 360 องศา หลังจากนั้นลุยขยายสาขาต่อเนื่องจากเมืองหลักสู่เมืองรอง จนครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศไทย

แม้กระทั่งในพื้นที่เดียวกัน เซเว่นฯ ยังวางหมุดสาขาล้อมกลุ่มลูกค้าเป้าหมายและสกัดคู่แข่ง ชนิดที่ไม่ว่าจะหันหน้าเดินไปทางไหนต้องเจอเซเว่นอีเลฟเว่นอย่างแน่นอน บวกกับกลยุทธ์เจาะ Insight ตอบโจทย์ผู้บริโภค จนประสบความสำเร็จ ทั้งในแง่การสร้างแบรนด์และยึดกุมฐานลูกค้า

เมื่อตลาดเข้าสู่ยุคอีคอมเมิร์ซ ซีพีออลล์เร่งพัฒนาช่องทางขายทั้งออฟไลน์-ออนไลน์ พัฒนาหน้าร้าน ทุ่มระบบดีลิเวอรี จนกลายเป็นร้านสะดวกซื้อที่มีเครือข่ายสาขารองรับบริการดีลิเวอรีเหนือคู่แข่ง

ปี 2566 เปรียบเทียบส่วนแบ่งการตลาดจากจำนวนสาขาร้านสะดวกซื้อพบว่า เซเว่นอีเลฟเว่นอยู่ที่ 68% รองลงมา ได้แก่ โลตัสโกเฟรช 8% และมินิบิ๊กซี 7%

ปี 2567 ส่วนแบ่งของเซเว่นฯ ขยับขึ้นมาอยู่ที่ 70.8% โดยมีสาขาทั่วประเทศกว่า 14,845 สาขา ยอดขายเฉลี่ย 86,656 บาทต่อสาขาต่อวัน หรือรวมทุกสาขาทำเงินเฉลี่ยกว่า 1,286 ล้านบาทต่อวัน จำนวนลูกค้า 1,007 คนต่อสาขาต่อวัน หรือรวมทุกสาขามากกว่า 14.94 ล้านคนต่อวัน

แม้วันนี้ก่อศักดิ์ส่งต่อภารกิจให้ทีมงานคนรุ่นใหม่ แต่หลายคนมองหนึ่งความสำเร็จของเซเว่นอีเลฟเว่นมาจากช่วงบุกเบิกสำคัญเมื่อ 30 กว่าปีก่อน โดยเฉพาะการวางยุทธศาสตร์แจ้งเกิดร้านสะดวกซื้อในยุคที่คนไทยไม่เคยรู้จัก “คอนวีเนียนสโตร์ คืออะไร”

เมื่อ Mission ลุยธุรกิจร้านสะดวกซื้อเข้าเป้าระดับหนึ่ง ก่อศักดิ์เบนเข็มรุกธุรกิจด้านการศึกษาในเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) นำร่องตั้งแต่เปิดโรงเรียนปัญญาภิวัฒน์เทคโนธุรกิจ จากเป้าหมายเร่งผลิต “คน” ป้อนธุรกิจร้านสะดวกซื้อ “เซเว่นอีเลฟเว่น” ผุดวิทยาลัยเทคโนโลยีปัญญาภิวัฒน์และสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ ยกระดับการเรียนการสอนขั้นอุดมศึกษา ทั้งปริญญาตรี ปริญญาโท และปริญญาเอก เน้นการเรียนการสอนแบบ Work-based Education ถือเป็นมหาวิทยาลัยแห่งองค์กรธุรกิจ (Corporate University) กระทั่งสร้างโรงเรียนสาธิตสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ “สาธิต PIM” เมื่อปี 2560 สร้างเครือข่ายอย่างครบวงจร
แน่นอนว่า เขาหยิบเอา “โกะ” เข้ามาเป็นวิชาเสริมในหลักสูตรการเรียนการสอนของ “สาธิต PIM” ด้วย
อาจารย์ทิพวรรณ อภิวันท์วรัตน์ คณบดีคณะศิลปศาสตร์ สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ กล่าวว่า ผลสำเร็จของก่อศักดิ์ทำให้สถาบันฯ ทำงานวิจัยหมากล้อม (โกะ) กับการพัฒนาการด้านภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ กรณีศึกษาก่อศักดิ์ ไชยรัศมีศักดิ์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) เพื่อต่อยอดนำเสนอแนวคิดที่ได้จากหมากล้อม (โกะ) ศาสตร์แห่งการบริหาร เครื่องมือสำคัญในการพัฒนาภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์

สำหรับการศึกษาเจาะ 3 ด้านหลัก คือ ภาวะผู้นำ โดยพบว่า หมากล้อมเป็นเครื่องมือพัฒนาภาวะผู้นำ เพราะผู้เล่นต้องวิเคราะห์สถานการณ์ วางแผนล่วงหน้า และตัดสินใจภายใต้ความกดดัน

ด้านความฉลาดทางอารมณ์ พบว่า หมากล้อมช่วยเสริมสร้างความฉลาดทางอารมณ์ (EQ) เพราะผู้เล่นต้องควบคุมอารมณ์ มีความอดทน และเข้าใจความคิดของคู่ต่อสู้ และด้านภาวะผู้นำเชิงบริหารภายใต้แนวคิด 4Q ได้แก่ IQ (Intelligence Quotient) ความฉลาดทางปัญญา EQ (Emotional Quotient) การควบคุมอารมณ์และความเข้าใจผู้อื่น MQ (Moral Quotient) ความฉลาดทางศีลธรรมและจริยธรรมผ่านการเคารพคู่ต่อสู้และการเล่นที่เป็นธรรม และ AQ (Adversity Quotient) ความสามารถในการรับมือกับความยากลำบากและอุปสรรคต่างๆ
“กรณีศึกษาของคุณก่อศักดิ์เห็นชัดเจนถึงการนำหลักการจากการเล่นหมากล้อมมาใช้ในการบริหารองค์กร ซึ่งประสบความสำเร็จ ทั้งภาวะผู้นำและความฉลาดทางอารมณ์ของทีมงาน” อาจารย์ทิพวรรณกล่าว

ที่สำคัญ การสร้างสมดุล 3 ส่วน ได้แก่ ชีวิตสมดุล เพราะหมากล้อมสอนให้ผู้เล่นมองภาพรวมและจัดสรรเวลาอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งสามารถนำมาใช้ในการสร้างสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงาน

คนสมดุล เพราะหมากล้อมช่วยพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล การเข้าใจและเคารพในมุมมองที่แตกต่าง การเล่นหมากล้อมช่วยสร้างสมดุลในทีมงานและความสัมพันธ์ในสังคม

สุดท้าย งานสมดุล การวางแผนและจัดการในหมากล้อมสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการบริหารงานให้ราบรื่นและสมดุล.