วันพฤหัสบดี, พฤศจิกายน 21, 2024
Home > Cover Story > ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ สีเบเยอร์เติบโตด้วยนวัตกรรม

ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ สีเบเยอร์เติบโตด้วยนวัตกรรม

ข่าวอุตสาหกรรมอสังหาริมทรัพย์มักจะอยู่ในความสนใจจากผู้บริโภค ผู้พัฒนาอสังหาฯ โดยเฉพาะในยามที่สถานการณ์ทางเศรษฐกิจ รวมถึงปัจจัยแวดล้อมที่จะส่งผลกระทบโดยตรง ขณะที่อีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่อยู่ในแวดวงเดียวกัน และเติบโตคู่ขนานคือ อุตสาหกรรมสี แม้จะมีมูลค่ารวมเพียง 60,000 ล้านบาท และมีผู้เล่นหลักรายใหญ่เพียงไม่กี่ราย

การเติบโตแบบไม่หวือหวาของอุตสาหกรรมสี แต่กลับสร้างความน่าสนใจ ด้วยแนวทางการพัฒนาผลิตภัณฑ์ของแต่ละแบรนด์ที่หยิบจับนวัตกรรมสร้างจุดเด่นและข้อได้เปรียบให้แก่แบรนด์ มีเป้าหมายหลักเพื่อแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาด นวัตกรรมส่วนใหญ่ที่แบรนด์สีผสมผสานเข้ามาในผลิตภัณฑ์ เช่น สีลดอุณหภูมิ สีลดกลิ่น

อีกหนึ่งแบรนด์ที่เริ่มพัฒนาสีให้เป็นมากกว่าสี มีเป้าหมายต้องการยกระดับมาตรฐานสีของไทย คือ เบเยอร์ ที่ดำเนินธุรกิจในไทยมานานกว่า 60 ปี

“สีเบเยอร์มีจุดเริ่มต้นจากความฝันเล็กๆ เมื่อ 63 ปีที่แล้ว จากความต้องการที่จะยกระดับมาตรฐานสีของไทย สู่การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจสีทาไม้ สีทาอาคาร จากมุมมองเรื่องความสวยงาม สู่มุมมองของการสร้างสรรค์นวัตกรรมที่กลายเป็นนโยบายหลักของเรา สีลดอุณหภูมิ สีลดกลิ่น สีลดโอกาสการติดเชื้อ เรามองถึงผู้อยู่อาศัยเป็นหลัก” ดร.วรวัฒน์ ชัยยศบูรณะ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ กล่าว

เบเยอร์มีจุดเริ่มต้นธุรกิจในปี พ.ศ. 2504 ด้วยการจัดตั้ง ห้างหุ้นส่วนจำกัด ทวีรุ่ง โดย ประเสริฐ ชัยยศบูรณะ จำหน่ายสีทาอาคารและอุปกรณ์ก่อสร้างเป็นหลัก จากนั้นจึงเริ่มพัฒนาสีเพื่อจำหน่ายในประเทศไทย เมื่อเห็นว่า สีทาอาคารเป็นสินค้าเพียงอย่างเดียวที่ต้องนำเข้า

เส้นทางการพัฒนาดำเนินมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปี พ.ศ. 2543 ที่มีผลิตภัณฑ์สีทาและรักษาเนื้อไม้ใช้กับงานภายนอกและภายใน กระทั่งปี พ.ศ. 2550 สีนวัตกรรมเรือธงตัวแรกของเบเยอร์ถูกพัฒนาและวางจำหน่ายเป็นครั้งแรก ซึ่งมาพร้อมผลลัพธ์ที่ดีในด้านยอดขายและรางวัลระดับชาติ

“แนวคิด Eco-Wellness Innovation การสร้างนวัตกรรมสีเป็นนโยบายหลัก ที่ผ่านมามีการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยในการทำงานวิจัย รวมถึงหน่วยงานของรัฐ ซึ่งนวัตกรรมสีไม่ได้หยุดอยู่แค่ สีลดอุณหภูมิเท่านั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงการลดภาวะโลกร้อน สีเบเยอร์คูล ถูกพัฒนามาในปี พ.ศ. 2550 หรือประมาณ 18 ปีที่แล้ว  ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์แรกที่เป็นสีนวัตกรรม” ดร.วรวัฒน์ ย้ำ

ข้อมูลจากรายงาน The 2024 Global Status Report for Building and Construction โดย UNEP ระบุว่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจกของภาคการก่อสร้างคิดเป็น 1 ใน 5 ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก มากไปกว่านั้นในปี 2065 การก่อสร้างอาคารยังใช้พลังงานโลกกว่าร้อยละ 34 ที่สำคัญในปีเดียวกัน การก่อสร้างอาคารมีการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์สูงกว่าร้อยละ 37 ด้วยความเสี่ยงดังกล่าว หากภาคธุรกิจไม่เร่งปรับตัว อุณหภูมิโลกจะมีโอกาสสูงขึ้นตามการคาดการณ์ของสหประชาชาติ

นอกจากการปักธงประกาศ Net Zero Mission แล้ว เบเยอร์ยังพัฒนาแอปพลิเคชันสำหรับการคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์จากการใช้สีทาอาคารรายแรกในไทย

“นอกจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีนวัตกรรมของเบเยอร์ตามกรอบแนวคิด Eco-Wellness Innovation แล้ว ล่าสุดเรายังได้ทำงานร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล พัฒนาแอปพลิเคชันชื่อว่า Paint CO2Cal เพื่อคำนวณคาร์บอนฟุตพรินต์จากการใช้สีทาอาคารของสีเบเยอร์คูลมากกว่า 1,200 เฉดสี ถือเป็นรายแรกในอุตสาหกรรมสีทาอาคารของไทย ซึ่งเป็นการสร้างมิติใหม่ให้กับอุตสาหกรรมและขานรับต่อการเปลี่ยนผ่านทางธุรกิจบนกรอบพื้นฐานเทรนด์ของผู้บริโภคได้อย่างเท่าทันและสอดรับกับเป้าหมายโลก” ดร.วรวัฒน์ ขยายความ

ท่ามกลางการแข่งขันของผู้ผลิตสีทาอาคารในไทย เบเยอร์อาจไม่อยู่ในตัวเลือกอันดับต้นๆ ของผู้บริโภค เมื่อมีแบรนด์สีที่เน้นการทำโฆษณา และเป็นเบอร์ต้นของอุตสาหกรรมนี้ ทว่า การพัฒนาด้านนวัตกรรมอย่างต่อเนื่อง กลายเป็นแต้มต่อที่สำคัญที่ทำให้ผลิตภัณฑ์ของเบเยอร์เป็นสีที่ลดการปล่อยสาร VOCs

“ด้านการแข่งขันในตลาดสีทาอาคาร เรามีแนวทางในการพัฒนาผลิตภัณฑ์สีในทุก Segment เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค แม้ว่าที่ผ่านมาเราจะเติบโตแบบออแกนิก ทำโฆษณาน้อยมาก ทิศทางการดำเนินธุรกิจของเราคือ มุ่งสร้างสังคมคาร์บอนต่ำให้กับประเทศไทย

โดยปกติแล้วขั้นตอนการผลิตสีจำเป็นต้องใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก แต่สีเบเยอร์คูล เราใช้พลังงานไฟฟ้าจากโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งไว้ นอกจากนั้น สีเบเยอร์ยังลดการปล่อยสาร VOCs (Volatile Organic Compounds) สารตะกั่ว สารปรอท สิ่งเหล่านี้ทำให้เราได้คาร์บอนฟุตพรินต์รายแรกของไทย” พงษ์เชิด จามีกรกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มบริษัทสีเบเยอร์ กล่าว

นอกจากนี้ เบเยอร์ยังดำเนินธุรกิจภายใต้ยุทธศาสตร์ Paint Beger, Paint The World Green พัฒนาสินค้าควบคู่กับการรักษาสิ่งแวดล้อม ควบคู่ไปกับการต่อยอดในการหาเครื่องมือจากเทคโนโลยีที่สำคัญในการส่งเสริมและสนับสนุนให้ลูกค้า คู่ค้า และพันธมิตรทางธุรกิจร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการลดการปล่อยคาร์บอนฟุตพรินต์ในการดำเนินธุรกิจ

“ที่สำคัญคือเราต้องสร้างประสบการณ์ใหม่ในกลุ่มสินค้าสีนวัตกรรมรักษ์โลก สร้างการรับรู้แบรนด์ เพื่อเข้าถึงลูกค้าในทุกกลุ่มเป้าหมาย รวมทั้งเพิ่มช่องทางการจัดจำหน่ายครอบคลุมในทุกช่องทางเพื่อให้สีเบเยอร์เป็นแกนกลางสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิให้เป็นศูนย์ ในทุกห่วงโซ่อุปทานทางธุรกิจอย่างยั่งยืน” พงษ์เชิด ทิ้งท้าย.