วันศุกร์, พฤศจิกายน 22, 2024
Home > Cover Story > เส้นทางเอสซีแอสเสท ธุรกิจชินวัตร จาก “ยิ่งลักษณ์” ถึง “ณัฐพงศ์”

เส้นทางเอสซีแอสเสท ธุรกิจชินวัตร จาก “ยิ่งลักษณ์” ถึง “ณัฐพงศ์”

หลังตระกูลชินวัตรขายหุ้นบริษัท ชิน คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ถืออยู่ทั้งหมดให้กลุ่มเทมาเส็ก โฮลดิ้ง ของสิงคโปร์ ต้องถือว่า บริษัท เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ SC เป็นธุรกิจแกนหลักของครอบครัว

หากดูข้อมูลล่าสุดในเว็บไซต์ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ระบุว่า SC มีสินทรัพย์รวม 68,269 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากงบปี 2566 ที่มีสินทรัพย์รวม 63,887 ล้านบาท

ผู้ถือหุ้นใหญ่ 5 อันดับแรก ได้แก่ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร จำนวน 1,216,149,870 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 28.43%  นางสาวพินทองทา ชินวัตร คุณากรวงศ์ 1,176,915,495 หุ้น สัดส่วน 27.52% นายบรรณพจน์ ดามาพงศ์ 201,234,375 หุ้น สัดส่วน 4.70% คุณหญิงพจมาน ดามาพงศ์ 117,109,887 หุ้น สัดส่วน 2.74% และกองทุนเปิดบัวหลวงหุ้นระยะยาว 116,104,512 หุ้น สัดส่วน 2.71%

ต้องยอมรับว่า เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ใช้เวลาปลุกปั้นธุรกิจและสร้างแบรนด์มานานกว่า 30 ปี โดยเริ่มต้นจาก บริษัท เอฟ เอฟ พี จำกัด ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2532 ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น บริษัท โอไอไอ พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด หลังครอบครัวชินวัตรเข้ามาถือหุ้นใหญ่ โดยปี 2538 ลงทุนสร้างอาคารชินวัตรทาวเวอร์ 3 รูปแบบ Smart Building ที่มีจุดเด่นด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เปิดดำเนินการช่วงกลางปี 2543 ถือเป็นอาคารที่ได้รับรางวัลอาคารดีเด่นทั้งจากในประเทศและต่างประเทศ

ปี 2546 บริษัทเข้าลงทุนในกองทุนรวมแอสเสทเน็ตเวิร์ค (ANET) ซึ่งเป็นกองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และสิทธิเรียกร้อง โดย ANET ลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ คือ อาคารชินวัตร ทาวเวอร์ 1 และ 2 รวมทั้งปรับโครงสร้างกลุ่มบริษัท เพื่อประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์อย่างครบวงจร โดยเพิ่มทุนจดทะเบียนอีก 710ล้านบาท เป็น 2,564 ล้านบาท ซื้อหุ้นของบริษัท โอเอไอ แอสเสท จำกัด บริษัท อัพคันทรี่ แลนด์ จำกัด และบริษัท วี.แลนด์พร็อพเพอร์ตี้ จำกัด จากครอบครัวชินวัตร และแปรสภาพเป็นบริษัทมหาชนจำกัด เพิ่มทุนจดทะเบียนเป็น 3,500 ล้านบาท และเข้าเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2546

ปี 2550 เอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น ปรับภาพลักษณ์องค์กรและโปรดักส์ใหม่ตามแผนการเป็นผู้นำธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในอนาคต และเปิดตัวโครงการใหม่อย่างต่อเนื่อง ตอบรับทุกไลฟ์สไตล์และความต้องการของผู้อยู่อาศัย โดยปีต่อมาเผยโฉมแบบบ้านใหม่ “New Series Home 2008” หลังการรีแบรนด์ โดยพัฒนาโครงการ New Community ที่ผสมผสานโปรดักส์ บ้านเดี่ยว ทาวน์โฮม และ Commercial อยู่ในโครงการเดียวกัน ภายใต้โครงการ SC Community เพชรเกษม 81 คอนเซ็ปต์เมืองเล็ก ๆ ที่ความสุขเป็นเรื่องยิ่งใหญ่

ปี 2556 ครบรอบ 1 ทศวรรษแรก บริษัทปรับเปลี่ยนภาพลักษณ์แบรนด์ผ่านสโลแกนใหม่ “For Good Mornings” พยายามสื่อแนวคิดจากปรัชญาของแบรนด์ที่คำนึงถึงการตอบสนองคุณภาพชีวิตทั้งในวันนี้และวันข้างหน้า

ปี 2557 บริษัทพัฒนาโครงการอาคารสำนักงานใหม่แห่งที่ 4 “SC Tower” บนถนนพหลโยธิน เปิดให้บริการในปี 2560 และเปิดตัวแคมเปญคอร์ปอเรท CRM ผ่านกิจกรรม “Farm Rak ปลูกผัก ปลูกเพื่อน” เพื่อให้เพื่อนบ้านในโครงการของเอสซีฯ มีโอกาสทำกิจกรรมร่วมกัน

ปี 2558 ประกาศแผนยุทธศาสตร์ 5 ปี ตั้งเป้าหมายทำรายได้ทะลุ 20,000 ล้านบาทภายในปี 2562 พร้อมการขยายเข้าสู่ตลาดทั้งระดับซูเปอร์ลักชัวรี ภายใต้แบรนด์ใหม่ คือ คอนโดมิเนียมหรู โครงการศาลาแดง วัน และรุกตลาดโครงการบ้านเดี่ยวระดับราคา 3-5 ล้านบาท ได้แก่ โครงการเพฟ รังสิต

ปี 2561 เอสซี แอสเสทฯ เริ่มแผนเจาะตลาดอสังหาริมทรัพย์ในต่างประเทศ ตั้งบริษัท SC ALPHA Inc. เพื่อลงทุนในธุรกิจอพาร์ตเมนต์ให้เช่าในสหรัฐอเมริกา ปีต่อมาเปิดบริษัทย่อย ได้แก่ บริษัท เอสซี เอ็กซ์เพดิชั่น จำกัด เพื่อลงทุนธุรกิจที่สร้างรายได้และกำไรในระยะยาว เช่น ธุรกิจโรงแรมและธุรกิจคลังสินค้า

ปี 2566 ร่วมทุนกับ Tokyo Tatemono Asia Pte Ltd. บริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รายใหญ่จากญี่ปุ่น นำร่องโครงการแรกคือ เรฟเฟอเรนซ์ สาทร-วงเวียนใหญ่ มูลค่า 4,000 ล้านบาท

สำหรับปี 2567 เอสซี แอสเสท ตั้งเป้าหมายโครงการเพื่อขายทั้งสิ้น 86 โครงการ มูลค่ารวม 91,000 ล้านบาท ผ่านการเปิดใหม่ 17 โครงการ มูลค่ารวม 30,000 ล้านบาท แบ่งเป็นโครงการใหม่ แนวราบ 15 โครงการ มูลค่า 25,000 ล้านบาท โดยมีไฮไลต์แบรนด์ใหม่ “Connoisseur” (คอนนาเซอร์) ราคาเริ่มต้น 80 ล้านบาท และบ้านไลฟ์สไตล์เฉพาะ #SCบ้านIntrovert และ #SCบ้านExtrovert โครงการใหม่ แนวสูง 2 โครงการ มูลค่า 5,000 ล้านบาทภายใต้ แบรนด์ Reference

เมื่อเร็วๆ นี้ เปิดบ้านซีรีส์ใหม่ สไตล์เมดิเตอร์เรเนียนครั้งแรก 2 ทำเล คือ แกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด ณ อุทยาน และแกรนด์ บางกอก บูเลอวาร์ด บางนา กม.15 เจาะกลุ่มลูกค้ากำลังซื้อสูง ราคาเริ่มต้น 45-60 ล้านบาท

แน่นอนว่า ในบรรดาผู้บริหาร SC ต้องพูดถึงยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ซึ่งเข้ามาบริหารช่วงปี 2549 และถือเป็นน้องสาวที่เข้ามาช่วยเดินแผนงานการบริหารของพี่ชาย คือ ทักษิณ ชินวัตร ทั้งด้านธุรกิจและการเมือง ตั้งแต่เริ่มทำงานที่บริษัทชินวัตร ไดเร็กทอรี่ส์ จำกัด ซึ่งเป็นธุรกิจสื่อสิ่งพิมพ์ ฐานข้อมูลและการสื่อสาร เมื่อปี 2534 ในตำแหน่งพนักงานฝึกหัดด้านการตลาดและการขาย ก่อนเลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อและผู้อำนวยการฝ่ายผลิต

ปี 2537 ยิ่งลักษณ์มาเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัทเรนโบว์ มีเดีย ซึ่งเดิมเป็นแผนกงานโฆษณาของบริษัทอินเตอร์เนชั่นแนล บรอดคาสติ้ง คอร์ปอเรชั่น จำกัด หรือไอบีซี โดยตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออกจากไอบีซี คือ รองกรรมการผู้อำนวยการ

ปี 2545 ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ และรองกรรมการผู้อำนวยการสายงานตลาด บริษัทแอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส ในเครือชิน คอร์ปอเรชั่น โดยขึ้นถึงประธานกรรมการบริหารบริษัทเป็นตำแหน่งสุดท้าย แต่หลังจากตระกูลชินวัตรและดามาพงศ์ขายหุ้นชินคอร์ปให้เทมาเส็ก โฮลดิ้งส์  ยิ่งลักษณ์ลาออกจากตำแหน่งในเอไอเอส และขายหุ้นทั้งหมด เพื่อไปบริหาร บริษัทเอสซี แอสเสท คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) โดยดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร ดูแลพอร์ตการลงทุนพัฒนาที่ดินทั้งหมดแทนบุษบา ดามาพงศ์ เมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2549

เดือนพฤษภาคม 2554 พรรคเพื่อไทย ซึ่งทักษิณเป็นผู้ก่อตั้ง เสนอชื่อยิ่งลักษณ์เข้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีในการเลือกตั้งทั่วไป ผลปรากฏว่า พรรคเพื่อไทยได้ผู้แทนราษฎร 265 ที่นั่ง ครองเสียงข้างมากในสภา ยิ่งลักษณ์ได้รับเลือกจากสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 5 สิงหาคม 2554 โดยมีพระบรมราชโองการแต่งตั้งในวันที่ 8 สิงหาคม 2554

อย่างไรก็ตาม ยิ่งลักษณ์พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีจากการยุบสภาผู้แทนราษฎรเมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2556 และถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากการรักษาการในวันที่ 7 พฤษภาคม 2557 กรณีความผิดย้ายถวิล เปลี่ยนศรี จากตำแหน่งเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

ด้านณัฐพงศ์ คุณากรวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร  SC คนปัจจุบัน เรียนจบปริญญาตรีจากชิคาโก สหรัฐอเมริกา ได้รู้จักสนิทสนมกับ “เอม” พินทองทา ชินวัตร ลูกสาวคนโตของทักษิณกระทั่งแต่งงานกันเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2554

ครอบครัวของณัฐพงศ์ทำธุรกิจขายเสื้อผ้าส่งออกชื่อ บริษัท สินรุ่งเรืองการ์เมนท์ จำกัด ส่วนตัวเขาเคยทำงานกับอารียา พรอพเพอร์ตี้ และเน็กซัส พรอพเพอร์ตี้ คอนซัลแทนท์ เคยร่วมหุ้นกับเพื่อนเปิดบริษัท ฟิชแมน จำกัด รับปรึกษาด้านการตลาด พัฒนาอสังหาฯ และวางแผนสื่อโฆษณา รวมทั้งเข้าหุ้นกับครอบครัวเปิดบริษัท คูณ ดีเวลลอปเมนท์ ทำธุรกิจพัฒนาอสังหาฯ โดยเริ่มโปรเจกต์แรก โครงการสร้างบูติกโฮเต็ลแถวประตูน้ำ

ปี 2555 เขาเข้ามาบริหาร เอสซี แอสเสท ในฐานะหนึ่งในครอบครัวชินวัตรและความเป็นนักธุรกิจอสังหาริมทรัพย์รุ่นใหม่ ผลักดันแนวคิด วิชั่น และการขยายธุรกิจไลฟ์สไตล์ใหม่ๆ

ล่าสุด ณัฐพงศ์ประกาศวิสัยทัศน์ SC the Evolution ตั้งเป้าหมายธุรกิจ 5 ปี (ปี 2567-2571) สร้างรายได้รวมมากกว่า 150,000 ล้านบาท ใน 2 กลุ่มธุรกิจหลัก (Engine) คือ Engine 1 ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อขาย และ Engine 2 กลุ่มธุรกิจที่สร้างรายได้สม่ำเสมอ โดยจัดตั้งบริษัท SCX Corporation หรือ SCX เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจ “Engine 2” วางโรดแมปลงทุน 5 ปี มูลค่า 20,000 ล้านบาท ลุยธุรกิจคลังสินค้า โรงแรมและออฟฟิศ ภายในปี 2029 ตั้งเป้าสร้างสัดส่วนกำไรมากกว่า 25% ของกลุ่มธุรกิจ SC รายได้ไม่ต่ำกว่า 4,000 ล้านบาทต่อปี ประกอบด้วย SCX Logistics พัฒนาอาคารคลังสินค้าเพื่อเช่า ทำเลบางนา EEC และอยุธยา-วังน้อย จะมีพื้นที่เช่ารวม 7 แสน ตร.ม.

SCX Hospitality พัฒนาโรงแรม 4 ทำเลหลัก กรุงเทพ พัทยา สมุยและภูเก็ต จะมีห้องพักมากกว่า 2,000 ห้อง และ SCX Working Solutions ปรับปรุงพื้นที่เช่าอาคารสำนักงาน 120,000 ตร.ม.