หากมองภาพรวมอุตสาหกรรมอาหารและส่วนประกอบของประเทศในเอเชีย อินโดนีเซียถือเป็นอีกหนึ่งประเทศที่มีตลาดใหญ่ เนื่องจากมีประชากรมากเป็นอันดับ 4 ของโลก ประมาณ277 ล้านคน เมื่อดูตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมหรือ GDP ปี 2023 สูงกว่าไทยหลายเท่าตัว อยู่ที่ 5.1% และการบริโภคภาคครัวเรือนมีการขยายตัวสูงถึง 4.8%
ปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดการขยายตัวในการบริโภคภาคครัวเรือนมาจากนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของรัฐบาลอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคมากขึ้น ประกอบกับนโยบายช่วยเหลือจากภาครัฐ
ขณะที่ปัจจุบันอินโดนีเซียกำลังพัฒนาระบบโครงสร้างพื้นฐาน เช่น โครงการรถไฟฟ้า เพื่อเตรียมรับเมืองหลวงใหม่ “นูซันตารา” ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญที่ทำให้เกิดอัตราเร่งเกี่ยวกับเศรษฐกิจในหลายๆ ด้าน ทั้งการลงทุนภายในประเทศที่ปรับตัวสูงขึ้น ภาคการผลิตโตและดันให้ GDP เพิ่มขึ้นได้ 1%
เทียบกับเศรษฐกิจไทยที่ตัวเลข GDP ในไตรมาส 2/2567 อยู่ที่ 2.3% เครื่องยนต์ทางเศรษฐกิจหลายตัวยังเดินเครื่องแบบไม่เต็มกำลัง ภาคการส่งออกอยู่ในภาวะนิ่ง และไม่น่าจะขยายตัวมากไปกว่าปัจจุบัน อุตสาหกรรมท่องเที่ยวดูจะหวังพึ่งพาได้มากที่สุดในเวลานี้
อุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มในประเทศอินโดนีเซียมีขนาดใหญ่เป็นอันดับต้นๆ ของโลก โดยมีมูลค่าสูงถึง 280,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐในปี 2567 มีอัตราการเติบโตสูงถึง 6.12% ต่อปี ขณะที่ตลาดเบเกอรี่และซีเรียลได้รับความนิยมอย่างสูงจากผู้บริโภคในประเทศ ส่งผลให้เฉพาะตลาดนี้มูลค่า 51,990 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
โดยปกติงานแสดงสินค้าเทคโนโลยีและนวัตกรรม ส่วนประกอบอาหารและเครื่องดื่ม ที่อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ เป็นผู้จัดงาน จะจัดที่ประเทศไทย สลับกับประเทศอินโดนีเซีย เนื่องจากทั้งสองประเทศนี้มีอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่มขนาดใหญ่ ซึ่งปีนี้ อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ จัดงาน Food ingredients Asia ขึ้นที่อินโดนีเซียเมื่อช่วงต้นเดือนกันยายน 2567
กว่า 700 บริษัทที่มาร่วมงาน โดยเป็นบริษัทจากในประเทศอินโดนีเซีย 97% แน่นอนว่าคำถามคือ โอกาสของผู้ประกอบการไทยอยู่จุดไหนในงานนี้ รุ้งเพชร ชิตานุวัตร์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานภูมิภาคอาเซียน อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ มองว่า ผู้ประกอบการไทยยังมีโอกาส เพียงแต่ต้องเข้าให้ถูกจุด และศึกษากฎระเบียบเรื่องฮาลาลใหม่ของอินโดนีเซียให้ดี
“ในฐานะผู้จัดงาน มองว่าแม้การจัดงานปีนี้จะเกิดขึ้นที่อินโดนีเซีย แต่ไม่ได้เป็นการตัดโอกาสของผู้ประกอบการไทย อินโดนีเซียมีประชากรหนาแน่น การบริโภคสูง นับเป็นโอกาสที่ดีต่อผู้เข้าร่วมงาน ทั้งผู้ประกอบการอาหาร เครื่องดื่ม นักวิจัย นักเทคโนโลยีอาหารจากทุกภาคส่วนในอุตสาหกรรมนี้ ทั้งไทยและต่างประเทศ ที่จะได้อัปเดตเทรนด์อาหาร ที่เปลี่ยนแปลงไปตามความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงทิศทางของอุตสาหกรรมอาหารเพื่อให้สอดคล้องกับวิกฤตการณ์ด้านอาหารโลกที่กำลังจะเกิดขึ้น รวมถึงแนวทางการขยายตลาดอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต”
พฤติกรรมผู้บริโภคอินโดนีเซีย นิยมบริโภคขนมขบเคี้ยว และอาหารที่มีรสหวาน รุ้งเพชร แนะนำผู้ประกอบการไทยหากต้องการเจาะตลาดอินโดนีเซีย ควรพัฒนาผลิตภัณฑ์ตามการบริโภคนิยม รวมถึงศึกษากฎระเบียบด้านฮาลาลอย่างถี่ถ้วน
“คนอินโด ติดรสชาติหวาน ไม่ว่าจะเป็นอาหารหรือขนม และประชากรส่วนใหญ่คือผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 50 ปี ถามว่าโอกาสของผู้ประกอบการไทยมีไหมในตลาดนี้ ก็ต้องบอกว่ามี เพียงแต่ต้องทำตามกฎระเบียบในเรื่องฮาลาล ซึ่งมีการปรับปรุงใหม่ อาจจะยุ่งยากกว่าของไทยเล็กน้อย แต่ถ้าผู้ประกอบการไทยเจาะตลาดอินโดได้ เชื่อว่าเป็นเรื่องที่ดี”
อย่างไรก็ตาม อินโดนีเซียเป็นหนึ่งประเทศที่มีนโยบายปกป้องธุรกิจและผู้ประกอบการในประเทศของตัวเอง สินค้าต่างชาติ หรือนักลงทุนจึงเข้ามาตีตลาดได้ยาก เห็นได้จากนโยบายล่าสุดที่รัฐบาลอินโดนีเซียประกาศขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนเป็น 200% เพื่อป้องกันการทะลักเข้ามาของสินค้าจีน กระนั้นภาครัฐของอินโดนีเซียไม่ได้ปิดประตูตาย ไม่ต้อนรับทุนต่างชาติเสียทีเดียว
“อุตสาหกรรมภาคการผลิตของที่นี่มีขนาดใหญ่มาก รวมถึงอัตราการเติบโตของการบริโภคภาคประชาชนแต่ละปีสูงอย่างต่อเนื่อง กรณีที่ผู้ประกอบการไทยจะเข้ามาทำตลาด หรือลงทุนในอินโดนีเซีย ยังมีช่องทางที่สามารถทำได้ นั่นคือการ Joint Venture กับผู้ประกอบการในท้องถิ่นของอินโดฯ แม้จะต้องยอมรับว่านโยบายของรัฐบาลอินโดฯ มีเป้าประสงค์ที่จะปกป้องผู้ประกอบการภายในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจในประเทศอย่างมีนัยสำคัญ แต่เชื่อว่า หากผู้ประกอบการจากไทยสามารถเจาะตลาดนี้ได้ โดยเน้นนำเสนอด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีด้านอาหารและเครื่องดื่มโอกาสที่สดใสรออยู่แน่นอน”
ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าอาหารอันดับ 12 ของโลก ปี 2566 มูลค่าการส่งออก 1,255,622.69 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 12.80 ของการส่งออกรวมทุกสินค้าในประเทศ โดยตลาดส่งออกหลักของสินค้าเกษตรและอาหาร คือ จีน ญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา มาเลเซีย และอินโดนีเซีย สินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกมากที่สุด อันดับหนึ่ง คือ ผัก ผลไม้สดแช่เย็น แช่แข็ง และแห้ง 285,547.05 ล้านบาท อันดับสองคือ ข้าว น้ำตาล อันดับสาม ไก่สดแช่เย็น แช่แข็งและแปรรูป
ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรมอาหารไทยมาจากการเติบโตของประชากรโลกและการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรสู่สังคมผู้สูงวัย การเปลี่ยนแปลงสภาวะสิ่งแวดล้อม รวมถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจและสังคม ส่งผลให้ประเทศต่างๆ เกิดความต้องการสินค้าเกษตรและอาหารเพื่อสร้างความมั่นคงทางอาหาร
ด้าน ดร.วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา ประธานคณะกรรมการอาหารแปรรูปและอาหารแห่งอนาคต เผยมุมมองต่ออุตสาหกรรม Future Food ว่า เทคโนโลยีและนวัตกรรมจะเป็นตัวขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอาหารในอนาคต และโจทย์สำคัญที่เป็นความท้าทายของอาหารแห่งอนาคตคือ “รสชาติ หรือความอร่อย และราคา”
“ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจกับอาหารสุขภาพมากขึ้น อาหารแห่งอนาคตเป็นทางเลือกสำคัญของคนรักสุขภาพ มีความปลอดภัยและเป็นอาหารที่มีนวัตกรรมดีต่อสิ่งแวดล้อม แต่ประเด็นที่ผู้ประกอบการไทยต้องตอบโจทย์อาหารแห่งอนาคตให้ได้คือ ความอร่อยและราคา แม้ว่าอาหารแห่งอนาคตจะดีต่อสุขภาพ แต่ความอร่อยยังคงเป็นประเด็นสำคัญ ขณะเดียวกันราคาจะต้องไม่แพงจนเกินไป”
อาหารแห่งอนาคต (Future Food) คือผลิตภัณฑ์ที่มีโอกาสเติบโตสูง โดยในปี 2567 (ม.ค.-มี.ค.) ไทยส่งออกสินค้ากลุ่ม Functional Food มากที่สุด สัดส่วน 90% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.23 แสนล้านบาท รองลงมาคือ Alternative Protein สัดส่วน 4.5% เติบโต 9% มูลค่ากว่า 6.5 พันล้านบาท Medical & Personalized สัดส่วน 4% เติบโต 2% มูลค่ากว่า 6 พันล้านบาท และ Organic food & Whole foods สัดส่วน 1% เติบโต 19% มูลค่ากว่า 1.6 พันล้านบาท มีการคาดการณ์ว่าเป้าหมายมูลค่าอุตสาหกรรมอาหารอนาคตของไทยในปี 2570 จะสูงถึง 500,000 ล้านบาท
“การชะลอตัวทางเศรษฐกิจโลกอาจส่งผลให้ภาพรวมของอาหารแห่งอนาคตในปีนี้ไม่หวือหวานัก แต่ต้องบอกว่าอาหารแห่งอนาคตเป็นอาหารดาวรุ่งของไทย อุตสาหกรรมอาหารไทยมีการแข่งขันสูง เนื่องจากสินค้าอาหารที่เป็นรูปแบบเดิมส่วนใหญ่จะอยู่ในสังคมชุมชน ทำให้ต้องผลิตมากขึ้นเพื่อให้ได้ต้นทุนต่ำ จะสามารถทำให้แข่งขันด้านราคาได้ ในขณะที่อาหารแห่งอนาคตจะตอบโจทย์ผู้บริโภคยุคใหม่ในแง่ที่ดีต่อสุขภาพ การแข่งขันจึงไม่รุนแรง แต่มาในรูปแบบแตกย่อย ทำให้ผู้ประกอบการสู้ได้ในตลาดโลก เพราะไม่ต้องผลิตจำนวนมากเพื่อมาแข่งขัน”
อุตสาหกรรมอาหารและส่วนประกอบในอินโดนีเซียน่าจะเป็นโอกาสที่ดีสำหรับผู้ประกอบการไทย ซึ่งมีจุดเด่นด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เพียงแต่ต้องเข้าใจตลาดและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคในอินโดนีเซียให้ได้.