วันศุกร์, ตุลาคม 18, 2024
Home > Cover Story > ฟุตฟิตฟอไฟว์ ตลาดอินเตอร์พุ่ง 8.7 หมื่นล้าน

ฟุตฟิตฟอไฟว์ ตลาดอินเตอร์พุ่ง 8.7 หมื่นล้าน

ศูนย์วิจัยกสิกรไทยคาดการณ์ตลาดโรงเรียนนานาชาติในปี 2567 จะเติบโตราว 13% จากปีก่อนหน้า มีมูลค่ามากกว่า 8.7 หมื่นล้านบาท เนื่องจากจำนวนนักเรียนและโรงเรียนนานาชาติเพิ่มขึ้น รวมถึงค่าเล่าเรียนปรับตัวสูงขึ้น

ที่น่าสนใจ คือ จำนวนนักเรียนในไทยมีแนวโน้มลดลงจากสถิติการเกิดที่มีแนวโน้มลดลง โดยระหว่างปี 2555-2567 จำนวนการเกิดลดลงเฉลี่ยต่อปี 4.5% และภาพรวมจำนวนนักเรียนในระบบทั้งหมดมีอัตราการลดลง 0.9%

ข้อมูลยังระบุว่า ปี 2567 ภาพรวมจำนวนโรงเรียนลดลง 0.5% จากปีก่อนหน้าอยู่ที่ 33,098 โรงเรียน และช่วงปีการศึกษา 2555-2567 เกิดการทยอยปิดตัวของโรงเรียน โดยโรงเรียนรัฐบาลมีอัตราลดลงเฉลี่ยถึง 0.6% ต่อปี รวมถึงโรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ย 0.7% ต่อปี แต่จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 6.9% ต่อปี ดูเฉพาะปีการศึกษา 2567 จำนวนนักเรียนในไทยลดลง 1.7% จากปีก่อนหน้า แต่จำนวนนักเรียนโรงเรียนนานาชาติกลับเพิ่มขึ้น 10.2%

เหตุผลสำคัญมาจากกลุ่มพ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่มีกำลังทรัพย์นิยมหลักสูตรการศึกษาต่างประเทศเพิ่มขึ้น อยากให้ลูกเก่งภาษาต่างประเทศและอยู่ในสังคมเพื่อนๆ ชาวต่างชาติ โดยข้อมูลช่วงสถานการณ์โควิด-19 แม้ปี 2563 ธุรกิจโรงเรียนนานาชาติมีมูลค่าราว 57,000 ล้านบาท ลดลงเล็กน้อยจากปี 2562 ที่มีมูลค่า 61,000 ล้านบาท แต่กลับมาฟื้นตัวในปี 2564 มีมูลค่าอยู่ในระดับ 60,000 ล้านบาท ปี 2565 เพิ่มขึ้นเป็น 66,000 ล้านบาท ปี 2566 มูลค่าขยายเป็น 77,000 ล้านบาท และปี 2567 คาดการณ์มูลค่าพุ่งพรวดอยู่ที่ 87,000 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน โรงเรียนนานาชาติมีแนวโน้มขยายตัวสู่นอกกรุงเทพฯ มากขึ้น ในช่วงปี 2555-2567 อัตราการเติบโตเฉลี่ยต่อปีของจำนวนนักเรียนและจำนวนโรงเรียนนานาชาติที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคอื่นสูงกว่าในกรุงเทพฯ ถึง 4.3% และ 6.3% ตามลำดับ เพราะการแข่งขันในธุรกิจโรงเรียนนานาชาติที่เพิ่มขึ้น และพื้นที่ในกรุงเทพฯ ที่จำกัด ทำให้ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงเรียนนานาชาติต้องสำรวจตลาดใหม่ๆ ในหัวเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ ระยอง และภูเก็ต

อย่างไรก็ตาม เริ่มมีการพูดถึงค่าเล่าเรียนที่ปรับเพิ่มขึ้นทุกปีของโรงเรียนนานาชาติอาจทำให้ผู้ปกครองเลือกที่จะส่งเด็กไปศึกษาในต่างประเทศแทน โดยค่าเล่าเรียนของอินเตอร์ในไทยเฉลี่ยต่อปี 764,484 บาท เปรียบเทียบกับค่าเล่าเรียนเฉลี่ยต่อปีของโรงเรียนประจำในนิวซีแลนด์ 1,150,208 บาท นอกจากนั้น โรงเรียนเอกชนหลักสูตรไทยหลายแห่งพยายามพัฒนาหลักสูตรเปิดสอนโปรแกรมภาษาอังกฤษและสอนหลายภาษา เช่น ไทย อังกฤษ และจีน เพื่อแข่งขันมากขึ้น

ISB (International School Bangkok) เว็บไซต์ https://www.isb.ac.th/

สำหรับโรงเรียนนานาชาติแห่งแรกในประเทศไทย คือ ISB (International School Bangkok) เปิดเมื่อปี 2494 โดยใช้พื้นที่สถานทูตสหรัฐอเมริกาย่านสุขุมวิทเป็นแห่งแรก ก่อนย้ายมาอยู่ในหมู่บ้านนิชดาธานี อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี เน้นหลักสูตร IB (International Baccalaureate) ขึ้นชื่อเป็น Premier International School มีนักเรียนกว่า 1,632 คนจาก 57 สัญชาติ

ด้านข้อมูลจากสมาคมโรงเรียนนานาชาติแห่งประเทศไทย (ISAT) ระบุว่า โรงเรียนนานาชาติเปิดตัวกระจายอยู่ทั่วประเทศไทย โดยในอดีตยึดทำเลในเขตกรุงเทพฯ ย่านธุรกิจหลักและพื้นที่ชั้นใน จากนั้นขยายตัวออกสู่ต่างจังหวัดในหัวเมืองหลัก เนื่องจากพื้นที่จำกัดในเมืองหลวงและการแข่งขันหนาแน่น เพราะความต้องการสูง โดยในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑลมีโรงเรียนนานาชาติรวม 104 แห่งกระจายอยู่ในโซนพื้นที่ต่างๆ เช่น ย่านธุรกิจ CBD แถบสีลม-สาทร สุขุมวิท พระราม 3-สาธุประดิษฐ์ พระราม 4-วิทยุ และ พญาไท-สามย่าน ประมาณ 36 แห่ง

ส่วนโซนกรุงเทพฯ ชั้นใน ได้แก่ ย่านเพชรบุรี-พระราม 9 ลาดพร้าว-รัชดา รามคำแหง-บางกะปิ ราชวิถี-หมอชิต ดินแดง- ราชปรารภ และย่านเกษตรนวมินทร์ มี 14 แห่ง

โซนกรุงเทพฯ ตอนบน ปทุมธานีและนนทบุรี เช่น ย่านพหลโยธิน วิภาวดี-ดอนเมือง รามอินทรา-สุวินทวงศ์ แจ้งวัฒนะ-งามวงศ์วาน รัชดาภิเษก-ห้วยขวาง วัชรพล-สายไหม วงแหวนรอบนอก มีจำนวน 12 แห่ง

โซนกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันออก สมุทรปราการ แถบสุขุมวิท-อุดมสุข อ่อนนุช-พัฒนาการ ลาซาล-แบริ่ง บางนา-ศรีนครินทร์ ลาดกระบัง-ร่มเกล้า วงแหวนรอบนอก บริเวณนี้มีมากกว่า 32 โรงเรียน ส่วนกรุงเทพมหานครฝั่งธนบุรี สมุทรสาคร มีประมาณ 10 แห่ง

ด้านพื้นที่ต่างจังหวัดรวมทุกภาค 57 แห่ง อยู่ในภาคกลาง 5 แห่ง ภาคเหนือ 20 แห่ง ภาคอีสาน 6 แห่ง ภาคตะวันออก 8 แห่ง และภาคใต้อีก 18 แห่ง

ทั้งนี้ บริษัท เอสไอเอสบี จำกัด (มหาชน) หรือ SISB ผู้ประกอบธุรกิจโรงเรียนนานาชาติ SISB ซึ่งใช้หลักสูตรการศึกษาของประเทศสิงคโปร์ เป็นโรงเรียนนานาชาติหนึ่งเดียวที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและมีผลประกอบการเติบโตต่อเนื่องทุกปี

ยิว ฮอค โคว ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร SISB เปิดเผยแนวโน้มผลการดำเนินงานไตรมาส 3/2567 จะออกมาดีกว่าไตรมาสก่อนและช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะเป็นช่วงเปิดเทอม 1 ของปีการศึกษาใหม่ 2567/2568 จำนวนนักเรียนใหม่เพิ่มขึ้นมาก ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ จากครึ่งปีแรกมีฐานนักเรียนรวม 4,357 คน ขยับมาชนเป้าหมายทั้งปี 2567 แล้ว 4,580 คน เป็นการขยายตัวจากนักเรียนที่สาขานนทบุรี 52% สาขาเชียงใหม่ 18% สาขาระยอง 13% รวมทั้งตั้งเป้าเพิ่มจำนวนนักเรียนชาวจีนมากขึ้น

ส่วนผลการดำเนินงานไตรมาส 4/2567 จะดีขึ้นอีก และเชื่อว่าทั้งปี 2567 จะมีนักเรียนเพิ่มขึ้นเป็น 4,600 คน จากปี 2566 อยู่ที่ 4,197 ล้านบาท มั่นใจรายได้เติบโต 20% จากปีก่อนที่มีรายได้รวม 1,940.19 ล้านบาท นอกจากนี้ บริษัทสนใจการควบรวม หรือซื้อกิจการ (M&A) และการร่วมทุน (JV) กับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น การซื้อหลักสูตรมาเลเซียมาทำเองภายใต้โรงเรียนของ SISB รวมถึงการขยายธุรกิจเกี่ยวข้องอื่นๆ การขยายโมเดลโรงเรียนรูปแบบใหม่ภายใต้แบรนด์ใหม่ เพื่อขยายเซกเมนต์ใหม่

เป้าหมายระยะ 3 ปี (ปี 2567-2569) เครือ SISB วางแผนเพิ่มจำนวนนักเรียนอย่างน้อย 400 คนต่อปี หรือแตะระดับ 4,600 คน 5,000 คน และ 5,400 คน ตามลำดับ.